นิเทศครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น ๑ รหัส ๖๓ : "โรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ ครั้งที่ ๑" (ศ ๑๘ มิ.ย.๖๔)


ภาคเรียนที่ ๑/๖๔ ได้รับการมอบหมายจากอธิการบดีและคณะกรรมการอำนวยการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ให้เป็น “อาจารย์นิเทศก์" ทำหน้าที่ไปศึกษา สังเกต และดูแลนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ถูกส่งไปโรงเรียนในเชียงใหม่ จำนวน ๖ โรง (นักศึกษา ๓๐ คน)

ทำให้ภาคเรียนที่ ๑/๖๔ จึงขอความอนุเคราะห์สาขาวิชา ยกเว้น การจัดตารางสอนในวันศุกร์ในภาคเรียนนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมา

๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ วันแรก

เลือกไปนิเทศ “โรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ” เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกใหม่สำหรับการส่งนักศึกษาลงไปปฏิบัติการและฝึกฝนความเป็นครู ดังนั้น การลงไปในวันแรกที่นักศึกษาไปอยู่นั้น เพื่อทำความเข้าใจการให้ความรู้และฝึกฝนอย่างไรในชั้นปีที่ ๒ นี้บ้าง เนื่องจากแต่ละชั้นปีจะมีระดับการฝึกไม่เหมือนกัน แนวคิดเป็น “เบาไปหาหนัก”

..

..

“โรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ” สังกัด อบจ.เชียงใหม่ อยู่ข้างอาเขต (ขนส่งเชียงใหม่) เคยไปส่งคนโน้น คนนี้ แต่ไม่เคยมีโอกาสมาทำกิจกรรมใด ๆ ที่โรงเรียนนี้เลย ใช้เวลาขี่รถเครื่องจากบ้านไป ๑ ชั่วโมง

..

..

วันนี้ถึงโรงเรียน เวลา ๑๕.๐๐ น. ทางเข้าโรงเรียน อยู่หลังวัดกู่คำ 

จอดรถเครื่องไว้ตรงประตูโรงเรียนเตี้ย ๆ มองไปก็เห็นอาคารเรียนอยู่ ๒ หลัง

..

..

แผนแรก คือ การขอเข้าพบ ผอ. ก่อน แต่ ผอ.ไม่อยู่ ออกไปธุระข้างนอกพอดี

บังเอิญคุณครูที่อยู่บนอาคารตะโกนถามมาว่ามาหาใคร แจ้งว่า มาหา ผอ. แต่ ผอ.ไม่อยู่ ให้ขึ้นมาบนอาคารนี้ได้เลย จึงกลายเป็นแผนสอง คือ คุยกับคุณครูที่ดูแลเด็ก ๆ แทน

..

สภาพแวดล้อมดูสะอาดสะอ้านมาก ๆ

คุณครูบอกว่า เด็กครูรัก(ษ์)ถิ่นกลับไปแล้ว มีรถสีขาวมารับไปได้สัก ๑ ชั่วโมงแล้ว อ้าว นั่นไง นี่แหละคือปัญหา เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไปในสัปดาห์หน้า ต้องอยู่ให้เท่ากับคุณครูเขาอยู่ ห้ามกลับก่อนเวลาโรงเรียนเลิก

ได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณครูที่เป็นหัวหน้าระดับชั้นอนุบาล คุณครูดูกระตือรือร้นมาก สัมผัสได้ว่า คุณครูท่านนี้ต้องสามารถฝึกฝนเด็กครูรัก(ษ์)ถิ่นได้เป็นอย่างดีแน่นอน

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหลายเรื่อง บางสิ่งบางอย่างถือเป็นการสะท้อนคิดที่มีประโยชน์มากสำหรับสถาบันการผลิตครู

เช่น

การผลิตครู ควรให้นักศึกษาครูลงโรงเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝนและเกิดความตระหนักรู้ว่า วันหนึ่งเขาจะมาทำหน้าที่แบบนี้ เขาพอใจไหม เขาชอบไหม เขาตอบปัญหาของตัวเองได้ไหมว่า การที่เลือกมาเรียนครู อยากเป็นครูจริง ๆ หรือมาเป็นครูเพราะว่าได้รับทุน หรือ พ่อแม่อยากให้มา แค่นั้น

ซึ่งประเด็นนี้ ผมสนับสนุนมาโดยตลอด ตัวเองได้สอนวิชา “ความเป็นครู” เมื่อใด คอร์สนั้นจะต้องส่งเด็กลงไปโรงเรียนเสมอ ถือเป็นกิจกรรมหลัก เพราะเคยค้นพบบ่อยที่เขียนผ่านมาว่า เด็กบางคนไม่ได้อยากเป็นครู แต่พ่อแม่บังคับมา หรือ คิดว่าอาชีพครูมันง่าย ใคร ๆ ก็เป็นครูก็ได้ ดังนั้น จงลงไปหาคำตอบนั้นเอง 

“ความรู้จากห้องเรียน” ไม่สำคัญเท่า “การลงมาสัมผัสด้วยตนเองที่โรงเรียน”

..

คุยกันเสร็จแล้วก็บันทึกภาพร่วมกัน เพื่อเก็บเป็นหลักฐานกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็ได้นักศึกษาฝึกสอน ปี ๕ ซึ่งเป็นรุ่นพี่เด็กครูรัก(ษ์)ถิ่นมาช่วยบันทึกภาพให้ และผมก็ฝากฝังให้ดูแลรุ่นน้องด้วย ครูจะได้สบายใจ

ผมจำหน้าเด็กปี ๕ ได้ แต่ผมจำไม่ได้ว่า ผมไปรู้จักเขาที่ไหน เมื่อไหร่

เด็กบอกว่า “อาจารย์ อย่าลืมซึ้อกล้วยทอดมาฝากหนูด้วย”

นั่นไง จำได้ล่ะ เด็กปฐมวัยกลุ่ม ผมเคยซื้อกล้วยทอดให้จริง ๆ 555

เด็กจำครูได้แม่นยำเสมอ แต่ครูผู้สอนเด็กมาเป็นร้อยเป็นพัน มักจะจำไม่ได้หมด

รู้สึกแก่ไปในทันที ;)…

..

ปัญหาที่เก็บได้ในวันแรก โรงเรียนแรกนี้

๑. การออกจากโรงเรียนก่อนโรงเรียนเลิก แจ้งให้ จนท.ประจำโครงการประสานรถให้ด้วยในสัปดาห์ถัดไป

๒. การสื่อสารจากทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยคณะผลิตครู มาไม่ถึง หรือ มาแบบไม่เข้าใจ ทำให้คุณครูยังไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่า ต้องดูแลเด็กอย่างไร (อันนี้ส่วนตัว ทราบเลยว่าเกิดจากปัญหาใด และใคร)

..

สิ่งที่ต้องทำ หลังจากไปนิเทศ

๑. เก็บรูปภาพลงเป็นอัลบั้มในไลน์ของกลุ่มนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และ จนท.ที่ดูแลการเบิกจ่ายโครงการ ซึ่งรูปภาพดังกล่าว นอกจากเป็นการเตือนความจำ ก็ยังเป็นหลักฐานสำคัญในการเบิกจ่าย การเขียนรายงาน การเช็คชื่อว่า อาจารย์นิเทศได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายแล้วเน้อ

๒. เขียนบันทึกลง G2K เพื่อเก็บเรื่องราวและปัญหาที่เก็บได้ จะได้นำไปปรับปรุงหรือแก้ไขต่อไป ตามที่อธิการบดีคาดหวังเอาไว้ลึก ๆ

..

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)…

..

หมายเลขบันทึก: 691123เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2021 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2021 05:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เดี๋ยวนี้เป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่มีmail แจ้งเตือน 555

สงสัย admin กำลังปรับปรุงอยู่น่ะครับ ท่านประธาน ;)…

ขอบพระคุณมากครับ ;)…

“ความรู้จากห้องเรียน” ไม่สำคัญเท่า “การลงมาสัมผัสด้วยตนเองที่โรงเรียน”

เป็นจริงตามนั้นครับ และเช่นเดียวกัน ผมก็เชื่อว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้ เว้นเสียแต่เราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้”

ขอบพระคุณครับ

ขอบคุณมากครับ คุณแผ่นดิน ;)…

ขอเสนอให้อาจารย์ช่วยย้ำว่า การที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นไปฝึกที่โรงเรียน ต้องการให้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อประโยชน์อะไรของเขาในอนาคต และพื่อประโยชน์อะไรของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เขาจะไปทำงาน ชื่นชมการทำงานและบันทึกของอาจารย์ครับ

รับทราบครับ อาจารย์หมอ

นั่นคงเป็นหน้าที่ผมโดยตรงที่เฝ้าดูการเติบโตของพวกเขาให้ถูกทาง

ขอบพระคุณที่อาจารย์หมอให้เกียรติเข้ามาในบันทึกนี้ครับ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท