สอนออนไลน์ให้ร่วมมือกันเรียน


กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และท่านอาจารย์พเยาว์ ยินดีสุข คู่หูวิทยากรที่มีพลังคิดบวกและถ่ายทอดประสบการณ์ครุศาสตร์อย่างดีต่อใจและสร้างสุขภาวะครูเพื่อศิษย์ให้ผมอีกครั้ง เพราะด้วยการเรียนออนไลน์ที่ขาดวิธีการที่หลากหลายจะทำให้ทั้งผู้สอนกับผู้เรียนเป็นทุกข์...หนังสือของสองท่านอาจารย์ชื่อ ทักษะ 5C เพื่อการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนอิงมาตราฐานทำให้ผมตกผลึกความรู้ความเข้าใจผสมผสานกับสื่อทางกิจกรรมบำบัดเพื่อทักษะจิตสังคมด้วยพลวัตกลุ่ม

กิจกรรมแรก Group Learning คือ ผู้เรียน 2 คนขึ้นไป แต่ไม่ควรวัดผลเพียงแค่ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม เพราะบางคนอาจไม่รับผิดชอบการทำงานในห้องเรียนออนไลน์ (Flipped classroom/Work-based learning) ดังนั้นควรใช้ระบบการเรียนรู้แบบร่วมมือกันทำงาน (Cooperative learning) ทำให้วัดผลได้ 2 มิติ ได้แก่ คะแนนทดสอบรายบุคคล กับ คะแนนทดสอบเฉลี่ยของกลุ่ม ประกอบด้วยผู้เรียน 4-6 คนต่อกลุ่ม (เด็กคะแนนดี 1-2 คน เด็กคะแนนปานกลาง 2 คน เด็กคะแนนอ่อน 1-2 คน) ซึ่งจัดกิจกรรมการทดสอบด้วยเทคนิคที่น่าสนใจ จาก 59 รูปแบบของ ดร.เคแกน คลิกเรียนรู้เพิ่มเติมที่ Kagan's FREE Articles - Articles by Dr. Spencer Kagan (kaganonline.com) ทำให้ผมเคยใช้อยู่ในการสอนออนไลน์รวม 5 รูปแบบ ได้แก่ 

  1. ครู กำหนดโจทย์ตามจำนวนลูกศิษย์ : สมาชิกกลุ่มเลือกหัวหน้าคนแรกเป็นผู้หยิบสุ่มคำถาม แต่ละคนเขียนคำตอบลงในกระดาษ ตรวจคำตอบร่วมกัน ถ้าตอบถูก ก็เก็บคะแนน ครูชื่นชม ถ้าตอบไม่ถูก ให้กลุ่มค้นคว้าแบบจับคู่ต่อด้วยอภิปรายตอบโจทย์เป็นกลุ่มโดยแก้ไขให้ตอบถูก เวียนสมาชิกท่านอื่นมาเป็นหัวหน้าจนทุกคนได้รับคำถาม
  2. ครู ชวนลูกศิษย์แต่ละคนกำหนดโจทย์พร้อมคิดคำตอบที่ถูกเองบ้าง แล้วทำตามกระบวนการข้อ 1. 
  3. ครู กระตุ้นลูกศิษย์ให้ข้อมูลย้อนกลับ : ข้อคิด ข้อดี ข้อเสนอแนะ ข้อบกพร่อง ต่อผลงานของกลุ่มอื่น ๆ เวียนสลับไปทีละกลุ่ม
  4. ครู มอบหมายโจทย์และกำหนดช่วงเวลาในแต่ละลำดับให้ทำงานเป็นทีมโดยฝึกคิดเป็นระบบ : แต่ละกลุ่มกำหนดบทบาทของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนคิดคำตอบตนเอง แล้วนำคำตอบของแต่ละคนมาอภิปรายเป็นคู่ (คนแรกพูด คนสองฟัง แล้วสลับกัน) ต่อด้วยเป็นทีม เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด เมื่อกลุ่มทำงานสำเร็จ ก็แบ่งคู่ทำงานจนสำเร็จ ต่อด้วยทำคนเดียวจนสำเร็จ 
  5. ครู กำหนดโจทย์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ ที่เรียงเป็นภาพตามลำดับความรู้/ข้อเท็จจริง : ลูกศิษย์ผลัดกันพูดตอบโจทย์ทีละคนตามเวลาที่กำหนด ใช้การเล่า อธิบาย โดยไม่มีการเขียน ไม่มีการวาดภาพ ทั้งนี้อาจท้าทายโดยต่างคนต่างเขียนคิดคำตอบในเวลาเดียวกัน 

กิจกรรมสอง การเรียนรู้เพื่อพัฒนาพหุปัญญา หรือ Multiple Intelligence ก็เป็นการมอบหมายงานที่หลากหลาย เช่น 

  1. เก่งภาษา : อ่านเรื่องสั้น กล่าวสุนทรพจน์ฉับพลัน เล่าเรื่องตลก อธิบายความคิดสำคัญ เขียนคำแนะนำการใช้ สร้างคำขวัญ  
  2. เก่งตัวเลข : วิเคราะห์ข้อมูลวิจัย สร้างและทดสอบสมมติฐาน อธิบายเหตุผลแก้ปัญหา สร้างผังภูมิ ประยุกต์ใช้ข้อมูล คำนวณความเป็นไปได้ทางสถิติ
  3. เก่งศิลปะ (มิติสัมพันธ์) : วาดภาพประกอบเรื่องราว ออกแบบแผนผัง ผลิตสื่อทัศนะ ใช้แผนที่จินตนาการ ใช้ผังกราฟิก สร้างงานศิลปะเล่นสีแสงเงา วิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากภาพยนต์ 
  4. เก่งวิทย์ (ธรรมชาติ) : สังเกตบันทึกการเปลี่ยนแปลง/ขั้นตอนพัฒนาการ ถ่ายภาพธรรมชาติแยกแยะประเภทสิ่งที่ใช่และไม่ใช่ธรรมชาติ ปลูกพืชดอก/ผัก เลี้ยงสัตว์ พร้อมวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง
  5. เก่งดนตรี : เขียนเพลงจากโครงกลอน แต่งทำนองเสียง แสดงเครื่องดนตรี ร้องเพลงพร้อมเปลี่ยนเนื้อร้อง วิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากเนื้อเพลง
  6. เก่งเคลื่อนไหวร่างกาย : คิดท่าทางแสดงตามบทบาท ละครใบ้ ลงมือทำงานฝีมือ/โครงงาน ประกอบเครื่องมือ เล่นกีฬา 
  7. เก่งสังคม : สร้างทีมงานทำโครงการ ติวให้เพื่อนร่วมชั้นเรียน แสดงบทบาทสมมติ แก้ปัญหาเป็นทีมในสถานการณ์จริงและจำลอง จัดการยุติความขัดแย้ง/ประนีประนอม 
  8. เก่งรู้จักตนเอง : อ่านในใจ ให้บันทึกความฝัน กำหนดความสำคัญเร่งด่วน สังเกตการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ เชื่อโยงประสบการณ์ชีวิต แสดงเจตคติ/ความต้องการ

กิจกรรมสาม การสอนฝึกทักษะการให้เหตุผลหรือการคิดเกี่ยวกับการคิดในกระบวนการควบคุมการเรียนรู้ขั้นสูง เรียก Metacognition ครูควรฝึกฝนทักษะการตั้งคำถามเพื่อพัฒนาสมรรถนะของลูกศิษย์ให้เข้าใจ Learn How to Learn โดยเตรียมคำถามล่วงหน้าให้เรียงตามลำดับเนื้อหาที่จะสอน ใช้ภาษาชัดเจนและถามอย่างมั่นใจ ไม่พูดเยอะ ถามแล้วรอเวลาให้ผู้เรียนทั้งเก่ง ปานกลาง และอ่อน ได้มีเวลาย่อยคิดคำตอบ เรียกชื่อผู้เรียนโดยไม่กำหนดชื่อมาก่อน ให้โอกาสผู้เรียนหลายคนตอบคำถามเดียวกัน ถามแล้วไม่ทวนคำถามและไม่ทวนคำตอบ ใช้ท่าทางและน้ำเสียงกระตุ้นความสนใจ สุดท้ายเปิดโอกาสให้ผู้เรียนถามผู้สอนด้วย 

ตัวอย่างการตั้งคำถาม

  1. ถามการนำไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ว่าจะมีวิธีอย่างไรได้บ้าง 
  2. ถามสาเหตุสำคัญใดบ้างที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมเช่นนี้
  3. ประชาชนในแต่ละภาคส่วนมีความแตกต่างกันอย่างไร มีปัจจัยสำคัญใดเป็นสาเหตุบ้าง
  4. จงออกแบบแนวคิดใหม่ที่ได้หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีศึกษานี้
  5. ท่านจะมีวิธีการใดที่จะบอกได้ว่าบุคคลนี้ดี บุคคนนั้นไม่ดี
  6. ผลการทำโครงการสุขภาวะชุมชนตามเกณฑ์เพื่อประเมินค่า กลุ่มใดดีที่สุด เพราะอะไร 
  7. ความคิดเห็นของเพื่อนคนใดเหมาะสมที่สุด เพราะอะไร
  8. เพื่อนของเรามีความสามารถในการนำเสนอผลงาน คุณคิดว่าใครน่าชื่นชมที่สุด เพราะอะไร 

กิจกรรมสี่ การสอนด้วยวิธี Storyline คือ การผูกเรื่องแต่ละตอนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเรียงลำดับเหตุการณ์ ประกอบด้วย เส้นทางการเดินเรื่อง และ การใช้คำถามหลักในแต่ละตอน เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองจาก ฉาก ตัวละคร การดำเนินชีวิต และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อฝึกแก้ไขปัญหา 

  • ครูกำหนดฉาก นำเข้าสู่บทเรียน ระบุสถานที่ เวลา สิ่งแวดล้อม มีตัวละคร คน สัตว์ พืช สิ่งไม่มีชีวิต ที่เกี่ยวข้อง และตัวละครกำลังทำกิจกรรมอะไรบ้าง จนเกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขมีอะไรบ้าง
  • ครูชวนให้ผู้เรียนวางแผนงานเป็นทีมกลุ่มย่อยเพื่อแสดงบทบาทสมมติจากกรณีศึกษาในสถานการณ์จำลอง 
  • ครูสาธิตในบางเทคนิค/วิธีการแก้ปัญหาเพิ่มเติมในเชิงอภิปรายหลังการแสดงละคร
  • ครูตั้งคำถามชวนคิดตามลำดับแต่ละตอนของการดำเนินเรื่อง เช่น จงอธิบายความหมายของสิ่งนี้ มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะและประโยชน์อย่างไร ใครหรือบุคคลใดบ้างที่ได้รับผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์ มีเหตุการณ์น่าเศร้าใดบ้างที่เกิดขึ้นกับสิ่งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งนี้มีผลกระทบต่อสิ่งอื่นหรือไม่ อย่างไร บุคคลที่ช่วยพัฒนาสิ่งนี้อย่างยั้งยืนมีลักษณะอย่างไร ละครที่เราร่วมแสดงบทบาทสมมติครั้งนี้แตกต่างจากสภาพที่เป็นจริง หรือเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรในเรื่องที่เรียน มีอะไรอีกบ้างที่สนใจเรียนรู้

กิจกรรมสุดท้าย การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง หรือ Authentic Assessment 

เพราะการประเมินผลการเรียนรู้ (assessment) ในสิ่งใด ๆ อาจไม่ต้องประเมินผลแบบตัดสินคุณค่า (evaluation) เสมอไป

ดังนั้นครูที่ดีควรพิจารณาว่า กำลังประเมินอะไร จากกระบวนการ (process) การปฏิบัติงาน (performance) จนถึงผลงาน (product) และทำไมจึงเลือกการประเมินการเรียนรู้ชนิดนี้ จาก 3 รูปแบบ ได้แก่

  • การประเมินผลเพื่อวินิจฉัยข้อบกพร่อง (diagnostic assessment)
  • การประเมินการเรียนรู้ระหว่างเรียน (formative assessment)
  • การประเมินการเรียนรู้หลังเรียน (summative assessment)

ตัวอย่างการประเมินที่น่าสนใจ

  1. การประเมินทักษะปฏิบัติการทดลอง โดยพิจารณาความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมที่สังเกตได้กับรายการพฤติกรรมการเรียนรู้ เช่น ความร่วมมือวางแผนงาน/ภาวะผู้นำในกระบวนการกลุ่ม การรวบรวมข้อมูล/บันทึกผลให้เข้าใจชัดเจน การใช้อุปกรณ์ได้ถูกต้องไม่อันตราย การแปลควาหมายข้อมูลและสรุปผลได้ถูกต้อง : ครูให้น้ำหนัก 1 คะแนนถ้าแน่ใจในพฤติกรรมที่สังเกตได้สอดคล้องกับรายการข้างต้น ถ้าไม่แน่ใจในความสอดคล้องก็ให้ 0 คะแนน และถ้าแน่ใจว่าไม่สอดคล้องกันก็ให้ -1 คะแนน 
  2. การประเมินทักษะการแสวงหาข้อมูล โดยพิจารณาความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลกับรายการประเมินทักษะต่อไปนี้ ได้แก่ ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลมากกว่า 1 แหล่ง มีการตัดสินใจในการเลือกข้อมูลด้วยการประเมินคุณภาพ มีการแยกแยะข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น มีการจัดระบบข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ : ครูให้ผลการประเมินคือ 1 = ปรับปรุง 2 = พอใช้ 3 = ปานกลาง 4 = ดี และ 5 = ดีมาก 
  3. การประเมินจิตพิสัย ดูภาพประกอบข้างล่าง
  4. การประเมินเชิงบูรณาการแบบพหุสหวิทยาการอย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ ดูภาพประกอบข้างล่าง 
หมายเลขบันทึก: 691460เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2021 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2021 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์-ตามมาอ่านเพิ่มเติมความรู้ครับ-ด้วยความระลึกถึง/สบายดีนะครับ?

ขอบพระคุณยิ่งครับคุณเพชรน้ำหนึ่ง ด้วยความระลึกนึกและส่งพลังใจให้สุขกายสบายใจครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท