เวทีประกันคุณภาพภาควิชา (2) : U-round vs Q-round


ในโรงเรียนแพทย์ เราจะได้ยินคำว่า round ward หรือ  round คนไข้ บ่อยๆ  รูปแบบที่ทำ คือแพทย์ผู้รักษาไปดูคนไข้ที่เตียงเพื่อตรวจและสั่งการรักษา รวมทั้งสอนนักเรียนแพทย์  ในกิจกรรมนี้ นอกจากแพทย์แล้ว ก็ยังมีคนอื่นอีกหลายคน ทั้งพยาบาล นักศึกษาแพทย์ รวมทั้งแพทย์ประจำบ้านด้วย คนหลายคน ล้อมคนไข้คนเดียว ก็เลยเรียกว่า round คือ ล้อมวงช่วยกันดูคนไข้ (คำอธิบายนี้ ไม่ได้ไปค้นที่มาจริงๆ แต่เข้าใจว่าไม่ผิดเพี้ยนไปจากนี้)

 

ในปัจจุบัน มีการพัฒนาการ round ผู้ป่วยไปในทางที่เป็นประโยชน์กับคนไข้มากขึ้น  เช่น ไม่ round ข้างเตียงผู้ป่วยนานเกินไป เพราะพวกหมอพูดภาษาอะไรที่คนไข้ไม่เข้าใจ และ การพูดคุยบางครั้งก็เป็นการหารือ เสนอความคิดเห็น ไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่สิ้นสุด คนไข้อาจไปตีความเองต่างๆ นาๆ และ เกิดความเครียดได้  จึงมีการเปลี่ยนการหารือไปที่ห้องประชุมแทน 

 

การพัฒนาอีกอย่างที่แพร่หลายมากขึ้น คือทีม round นั้น มีบุคลากรสาขาอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่หน่วยสิทธิประโยชน์  คนดูแลด้านจิตใจ เภสัชการ หรือ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ เรียกว่าเป็นการ round เป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ หรือ multidisciplinary round  การ round แบบนี้ เป็นไปตามแนวคิดของการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (hollistic care)  เพราะเวลาป่วยนั้น ไม่ได้มีปัญหาแต่ร่างกายเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อมทางจิตใจ ครอบครัว เศรษฐกิจ และ อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นได้ทั้งเหตุและผลของการเจ็บป่วย หากการดูแลไม่ได้ดูแลปัจจัยเหล่านี้ด้วย ก็ยากที่จะเยียวยาให้ผู้ป่วยหาย หรือ ดีขึ้นได้

 

การนำเสนอการประกันคุณภาพภาควิชาครั้งที่ 4/2549 เรื่องการพัฒนาการรักษาพยาบาลนี้  มีเรื่องของการ round อย่างน้อย 3 ภาควิชา รูปแบบคล้ายคลึงกัน คือ เป็น multidisciplinary round แต่มีที่มา และ รายละเอียดต่างกันบ้าง  ขอเล่าของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) ที่ประทับใจมากที่สุด และ เก็บรายละเอียดได้มากกว่าอีก 2 ภาค (กุมาร และ โสตศอนาสิก)

 

อาจารย์หมอธนะรัตน์ เป็นผู้นำเสนอโดยให้ชื่อว่า Utilization round หรือ เรียกสั้นๆ ว่า U-round   ที่มาของ U-round น่าสนใจมากเลยค่ะ เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนวิฤติให้เป็นโอกาส  เนื่องจาก รพ.มอ. มีการดูแลด้านการเงินที่เข้มข้นมาก  ผู้ป่วยรายใดที่มีค่ารักษาพยาบาลที่สูงมาก ผอ.ก็จะส่ง notice ไปเตือนหัวหน้าภาค แต่กว่าตัวเลขจะไปถึง การรักษาต่างๆ ก็ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ 

 

ทางทีม นำโดย อาจารย์หมอกันยิกา หัวหน้าภาควิชา บอกไม่ได้แล้ว ต้องทำแบบเชิงรุก  ก็เลยเอาข้อมูลย้อนหลังมาดูว่า มีผู้ป่วยแบบไหน ที่มีค่าใช้จ่ายมาก แล้วเลือกโรคในกลุ่มดังกล่าวมาดูแลแบบเชิงรุก เพื่อวางแผนการรักษาตั้งแต่ต้นจนออกโรงพยาบาล (เรียกว่า discharge plan) เพื่อให้การดูแลมีประสิทธิภาพ (คุ้มค่า) และ มีประสิทธิผลพร้อมกันไปด้วย โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้เกิด multi-purposes ใน U-round ไม่ว่าจะเป็น:-

  • การกำหนดแผนการรักษา
  • การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา
  • การวางแผน และ ประสานกับหน่วยสิทธิประโยชน์
  • การประเมินสภาพจิตใจผู้ป่วยและญาติ
  • การเตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติ (เตรียมล่วงหน้า ไม่ใช่ก่อนกลับบ้าน)

อ.ธนะรัตน์บอกว่า คนไข้กระดูกนั้น ส่วนหนึ่งเกิดความพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางครั้งก็ไม่มีใครอยากรับกลับบ้าน กลับบ้านแล้ว จะดูแลกันอย่างไร โอย เรียกว่าสารพัดปัญหาเลย  ทางทีมที่ดูแล ต้องติดต่อประสานงานกับคนมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่า คนไข้ สามารถกลับไป และ พึ่งตนเอง หรือ มีคนดูแลได้จริง 

สุดยอด !! และเป็นปลื้มกับคนไข้และญาติจริงๆ ค่ะ

อ.กันยิกา หัวหน้าภาคเสริมว่า  U-round ดำเนินการได้มา 7-8 เดือน กว่าจะถึงจุดนี้ ไม่ได้สำเร็จมาตั้งแต่เริ่ม  ตอนแรก เริ่มที่ เงิน  เอาเงินเป็นตัวตั้ง ให้แพทย์ช่วยดูเรื่องเงินหน่อย แต่ไม่สำเร็จ ไม่มี response เพราะจรรยาบรรณแพทย์บอกว่า ต้องรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด  แต่พอเอาว่า เอาคุณภาพเป็นตัวตั้ง ความสำเร็จก็เลยเกิดขึ้น ดังที่อาจารย์ธนะรัตน์เล่าให้ฟัง  การพัฒนาในครั้งนี้ ให้บทเรียนที่มีค่าว่า “หากเอาเรื่อง เงิน มาเป็นตัวตั้งในเรื่องของคนไข้ ไม่มีทางพัฒนาได้สำเร็จ

 

อาจารย์คณบดีจึงเสนอให้เปลี่ยนชื่อจาก U-round เป็น Q-round (quality-round)  แต่ตนเองว่า U-round ก็ OK นะ เป็นอนุสรณ์ดีว่า มันมีโจทย์ที่มาจากเรื่อง “เงิน

 

หมายเลขบันทึก: 69123เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
     ผมอ่านบันทึกอาจารย์จากตอนที่ 2 ก่อน แล้วย้อนไปอ่านตตอนที่ 1 ครับ พบว่าเป็นบันทึกที่แปลกเมื่อเราแยกเป็นตอน ๆ แต่ผมกลับอ่านตอนไหนก่อนก็ได้ เรียกว่าผู้เขียนสื่อออกมามีประเด็นสำคัญที่แยกกันอยู่อย่างชัดเจน ความสามารถเฉพาะตัวห้ามใครลอกเลียนแบบ (มั้งครับ)
     จะ U หรือ Q Round แต่ที่แน่ ๆ งานนี้ได้เรียนรู้ว่า เงินหรือทรัพยาากรไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนา แต่ประชาชนน่าจะเป็นคำตอบ ไม่แตกต่างกันเลยครับไม่ว่าจะงาน Clinic หรืองาน ชุมชน แต่การเริ่มต้นจากประเด็นปัญหาที่แท้จริง ก็จะได้คำตอบสุดท้ายที่จริงแท้
     มอ.มีอะไรดี ๆ ให้ชื่นชมเสมอ ๆ ครับ สำหรับบริการของ รพ.มอ.หากพอสะท้อนได้สัก 1 เสียง แทนชาวบ้านหลาย ๆ คนที่ไปรับบริการ เขาพึงพอใจมากนะครับ
  • เรื่องนี้เป็นตอนที่อ่านแยกได้ เหตุหนึ่งเพราะเป็นการนำเสนอผลงานเป็นเรื่องๆ  เวทีนี้เป็นเวทีที่ดีมาก รวมทั้งมีอีกหลายเวทีใน มอ. ที่มีเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง  เขาทำเป็นวัฒนธรรมองค์กรกันมากว่า 10 ปี  แต่เขายังไม่สนใจในเรื่องของการเขียน โดยเฉพาะการถ่ายทอดในลักษณะนี้  เสียดายมากๆ (ก็เลยอดใจนำมาลิขิตแทนไม่ได้)
  • ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมของคุณชายขอบแทนชาว รพ. มอ.ด้วยค่ะ
  • คุณชายขอบคนเดิมของ Gotoknow กลับมาแล้ว ดิฉันมีความสุขมากๆ  ไม่อยากเสียคนคุณภาพไป  

เรียนท่านอาจารย์หมอปารมี

 วิชาชีพแพทย์ กับ อาชีพแพทย์ ฟังแล้วคล้ายกันแต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 หากเรานำวิชาชีพมาประกอบเป็นอาชีพ ทำมาหาเลี้ยงชีวิต บนชีวิตคนอื่น ดูจะไม่สมกับความเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพอันทรงไปด้วยเกียรติ และ ความมีคุณธรรม จริยธรรม

 เส้นทางเดินของการพัฒนาสังคม แพทย์ ที่เป็น ครูบาอาจารย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการ "ใช้วิชาชีพ อันทรงไว้ซึ่งความพอเพียง เรียงร้อยร่วมสร้าง ฅน ให้เป็น มนุษย์ ที่ออกมารับใช้สังคม น่ายกย่องครับ"

อ่านอย่างละเอียด ช้า ๆ อ่านทั้งหมด

ประทับใจเพื่อนเรามาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท