Active Learning


อันที่จริง Active Learning ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายหลักสูตรที่แล้วมาพูดถึงหลักการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้เรียนรู้ด้วยตนเองทั้งสิ้น

“ไม่มีวิธีสอนใดดีที่สุด” สมัยเรียนเคยได้ยินอย่างนี้มาบ้าง ประสบการณ์ครูตลอดเวลาที่ผ่านมาก็รู้สึกอย่างนั้น หมายถึง การจัดการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งมีวิธีการที่ดีอย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเนื้อหาที่จะสอน บริบทต่าง ๆ ทั้งเด็กและโรงเรียน อาจรวมถึงความชอบหรือความถนัดของครูแต่ละคนเอง หรือเคยใช้วิธีการอย่างนี้แล้วประสบความสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะนำวิธีการเดียวกันไปใช้จัดการเรียนรู้เรื่องอื่นหรือผู้เรียนกลุ่มอื่นได้สำเร็จเช่นกันด้วย

ไม่น่าจะถูกต้อง ถ้าเข้าใจว่าเมื่อหลักสูตรกำหนดหรือเน้นให้จัดการเรียนการสอนด้วยหลักการหรือวิธีการใด ครูก็ยึด แทบจะตายตัว หรือทุก ๆ กิจกรรมในรายวิชาที่รับผิดชอบจะต้องเป็นในรูปแบบนั้นเท่านั้น ปัจจุบันคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) จากธรรมชาติของการจัดการเรียนรู้ที่ว่า “ไม่มีวิธีสอนใดดีที่สุด” ฉะนั้นบางเรื่องหรือบางเวลาหากจะเป็นการเรียนรู้แบบรับมา (Passive Learning) หรือโดยการบรรยาย (Lecture) ของครูบ้างก็ไม่น่าแปลกอะไร

อันที่จริง Active Learning ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายหลักสูตรที่แล้วมาพูดถึงหลักการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้เรียนรู้ด้วยตนเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น หรือเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center) ฯลฯ หากลองตรองด้วยเหตุผล ถ้าทุกกิจกรรมที่ครูจัดเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองลักษณะเดียว โรงเรียนจะเหลือความหมายอะไร ในเมื่อไม่ว่าใคร แม้ไม่ได้เข้าโรงเรียนตามหลักสูตร ทุกคนก็ต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองจากการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว

เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น แต่ละคนกำเนิดมาบนโลกล้วนต้องเรียนรู้และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต จนดินกลบหน้าหรือไม่มีลมหายใจแล้วการเรียนรู้จึงสิ้นสุดลง..การเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่รัฐออกแบบไว้ให้ เสมือนเป็นทางลัดหรือช่วยย่นระยะเวลาการรับรู้ ทั้งในเรื่องสังคมและสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ดังนั้นโรงเรียนจะจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองลักษณะเดียว ซึ่งเป็นวิธีเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของทุกคนอยู่แล้วไม่ได้ มิเช่นนั้นโรงเรียนจะไม่ใช่ทางลัดช่วยย่นเวลาในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อีกต่อไป

ไม่ได้มีหลักการหรือวิธีสอนใดดีที่สุดดอก เลือกใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ บริบทของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษา อาจใช้วิธีการผสมผสานหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่ซ้ำซาก การเรียนการสอนซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหรือที่เรียก Active Learning ในปัจจุบันนั้น ที่สำคัญต้องสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากการคิด  ลงมือทำ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง 

มิใช่เอะอะอะไรก็รีบบอก รีบอธิบาย หรือพยายามจะถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ศิษย์ลูกเดียว แต่ก็อีกนั่นแหละ! มิใช่เอะอะอะไรก็ Active Learning 

(ภาพประกอบ : กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ความหนาแน่นของประชากร ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบวางแปลง ; Quadrant Sampling Method ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖.๑ โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒)

หมายเลขบันทึก: 715706เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2023 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2024 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับครู-หากใช้คำว่า”การเรียนรู้ตลอดชีวิต”คือการเรียนรู้การใช้ชีวิต การเอารู้จัดเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ โดยยึดหลักภายใต้ไม่เบียดเบียนคนอื่น พึ่งตนเองให้มากที่สุด-ผมเชื่อว่าทุกสิ่งก่อเกิดขึ้นจากธรรมชาติแล้วเราก็เรียนรู้ธรรมชาติต่อ ๆ กัน -สมัยก่อนดูซีรี่เกาหลี”แดจังกึม”แม่เค้าถามลูกว่า “ถ้าหิวจะทำอย่างไร? “-ตั้งคำถาม ดูคำตอบ เอาตัวรอดได้-เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันครับ-ด้วยความระลึกถึงครูนะครับ

เข้าใจเช่นนั้นครับ..การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้การใช้ชีวิต ขอบคุณคุณเพชรฯครับ ระลึกถึงเช่นกันนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท