ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๓๕. พลังของการยอมรับว่าไม่รู้



หนังสือ Think Again : The Power of Knowing What You Don’t Know โดย Adam Grant    บอกเราว่า ความสำเร็จในชีวิตได้จากการคิดใหม่    ยอมรับว่าความรู้ที่เรามีอยู่อาจผิด หรือไม่เหมาะต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ    ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุค VUCA คือความสามารถในการเปลี่ยนใจตนเอง

คำแนะนำอย่างหนึ่งคือ    ให้ฝึกคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์    โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม    แล้วหาข้อมูลจากการปฏิบัติจริงมาตอบ    วิธีคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์เริ่มจากความไม่เชื่อ หรือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง    นักบริหารหรือผู้ประกอบการที่คิดแบบนี้ จะมีแนวโน้มจะปรับตัวธุรกิจ เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือสภาพแวดล้อม

จุดบอดสำคัญของมนุษย์คือ ไม่รู้ว่าตนไม่รู้ (บางเรื่อง)   หลงคิดว่ตนเก่งและรู้ทุกเรื่อง    มีงานวิจัยที่บอกว่า คนที่ความฉลาดทางอารมณ์ต่ำมักคิดว่าตนมีความฉลาดทางอารมณ์สูง     นี่คือจุดบอดด้านความสามารถ (competence blindness)    ที่เขาปนะนำว่าทางแก้คือ ความถ่อมตน (humility)  

ผมมีข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว  ว่าน้องที่เรียนไม่เก่งมักประมาณผลการสอบของตนดีกว่าผลที่ประกาศ    ในขณะที่น้องที่เรียนเก่งจะประมาณไปในทางตรงกันข้าม    คือคิดว่าผลจะออกมาไม่ดีนัก แต่เมื่อประกาศผล สอบได้คะแนนสูงมาก          

 สิ่งที่ผู้คนมักไม่รู้ (จุดบอด) อย่างหนึ่งในที่ทำงานคือ ความขัดแย้ง ๒ แบบ    ได้แก่ ความขัดแย้งจากงาน  กับความขัดแย้งส่วนตัว    ผลงานวิจัยบอกว่า ทีมงานที่มีผลสำเร็จสูงมักมีความขัดแย้งจากงานสูง  มีความขัดแย้งส่วนตัวต่ำ    ส่วนทีมงานที่มีผลสำเร็จต่ำ มีลักษณะตรงกันข้าม คือมีความขัดแย้งในงาน (task conflict) ต่ำ  ความขัดแย้งส่วนตัว (ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ส่วนบุคคล – relationship conflict) สูง    อธิบายว่า ทีมงานที่มีความขัดแย้งส่วนตัวสูงไม่ไว้วางใจกัน จึงไม่กล้าท้าทายกันในเรื่องงาน  

ใช้ท่าทีของ “ผู้ไม่รู้” เอาชนะการต่อรอง    ได้ผลกว่าใช้ท่าทีของผู้รู้    นี่คือผลการวิจัย    เขาบอกว่าวิธีเจรจาต่อรองให้ได้ผลมีหลัก ๓ อย่าง    (๑) หาประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกัน    มองการต่อรองว่าเป็นเสมือนการเต้นรำ มีทั้งการก้าวไปข้างหน้าและการถอยหลัง     การเริ่มที่ประเด็นที่เห็นตรงกันช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งอ่อนข้อให้ในประเด็นอื่น  (๒) นักเจรจาต่อรองที่เก่งทำงานได้ผลดีโดยมีประเด็นโต้แย้งน้อยข้อ    โดยที่แต่ละข้อมีข้อมูลหลักฐานยืนยันแน่นหนา    ดีกว่ามีข้อโต้แย้งมากข้อ  และมีบางข้อที่พยานหลักฐานอ่อน ถูกหักล้างได้ง่าย    ทำให้ข้ออื่นๆ โดนโจมตีไปด้วย  (๓) ใช้ท่าทีของ นักวิทยาศาสตร์ คือตั้งคำถามเป็นหลัก    ไม่ใช่ร่ายยาวข้อคิดเห็นของตน เพื่อเปลี่ยนใจอีกฝ่ายหนึ่ง        

การเปลี่ยนใจคนที่สมาทานความเชื่อผิดๆ    ทำได้โดยชวนคิดที่รากเหง้าของปัญหา    ให้เขาได้ใคร่ครวญมองเห็นปัญหาด้วยตนเอง    ไม่ใช่ไปบอกให้เขาเปลี่ยนความคิดตรงๆ    ผมขอเพิ่มเติมว่า นี่คือหลักการของ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)    ตรงกับสาระในหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง 

 เครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้เปลี่ยนใจคนที่เชื่อฝังใจในบางเรื่อง  หรือเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม (เช่น การสูบบุหรี่  เล่นการพนัน ) เรียกว่า motivational interview   โดยการตั้งคำถามที่กินใจ    จากท่าทีถ่อมตน ว่าอยากรู้เหตุผลจริงๆ  และแสดงท่าทีตั้งใจฟัง    คือแทนที่จะใช้วิธีสอนเพื่อให้เขาเปลี่ยนใจ    กลับใช้วิธีฟังเพื่อให้เขาเปลี่ยนใจ    ที่เรียกว่า reflective listening   ที่มีฐานที่ท่าทีของผู้ไม่รู้ แต่อยากรู้  และเปี่ยมไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ    

หลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือ  หากจะให้คนคิดใหม่ ต้องอย่านำเสนอเรื่องนั้นๆ แบบขาวกับดำ    ให้เสนอแบบสถานการณ์ที่ซับซ้อนมีหลากหลายทางเลือก    ที่เรียกว่าเป็น complexity  

หากท่านเป็นผู้บริหารองค์กร โปรดตระหนักว่า วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อความสามารถของพนักงาน ในการเปลี่ยนความคิด    องค์กรที่เน้น performance culture พนักงานจะเปลี่ยนความคิดได้ยาก    องค์กรที่เน้น learning culture  พนักงานจะเปลี่ยนใจง่ายกว่า    ในองค์กรแบบหลัง พนักงานจะกล้ารับความเสี่ยงในการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ    เพราะ learning organization จะไม่ลงโทษผู้ทำผิดพลาด   แต่จะหาทางเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น หากบังเอิญเกิดขึ้น   

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มี.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690051เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2021 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2021 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ข้อคิดเยอะเลยนะคะ กราบขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท