บันทึกย้อนหลังเรื่อง ปปส (COIN) สมัยสงครามเย็น


ช่วงนี้มีข่าวเรื่องคุณทักษิณกับ Club House แล้วโยงใยไปถึงปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์เรื่อง กรือเซะ (๒๘ เมษายน ๒๕๔๗) (ผู้รับผิดชอบหลักในขณะนั้นคือ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งดำรงตำแหน่งขณะให้สัมภาษณ์เป็น รองผอ.กอ.รมน และที่ปรึกษา รมว กลาโหม แต่ในขณะที่เกิดเหตุการณ์พลเอกพัลลภดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.กอ.สสส.จชต. และ รอง ผอ.กตร.) และเหตุการณ์ตากใบ (๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗)   ส่วนเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ถือเป็นหมุดหมายใหม่ในการการสร้างความไม่สงบและแบ่งแยกดินแดนยุคใหม่ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดูข่าวล่าสุดที่รายงานจากสำนักข่าวอิศรา ๑) ฟัง "กูรู BRN" แฉเจรจาแค่ไอโอ ใต้ไม่สงบเพราะงบข้าใครอย่าแตะ (๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔), ๒) ผู้อาวุโสออกโรงโต้ "กูรู BRN" อ้างอุดมการณ์มั่นคง-โบ้ยรัฐไม่จริงใจ (๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔), และ ๓) เจาะยุทธศาสตร์ BRN เตรียมเปิดตัวดึงโลกล้อมไทย (๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔)

ผมเคยลงไปพื้นที่เขตสามจังหวัดชายแดนใต้หลายครั้ง ทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ต่อมาเป็นช่วงที่กำลังศึกษาในหลักสูตร "การเสริมสร้างสังคมสันติสุข" (๔ส) รุ่นที่ ๓ กับ "ลุงเอก" (พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ) รวมถึงการเดินทางทัศนศึกษาที่จังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย รูปข้างล่างเป็นรูปที่ถ่ายขณะรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องการสร้างสันติภาพของคณะนายทหารอินโดนีเซีย ที่กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียที่จาร์กาต้า

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในอินโดนีเซียตีพิมพ์ข่าวการเยือนของคณะทัศนศึกษาจากสถาบันพระปกเกล้าในขณะนั้นเอาไว้ดังรูปด้านล่าง จากรูปจะเห็นคุณประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ (ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) แต่ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะทัศนศึกษาและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำรุ่น เนื่องจากท่านได้เข้าเรียนในรุ่นที่ ๒ ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้าผม

ในช่วงสองปีที่แล้วผมก็เดินทางไปในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแต่ละช่วงการเดินทางไปในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บรรยากาศที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ผมยังมีความเชื่อมั่นในเรื่องกระบวนการสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เสมอ (รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลาง) ในช่วงที่เรียนที่สถาบันพระปกเกล้า มีการแบ่งกลุ่มคณะนักศึกษาเพื่อวิจัยปัญหาความขัดแย้งในประเทศออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ศึกษาความขัดแย้งทางการเมืองส่วนกลาง และกลุ่มที่ศึกษาความขัดแย้งในเขตสามจังหวัดใต้ ผมสังกัดอยู่ในกลุ่มแรก (เรียกว่ากลุ่ม P) และกำหนดหัวข้อศึกษาเป็นเรื่องการใช้สื่อใหม่และโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลาง (เรื่อง "การเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย ด้วยวิธีการ อาทรเสวนาผ่าน SocialMedia") คณะนักศึกษาจะต้องจัดทำรายงานส่งให้กับสถาบันพระปกเกล้าเพื่อเป็นหลักฐานในการสำเร็จการศึกษา โดยมีอาจารย์ ศิระชัย โชติรัตน์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ ดร ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ความจริงมีเรื่องที่ผมจะพูดถึงประสบการณ์ในการเรียนที่สถาบันพระปกเกล้าอยู่มาก ประกอบกับความคิดใหม่ในระยะหลังที่ผมเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันผู้นำนานาชาติอาเซียนแห่งอนาคต (ASEAN Lyceum for the future) ซึ่งผมรู้สึกว่าความคิดของตนเองเริ่มตกผลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คงจะต้องเอาไว้กล่าวถึงในภายหลัง สำหรับในตอนนี้จะเป็นการพูดถึงเรื่อง ปปส (COIN) และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมัยสงครามเย็นที่ผมเคยบันทึกทิ้งเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เช่นเดียวเกี่ยวกับเรื่องความรู้ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง และประวัติกอ.รมน. โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับส่วนของ พลเอกสายหยุด เกิดผล ที่ผมได้รับรู้เพิ่มขึ้นในภายหลัง รวมถึงองค์ความรู้ที่ผมได้รับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เพิ่มขึ้นอีกมาก (อาทิเช่น เครือข่ายวัดพุทธไทยในกลันตัน) บางส่วนมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายสากลอย่างเครือข่าย JI มากกว่า ISIS หรือ อัลกออิดะห์ รวมไปถึงขบวนการความเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ในสิงคโปร์ ก็คงต้องมาบันทึกไว้ในโอกาสหน้า (หมายเหตุ: ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง "การเมืองเชิงอัตลักษณ์" จากมีเดียมของคุณอภิสิทธิ์)

ยุทธศาสตร์ดับเบิลเพลย์ของรัฐไทย
ยุทธศาสตร์ดับเบิลเพลย์ของรัฐไทย

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเมืองส่วนกลางถือเป็นแกนกลางยุทธศาสตร์ดับเบิลเพลย์ (การเล่นสองต่อในเบสบอล) ที่ผมเคยเสนอเอาไว้ใน slideshare เมื่อ ๖ ปีก่อน คือการสร้างความสมานฉันท์ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ในศตวรรษที่ ๒๑ , การเตรียมรองรับเทคโนโลยีระดับลึกอุบัติใหม่ (อาทิ เทคโนโลยีควอนตัม ไปจนถึงรูปแบบเศรษฐกิจเทคโนโลยีที่เรียกว่า MBNRIC ซึ่งเกิดจากการปฏิวัติไซเบอร์เนติค) การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ และการรองรับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในเขตอินโดแปซิฟิคที่กำลังอุบัติขึ้นในไม่ช้านี้


บิ๊กจิ๋วกับประวัติศาสตร์ COIN (counterinsurgency) ของไทย

(บันทึกในเฟสบุ๊คส่วนตัวเมื่อ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙)

ผมไม่อยากแปลคำว่า COIN ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า counterinsurgency เป็น "การปราบปรามการก่อกบฏ" เท่าไหร่ คำนี้ในภาษาไทยมันกินความหมายกว้างและไม่ลงไปในความหมายเฉพาะเหมือนคำต้นฉบับภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า "การต่อต้านการก่อการร้าย" (counter-terrorism) อันนี้ก็จะมีความหมายเฉพาะลงไปอีก ซึ่งก็น่าจะเป็นคนละประเด็นกับ COIN เพราะการก่อการร้ายมีเป้าประสงค์ไปในทางการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในรัฐเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการก่อวินาศกรรม การลักพาตัวหรือสังหารพลเรือน หรือการใช้ระเบิดพลีชีพ อะไรทำนองนั้น มากกว่าการใช้กำลังรบแฝงในหมู่ประชาชน อันที่จริงใช้คำว่า "การต่อต้านสงครามกองโจร" อาจจะพอใช้ได้ (ปรับปรุงเพิ่มเติม: ปัจจุบันนิยามศัพท์ของ COIN ใช้คำว่า "การป้องกันและการปราบปรามความไม่สงบ" หรือ "ปปส" ซึ่งผมเห็นว่าอมความได้เหมาะสมดีแล้ว)

ที่บิ๊กจิ๋วออกมาแถลงเมื่อวันอาทิตย์นี่หลายคนอาจจะงง ๆ มึน ๆ ว่าแกออกมาพูดอะไรของแก แต่สิ่งที่แกพูดนี่แหละเป็นความคิดของคนในสมัยสงครามเย็น ที่เป็นหนึ่งในคีย์แมนที่พาทางการไทยเอาชนะสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มาได้ ในงานวิจัยประวัติ COIN ในเมืองไทยชิ้นหนึ่งเขาระบุไปเลยว่า นายพลสามคนหลักของไทยที่มีบทบาทสำคัญในการเอาชนะพคท. ก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, พลเอกหาญ ลีนานนท์ และ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือบิ๊กจิ๋วคนนี้ (พลเอกหาญ เป็นประธานร่างคำสั่ง 66/23 และเป็นเจ้าของนโยบาย "ใต้ร่มเย็น"; ส่วนพลเอกเปรม มีบทบาทจากประสบการณ์จริงในการต่อสู้กับพคท ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 มาก่อน และเริ่มใช้วิธี "การพัฒนาและการเมือง นำการทหาร")

ทีนี้ที่บิ๊กจิ๋วแกออกมาพูดเป็นภาษากำลังภายในไปหน่อย นี่ผมคิดว่าแกคงได้อิทธิพลจาก "อาจารย์เสริฐ" (ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร) มาเยอะ ศัพท์แสงของอาจารย์เสริฐก็เอามาจากฝ่ายซ้ายหรือพรรคคอมมิวนิสต์นั่นแหละ เพียงแต่แกไม่เห็นด้วยกับการใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธ แกเลยออกจาก พคท มาร่วมมือกับทางการไทย ซึ่งก็ออกมาร่วมมือตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ แล้วก็ไปช่วยจอมพลถนอมตั้งพรรคสหประชาไทย แต่ล้มเหลว ฯลฯ

วิธีการของบิ๊กจิ๋วก็ไม่มีอะไรมาก คือสมัยนั้นกระแสพลังการต่อสู้มีสองสาย คือจากสายทางการไทย (ซึ่งตอนนั้นอยู่ในโลกเสรี) กับสาย พคท. บิ๊กจิ๋วก็หาวิธีทอนกำลัง "แนวร่วม" ของ พคท. ลง ก็เรียกได้ว่าใช้ทั้งสงครามจิตวิทยา ใช้สงครามข้อมูลข่าวสาร ใช้การพัฒนา มากกว่าการต่อสู้ด้วยกำลังทหาร แต่เวลาแกพูดไปก็จะถูกด่าจากทั้งสองฝ่ายก็คือ ปีกเหยี่ยวของกองทัพในตอนนั้น และจากสาย พคท. ซึ่งก็ต้องออกมาโต้อยู่แล้ว ทีนี้ในช่วงสมัยก่อนผมพยายามค้นคว้าว่าอะไรเป็นสาเหตุการแพ้สงครามของ พคท. กันแน่ ก็ได้ข้อสรุปออกมาสามอย่างว่า (1) การเปลี่ยนนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" (2) การแยกตัวของค่ายคอมมิวนิสต์ คือโซเวียตกับจีนแตกกัน (เลยส่งผลมาถึงคอมมิวนิสต์อินโดจีนด้วย) และ (3) ความแตกแยกใน พคท. เอง

บิ๊กจิ๋วมองสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างไรก็คงต้องตีความจากสิ่งที่แกนำเสนอดู แต่ความเคลื่อนไหวของบิ๊กจิ๋วรอบนี้ต่างออกไปจากในรอบปี 2552 มาก ซึ่งตอนนั้นมีลักษณะ แยกตัวหรือ "หัก" กับ ป๋าเปรมอยู่หน่อย ๆ แต่รอบนี้ดูจะตรงข้ามกัน

...

ทีนี้ถ้า (1) นี่เป็นปัจจัยสำคัญจริง แสดงว่าทั้งบิ๊กจิ๋วกับ "อาจารย์เสริฐ" ก็ต้องมีบทบาทสำคัญแน่ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีมากขนาดไหน รวมถึงมันยังอธิบายหลาย ๆ ยุทธศาสตร์ของทางการไทยไม่ได้ จนกระทั่งพอผมไปศึกษาประวัติศาสตร์มาเลเซีย ก็พบว่ามาเลเซียเคยมีปัญหากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม) มาก่อน (ปี 1948-1960) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วปรากฎว่าทางกองทัพอังกฤษ (ซึ่งในขณะนั้นยังปกครองมาเลเซีย ซึ่งยังใช้ชื่อมลายาอยู่) ก็สามารถเอาชนะสงครามกองโจรกับ พคม ได้

แล้วทำให้ Robert Grainger Ker Thompson ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษ "Chindits" ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมมลายา ก็เขียนหนังสือสรุปประสบการณ์ทำสงครามต่อต้านสงครามกองโจรออกมาในชื่อ "Defeating Communist Insurgency: The Lessons of Malaya and Vietnam" ในปี 1966 แต่ตอนนั้นก็มีการมองกันว่า Thompson เขียนหนังสือออกมาประชดสหรัฐฯ ที่ไปทำสงคราม ที่ไปเน้นการต่อสู้ด้วยกำลังรบ แล้วแพ้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แต่หนังสือเล่มนี้นี่แหละที่วางพื้นฐานของ COIN ห้าข้อคือ (1) ต้องวางเป้าหมายการเมืองให้ชัดเจน (2) ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (3) ต้องวางแผนครอบคลุมทั้ง ความมั่นคง, การเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, ขอบเขตพื้นที่และจังหวะเวลาในการควบคุมฝ่ายคอมมิวนิสต์ (4) ให้ความสำคัญกับการบ่อนทำลายทางการเมือง - หาทางแยกประชาชนออกจากการสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม และ (5) คุ้มครองป้องกันฐานที่มั่นให้ได้ในอันดับแรกแล้วจึงขยายเขตอิทธิพลออกไป

ในช่วงแรก ๆ ทางการไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำในหนังสือเล่มนี้ตามประสบการณ์ของอังกฤษ แต่ยังไปตามแนวทางของอเมริกันอยู่มาก ในช่วงแรก ๆ ทางการไทยจึงเสียเปรียบ พคท เรียกว่ายิ่งรบแนวร่วม พคท ก็ยิ่งขยายตัว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นักศึกษาก็เข้าป่าไปสมทบกับ พคท มากขึ้น

ทางการไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงนโยบายในการสู้กับ พคท มาหลายยุค เริ่มตั้งแต่ช่วง 1965 มีการตั้ง กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งยังเน้นใช้กำลังรบ; มาเป็นช่วง 1967 ใช้คำสั่ง 09/10 (มาจากปี พ.ศ. 2509 และ 2510) ช่วงนี้ทางการไทยเริ่มตระหนักว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้ตกเป็นรอง พคท อยู่มาก ; ช่วง 1969 คำสั่ง 110/2512 ช่วงนี้มีการต่อสู้ทางความคิดระหว่างปีกเหยี่ยวและปีกพิราบในฝ่ายความมั่นคงไทย ; ช่วงทศวรรษ 70 และการเกิดขึ้นของคำสั่ง 66/23 ช่วงนี้เองที่ พลเอกเปรม และพลเอกหาญ มีบทบาทนำ รวมทั้งมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน COIN จากทั้ง CIA และ contractor จากอังกฤษที่ผ่านประสบการณ์จากมลายาเข้ามาสนับสนุน แผนการณ์ COIN ของทางการไทยช่วงนี้จึงมีทิศทางถูกต้องและแก้สถานการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น (อันที่จริงหนังสือของ Thompson ยังครอบคลุมไปถึงการหาทางดึงคีย์แมนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์มาสู้กลับ เพราะจะรู้ทางกัน หรือยังครอบคลุมไปถึงแผนพัฒนาชนบทและเศรษฐกิจเพื่อช่วงชิงความนิยมของประชาชนออกจากคอมมิวนิสต์อีกด้วย หรือแม้แต่มีข้อแนะนำให้หาทางทำสงครามข้อมูลข่าวสารเพื่อให้กำลังรบคอมมิวนิสต์เห็นว่าหากกลับใจมอบตัวจะมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างไร หรือร่างแผน "นิรโทษกรรม" ซึ่งก็คือแนวทางของคำสั่ง 66/23 นั่นเอง เป็นต้น )

...

ความจริง COIN นี่มีวิวัฒนาการนับจากหลังสงครามเย็นไปอีกมาก โดยเฉพาะระยะหลังที่มีการผสมผสานกับการก่อการร้าย สหรัฐอเมริกาจึงได้ประสบการณ์และบทเรียนใหม่อีกมากในตะวันออกกลาง ประเด็นที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ข้อเสนอเรื่อง "ไตรสภาวะที่ไม่อาจบรรลุได้" ของ COIN (Counterinsurgency's Impossible Trilemma) ของ Lorenzo Zambernadi คือหมายถึงจะต้องเลือกเอาได้แค่ จาก 2 ใน 3 เป้าหมาย คือ (1) การป้องกันการสูญเสียทหาร (2) การป้องกันชีวิตพลเรือน (3) การเอาชนะฝ่ายกองกำลังกองโจร

ภาพยนตร์เรื่อง 13 Hours พูดถึงปฏิบัติการคุ้มกันสถานทูตในลิเบีย แสดงให้เห็นภาพของ COIN ในโลกยุคใหม่

ในช่วงแรกสหรัฐฯ ในสงครามในอิรัก - อัฟกานิสถาน เลือกเอา (1) และ (3) เป็นหลัก คือใช้การทิ้งระเบิดจากทางอากาศ และให้ทหารอยู่ในรถหุ้มเกราะ ก็ปรากฎว่าฝ่ายพลเรือนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็เสียหายไปมาก สหรัฐฯ ก็สูญเสียความนิยม ก็ทำให้กองกำลังฝ่ายต่อต้านเข้มแข็งมากขึ้น ก็เท่ากับไม่บรรลุเป้าหมายโดยรวมอยู่ดี ทีนี้นายพล David Petraeus เลยเสนอให้คำนึงถึงชีวิตพลเรือนมากขึ้น แม้ว่ามาตรการนี้จะไปลดประสิทธิภาพ แนวทางแบบ "การค้นหาและทำลาย" ลงก็ตาม เรื่องนี้จึงมีผลให้โอบามาตัดสินใจเพิ่มกำลังในอิรักขึ้นอีก 30,000 คนในอัฟกานิสถาน เพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนนโยบายใหม่ของ Petraeus ที่เน้นการคุ้มครองพลเรือนมากขึ้น แต่นั่นก็ทำให้กำลังทหารต้องรับความเสี่ยงจากการสูญเสียมากขึ้น (คือจากเดิมเคยเน้น (1) และ (3) เริ่มมาให้ความสำคัญกับ (2) ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อชีวิตและความสูญเสียของทหาร หรือ (1) มากขึ้น) แต่ในระยะยาว หากการสูญเสียของกองกำลังทหารมีค่ามากกว่าค่า treshold ค่าหนึ่ง ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่อยู่ในใจพลเมืองสหรัฐฯ ในทางการเมืองผู้นำสหรัฐฯ ก็จะต้องตัดสินใจถอนกองทัพออกเหมือนในเวียดนาม อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมโอบามาไม่ตัดสินใจเข้าไปทำสงครามในซีเรีย แม้จะขีดเส้นตายเอาไว้ และถูกมองจากหลายฝ่ายว่าโลเลและทำให้เครดิตของสหรัฐฯ เสียไป แต่ในสายตาของโอบามาแล้วเขาคำนึงถึงความเสี่ยงจาก Impossible Trilemma นี้นี่แหละ

...

สำหรับเมืองไทย ที่กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทั้งส่วนกลาง และในสามจังหวัดใต้ แล้วดูท่าทางจะแก้ไม่ได้เอาง่าย ๆ อย่างที่คิดนั้น ต้องตัดสินใจให้ดีและต้องตระหนักด้วยว่าสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เปลี่ยนไปจากสมัยสงครามเย็นมากแล้ว

./end./

หมายเลขบันทึก: 689140เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท