ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ (1)


สวัสดีครับ, ท่านผู้อ่าน

     ห่างหายจากการเขียนบันทึกมาหลายปีครับ  แต่ยังระลึกถึงมิตรภาพทางความรู้ของพี่น้องในชุมชน G2K อยู่เสมอมิเปลี่ยนครับ  หลังจากเรียนจบ ได้ไปสอนอยู่โรงเรียนสรวงสุทธาวิทยา อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี อยู่ประมาณ 5 ปีกว่า ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก มีความสุขและสนุกสนานกับการทำงานมากครับ  และเมื่อ พ.ศ.2562 - ปัจจุบัน ได้ย้ายมาสอนโรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่กระผมได้ศึกษาสมัยมัธยมฯ (กลับบ้านครับ 555) มาอยู่โรงเรียนที่ใหญ่กว่าเดิมซึ่งมีนักเรียน 2,000 กว่าคนที่เป็นลูกศิษย์ อีกทั้งได้ลูกชายอีก 1 คน ครับ ชื่อ “ดาวเหนือ” (ด.ช.ปัณณ์  ชูชาติ) มาฝากไว้ในอ้อมอก อ้อมใจของทุกท่านด้วยครับ

 


   สำหรับวันนี้มีโครงการมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งถือเป็นโอกาสบูรณาการทางความรู้ การทำงานร่วมกันของครูข้ามกลุ่มสาระฯ ตามความหลากหลายของผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยอิงบริบทท้องถิ่นและเทคโนโลยี พร้อมทั้งปลูกฝังทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทเอกชนในการลงขันเพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยร่วมกับทางรัฐบาล แต่เดิมชื่อ “โรงเรียนประชารัฐ” และมีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ (PIM) เป็น School Partner เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิด แนะนำ ช่วยเหลือ

 

 

     แนวคิดในเบื้องต้นเราเริ่มจากวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโดยรอบ ได้แก่ ชุมชน, เศรษฐกิจ, ความเป็นอยู่และประสบการณ์ของนักเรียน เป็นต้น  ได้ข้อสรุปว่า  ชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป ส่งผลให้นักเรียนมีประสบการณ์จากครอบครัว  แต่ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทในทุกกลุ่มสาขาวิชาชีพทางโรงเรียนจึงออกแบบวางแผนในการพัฒนาความรู้ ทักษะทางเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับชุมชน ภายใต้ชื่อ “โครงการศูนย์การเรียนรู้ Young Smart Farmer” 

 

 

    วัตถุประสงค์มุ่งพัฒนานักเรียนและสถานศึกษา ดังนี้ 1) เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตร  2) เพื่อบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนรู้เป็นแกน  3) เพื่อสร้างทักษะอาชีพให้แก่ผู้เรียน  4) เพื่อเสริมสร้างผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

 

 

      แบ่งออกเป็น 3 ระยะดำเนินการ เพื่อง่ายต่อการติดตามและประเมินความก้าวหน้า และมีจุดประสงค์/ เป้าหมายของแต่ละระยะ  เรามิได้บังคับให้นักเรียนทุกคนต้องทำเกษตรฯ แต่เรานำความรู้การเกษตรและเทคโนโลยีจากศูนย์การเรียนรู้ (ระยะที่ 1) เพื่อบูรณาการการเรียนการสอน (ระยะที่ 2) และนำผลผลิตจากระยะที่ 1 นำมาฝึกแปรรูปผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ การจัดทำโฆษณา การวางแผนทางธุรกิจ (ระยะที่ 3) 

    กลุ่มเป้าหมายจะกระจายไปตามกลุ่มผู้เรียนที่เลือกเรียน เช่น 

  • ระยะที่ 1 นักเรียนที่เรียนสายวิชาอุตสาหกรรม, สายวิชาเกษตรกรรม ร่วมคิด ออกแบบ เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตร ที่ไม่ใช่เกษตรดั้งเดิมโดยอิงตามความเหมาะสม
  • ระยะที่ 2 นักเรียนทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการบูรณาการความรู้จากทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทุกระดับชั้น ตามความเหมาะสมของช่วงวัย โดยมีครูผู้สอนนำศูนย์การเรียนรู้บูรณาการในกิจกรรมการเรียนการสอน 
  • ระยะที่ 3 นักเรียนที่กำลังเรียนคอมพิวเตอร์ / ปวช. (คอมพิวเตอร์) ทำกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์  การสร้างสื่อโฆษณา และนักเรียนสายคหกรรม ได้นำผลผลิตจากระยะที่ 1 แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สามารถสร้างรายได้แก่นักเรียน  และนักเรียนที่เรียนวิชาธุรกิจ ได้ออกแบบ/ วางแผนการตลาด ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า โดยใช้เนื้อหาสาระจากรายวิชาต่างๆ ที่ตนเองต้องเรียนซึ่งมีโจทย์เดียวกัน เพื่อพัฒนาตนเองตามสายที่สนใจ

 

 

     ความสำเร็จจะบังเกิดได้นั้น คงต้องมาจากความร่วมมือ ร่วมใจของครู นักเรียน และผู้บริหาร ในการร่วมพัฒนานักเรียนและสถานศึกษา ซึ่งสำคัญคือ สามารถสร้างประชากรที่มีคุณภาพต่อประเทศได้จากกิจกรรมเล็กๆ ที่เริ่มจากโรงเรียน

 

, ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ 

หมายเลขบันทึก: 696475เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2022 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2022 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท