บันทึกย้อนหลังเรื่อง: “ทวารวตีวิภูติ” และ “สุวรรณภูมิรัฐศาสตร์วัฒนธรรม” (Dvravativiputi and a Geopolitics & Geoculture of Suvarnabhumi)


ได้บันทึกย้อนหลังเรื่องเกี่ยวกับศิลาจารึกสมัยทวารวดี จากโบราณสถานวัดพระงาม เป็นการวิจารณ์ข้อเขียนของคุณศิริพจน์​ในมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงยุคสมัยก่อนสี่ราชธานีสยาม (สุโขทัย-อโยธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์) คือสมัยทวารวดี (บางคนเรียกสมัยสุวรรณภูมิ) สองสมัยนี้ถูกคั่นกลางด้วยจักรวรรดิขอมโบราณ นักวิชาการบางท่านเรียกช่วงนี้จึงเป็นยุคมืดของชนเผ่าไท (และกลับกันการผงาดขึ้นมาของสุโขทัย-อโยธยา จะกลายเป็นยุคมืดของชนชาติขอม) แต่ผมเห็นว่าเป็นพัฒนาการระยะยาวของประวัติศาสตร์ ยุคสมัยทวารวดีไม่น่าจะมีลักษณะเป็นราชอาณาจักรหรือจักรวรรดิขนาดใหญ่ ความทรงจำหรือตระหนักว่าตนเป็นชนเผ่าไทหรือสยามยังไม่มี คงเป็นเครือข่ายกลุ่มราชธานีหลวม ๆ ที่พัฒนามาจากเมืองหลัก ๆ ทำนองเดียวกับนครรัฐสมัยกรีกโบราณที่ก่อตัวขึ้นทำนองนี้ ก่อนแยกออกเป็นสองกลุ่มคือพวกที่ถือเอานครรัฐสปาร์ตาเป็นหัวหน้า เรียกว่าพวกสันนิบาตเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian League) พวกนี้ถือเป็นมหาอำนาจทางบก ส่วนอีกพวกหนึ่ง เรียกว่าสันนิบาตดีเลียน (Delian League) ถือเป็นกลุ่มมหาอำนาจทางทะเลถือเอาเอเธนส์เป็นลูกพี่ใหญ่ ในที่สุดสองพวกนี้ก็ทำสงครามกัน มีนักปราชญ์นักการทหารชื่อธูซิดิดีสจดบันทึกประวัติศาสตร์สงครามนี้ไว้อย่างละเอียดโดยวางใจเป็นกลางแม้ตนจะเป็นคนเอเธนส์ก็ตามที จึงถือเป็นแม่แบบวิธีวิทยาด้านประวัติศาสตร์ศึกษาต้นตำรับ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมักจะเป็นเช่นนี้คือมีการสงครามระหว่างมหาอำนาจทางบก (เรียกโดยอุปมาอุปมัยตามพระคัมภีร์ว่าเบฮีมอธซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดเจ้าแผ่นดิน) กับมหาอำนาจทางทะเล (อุปมาอุปมัยว่าลีเวียธัน ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดเจ้าทะเล) ขึ้นอยู่กับแต่ละยุคแต่ละสมัยว่าใครเป็นมหาอำนาจฝ่ายบกหรือฝ่ายทะเล เรื่องนี้คงเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ของโลกที่มีทั้งผืนแผ่นดินซึ่งเป็นบริเวณอยู่อาศัยและการกสิกรรม และท้องทะเลที่เป็นทั้งเขตประมงและพื้นที่สัญจรระหว่างแผ่นดินต่าง ๆ

ส่วนอีกบันทึกหนึ่งพูดถึงการเยี่ยมชมนิทรรศการ "ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ" ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งงานมีจัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม จนถึง ๑๙ พฤศจิกายน เมื่อปีกลาย บันทึกนี้พูดถึงทั้งจารึกวัดพระงาม งานของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี บันทึกย้อนหลังชุดนี้จะรวมทั้งสองเรื่องนี้ไว้ในที่เดียวกันเป็นบันทึกขนาดยาว


(๑) “ทวารวตีวิภูติ” และ “สุวรรณภูมิรัฐศาสตร์วัฒนธรรม” (Dvravativiputi and a Geopolitics & Geoculture of Suvarnabhumi)

บันทึกเดิมในเฟสบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) มีการอภิปรายเรื่อง “ศิลาจารึกสมัยทวารวดี จากโบราณสถานวัดพระงาม: การศึกษาวิเคราะห์และการตีความศิลาจารึกวัดพระงาม” ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นศิลาจารึกชิ้นใหม่ที่พบเมื่อปลายปีก่อนที่วัดพระงามจังหวัดนครปฐม
บทความของคุณ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่ลงตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำสัปดาห์นี้ (ศุกร์ ๗ กพ - พฤหัสบดี ๑๓ กพ, ๒๕๖๓) พูดถึงศิลาจารึกชิ้นใหม่นี้อยู่ด้วย ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับบทความของคุณศิริพจน์เท่าไหร่ เนื่องจากเขามองว่าศิลาจารึกนี้ ไปย้ำว่า "ศูนย์กลางทวารวดีไม่ใช่อยู่ที่นครปฐม" โดยอ้างข้อความบางส่วนของศิลาจารึกว่า "แปลได้ง่าย ๆ ว่า ในจารึกเขาเปรียบเทียบ (เมือง?) ทิมิริงคะ ว่ายิ่งใหญ่ รุ่งเรือง เปรียบเทียบได้กับเมืองหัสตินาปุระและเมืองทวารวดี และถ้านครปฐมคือทวารวดีแล้ว ผู้จารึกจะเอาเมืองทวารวดีมาเปรียบเทียบทำไมกัน? (และนี่ยังไม่นับว่า เมืองทิมิริงคะที่ว่านี้อยู่ที่ไหน? แล้วทำไมอยู่ๆ (sic) จารึกที่นครปฐมถึงต้องพูดถึงเมืองนี้ด้วย?"

ก่อนอื่น เท่าที่ผมทราบในแวดวงนักโบราณคดี ความเห็นเกี่ยวกับทวารวดี จะมีแตกออกเป็นสองสายใหญ่ คือ ๑. ฝ่ายที่เชื่อว่าศูนย์กลางทวารวดีมีอยู่จริง และอยู่ที่นครปฐม ฝ่ายแรกนี้ดูเหมือนมีคนจากกรมศิลปากรจะยึดถือแนวทางนี้ กับ ๒. ฝ่ายที่ไม่เชื่อว่ามีศูนย์กลางทวารวดี หรือถ้ามีจริงก็ไม่ได้อยู่ที่นครปฐม แต่ควรจะอยู่ที่เมือง "ศรีเทพ" ฝ่ายนี้มีระดับ "บิ๊กเนม" ของวงการประวัติศาสตร์โบราณคดี อย่าง พิริยะ ไกรฤกษ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไปจนถึงศรีศักร วัลลิโภดม สองคนแรกมองว่าศรีเทพเป็นศูนย์กลางของทวารวดี เพราะการค้นพบเทวรูปพระกฤษณะ เนื่องจากเมือง ทวารกา หรือทวารวดี เป็นเมืองของพระกฤษณะ ในขณะที่ศรีศักรมองภาพทวารดีเป็น "เครือข่ายหลวม ๆ" ของนครรัฐในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งฟากตะวันออกและตะวันตก (อาจเลยขึ้นไปถึงลุ่มน้ำป่าสัก) ในยุคดังกล่าว (ศรีศักรใช้คำว่า "เป็น มณฑล หรือ มณฑละ" ซึ่งยืมไอเดียมาจาก mandala)

มีการค้นพบเหรียญเงินที่นครปฐม โดยจารึกคำว่า "ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย" คำนี้ถูกแปลออกมาได้เป็นหลายอย่าง แต่คำนี้ถูกถอดออกมาอย่างเป็นทางการว่า "พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ" เมื่อปี ๒๕๐๘ ยอร์ช เซเดส์ ถอดออกมาว่า “การบุญของผู้เป็นใหญ่แห่งศรีทวารวดี” ต่อมาในปี ๒๕๓๕ ก็มีการพบเหรียญเงินนี้กระจายไปทั่วทั้งที่ ดงคอน สรรคบุรี ชัยนาท ฯลฯ การตีความแบบนี้จึงไม่ได้บอกว่าเป็นชื่อเมือง หรือชื่อของกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองอย่างชัดเจน นอกจากนี้การพบเหรียญเงินนี้กระจัดกระจายไปทั่วก็ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าแหล่งศูนย์กลางทวารวดีอยู่ที่ใดกันแน่ ศรีศักรจึงพูดไว้อย่างชัดเจนว่า หลักฐานที่ควรจะเชื่อได้ว่าเป็นการระบุเมืองศูนย์กลางทวารวดีควรเป็นศิลาจารึกที่เคลื่อนย้ายได้ยาก และระบุชื่อ ทวารวดีอย่างชัดเจน (กรณีการย้ายเมืองจากนครปฐมไปอยู่ที่นครชัยศรีก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความคลุมเครือเพิ่มมากขึ้นกับตำแหน่งของทวารวดี) ซึ่งผมคิดว่าหลักฐานที่ศรีศักรว่านั้น ควรเป็นจารึกที่วัดพระงามชิ้นนี้

ดังนั้นผมจึงมีความเห็นที่ต่างออกไปจากคุณศิริพจน์อย่างสิ้นเชิง แทนที่จะดูเฉพาะบางประโยคหรือบางข้อความ ผมขอยกข้อความแปลของจารึกทั้ง ๖ บรรทัดมาไว้ในที่นี้ พร้อมทั้งการถอดข้อความจารึกในบรรทัดที่ ๕ ซึ่งระบุถึงชื่อเมือง "ทวารวดีวิภูติ" อย่างละเอียด

ภาพถ่ายจารึกวัดพระงาม โดยกรมศิลปากร (วงสีแดงคือข้อความ "ทวารวตีวิภูติ") ดูเทียบกับภาพที่ผมถ่ายเองด้านล่าง
ภาพถ่ายจารึกวัดพระงาม โดยกรมศิลปากร (วงสีแดงคือข้อความ "ทวารวตีวิภูติ") ดูเทียบกับภาพที่ผมถ่ายเองด้านล่าง

คำแปล
(บรรทัดที่ ๑)
(มาลินีฉันท์)
ชยติ (กษัตริย์ถือเป็นเทพจึงเป็นอมตะ ไม่ตายดังนั้นอายุยืนจึงไม่จำเป็น ต้องอวยพรว่าขอให้มีชัยชนะ) พระราชาพระองค์ใด ทรงชนะรอบทิศ ทรงชนะรัศมีอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระผู้เกิดในดอกบัว (พระพรหม; ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ว่าท่อนนี้หมายถึงกษัตริย์หรือเทพเจ้า) ที่แผ่ไปด้วยแสงซึ่งออกไปจากพระวรกายของพระองค์........ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองที่แผ่นดินรองรับไว้ ......

(บรรทัดที่ ๒)
ในสงครามด้วยพระพักตร์ที่งดงามเหมือนจันทรา(ดวงจันทร์) (คำเปรียบเปรยว่า สงครามเป็นเรื่องร้ายจึงเสมือนรัตติกาล ผู้โดดเด่นในสงครามจึงมีดวงหน้าที่โดดเด่นดังดวงจันทร์) ......ที่ไหลออกมาเหมือนน้ำอมฤต ที่ไหลออกมาจากแสงพระจันทร์ คือ พระทนต์(ฟัน) ของพระองค์ ทรงพอพระทัยในการสงคราม มีพระทัยกว้าง ทรงประกอบยัญพิธีสม่ำเสมอ ......บริสุทธิ์..... พระองค์ทรงใส่พระทัยในพระราชธุระ แห่งราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงของพระองค์

(บรรทัดที่ ๓)
(วสันตติลกฉันท์)
การอวตารลงมาบนแผ่นดิน (ของพระองค์?) ได้รับการร้องขอโดยพวกเทพเจ้า เพื่อปราบ (ความชั่วร้าย?)......... มีพระเกียรติยศที่แผ่ไปกว้างไกล...

(บรรทัดที่ ๔)
ด้วยความกล้าหาญ (ปุรุษะ) ที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง (พระราชา?) นั้น เมื่อได้ข้ามพ้นคำปฏิญญาที่ยิ่งใหญ่ดังมหาสมุทรด้วยความหนาวเย็น ได้เสวยน้ำอมฤตที่ชื่อว่าสัทวิชยะ (ชัยชนะที่แท้จริง หรืออาจหมายถึงการมีชัยชนะต่อตนเอง) เมื่อได้สร้าง............เหมือนของคนทั้งหลาย ที่กำลังเข้าไปในเรือนกระจก

(บรรทัดที่ ๕)
(เมือง?)ทิมิริงคะ เป็นเสมือนยานของพระลักษมี เป็นเมืองที่ไม่มีเมืองใดเทียบได้ เมืองนั้นก็คือเมืองหัสตินาปุระ และคือเมืองทวารวตี(ทวารวดี) ซึ่งยิ่งใหญ่เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองเหมือนเมืองของพระวิษณุ....ที่มีชื่อว่า .......โดยข้าพเจ้า......

(บรรทัดที่ ๖ บรรทัดนี้ให้รายละเอียดเรื่องการกัลปนา)
เครื่องประดับที่ดีสำหรับท้องพระคลังของพระปศุปติ(พระศิวะ) (ได้แก่?) ต้นมะม่วงทอง ๓๐ ต้น ผู้.......นา จำนวน ๓๐๐ (คน?)......นับได้.....จำนวน...ร้อย.....แม่โคจำนวน ๔๐๐ ตัว , นกกระจอก (แก้ใหม่ จากเดิมใช้คำสันสกฤตตามรูปการเขียนโศลกส่วนใหญ่ และน่าจะตามสมัยนิยมของพราหมณ์ผู้จารึกในขณะนั้นว่า ต ญฺจฎกา ซึ่งหมายถึง นกกระจอก ; แต่จากการถอดตัวสะกดปัลลวะใหม่จากส่วนของจารึกที่ชำรุดไป ได้เป็นคำบาลีเพื่อให้ลงตัวกับบังคับครุ-ลหุในฉันทลักษณ์ว่า ญฺ จฺ วฺฎฎกา หมายถึง นกคุ้ม ; คำนี้ไปพ้องกับชาดกเรื่องนกคุ้มที่เป็นที่มาของคาถากันไฟ จึงควรถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับโคที่เป็นพาหนะของพระศิวะ ดูเพิ่มใน วัฏฏกชาดก) ๑๕๖ ตัว สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นของพระปรเมศวร(พระศิวะ)

...

ถอดความบรรทัดที่ ๕ อย่างละเอียด
ถอดความสันสกฤต จากตัวอักษรปัลลวะ: śrīyānam dimirńgam apratipuram sā hastinākhyā purī | sā ca dvāravatī vibhūtimahatī khyātā yathā vaisnavī | ……… nāmnā mayā

คำอ่าน: ศรียานาม ดริมิริงคะ อประติปุรัม สา หัสตินาคยา ปุรี | สาจะ ทวารวตี วิภูติมาหตี คยตา ยถา ไวษฺณวี | นามนา มายา

คำแปล: ตริมิริงคะ (ชื่ออาณาจักรแห่งหนึ่ง? หรือ แปลอีกแบบได้ว่าเป็นเสมือนยานพระลักษมี) เป็นนครที่หามีผู้เปรียบได้ยาก (อประติ) และเมืองนั้นคือ เมืองหัสตินาปุระ (เมืองหลวงของพวกเการพ) | และ เมืองนั้นคือ ทวารวดี ที่ยิ่งใหญ่ด้วยความเจริญด้านวัตถุ มีชื่อเสียง เหมือนกับ เมืองของพระวิษณุ / กฤษณะ (ไวษณวี) | โดยชื่อ โดยฉัน (ไม่สามารถแปลให้ได้ใจความ เพราะจารึกไม่สมบูรณ์)

...

จะสังเกตเห็นว่า เฉพาะในบรรทัดที่ ๕ นี้ เราไม่สามารถตีความลงไปทางหนึ่งทางใดได้เลย ทั้งความคลุมเครือของความหมายจากตัวบทในจารึกเอง ทั้งจากปัญหาความไม่สมบูรณ์ของจารึกที่ถูกทำลายไปบางส่วนอย่างที่ผมได้นำรูป (ผมนำรูปมาจากกรมศิลปากร) มาแสดงให้ดู แต่ที่แน่ ๆ เราเห็นการระบุชื่อเมือง "ทวารวดี" อย่างชัด ๆ เป็นครั้งแรก ตรงตัวบนจารึก ที่เคลื่อนย้ายไปไหนได้ยาก (ตามคำของศรีศักร) คำว่า "ทวารวตีวิภูติ" (ทวารวดีอันเจริญรุ่งเรือง) เป็นคำที่ผมวงเส้นสีแดงเอาไว้ นอกจากนี้ถ้าดูภาพรวมของจารึกจะเห็นว่านี่เป็นจารึกที่กำลังพูดถึงประวัติและราชภารกิจของกษัตริย์พระองค์หนึ่งอย่างชัดเจน กษัตริย์พระองค์นี้จะเป็นกษัตริย์ของ "ทวารวตีวิภูติ" นี้หรือไม่ ในขณะนี้ยังไกลเกินไปที่จะระบุให้ได้แน่ชัด แต่พระองค์ควรจะต้องเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนครที่เป็นที่ตั้งของจารึกแห่งนี้ที่นครปฐมอย่างแน่นอน

เรื่องที่ควรต้องตั้งข้อสังเกตต่อไปคือ การระบุประวัติของกษัตริย์พระองค์นี้ว่า ทรงโปรดการทำสงคราม นี่เป็นฐานพระราชอำนาจอันหนึ่งที่สำคัญ ในสมัยดังกล่าวที่ถ้าจะบอกว่านครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรก็ไม่ผิดอะไรนัก นี่เราไม่พูดถึงโดยธรรมชาติของ นครปฐม -- ทวารวดี? เป็นเมืองท่าที่มีขนาดใหญ่ก็ย่อมเอื้ออำนวยต่อการสร้างฐานอำนาจประกอบไปด้วยโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ทั้งนี้เรายังไม่นับว่าลักษณะการบันทึกข้อความอักษรปัลลวะลงบนจารึกนี้ มีลักษณะที่สวยงามและสมบูรณ์กว่าจารึกร่วมสมัยทวารวดีที่เคยพบที่อื่น ๆ ยิ่งถ้าคิดถึงการใช้ฉันทลักษณ์ที่หลากหลาย อย่างมาลินีฉันท์ ร่วมกับ วสันตติลกฉันท์ ที่ต้องมีการบังคับครุ-ลหุ ที่ถูกกำหนดตายตัวอย่างนี้ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า กษัตริย์ที่ครองนครแห่งนี้ จะต้องมีอำนาจบารมีขนาดไหนถึงจะสามารถเลี้ยงดูและใช้งานปุโรหิตที่มีความสามารถขนาดนี้ได้ และนอกจากนี้ เท่าที่ทราบนี่เป็นจารึกในยุคทวารวดีไม่กี่ชิ้นที่พูดถึงประวัติของกษัตริย์และพระราชภารกิจโดยตรง (ลองคิดเทียบกับจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง) จารึกที่ค้นพบก่อนหน้านี้ (โดยมากมักพบคู่กับธรรมจักรและฐานแปดเหลี่ยม) หากไม่บันทึกบทสวดอันเป็นหัวใจแห่งหัวใจของพระพุทธศาสนา (อย่าง "เย ธัมมา") ก็มักจะเป็นข้อความใน “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ซึ่งเป็นปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ อย่างที่พบกันที่เมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี

ทฤษฎีที่มองว่าเมืองศรีเทพ เป็นศูนย์กลางของทวารวดี นอกเหนือจากการพบรูปสลักพระกฤษณะ และศาสนาฮินดูของเมืองศรีเทพแล้ว ในช่วงหนึ่งยังมีการสร้างทฤษฎีน้ำทะเลท่วมขึ้นไปถึงแถบบริเวณตอนกลางของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เมืองอย่างละโว้ ศรีเทพ กลายเป็นเมืองท่าไปด้วย (แทนที่จะเป็นเมืองที่เข้าถึงได้เฉพาะจากการสัญจรผ่านแม่น้ำ) ไอเดียนี้มีที่มาจากงานเขียนของ ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา เมื่อปี ๒๕๒๔ แต่ในภายหลังก็มีงานของสมบูรณ์ จารุพงศ์สกุล ในปี ๒๕๓๓ ที่โต้แย้งออกมาว่า ในสมัยโบราณอาจมีความเป็นไปได้ที่ทะเลจะรุกคืบไปยังตอนกลางของประเทศได้จริง แต่ควรจะเป็นเมื่อ ๖,๐๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีก่อน ไม่ใช่เมื่อ ๑,๐๐๐ ปีเศษก่อน หรือสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ อันเป็นยุคสมัยของทวารวดี งานวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นที่ทำร่วมกับจุฬา ก็ออกมาย้ำข้อมูลนี้เพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมียุคโลกร้อนระยะสั้น (ก่อนยุคน้ำแข็งระยะสั้น) ในช่วงหนึ่งพันปีก่อน แต่ไม่ได้ทำให้ทะเลรุกคืบเข้าไปตอนกลางของแผ่นดินอย่างที่เสนอกันในงานวิจัยของผ่องศรีและทิวา แต่อย่างใด (งานวิจัยชิ้นหลังนี้ทำการศึกษาข้อมูลตะกอนดินในบริเวณที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด)

ดังนั้นหากศรีเทพไม่ใช่เมืองท่า อย่างที่นครปฐมเป็นเมืองท่า และอย่างที่ทวารกาเป็น ที่ตั้งของทวารกาในตำนานนั้นตั้งอยู่ติดทะเล การที่มีประตูเมืองจำนวนมากรอบทิศ แสดงถึงการค้าขาย จึงได้ชื่อว่าทวารกา และความจริงหากมองให้ดี ในทางพุทธศาสนาก็มีการมองว่า พระกฤษณะมีการกลับชาติมาเกิดเป็นพระสารีบุตร (ดังนั้นนี่จึงเข้ากับธรรมเนียมการนับถือพุทธศาสนาของคนสมัยทวารวดี ที่ได้รับการเผยแพร่เข้ามาพร้อมกับพ่อค้าชมพูทวีป เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำของวรรณะไวศยะ) ข้อสันนิษฐานอีกประการที่ว่า ศรีเทพเมื่อรวมกับละโว้ (ในฐานะเมืองคู่ตามการวิเคราะห์ของ ธิดา สาระยา ความจริงนอกจาก ละโว้ และ ศรีเทพ ยังมีเมืองเสมาในแถบโคราชอีกแห่งที่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน) ในชื่อ "อโยธยาศรีรามเทพ" แล้วแปรมาเป็น "กรุงเทพทวารวดีศรีอโยธยา" เป็นร่องรอยของทวารวดี ก็อาจเป็นการมองง่ายไป หากมองว่าเป็นการตั้งชื่อโดยการเชื่อมโยงถึงความรุ่งเรืองในอดีตของทวารวดี ดูน่าจะเป็นไปได้มากกว่า (ทำนองเดียวกับการตั้งชื่อกรุงเทพมหานคร แล้วเชื่อมโยงกลับไปที่ชื่อกรุงศรีอยุธยา)

ถ้าจะพูดกันตามจริงแล้ว ศรีเทพเดิมไม่ใช่ชื่อศรีเทพแต่คนท้องถิ่นรู้จักกันในฐานะชื่ออื่น เป็นกรมดำรงฯ ที่ทรงยืนยันและค้นพบเมืองศรีเทพเข้าจริงในภายหลัง โปรดพิจารณา:

….ปัญหาข้อสำคัญของเมืองศรีเทพ ยังไม่มีใครแม้แต่ตัวฉันเองได้เคยแตะต้อง ถ้ามีใครเอาใจใส่ตรวจดูบ้างก็จะดี คือ

"เมืองศรีเทพเพียงแต่ซากที่เหลืออยู่ เห็นได้ว่าต้องเคยเป็นราชธานี แม้เพียงประเทศราช ต้องเป็นที่อยู่ผู้คนพลเมืองมาก ถ้าไม่ถึงล้านก็ต้องกว่าแสน ได้ข้าวที่ไหนกิน ถ้าว่าโดยทางปัญญาพอคิดเห็นได้ ท้องที่ภายนอกเมืองศรีเทพคงเป็นไร่นาออกไปไกลเปรียบง่าย ๆ ก็อย่างเมืองลพบุรี นานั้นมันหายไปไหนเสียหมด จะเป็นด้วยเกิดเปลี่ยนแปลงโลกธาตุในแถวนั้น ให้แห้งแล้งฝนไม่ตกเหมือนแต่เดิม หรือด้วยเหตุอันอื่นใด.....

--รับสั่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (จาก ต. อมาตยกุล ๒๕๐๔)

"ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้ค้นพบทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด

"ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่งกล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชการที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่เพื่อที่จะสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้างและถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาต้อนรับว่า ละแวกนี้นั้นมีเมืองโบราณอยู่หรือไม่ และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง จนในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า 'เมืองศรีเทพ'

การหันมาโปรโมตศรีเทพว่าเป็นศูนย์กลางของทวารวดี (ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย) โดยปัญญาชนกระแสทวนอย่างสุจิตต์ ซึ่งมีลักษณะแอนตี้กรมดำรงฯ และกรมศิลปากรอย่างมาก ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้วศรีเทพนี่ก็เป็นผลการค้นพบของกรมดำรงฯ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับผม ปัญหาอย่างหนึ่งของนักประวัติศาสตร์กระแสทวนในระยะหลังคือ มองว่าทุกสิ่งที่กรมดำรงฯ (หรือประวัติศาสตร์สายกรมดำรงฯ) ผิดหมด อะไรที่ขัดแย้งกับข้อเสนอที่กรมดำรงฯ พบได้ก็จะดี ไอเดียนี้เริ่มจาก จิตร ภูมิศักดิ์ (โดยเฉพาะการใช้กรอบวิเคราะห์แบบมาร์กซในงานโฉมหน้าศักดินาไทย) แม้ปัญญาชนกระแสทวนในรุ่นหลังจะตระหนักจุดอ่อนของจิตร แล้วพยายามผลิตงานที่ระมัดระวังมากขึ้น แล้วปฏิเสธทั้งกระแส พคท และ กระแสกรมดำรงฯ ไปพร้อมกัน อย่าง นิธิ หรือ ธงชัย

ผมเห็นว่าสิ่งที่กรมดำรงฯ เสนอ ไม่ใช่ว่าจะผิดทั้งหมดหรือถูกทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลบางอย่างที่มีในมือของกรมดำรงฯ อันเนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งในชั้นเจ้านาย (อย่างกรณีสมุดดำคนเชิญตราสารฯ และทำเนียบบอกรายชื่อหัวเมือง ในกรณีของศรีเทพ) ทำให้กรมดำรงฯ มีข้อมูลที่บอกใบ้ทิศทางการค้นคว้าที่เหนือกว่านักวิชาการทั่วไป และเพียงแต่รอเวลาจนกระทั่งขุดค้นพบซากโบราณหลักฐานตามคำบอกใบ้นั้นในภายหลัง งานที่กรมดำรงฯ ทำหลายอย่างเช่นการพยายาม "เรียบเรียงประวัติศาสตร์ไทย" จากการรวบรวมข้อมูลในพงศาวดารหลายฉบับมาเทียบกันเช่น ฉบับหลวงประเสริฐ ฉบับพันจันทนุมาศ คำให้การชาวกรุงเก่า (ฉบับนี้ได้ต้นฉบับมาจากพม่าเมื่อปี ๒๔๕๔) คำให้การขุนหลวงหาวัด และการเทียบกับบันทึกประวัติศาสตร์จากต่างประเทศอีกหลายฉบับ ทั้งเป็นผลงานที่มีคุณภาพสูง ทั้งยังเป็นการสะท้อนการทำงานอย่างละเอียดเท่าที่จะทำได้ตามข้อจำกัดของยุคสมัย ไม่ใช่การพยายาม "หลอกลวง" อย่างที่พวกนักคิดฝ่ายซ้ายโจมตีกัน แม้กรมดำรงฯ จะมีปัญหาวิวาทะกับ กศร กุหลาบ อยู่บ้าง อันสะท้อนปัญหาลักษณะถือตัวและการรักษาข้อมูลจากสาธารณะอันเป็นวิสัยของชนชั้นนำโดยทั่วไป แต่ผมก็ยังมองว่าเป็นข้อบกพร่องของปุถุชนทั่วไปที่ยังพอยอมรับได้

สุวัณฺณภูมิ - สุวรรณทวีป
สุวัณฺณภูมิ - สุวรรณทวีป

ถ้ามองให้ดี แม้ศรีศักร จะมีท่าทีวิพากษ์กรมดำรงฯ อยู่ แต่การวิพากษ์ของเขาก็มีน้ำหนักที่เป็นธรรมและสมดุลดี งานที่เขาสนใจศึกษาเมืองสำคัญต่าง ๆ ก็เป็นการทำงานอย่างหนักและการใช้วิธีเชิงมานุษยวิทยาและกรอบทางวัฒนธรรมเข้ามาใช้ (เช่นการดัดแปลงภูมิประเทศรองรับสภาพน้ำหลาก การจัดวางผังเมืองในการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้บริโภคและการกสิกรรม การเพาะปลูก ความสัมพันธ์ของแหล่งชุมชน การทำเหมืองแร่ การค้าขายแลกเปลี่ยน ฯลฯ) นอกเหนือจากเรื่องการขุดค้นทางโบราณคดีก็ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ข้อค้นพบเรื่องอู่ทองเป็น "เมืองท่า" สำคัญในสมัยฟูนัน เพราะในขณะนั้นเทคโนโลยีการเดินเรือข้ามมหาสมุทรยังทำไม่ได้โดยง่าย การเดินเรือมีลักษณะเลียบชายฝั่ง ดังนั้นเมื่อเรือแวะที่ฝั่งทวายแล้วข้ามสันเขามา อู่ทองจึงเป็นจุดแวะพักสำคัญ

ภาพแสดงการคำนวณสถานที่เดินเรือของพระมหาชนกและการพยากรณ์อากาศ ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
ภาพแสดงการคำนวณสถานที่เดินเรือของพระมหาชนกและการพยากรณ์อากาศ ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก

งานที่เขาศึกษาเรื่องการค้าลูกปัดและพระธาตุร่วมกับนายแพทย์ บัญชา พงษ์พานิช เป็นการบุกเบิกทำความเข้าใจเรื่องยุคสมัยสุวรรณภูมิที่สำคัญ นอกจากนี้ยังทำให้เราเข้าใจเรื่องที่มาของการแลกเปลี่ยน และ"ค้าขาย" พระธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ที่มากับพุทธศาสนาและพ่อค้าจากชมพูทวีป เนื่องจากพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำวรรณะไวศยะ ดูเหมือนว่าสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กำลังพยายามสานต่อองค์ความรู้เรื่องสุวรรณภูมินี้อยู่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นโครงการที่สำคัญ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตีความตำแหน่งสุวรรณภูมิในพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก”)

แผนภาพแสดงคอนเซ็ปต์สุวรรณภูมิของ GISTDA
แผนภาพแสดงคอนเซ็ปต์สุวรรณภูมิของ GISTDA

ในช่วงที่เรากำลังเผชิญการท้าทายจากโครงการ BRI และ Indo-Pacific ซึ่งทั้งสองโครงการมีลักษณะเป็นทั้งภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์จากสองมหาอำนาจ บางทีการเกิดขึ้นของโครงการสุวรรณภูมิที่มีการย้อนไปถึงความเจริญรุ่งเรืองของทวารวดีที่บังเอิญเกิดขึ้นมาในช่วงนี้พอดี อาจมองในแง่โครงการแบบภูมิวัฒนธรรมได้เหมือนกัน ถ้าไม่นับงาน "Clash of civilization" ของแซมมวล ฮันติงตัน ที่พูดถึงไอเดียในลักษณะภูมิวัฒนธรรมแล้ว งาน "Geopolitics and Geoculture: Essay on the changing world-system" ของอิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ ก็นับว่าพูดถึงเรื่องภูมิวัฒนธรรมนี้อย่างตรงไปตรงมาทีเดียว เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องถือว่าโครงการสุวรรณภูมิเกิดขึ้นมาอย่างทันเหตุการณ์อย่างพอเหมาะพอดี.


[ข้อมูลอ้างอิง]
- การบรรยายเรื่อง “ศิลาจารึกสมัยทวารวดี จากโบราณสถานวัดพระงาม: การศึกษาวิเคราะห์และการตีความศิลาจารึกวัดพระงาม” โดยนางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร ดร. อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ สาขาตันติภาษา ดำเนินการเสวนา โดย นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร
- โครงการสุวรรณภูมิของ GISTDA
- บทความของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ: จารึกทวารวดีวิภูติ : หรือว่าทวารวดีจะไม่ได้อยู่ที่นครปฐม?


(๒) นิทรรศการศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ
บันทึกเดิมในเฟสบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓

ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการ "ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ" ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร งานจะมีจัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม จนถึง ๑๙ พฤศจิกายน ศกนี้

ธีมงานจะเป็นเรื่องจดหมายส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๔๘๖ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑสถาน วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีและนาฏศิลป์ ดูตัวอย่างหนังสือได้ที่ https://bit.ly/34PqVI7

อย่างไรก็ตาม "จุดสนใจหลัก" ของงานนิทรรศการคงอยู่ที่ห้องโถงหลัก ซึ่งจะแสดงโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ศิลาจารึกวัดพระงาม" ที่เพิ่งมีการขุดค้นพบจากเนินสถูปวัดพระงาม จังหวัดนครปฐมเมื่อปีกลาย ผมเคยเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับศิลาจารึกวัดพระงามเอาไว้ในหัวข้อ “ทวารวตีวิภูติ” และ “สุวรรณภูมิรัฐศาสตร์วัฒนธรรม” (Dvravativiputi and a Geopolitics & Geoculture of Suvarnabhumi) ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ (ดูบันทึกส่วนแรกด้านบน)

จารึกวัดพระงาม แสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพนี้ผมถ่ายเอง)
จารึกวัดพระงาม แสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพนี้ผมถ่ายเอง)


ตัวศิลาจารึกวัดพระงามนั้น ตอนผมพิจารณาจากภาพถ่ายของกรมศิลปากรดังในโพสต์ข้างต้น เวลานั้นผมก็รู้สึกว่ามีความแปลกเด่นเป็นพิเศษแล้ว พอมาเห็นของจริงก็ยิ่งรู้สึกประทับใจในความประณีตบรรจงของการจารึกตัวอักษรปัลลวะบนจารึกชิ้นนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งคิดถึงความสำคัญของการไขประวัติ "ทวารวดี" ที่คั่นกลางระหว่างอารยธรรมที่เก่ากว่าอย่าง "สุวรรณภูมิ" และอารยธรรมขอมในยุคถัดมาก่อนจะบังเกิดเป็นสุโขทัย-อโยธยา ก็ยิ่งรู้สึกถึงความสำคัญของจารึกชิ้นนี้เป็นเท่าตัว นอกจากการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นนี้แล้วยังมีการจัดแสดงรูปปั้นครึ่งตัวพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จากวัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีความงดงามที่สุดเท่าที่ค้นพบกันมา มีการแสดงเหรียญเงินสมัยทวารวดี ที่จารึกคำว่า "ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย" และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งร่องรอยการขุดค้นโบราณสถานบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ (สุวรรณภูมิ) ที่สำคัญทั้งในยุคสมัยกรมดำรงฯ และหลังจากสมัยกรมดำรงฯ

ภาพถ่ายแสดงข้อความ "ทวารวดีวิภูติ" อย่างชัด ๆ บนจารึกวัดพระงาม
ภาพถ่ายแสดงข้อความ "ทวารวดีวิภูติ" อย่างชัด ๆ บนจารึกวัดพระงาม


การบรรยายของกรมศิลปากรในยุคใหม่ดูเปิดกว้างและระมัดระวังในการตีความเป็นพิเศษ อาทิ การไม่รีบด่วนสรุปว่าการค้นพบศิลาจารึกวัดพระงามระบุว่านครปฐมเป็น "ศูนย์กลาง" ของทวารวดีจนกว่าจะมีหลักฐานที่มีความชัดเจนรัดกุมแน่นอนกว่านี้ แต่ไม่ปฏิเสธว่าจารึกวัดพระงามเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ รวมทั้งนครปฐมเป็นหนึ่งในเมืองหลักของอารยธรรมทวารวดีและมี "ความเจริญรุ่งเรือง" ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ หรือแม้แต่การระบุว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นนอกจากการตีความแบบกระแสหลักที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการประดิษฐ์อักษรไทยและถือเป็น "หนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของไทย" ก็ยังมีการตีความทางเลือกอื่น ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน หนึ่งในการตีความที่ดู controversial อย่างเช่นความเป็นไปได้ที่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้อาจถูก "สร้าง" ขึ้น หรือแม้แต่หากไม่ถูกสร้างก็ถูกจงใจนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเฉพาะในช่วงที่ทรงพระอักษรโต้ตอบกับเซอร์ จอห์น เบาริ่ง ในขณะที่ค่านิยมการค้าเสรีกำลังอยู่ในกระแสสูงเหนือค่านิยมลัทธิพาณิชยนิยมในขณะนั้น (เทียบประโยค "Laissez faire et laissez passer, le monde va de lui même!" กับ "ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส") ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความขนาดยาว (เป็นภาษาอังกฤษ) ว่านี่เป็นการวางรากฐานอันเข้มแข็งในการอนุวัติสยามให้ผสานลงรอยกับการทะยานขึ้นอารยธรรมตะวันตกหากนับสมัย รัชกาลที่ ๔-๕-๖ รัชกาลที่ ๔ ทรงวางรากฐานโดยเฉพาะในทางความคิดของชนชั้นนำสยามอย่างสำคัญ รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้กุศโลบายทางการเมืองและการดุลอำนาจอย่างได้ผลทั้งภายใน (ระหว่างกลุ่มสยามหนุ่ม สยามอนุรักษ์ และสยามเก่า) กับภายนอกระหว่างมหาอำนาจตะวันตกชาติต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่อาทิการวางระบบเทศาภิบาล (ซึ่งกรมดำรงฯ ก็มีบทบาทไม่น้อย) ในขณะที่รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้รากฐานอำนาจรัฐสมัยใหม่ที่มีการปฏิรูปมาจากสองรัชกาลก่อนหน้าในการนำร่องการปรับความสัมพันธ์สิทธิสภาพนอกอาณาเขต รวมไปถึงการตัดสินใจประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางหลังจากรอดูพัฒนาการสงครามอย่างระมัดระวัง

หมายเลขบันทึก: 688589เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2021 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2021 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท