ทีมสหวิชาชีพ : ทีมประสิทธิภาพสำหรับการจัดการกับปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ


ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด  และปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในระดับบุคคลและครอบครัวที่มีความซับซ้อนรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันการบริหารจัดการสมัยใหม่ก็ให้ความสำคัญกับการมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะและมีการจัดตั้งหน่วยงานตามภารกิจงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้การปฏิบัติงานของบุคลากรอาจจะมีปัญหากับงานบางส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจโดยตรงแต่สมควรได้รับการแก้ไขไปด้วยกัน โดยที่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในบางเรื่องหรือมีอำนาจหน้าที่ในบางเรื่อง อาจจะไม่สามารถดำเนินการหรือไม่มีอำนาจหน้าที่จัดการในบางเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการในรูปแบบ “ทีมสหวิชาชีพ” จึงเป็นกลไกบริหารจัดการที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

คำว่า “สหวิชาชีพ” ประกอบด้วยคำว่า “สห” และ “วิชาชีพ” ซึ่งคำว่า “สห” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้หมายถึง ด้วยกัน, พร้อม, ร่วม, ร่วมกัน, (ใช้ประกอบหน้าคำอื่น) ส่วนคำว่า “วิชาชีพ” หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์.  

“ทีมสหวิชาชีพ” (Multidisciplinary / Multidisciplinary Team) ตามที่ได้มีองค์กรและวงการวิชาการได้ให้ความหมายไว้ คือ   

“ทีมสหวิชาชีพ” หมายถึง กลุ่มบุคคล/หน่วยงาน ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีทักษะ และความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน ปรึกษาหารือเพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดแนวทางการทำงานโดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทักษะ และความสามารถพิเศษของแต่ละสาขาวิชาชีพในการทำงานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบและเป็นกระบวนการ โดยอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เดียวกันในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ จะมีการติดต่อสื่อสารและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ อย่างต่อเนื่องเพื่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ (คู่มือทีมสหวิชาชีพเพื่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวสดิการ)

“ทีมสหวิชาชีพ” หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ทำงานประสานความร่วมมือ จากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอย่างมีระบบและเป็นกระบวนการ อยู่บนพื้นฐานที่มีจุดประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน ในการปฏิบัติงาน โดยมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อการประเมินสภาพการณ์ ของปัญหาและมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งกระบวนการ เช่น ศูนย์ช่วย เหลือสังคม (OSCC) มูลนิธิต่าง ๆ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรเพื่อการกุศล บ้านพักเด็กและครอบครัว สำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคง ฯลฯ (คู่มือการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ)

“ทีมสหวิชาชีพ” หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ มีความรู้ ทักษะ และความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีระบบ และเป็นกระบวนการ โดยอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เดียวกันในการปฏิบัติงาน โดยจะมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อการประเมินสภาพการณ์ของปัญหา และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งกระบวนการ (DV Learning by TIJ | ความหมายและความสำคัญของสหวิชาชีพ (tijthailand.org))

“ทีมสหวิชาชีพ” จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการที่มีระบบและครอบคลุม โดยอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เดียวกัน มีการประสานความร่วมมือและติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสภาพการณ์ของปัญหาและรับผิดชอบร่วมกันในการดำเนินการทั้งกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรูปแบบและลักษณะการทำงานของทีมสหวิชาชีพมีการกำหนดไว้ตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ อาทิเช่น คณะกรรมการสหวิชาชีพประจำสถานพินิจ ตามกฎหมายจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว, ทีมสหวิชาชีพในการสอบสวนเด็กตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, คณะทำงานสหวิชาชีพตามข้อกำหนดของมาตรการและแนวทางการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ, ทีมสหวิชาชีพตามมาตรฐานการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง, ทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง, ทีมสหวิชาชีพในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี, ทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน, ทีมสหวิชาชีพร่วมคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์, ทีมสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาล, ทีมสหวิชาชีพช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางด้านสังคมต่าง ๆ เป็นต้น

บทบาทอำนาจหน้าที่ของบุคคลหรือหน่วยงานในทีมสหวิชาชีพเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ภารกิจงาน ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญของบุคคลที่ร่วมทำหน้าที่ในทีมสหวิชาชีพ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบ มาตรการ หรือแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานกำหนดไว้ หรือการประยุกต์ใช้ตามวิธีการที่เหมาะสมที่สำคัญ เช่น กระบวนการค้นหาความจริง การประชุมวางแผน การดำเนินการตามแผน การควบคุมกำกับดูแล การติดตามประเมินผล และการสรุปผล 

ตัวอย่างแผนการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยการประยุกต์ใช้รูปแบบการจัดทำแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูรายบุคคล ประกอบด้วย 1. แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูทางด้านสวัสดิการ 2. แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูทางด้านอาชีพ 3. แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูทางด้านการรักษาพยาบาล 4. แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูทางด้านการศึกษา 5. แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูทางด้านสังคม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป รูปแบบทีมสหวิชาชีพเป็นกลไกการบริหารจัดการที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยสมาชิกแต่ละคนมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่จำเป็นในการปฏิบัติงานในวิชาชีพของตน ร่วมกันทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยแผนการช่วยเหลือแบบสหวิชาชีพ เกิดการบูรณาการการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเป็นองค์รวม ด้วยรูปแบบทีมสหวิชาชีพที่มีการประสานความร่วมมือและการร่วมมือปฏิบัติอย่างมืออาชีพ รวมทั้ง การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรแต่ละสาขาวิชาชีพที่มีอย่างต่อเนื่อง ทีมสหวิชาชีพจึงเป็นรูปแบบทีมประสิทธิภาพที่สามารถใช้จัดการกับปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ. 

คำสำคัญ (Tags): #ทีมสหวิชาชีพ
หมายเลขบันทึก: 715985เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2023 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2023 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท