สมดุลชีวิต(ตอน5)


ด้านความสมดุลภายในใจ

คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า จิตนั้นมีธรรมชาติปภัสสร แต่เพราะอุปกิเลสจรเข้ามาจึงหมองไป นะคะ ความปภัสสรหรือผ่องใส เปรียบเหมือนจิตที่เห็นสภาพต่างๆด้วยความเสมอ คือเห็นเสมอกัน ไม่มีอันไหนยิ่ง ไม่มีอันไหนหย่อนกว่ากัน เมื่อเสมอจึงราบเรียบ ไม่ขึ้นๆลงๆ จึงอยู่ในสภาพสมดุล

ในชีวิตจริง โอกาสที่จิตจะอยู่ในภาวะสมดุลนั้นยากจริงๆค่ะ บางทีก็"ลง"เพราะความหดหู่ เศร้า บางทีก็"ขึ้น"ด้วยความลิงโลด ดีใจมากเกินไปจนพลุ่งพล่าน จึงมีคำตรัสสอนว่า ให้ยกจิตในสมัยที่ควรยก ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม คือเมื่อหดหู่ ก็หาเหตุผลที่จะพ้นจากสภาพนั้น หรือเมื่อฟุ้งซ่านหรือลิงโลดเกินไปก็ให้ข่มใจไว้บ้าง เพราะจิตที่ไม่เสมอ มักมองอะไรผิดไปจากความเป็นจริง หาทางแก้ปัญหาต่างๆให้ลุล่วงได้ยาก

จึงมีคำตรัสสอนว่าถ้าจะยับยั้งความคิดที่ไม่ดี ขั้นแรก ทรงให้เปลี่ยนเป้าหมายในการคิดเสียก่อน เพราะสิ่งที่จรเข้ามาเป็นผลของการยึด เราห้ามผลที่เกิดจากเหตุไม่ได้ ต้องไปจัดการที่ต้นเหตุที่ทำให้ยึดเสียก่อน

เช่น ไม่อยากคิดถึงเรื่องนี้ เสียใจที่ทำไมยังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ ก็เปลี่ยนเป็น มาหาเหตุผลว่าการคิดถึงเรื่องนี้มีข้อดีอย่างไร เมื่อเห็นข้อดีเพิ่มขึ้น การยึดในความไม่ดีก็บางเบาลง เรื่องที่ยึดก็จรมาสู่ใจน้อยลง

แต่ถ้าเปลี่ยนไปคิดในทางตรงข้ามแล้วยังไม่สำเร็จ ขั้นต่อมาก็ให้พิจารณาโทษของการที่ยังคิดวนเวียนในแนวทางเดิมเพื่อให้เห็นคุณโทษอย่างถ้วนทั่ว เพราะจิตนั้นเมื่อเห็นงามก็ยึดสิ่งนั้นเข้าไว้กับตัว เห็นไม่งามก็ยึดว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องผลักออก เห็นทั้งสองด้านถ้วนทั่ว ก็อยู่กับเรื่องนั้นๆได้โดยไม่ทั้งดึงเข้าหรือผลักออก ใจจึงเป็นกลางกับเรื่องนั้นได้ อยู่ในภาวะ"อุเบกขา"

แต่ถ้าหาทางผ่อนคลายจนเครียดแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ตรัสสอนว่าให้ไปหาอะไรทำ ให้ใจออกจากเรื่องนั้นไปชั่วคราวก่อน

พอใจสบายขึ้นก็ค่อยกลับมาคิดต่อก็ได้ค่ะ เคยไหมคะ จะวางแผนทำอะไรสักเรื่อง คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกจนเครียด แต่พอหยุดคิด ไปออกกำลังกายให้เหงื่อออก อาบน้ำ พักนอน ตื่นมาก็หาวิธีใหม่ได้ง่ายๆ

เพราะเมื่อเราหลับ สมองจะจับเอาข้อมูลที่เรารับมาทั้งวันไปแยกประเภทและ"จัดเก็บ" เป็นหมวดหมู่นั่นเองค่ะ เหมือนเก็บของที่รกๆใส่ลิ้นชัก ของประเภทเดียวกันก็รวมไว้ด่วยกัน พอจะหาและหยิบมาใช้ใหม่ ก็หาได้ง่ายและสะดวกขึ้น

พอคิดหาทางออกได้ ใจก็สงบขึ้น

แต่ถ้ายังไม่สงบอีก ขั้นต่อไปก็ให้ขบฟันเอาลิ้นดุนเพดานปากเลยค่ะ

การยกจิตในสมัยที่ควรยก ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ยังมองในอีกแง่ได้ค่ะ คือยกจิตที่เป็นกุศลอยู่แล้วให้ดีงามยิ่งๆขึ้น ข่มจิตไม่ให้เห็นดีเห็นงามตามธรรมที่เป็นอกุศล เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #สมดุลชีวิต
หมายเลขบันทึก: 702551เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท