โครงการ ชุมชนต้นแบบปลอดอุบัติเหตุ จังหวัดเชียงราย ปี 2547


เป้าหมาย : เพื่อสร้างความตระหนัก ปลุกจิตสำนึก ในการมีส่วนร่วมการป้องกันอุบัติเหตุของกลุ่มแกนนำ เยาวชน ประชาชน ในหมู่บ้าน
 

โครงการ ชุมชนต้นแบบปลอดอุบัติเหตุ จังหวัดเชียงราย ปี 2547

1.      คำสำคัญ : การรณรงค์,จัดกระบวนการเรียนรู้,ปลุกจิตสำนึก

2.      จังหวัด : เชียงราย

3.      กลุ่มเป้าหมาย : แกนนำหมู่บ้าน เยาวชน ประชาชน ทุกอำเภอๆละ 8-12 คน รวม 200 คน

4.      เป้าหมาย : เพื่อสร้างความตระหนัก ปลุกจิตสำนึก  ในการมีส่วนร่วมการป้องกันอุบัติเหตุของกลุ่มแกนนำ  เยาวชน  ประชาชน   ในหมู่บ้าน

5.      สาระสำคัญของโครงการ : จากการศึกษาและติดตามผลทางสถิติของผู้รับผิดชอบโครงการพบว่าจังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอัตราความรุนแรงจากการบาดเจ็บและสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางจราจร เพิ่มมากขึ้น ทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว และประตูสู่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของไทย และประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา ชุมชนต่างๆ ตั้งเรียงรายตามเส้นทางทั้งสายหลัก สายรอง เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อในอดีต อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าไม่ระมัดระวัง  ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดมาตรการต่างๆในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคนสัญจรต่างถิ่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคนในชุมชนต่างๆนั้นเอง  ความประมาท ความไม่รู้ในกฎจราจรที่ถูกต้อง คือต้นเหตุของ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมทาง จากเหตุผลดังกล่าว คุณงามนิตย์ ราชกิจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จังหวัดเชียงรายจึงมีความคิดที่จะทำโครงการที่แก้ไขอุบัติเหตุทางการจราจรอย่างจริงจัง ทั้งในแง่การดำเนินงานด้านการป้องกัน และปลูกฝังพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุด้วยตนเองของคนที่เกี่ยวอย่างต่อเนื่อง  โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยมีหลักการอาศัยความร่วมมือระหว่างพหุภาคีที่เกี่ยวข้อง ในรูปของคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยจังหวัดเชียงราย  ตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้นำ ชุมชน และประชาชนในหมู่บ้านในการแก้ป้องกันและแก้ปัญหาอุบัติเหตุ

6.      เครื่องมือที่ใช้ : มีกิจกรรมหลัก 2 ส่วนคือ (1)การจัดกระบวนการให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและชุมชน (2)การรณรงค์ และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น ดำเนินกิจกรรมในการแก้ปัญหา หาจุดเสี่ยงและแนวทางแก้ไข,จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์,จัดอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย,สรุปบทเรียนและหาทางป้องกัน อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น โดยในทุกขั้นตอนของกิจกรรมที่ทำขึ้นจะทำแบบการมีส่วนร่วม

7.      การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน : โครงการนี้ดำเนินการแบบการสั่งการจากบนลงล่างให้บุคลากรด้านสาธารณสุขต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข,พยาบาลของแต่ละพื้นที่ ประสานกับแกนนำชุมชนค้นหาพื้นที่ และทำงาน โดยมีหลักการทำงานตามเครื่องมือดังที่กล่าวมาแล้ว แต่รายระเอียดปลีกย่อยในแต่ละกิจกรรม ผู้ปฏิบัติสามารถปรับให้เข้ากับสภาพความพร้อมของชุมชนแต่ละแห่งได้ โดยจะมีการประสานการทำงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอุบัติเหตุภายในจังหวัด

8.      ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ : ระหว่าง 1 เมษายน  -  31 พฤษภาคม 2547 โดยมีพื้นที่ครอบคลุมกระจายทุกอำเภอๆละ 1 แห่ง รวมเป็น 16 อำเภอ 2 กิ่ง

9.      การประเมินผลและผลกระทบ : พบว่าในระยะสิ้นโครงการใหม่ๆโดยภาพรวมของโครงการเป็นไปตามที่ตั้งวัตถุประสงค์คือสามารถปลุกจิตสำนึกได้ และมีการสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติเหตุของแกนนำ เยาวชน และประชาชนได้  ซึ่งในแต่ละชุมชนต้นแบบก็จะมีวิธีการ ในการรณรงค์ และการดำเนินการในรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป ตามแต่จะตกลง โดยผ่านกระบวนการเวทีประชาคม หรือ การร่วมกลุ่มปรึกษาหารือของแต่ละพื้นที่  

10.  ความยั่งยืน : โดยภาพรวมความยั่งยืนขึ้นอยู่กับแกนในการทำงานไม่ว่าจะเป็นตัวบุคลากรทางด้านสาธารณสุข หรือแกนนำชุมชน ส่วนใหญ่มีแผนงานที่จะทำต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ทุกชุมชนเพราะปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่ถึงอย่างไรก็มีการขยายผลขอทุน จาก สสส. ทำโครงการที่ชื่อ โครงการ อบต.ร่วมใจ พิชิตภัยอุบัติเหตุ (ตค. 48 –เมษ. 49 ) เป็นการขยายผลพื้นที่ให้กว้างขึ้นโดยนำฐานข้อมูลจากโครงการชุมชนต้นแบบปลอดอุบัติเหตุมาปรับปรุงในการดำเนินงาน

11.  จุดแข็ง และอุปสรรค : สำหรับโครงการนี้ความพร้อมของชุมชนที่จะทำโครงการต่างๆที่มีลงมาจากหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นจุดแข็งประการสำคัญเพราะชุมชนเห็นประโยชน์มากกว่าจะไม่ทำอะไรให้เกิดขึ้น และตัวเจ้าหน้าที่ที่ทำโครงการในแต่ละอำเภอ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำงานแบบการมีส่วนร่วมมาก่อน ส่วนอุปสรรคสำหรับโครงการคือ เงินทำโครงการไม่พอ และพื้นที่ที่ทำโครงการได้แต่กระจายตัว แต่ไม่ครอบคลุม ประกอบกับช่วงทำโครงการนั้นสั้นและเป็นโครงการปีเดียวอาจแสดงผลไม่เต็มที่

12.    ที่ติดต่อ : คุณงามนิตย์ ราชกิจ  นักวิชาการสาธารณสุข 9 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โทร. 089-7554711, 053-910303

 

หมายเลขบันทึก: 71627เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท