ประเมินผลงานครู“แบบPAหรือ3in1”กับวัฒนธรรม“อำนาจ”(ตอนแรก)


ที่สำคัญกว่าคำสั่งเฉียบขาดสำหรับงานครู จึงเป็นการร่วมคิดร่วมทำหรือการระดมสมอง เนื่องจากเด็กๆมีความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างหลากหลาย วิธีเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กได้ทั้งหมด “ตัดเสื้อตัวเดียวไม่สามารถสวมใส่ให้กับเด็กทุกคนได้” หนึ่งคนต้องหนึ่งวิธี ร้อยคนต้องร้อยวิธี

เห็นข่าวการประเมินเพื่อเลื่อนและคงวิทยฐานะแบบใหม่ ซึ่งจะใช้เป็นองค์ประกอบการเลื่อนเงินเดือนด้วย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ห่อเหี่ยวใจขึ้นมาเลย น่าเป็นห่วงการศึกษาบ้านเราที่อาการไม่สู้ดีอยู่แล้วจะไปกันใหญ่

การประเมินแบบใหม่จะทำให้การประเมินสามเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน คล้ายกาแฟทรีอินวัน(3in1) ด้วยการใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ได้แก่ เลื่อนวิทยฐานะ คงวิทยฐานะ และเลื่อนเงินเดือน หมายถึงสร้างผลงานแค่ครั้งเดียว สามารถนำผลการปฏิบัติงานนั้นไปเข้ารับการประเมินได้ทั้งสามเรื่อง ก.ค.ศ. ผู้คิดออกแบบเรียกการประเมินพัฒนาครูลักษณะนี้ว่า “ข้อตกลงการพัฒนางาน(Performance Agreement)” หรือ PA

มองแบบคนภายนอกน่าจะดี ครูคงง่ายและสะดวกขึ้น ทำงานทีเดียวส่งประกวดได้ถึงสามรายการ แต่พอหวนถึงสายสนกลในภาคปฏิบัติหรือเรื่องจริงที่โรงเรียน เชื่อว่าครูจะถูกกดดันด้วยอำนาจการบริหารงานยิ่งขึ้น ความอยุติธรรมจากการเล่นพรรคเล่นพวก จะทำให้ครูแท้ ครูจริง ซึ่งมุ่งเฉพาะเนื้อหาสาระของงานหรือการพัฒนาเด็กหมดกำลังใจ ด้วยความมุ่งหวังพื้นฐานของคนทำงานทั่วไป ใครๆก็อยากเจริญก้าวหน้า

ลองพิจารณากว่าจะมาเป็นครูได้ โดยเฉพาะครูที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ได้เรียนครูมาโดยตรง ต้องมาเป็นอัตราจ้างสอนที่โรงเรียนก่อน จึงจะมีสิทธิ์เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู(ป.บัณฑิต) โดยใช้เวลาเรียนหนึ่งปี เพื่อนำไปยื่นขอใบประกอบวิชาชีพ วันเวลาเรียนมักเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ซึ่งบางครั้งต้องทำหน้าที่เวรที่โรงเรียนด้วย ยิ่งโรงเรียนใดมีครูน้อยจำนวนวันที่เป็นเวรจะถี่ขึ้น การขออนุญาตไปเรียนหรือการขออนุญาตสับเปลี่ยนเวรกับเพื่อนครูด้วยกันจึงจำเป็น ผู้อนุญาตคือฝ่ายบริหาร  

เป็นครูอัตราจ้างครบสามปี จึงจะมีสิทธิ์สอบบรรจุหรือสอบแข่งเฉพาะอัตราจ้างด้วยกัน(กรณีพิเศษ) ระหว่างสามปีนี้ไม่ว่าจะไปเรียนป.บัณฑิตหรือเพื่อให้มีสิทธิ์สอบบรรจุครูกรณีพิเศษ จึงตกอยู่ใต้อำนาจการให้คุณให้โทษ ซึ่งชี้เป็นชี้ตายโดยฝ่ายบริหารอย่างสมบูรณ์ ใครจะกล้าหือ หลายโรงเรียนครูอัตราจ้างหลายๆคนจึงได้เงินเดือนไม่เต็มวุฒิปริญญาที่จบมา จะทำยังไงได้ก็อยากเป็นครู อยากมีงานทำด้วยกันทั้งนั้น

แม้สอบบรรจุได้เป็นครูผู้ช่วยแล้ว ตามตัวหนังสือก็ยังไม่ถือเป็นครูเต็มตัว ต้องผ่านการทดลองปฏิบัติราชการอีกสองปี ซึ่งจะถูกประเมินผลการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาถี่ยิบ เมื่อก่อนต้องได้รับการประเมินถึงแปดครั้ง คงจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ท่ามกลางความเห็นอกเห็นใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าเดี๋ยวนี้ลดเหลือสี่ครั้งแล้ว ที่สำคัญผู้ประเมินทุกครั้งคือฝ่ายบริหาร

เราจึงเห็นครูใหม่หลายคนถูกมอบหมายงานพิเศษหินๆให้ทำอย่างไม่อาจปฏิเสธ เช่น งานพัสดุ งานการเงิน งานพวกนี้สมัยก่อนมีตำแหน่งสนับสนุนทำเป็นการเฉพาะ คือกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะรับคนที่เรียนจบสาขาวิชาเหล่านี้โดยตรงมาเป็นครูสายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว โรงเรียนจึงใช้ครูผู้สอนทำแทน ครูวันนี้จึงรับผิดชอบอย่างน้อยๆสองเด้ง ทั้งงานสอนและงานพิเศษดังกล่าว ยิ่งงานพวกนี้เกี่ยวข้องกับระเบียบกฎหมาย พลาดพลั้งถึงติดคุก ปกติจึงไม่มีใครอยากทำ ยกเว้นคนที่หวังจะได้รับอานิสงส์จากประโยชน์หรือสิทธิพิเศษลับๆบางอย่าง สุดท้ายจึงมักมาลงเอยกับครูใหม่ๆ ที่ต้องถูกประเมินให้ผ่านการทดลองปฏิบัติราชการเพื่อเป็นครูเต็มตัวโดยฝ่ายบริหาร

ถ้าอยากย้ายโรงเรียนหลังเป็นครูมาระยะหนึ่งแล้ว อาจเพื่อกลับไปอยู่บ้าน ดูแลพ่อแม่ อยู่กับครอบครัว ฯลฯ จากที่ได้บรรจุเป็นครูผู้ช่วยสองปี อีกสองปีจึงจะมีสิทธิ์เขียนขอย้าย รวมเป็นสี่ปีจากที่เริ่มเป็นครู มีสิทธิ์แล้วใช่ว่าจะย้ายได้เลย ขึ้นอยู่กับโรงเรียนที่จะย้ายไปมีตำแหน่งว่างหรือไม่ด้วย หรืออาจจะรวมไปถึงเส้นสาย พรรคพวก เงินทอง แบบฉบับการทำงานบ้านเรา ยิ่งไปกว่านั้นผู้อนุมัติให้ย้ายคือฝ่ายบริหาร

เรื่องราวของครู โดยเฉพาะครูบรรจุใหม่ แค่นี้ก็ควบคุมไม่ให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้คิด ได้แทบเบ็ดเสร็จแล้ว “ก็ถูกต้องสมควรไม่ใช่หรือ เป็นข้าราชการย่อมต้องมีระเบียบวินัย กฎกติกา กำกับ ควบคุม” พูดอย่างนี้ไม่ผิดแต่น่าจะถูกเพียงครึ่งเดียว หากลองพิจารณาต่อหรือลงลึกถึงความต่างในลักษณะงานของข้าราชการแต่ละประเภท

ถ้าเป็นข้าราชการทหารตำรวจต้องฟังผู้บังคับบัญชาลูกเดียว คำสั่งจะผิดหรือถูกต้องปฏิบัติไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะไปรบทัพจับศึกต่อต้านอริราชศัตรูหรือปราบโจรผู้ร้ายให้ทันท่วงทีได้อย่างไร ถ้าไม่เป็นหนึ่งเดียว ไม่รวดเร็ว ไม่เฉียบขาด แต่งานครูหรืองานพัฒนาคน ซึ่งมีความละเอียดอ่อน ทำอย่างนั้นไม่ได้ ยิ่งเร็วยิ่งเฉียบขาดอาจยิ่งพัง ยิ่งไม่ได้ผล “กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การพัฒนาเด็กให้งอกงามก็ไม่อาจเร็วได้ฉันนั้น” นักการศึกษาคนสำคัญเคยกล่าวไว้ในทำนองนี้

ที่สำคัญกว่าคำสั่งเฉียบขาดสำหรับงานครู จึงเป็นการร่วมคิดร่วมทำหรือการระดมสมอง เนื่องจากเด็กๆมีความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างหลากหลาย วิธีเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กได้ทั้งหมด “ตัดเสื้อตัวเดียวไม่สามารถสวมใส่ให้กับเด็กทุกคนได้” หนึ่งคนต้องหนึ่งวิธี ร้อยคนต้องร้อยวิธี คนที่รู้จักเด็ก รู้ข้อมูล ลักษณะนิสัย หรือรู้พื้นเพของเด็กๆแต่ละคนดี จึงจะแก้ไขปัญหาหรือสามารถพัฒนาเด็กได้เต็มศักยภาพ

งานครูจึงเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ทว่าครูกลับตกอยู่ใต้อำนาจการบังคับบัญชาแบบไม่กล้าหือ ไม่กล้าขยับแม้แต่ปาก “จะพูดให้เขาเกลียดทำไม อยู่เฉยๆดีกว่า นิ่งเสียตำลึงทอง โบราณว่า” อย่างนี้จะเอาความคิดดีๆหรือความคิดสร้างสรรค์จากไหนไปช่วยคิดช่วยพัฒนาเด็กๆที่มีภูมิหลัง มีต้นทุนชีวิตหรือพฤติกรรมการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างมากมายได้

งานจัดการศึกษาจึงต้องการครูที่มีอิสระเสรีภาพทางความคิดหรือการแสดงออกพอสมควร ครูต้องเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดกล้าทำ ไม่อย่างนั้นจะไปสอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือใช้วิจารณญาณเก่งๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนจากการประเมินต่างๆของเด็กบ้านเราได้อย่างไร “ร้อยคำพูดไม่เท่าหนึ่งการกระทำ” ธรรมชาติเด็กจะเรียนรู้จากแบบอย่างหรือพฤติกรรมครูยิ่งกว่าคำพร่ำบ่นหรือเทคนิควิธีสอนอันทันสมัยต่างๆ

หมายเลขบันทึก: 689000เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท