ชีวิตที่พอเพียง 3968. ตัวการสำคัญเพื่อสำเร็จประโยชน์



หนังสือชุด ธรรมะใกล้มือ เรื่อง อินทรีย์ พละ ธรรมะที่แก้ปัญหาทุกอย่างได้  (๑)   ถอดเทปจากคำสอนของท่านพุทธทาส แก่พระนวกะในปี ๒๕๑๒   อธิบายธรรมะชุด อินทรีย์ ๕  หรือพละ ๕    อันได้แก่ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  

คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ตัวการสำคัญเพื่อสำเร็จประโยชน์     มีอินทรีย์ ๒ ชุด คือ จิตอินทรีย์ ได้แก่ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา กับกายอินทรีย์ ได้แก่ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ (ที่จริงมี ๖)    

กายอินทรีย์ เป็นตัวรับรู้การกระตุ้นจากภายนอก สู่พฤติกรรมด้านดีก็ได้ ด้านชั่วก็ได้    จิตอินทรีย์ เป็นตัวกระตุ้นภายในสู่พฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม  เป็นฝ่ายธรรมะ  

ที่จริงในยุคสมัยที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สมอง และจิตวิทยาการเรียนรู้ ก้าวหน้าไปมากมายอย่างในปัจจุบัน     เราอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง อินทรีย์ฝ่ายกาย กับอินทรีย์ฝ่ายจิตได้    ว่าคนเราต้องฝึกให้อินทรีย์ฝ่ายจิต กำกับอินทรีย์ฝ่ายกาย    ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ เรียกว่า mastery learning    เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามาที่อินทรีย์ฝ่ายกายที่ใดก็ตาม    มีการตอบสนองไปในทางที่ถูกต้องหรือเป็นกุศล โดยใช้  ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา แบบไม่ต้องคิด  

ผมเชื่อว่า การศึกษาที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า 21st Century Learning (๒)   หรือ Learning Compass 2030 (๓) จะช่วยหนุนให้เด็กสร้าง อินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ ตามที่ท่านพุทธทาสอธิบาย ใส่ตัวโดยอัตโนมัติ    ย้ำนะครับ ว่าไม่ใช่มีคนมาถ่ายทอดให้เด็ก    แต่เด็กสร้าง พละ ๕ ขึ้นในตนเอง ผ่านการฝึก    โดยพ่อแม่ ครู และผู้ใหญ่โดยรอบตัวเด็กช่วยเป็นครูฝึก   

ในโรงเรียน การฝึกเป็นไปในทางกุศลมากหน่อย    ในสังคมรอบตัวเด็ก หากเด็กอยู่ในสังคมดีก็รอดตัวไป    แต่เด็กคนไหนโชคร้าย สังคมโดยรอบเสื่อมทราม (บางทีในโรงเรียนเองก็เสื่อมทราม)   ก็อาจถูกระตุ้น อินทรีย์ ๕ ไปในทางเสื่อม    พ่อแม่ที่รักลูก จึงต้องดูแลให้ลูกได้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นกุศล  

ศรัทธาแปลว่าความเชื่อที่ถูกต้อง  มี ๓ กลุ่ม คือ  (๑) ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์    ท่านตีความว่าหมายถึงศรัทธาในคุณธรรมที่อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์    จะเห็นว่าท่านตีความเข้าหานามธรรม   โดยในทางรูปธรรมท่านแนะให้รวมบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เข้าไปด้วย   (๒) ศรัทธาในกรรม เชื่อผลของการกระทำ    ท่านพุทธทาสเรียกว่า “เชื่อข้างใน”  (๓) ศรัทธาในตัวเอง    ที่ผมขอให้ความเห็นว่า มุมที่สำคัญคือ ศรัทธาในความมุ่งมั่นมานะพยายามของตนเอง ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ที่เรียกว่า growth mindset    อีกประการหนึ่งคือ ศรัทธาในปณิธาน (aspiration) ของตนเอง    ในทางการศึกษาเรียกว่า self-determination theory (๔) 

ท่านบอกว่า ต้องไม่เชื่อง่าย    ต้องเชื่อต่อเมื่อพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง    ซึ่งก็คือยึดถือตามกาลามสูตร    ในบริบทสังคมไทย มีการลากศรัทธาเข้าสู่ความงมงาย   ในสังคมมีมายาหลอกลวงศรัทธาคนเต็มไปหมด   เรื่องนี้ต้องใช้ปัญญาแก้   ข้อเตือนใจที่สำคัญคือ เราไม่ได้ใช้ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา แบบแยกส่วนกัน    เราใช้แบบบูรณาการกันทั้งหมด  

วิริยะแปลว่าความเพียร    ท่านบอกว่า เมื่อมีศรัทธาที่ถูกต้องแล้ว ความเพียรก็มาเอง    ในทางการศึกษาสมัยใหม่มีความพยายามอธิบายเรื่องนี้กันมาก    เด็กต้องมีศรัทธาในผู้ใหญ่ว่าเป็นที่พึ่งได้ เรียกว่า attachment   ตามทฤษฎี building blocks for learning (๕)    ที่น่าจะตีความได้ว่า ศรัทธาในตนเอง มีพัฒนาการหลายขั้นตอนในเด็กเล็ก    โดยที่พัฒนาการนี้เกิดขึ้นผ่านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบข้าง    ที่หากปฏิสัมพันธ์นี้บิดเบี้ยว    ศรัทธาในตนเองก็ผิดไปด้วย    วิริยะก็พลอยผิดทาง    ดังที่เราเห็นเด็ก (และผู้ใหญ่) เดินผิดทางในชีวิตกันเกร่อ     

เป้าหมายของวิริยะของท่านพุทธทาส คือการลดละกิเลสตัณหา

สติใช้ควบคุมศรัทธา  ควบคุมความเพียร    ผมเข้าใจว่าคนไทยมองสติแยกออกไปจากสมาธิ และปัญญา     แต่ความเข้าใจของผม มองจากมุมของการเรียนรู้    สติเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวัน    และการศึกษาที่ถูกต้องตามที่กล่าวมาแล้วจะช่วยให้เด็กได้ฝึกสติโดยอัตโนมัติ    กล่าวเชิงกลไกสมอง สติคือสภาพที่สมองส่วนหน้า (neocortex – ควบคุมเหตุผลผิดชอบชั่วดี) กำกับสมองส่วนอารมณ์ (amygdala)    ในทางการศึกษาเรียกว่า executive functions   

สมาธิ  หมายถึงจิตตั้งมั่น  ไม่วอกแวก มีกำลังเต็มที่    ซึ่ง building blocks for learning (๕)ก็รวมไว้ใน perseverance  และ independence and sustainability  

ปัญญา   เป็นไปเพื่อดับทุกข์ ดับกิเลส    ท่านบอกว่าต้องควบคุมอินทรีย์ทางกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เป็นตัวการก่อปัญหา    โดยใช้เครื่องมือ ๕ ชิ้นในชุด อินทรีย์ ๕  ได้แก่ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา     ในทางการศึกษา ปัญญาหมายถึงความเข้าใจสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง เข้าใจที่มาที่ไปของมัน  เข้าใจปฏิสัมพันธ์ของมัน    หากเราเข้าใจความกว้างใหญ่ และซับซ้อนของจักรวาล    ก็จะตระหนักว่าตัวเราเล็กนิดเดียว    ช่วยให้ลดอัตตาลงได้    แต่หากตีความความรู้ไปอีกทางหนึ่ง ก็อาจนำไปสู่ความพอกพูนตัวตน ไม่เป็นเส้นทางแห่งปัญญา (๖) 

มนุษย์จึงหลงทางได้ง่าย ฉะนี้แล

แต่การศึกษาที่ถูกต้องตามที่กล่าวมาแล้ว   จะช่วยให้มนุษย์เดินถูกทาง    สอดคล้องกับ อินทรีย์ ๕  หรือพละ ๕

วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690929เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2021 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2021 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท