มากกว่าต่อสู้ แต่ศิลปะป้องกันตัว คือศิลปะของการใช้ชีวิต


แต่ละคน เวลาเข้ามาโดโจ (สถานที่ฝึกวิชาศิลปะการป้องกันตัว) จำนวนไม่น้อยที่มีความคิด ความคาดหวังในการฝึกต่างกัน

หากผมพบว่า จำนวนมาก จะมีภาพจำถึงฉากการต่อสู้ที่อยู่ในหนังบู๊ แอคชั่น แบบฮอลลีวู้ด หรือจีนฮ่องกง และติดภาพเหล่านั้นโดยคาดว่าเวลาฝึก อยากได้ความเร็ว แรง ซัดอีกฝ่ายจนสะใจ แล้วได้รางวัลเป็นตำแหน่ง ชื่อเสียง ผู้หญิง ความเป็นฮีโร่ที่โลกต้องจารึกในแบบต่างๆ

 

ภาพจาก ภาพยนตร์ extraction (2020)ทาง netflix

 

บางสำนัก บางสาขาวิชาที่ฝึก ก็ตามใจผู้เรียน รวมถึงผู้ปกครองที่คาดหวังมาอย่างนั้น  ซึ่งก็อาจจะเป็นด้วยเหตุผลบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ คือถ้ามีเงินแล้วบางคนคิดว่าค่อยทำตามอุดมการณ์ทีหลังก็ได้ หรือบางคนก็อาจจะอยากจะบู๊ เท่ห์ๆ แบบในหนัง อันนั้นเราก็ห้ามใครไม่ได้ ถ้าไม่เดือดร้อนใครนะ เพราะฝันใครก็ฝันมัน

 

 แต่สำหรับผมแล้ว เงินก็พอมีพอหาได้อยู่ ไม่ได้รวยแต่ก็พอกินพอใช้ระดับหนึ่ง ดังนั้นเราจึงคิดว่าถ้าจะสอนอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะวิชาที่ต้องมีความใส่ใจและรับผิดชอบสูงมากอย่างศิลปะป้องกันตัว “ไอคิโด” ก็อยากสอนให้ดี สมกับที่ครูบาอาจารย์ฝากฝังมา

ก็เลยเป็นที่มาของการจัดชั้นเรียน ที่เราจะบอกเด็ก กับผู้เรียน ผู้ปกครองเสมอว่า เราไม่ได้จะสอนให้เด็กต่อยตี หรือโว้กว้าก แสดงความเก่งกล้า อวดความสามารถไปแบบนั้น ตรงข้าม เราจะฝึกให้เด็กมีความมั่นใจ  สงบมีสติที่นิ่งแต่ตื่นตัว ฉับไว   ถ่อมตน เข้มแข็งจากภายใน มีวินัยเชิงบวก และความรับผิดชอบด้วยความเบิกบาน

 

และแน่นอนรู้จักใช้เทคนิคการป้องกันตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ พอเหมาะพอควรแก่ตนเอง ผู้อื่น พอเหมาะพอควรแก่เหตุ

หนังแอคชั่นก็ดูได้ แต่ดูแล้วก็ต้องรู้เท่าทันว่าในชีวิตประจำวัน  เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เรามีทางเลือกในการแก้ปัญหามากมาย

ลบภาพความก้าวร้าวในหนังที่ฝังอยู่ในหัวออกไป ชีวิตและการต่อสู้ในเหตุฉุกเฉินจริง ไม่จำต้องตามแบบอย่างนั้น

 

 

เรียนป้องกันตัวเพื่อใช้เท่าที่จำเป็น ในเหตุฉุกเฉินจริงๆที่การเจรจา หรือสื่อสารอย่างละมุนละม่อมไม่เป็นผลแล้ว สุดวิสัยแล้ว ซึ่งการป้องกันตัวในบางครั้ง บางทีก็อาจจะต้องชิงลงมือ แต่ก็ต้องใช้จังหวะ และวิเคราะห์รอบด้านให้ดี ไม่งั้นจะกลายเป็นเรากลายเป็นผู้ก่อเหตุ หรือทำเกินกว่าเหตุ กลายเป็นจำเลยซะเอง

 

ป้องกันตัว จากเบา ไปหนัก หากวิเคราะห์แล้วเลี่ยงการโจมตีลำบาก เลี่ยงไม่ได้แล้ว เมื่อต้องป้องกัน ต้องต่อสู้ ก็ทำไปโดยไม่ลังเล ทำจนกว่าอีกฝ่ายจะติดตามเอาคืนเราไม่ได้ในขณะนั้น ด้วยจิตที่นิ่งสงบ ถึงจะกลัว จะโกรธ ก็มองเห็นและวางมันลง ถ้าไม่สู้ก็ตาย งั้นก็ต้องสู้สุดใจ แต่ใจต้องสงบ 

อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ก็ทำไป อยู่กับปัจจุบันนั้นไป จังหวะนั้น การฝึกที่เคยช้าๆ มันจะสปีด และโฟกัสเกิดขึ้นเองโดยธรมชาติของมัน

เมื่อฝึกจนชำนาญ กายและใจจะชินกับการลดการต่อสู้ จำกัดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินภายนอก แต่รวมถึงจำกัดบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นในใจเราและผู้รุกรานอีกด้วย

สำหรับ “ไอคิโด” แล้ว หากมาถูกทาง ยิ่งฝึกจะยิ่งลดอัตตา ลดตัวตน ยิ่งสุภาพอ่อนน้อม ยิ่งใฝ่หาสันติ

หลักการป้องกันตัวอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่แค่เอาตัวรอด หรือพาตัวเองออกจากคนร้าย หรือโจมตีคนร้ายกลับ หากยังเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่จะเปลี่ยนด้านในของผู้ฝึก ซึ่งก็สุดแล้วแต่ผู้ฝึกจะเปิดใจรับได้แค่ไหน และผู้สอนจะถ่ายทอดและเป็นต้นแบบได้ดีเพียงใด

หมายเลขบันทึก: 710471เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022 00:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท