Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ตามแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566)


การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1.สภาพปัญหาของชุมชนริมคลองเจดีย์บูชาในปีพ.ศ.2563  2. แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ตัวแทนชุมชนริมคลองเจดีย์บูชา จังหวัดนครปฐม จำนวน 20 คน เครื่องมือในการศึกษา ได้แก่ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง เก็บรวบรวมข้อมูลจากการถอดเทปและสรุปรายงานการประชุมแล้วนำมาวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน วิธีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา

            ผลการวิจัยพบว่า

1.สภาพปัญหาของคลองเจดีย์บูชาในปี พ.ศ.2563 พบว่า สภาพปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมมากใน 3 พื้นที่ชุมชน ได้แก่ 1) ตำบลวังตะกู อำเภอเมือง (พื้นที่ต้นคลอง) 2) ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง (พื้นที่กลางคลอง)  3)ตำบลศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี (พื้นที่ปลายคลอง)

2. แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน มี  4 แนวทาง ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการแก้ไขศึกษาปัญหา 2) การมีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนา  3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานพัฒนา  4) การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่  หน้า  2841-2850  

https://publication.npru.ac.th/bitstream/123456789/1847/1/npru-260.pdf

แพรภัทร ยอดแก้ว. 2565. แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ตามแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) .  รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceeding) ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 14 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมวันที่ 8 กรกฎาคม 2565. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. หน้า  2841-2850  

 

สรุปผลการวิจัย

จากผลการวิจัยสามารถสรุปผลได้ ดังนี้

ส่วนที่ 1 สภาพปัญหาของคลองเจดีย์บูชาในปัจจุบัน 

จากการศึกษา พบว่า ตลอดระยะความยาวตามแนวคลองประมาณ 24.7 กิโลเมตรนั้น คลองเจดีย์บูชามีคลองสาขาที่สำคัญหลายคลองเชื่อมต่อติดกัน 

คลองเจดีย์บูชา มีพื้นที่ตลอดระยะทางติดกับพื้นที่ตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม รวมจำนวน 12  ตำบล  ประกอบด้วย ตำบลวัดแค  ตำบลนครชัยศรี  ตำบลท่าตำหนัก ตำบลบางกระเบา  ตำบลศีรษะทอง  ตำบลธรรมศาลา ตำบลสามความเผือก ตำบลบ่อพลับ  ตำบลพระปฐมเจดีย์  ตำบลนครปฐม ตำบลวังตะกู และตำบลทัพหลวง 

นอกจากนี้ ยังมีสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับคลองโดยเฉพาะวัดและโรงเรียนหลายแห่ง  วัดจำนวน 7 วัด และวัดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับคลองอีก 2 วัด รวมจำนวน 9 วัด ประกอบด้วย  วัดไร่เกาะต้นสำโรง  วัดห้วยจระเข้   วัดพระปฐมเจดีย์  วัดพระงามพระอารามหลวง   วัดเสนหาพระอารามหลวง วัดใหม่ปิ่นเกลียว วัดวังตะกู วัดศีรษะทองและวัดม่วงตารส 

ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ริมคลองหรือติดต่อกับคลอง มีจำนวน 8 โรงเรียน  ได้แก่  โรงเรียนวัดห้วยจระเข้วิทยาคม  โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย  โรงเรียนอนุบาลสุธีธร โรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ โรงเรียนวัดพระงาม(เทศบาล1)  โรงเรียนวัดเสนหา (เทศบาล 2) โรงเรียนศรีวิชัยวิทยาคมและโรงเรียนวัดวังตะกู 

ปัจจุบันคลองเจดีย์บูชา ถูกใช้ประโยชน์เพียงเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่างๆของชุมชน ได้แก่            น้ำเสียชุมชน น้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มสุกรที่มีเป็นจำนวนมากตามแนวคลองเจดีย์บูชาและคลองสาขา เช่น คลองสามควายเผือก เป็นต้น ในการจัดการน้ำเสียจากฟาร์มสุกรที่มีจำนวนมากในพื้นที่ตำบลสามควายเผือก ตำบลธรรมศาลาและตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม ส่วนมากยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือมีระบบบำบัดน้ำเสียแล้วแต่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ การจัดการน้ำเสียของชุมชนมีเพียงพื้นที่ของเทศบาลนครนครปฐมเทศบาลเมืองสามควายเผือก และเทศบาลตำบลนครชัยศรีเท่านั้นที่มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน รวมทั้งคลองเจดีย์บูชาต้องรองรับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบ ส่งผลให้ขาดการบริหารจัดการคลองเจดีย์บูชาที่ดี

จะเห็นได้ว่า คลองเจดีย์บูชา ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่และการเติบโตของชุมชนเมือง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ยิ่งมีความเจริญขึ้นโดยลำดับ ทำให้สิ่งแวดล้อมของคลองเจดีย์บูชาเกิดความเสื่อมเสียและประสบกับสภาพปัญหาหลายประการ ได้แก่ ปัญหาลำคลองตื้นเขิน การถูกรุกล้ำ วัชพืชแพร่ระบาด น้ำเน่าเสียและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมและชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศคลองเจดีย์บูชา รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนริมคลองเป็นอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) ที่ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองเจดีย์บูชามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 นั้น พบว่า จากสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำ 14 สถานี ตลอดแนวคลองเจดีย์บูชา มีเกณฑ์คุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมากถึง 10 สถานี  ส่วนอีก 4 สถานีที่เหลือ อยู่ในระดับเสื่อมโทรม 3 สถานี อยู่ในระดับพอใช้ 1 สถานี 

สถานการณ์คุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมดังกล่าวนี้ หน่วยงานภาครัฐได้มีการระดมความคิดเห็นในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการความร่วมมือเฝ้าระวังคุณภาพน้ำคลองเจดีย์บูชา ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562  ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารทีโอที ตำบลวังตะกู อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมหรือน้ำเสียในคลองเจดีย์บูชา โดยสรุปสาระสำคัญ พบว่า สภาพน้ำเสียในลำคลองมีลักษณะแตกต่างกันตามพื้นที่ที่ซึ่งรองรับน้ำมา  3 พื้นที่ เรียกว่า ต้นคลอง  กลางคลอง และปลายคลอง ดังนี้

           1) ต้นคลอง หมายถึง บริเวณพื้นที่จากจุดรับน้ำของชลประทานเขตตำบลทัพหลวงมาถึงพื้นที่ตำบลวังตะกู สภาพโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร มีการปล่อยน้ำจากการเกษตรลงสู่คลอง โดยมีการปนเปื้อนเคมีทางการเกษตรทำให้คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยภาพรวมคุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ถึงเสื่อมโทรม 

            2) กลางคลอง หมายถึง บริเวณพื้นที่จากชุมชนสวนตะไคร้ ชุมชนเสนหา บริเวณวัดพระงามพระอารามหลวง ตลาดนครปฐมผ่านมาทางทิศตะวันออกจนถึงปากคลองสามควายเผือก สภาพปัญหาส่วนมากเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ตลาด ร้านอาหารและโรงงานอุตสาหกรรม   

            3) ปลายคลอง หมายถึง บริเวณพื้นที่จากปากคลองสามความเผือก ผ่านไปทางตำบลธรรมศาลา ตำบลศีรษะทอง จนกระทั่งออกสู่แม่น้ำท่าจีนตรงตลาดต้นสน สภาพปัญหาส่วนมากเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มสุกร รวมทั้งพื้นที่การเกษตรช่วงปลายคลอง แต่มีความหนาแน่นของวัชพืชในลำคลองมากในบางจุดโดยเฉพาะผักตบชวา ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ได้ใช้คลองในการสัญจร เมื่อน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการทำการเกษตรถูกปล่อยลงสู่คลอง สารเคมีที่ปนเปื้อนมายิ่งทำให้การเจริญเติบโตของวัชพืชในน้ำมีมากและแพร่ขยายออกอย่างรวดเร็ว

ผลการศึกษา พบว่า ในปี 2563 คลองเจดีย์บูชามีปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมมากใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. ตำบลวังตะกู อำเภอเมือง (ต้นคลอง) 2. ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง (กลางคลอง)  3.ตำบลศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี (ปลายคลอง) ดังนั้น หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ชุมชนริมคลองเจดีย์บูชา ควรจัดโครงการและกิจกรรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ของคนในชุมชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา รวมทั้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และพัฒนาคลองเจดีย์บูชา เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับงานวิจัยของ Phra Khamla [1] พบว่า ปัญหา อุปสรรคในการจัดการน้ำของชุมชนบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พบว่า ประชาชนในชุมชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในด้านการจัดกิจกรรมภายในชุมชน ขาดความพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อชุมชน ไม่ค่อยมีให้ความร่วมมือในการตัดสินใจการจัดการน้ำของชุมชนและประชาชนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และจากการเป็นชุมชนใหญ่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่สามารถทำสวน ไร่ นาได้ดังเดิม เกิดภาวะขยะล้นแม่น้ำ ก่อให้เกิดเป็นน้ำเสียจากที่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ขาดการส่งเสริมในการอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อม มีแต่นโยบาย แต่ไม่มีการดำเนินการ แม่น้ำลำคลองในชุมชนจึงมีผักตบชวาและขยะปนเปื้อน และสอดคล้องกับงานวิจัยของณัฐวรรธน์ [4] พบว่า หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้เข้าใจ ความหมายและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักรักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงคงอยู่คู่ชุมชนและพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

ส่วนที่ 2 แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ตามแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566)

 

จากการศึกษาข้อมูลความเป็นมาและความสำคัญของคลองเจดีย์บูชา สภาพทั่วไปและสภาพปัญหาของคลองเจดีย์บูชา รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลจากการประชุมอย่างมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยราชการกับชุมชนริมคลอง ผู้วิจัยขอนำเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ดังนี้

แนวทางที่ 1 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขศึกษาปัญหา ควรสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในชุมชน ตลอดจนการกำหนดความต้องการของชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการและความสำคัญของปัญหา ร่วมคิดและกำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขลดปัญหาของท้องถิ่น 

แนวทางที่ 2 การมีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนา ควรสนับสนุนให้ประชาชนเข้าประชุมเพื่อร่วมในการวางแผนการพัฒนา มีส่วนร่วมของในการจัดทำแผนพัฒนาคลองเจดีย์บูชาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนการจัดกิจกรรม หรือโครงการที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาตามแผนพัฒนาคลองเจดีย์บูชา โดยทุกภาคส่วนในชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ของโครงการ กำหนดวิธีการและแนวทางการดำเนินงานตลอดจนกำหนดทรัพยากรและแหล่งทรัพยากรที่ใช้ 

แนวทางที่ 3 การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานพัฒนา ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ทุกภาคส่วนในชุมชนควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยสนับสนุนทรัพย์ วัสดุ อุปกรณ์และแรงงาน ประสานงานและดำเนินการขอการสนับสนุนจากภายนอกชุมชน เพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานพัฒนาคลองเจดีย์บูชา รวมทั้ง การประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาให้ประชาชนได้รับทราบเพิ่มขึ้น สร้างเสริมความตระหนักรู้คุณค่า เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาและร่วมเป็นจิตอาสาในการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา

แนวทางที่ 4 การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงาน ทุกภาคส่วนในชุมชนต้องร่วมกันประเมินว่าการพัฒนาที่ได้ปฏิบัติไปแล้วนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์เพียงใด มีการประเมินผลความคุ้มค่าของแผนงานจากงบประมาณที่ใช้ การแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ มีส่วนร่วมประชุมในการสรุปผลการดำเนินงาน ติดตามวิเคราะห์ ผลกระทบของโครงการ/กิจกรรมการพัฒนาที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมทั้ง ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของตามแผนพัฒนาคลองเจดีย์บูชา 

ที่สำคัญส่วนราชการในจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะทางจังหวัดและเทศบาลนครนครปฐม ควรมีการจัดกิจกรรมการรณรงค์ กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ การวางระบบในการบำบัดน้ำเสีย และการประชุม สัมมนา ระดมความคิดเห็นในหลายๆ เวทีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการปรับภูมิทัศน์และพัฒนาทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมริมคลองในบางพื้นที่ แต่ยังประสบปัญหาเรื่องขาดความต่อเนื่องและขาดการดำเนินงานเชิงบูรณาการความร่วมมือให้ครบวงจรคุณภาพของการดำเนินงานตั้งแต่ร่วมคิดร่วมวางแผนงาน (Plan) ร่วมดำเนินการ (Do)  ร่วมประเมินผล (Check) และการปรับปรุง พัฒนา (Act) ในเชิงยโยบายจึงควรกำหนดให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับแนวคิดเมืองน่าอยู่ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญตามแนวคิดขององค์การอนามัยโลก 11 ประการ และจะต้องมีนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ที่คลองเจดีย์บูชาไหลผ่าน จัดทำแผนงานเชื่อมโยงกับแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) ให้สามารถดำเนินงานได้ตลอดปีงบประมาณตามแผนงานของจังหวัด เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อน การบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างมีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับบทความวิชาการของญาณภัทร [3] พบว่า การขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาที่สร้างสรรค์ในมิติต่างๆ ในอนาคต จึงควรคำนึงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการขุดคลองเจดีย์บูชาที่เชื่อมโยงกับพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความผูกพันกับองค์พระปฐมเจดีย์และความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย รวมทั้งวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมาคู่กับชุมชนต่างๆ ริมคลองเจดีย์บูชา อนุรักษ์ สืบสาน รักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมคลอง รณรงค์การรักษาคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมริมคลองเจดีย์บูชา  และสอดคล้องกับงานวิจัยของ ภัทรวรรธน์ [7] พบว่า แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน มี 4 ด้าน คือ 1) ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 2) ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผน 3) ด้านการมีส่วนรวมในการดำเนินการ 4) ด้านการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล และสอดคล้องกับงานวิจัยของ ธัญลักษณ์ [5] พบว่า การสร้างค่านิยมร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ควรปลูกจิตสำนึกในการรักท้องถิ่นและธรรมชาติ การนำหลักธรรมมาใช้ในการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม การเป็นมิตรกับธรรมชาติ จัดโครงการอบรมอาสาสมัครในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับงานวิจัยของ ศศิธร [8] พบว่า การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนต่อการขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน การปฏิบัติงานและกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมต่อประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งนี้ทิศทางของการมีส่วนร่วม ควรเพิ่มรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับกิจกรรม และเพิ่มเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรม การทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม ปลูกจิตสำนึก ความเสียสละและไม่ได้หวังการได้รับผลประโยชน์จากการทำงานให้แก่สมาชิกในชุมชนและคณะกรรมการชุมชนมากยิ่งขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

ข้อเสนอแนะ

1. ควรส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่การอนุรักษ์และพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในจังหวัด รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วถึง รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์และการพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน

2. ควรสนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์หนังสือการอนุรักษ์และพัฒนาคลองเจดีย์บูชา เพื่อรวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น เป็นฐานข้อมูลในการอ้างอิงให้กับสถาบันการศึกษา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้สนใจทั่วไป

3. ควรจัดทำฐานข้อมูลและระบบเครือข่ายสารสนเทศด้านการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานการพัฒนา ให้ประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง และช่วยปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา

4. ควรสนับสนุนงบประมาณการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาคลองเจดีย์บูชา

5. ควรสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานในโครงการการพัฒนาคลองเจดีย์บูชาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม คุณจันทนา ภาคย์ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และอาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่เอื้อเฟื้อและให้คำปรึกษาข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและคลองเจดีย์บูชา โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 

 

แพรภัทร ยอดแก้ว. 2565. แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ตามแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) .  รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceeding) ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 14 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมวันที่ 8 กรกฎาคม 2565. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. หน้า  2841-2850  

https://publication.npru.ac.th/bitstream/123456789/1847/1/npru-260.pdf

 

เอกสารอ้างอิง

 

[1] Phra Khamla Xayyavong. (2561). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการน้ำของชุมชนบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

[2]คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน. (2563). แผนแม่บทการพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566). นครปฐม

[3]ญาณภัทร ยอดแก้ว. (2563). การอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา: สืบสานและรักษาสายน้ำแห่งพระราชศรัทธาสู่ความยั่งยืน.  ในการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ครั้งที่ 12 วันที่ 9-10 กรกฎาคม 2563. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

[4]ณัฐวรรธน์ สุนทรวริทธิโชติ. (2556). การศึกษาสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตตำบลสามบัณฑิต : กรณีศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชน. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา.

[5]ธัญลักษณ์ สาวันดี. (2558). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพุทธขององค์การบริหารส่วนตำบลเพ จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

[6]ปฐมพงษ์ จงศักดิ์สวัสดิ์. (2560). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาบริเวณชุมชนริมคลอง เทศบาลนครนครปฐม จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยมหิดล.

[7]ภัทรวรรธน์ วรเสฏฐ์ฐากูร. (2562). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดบุรีรัมย์. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

[8]ศศิธร พึ่งบุญ ณ อยุธยา. (2558). การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนต่อการขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[9]สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม). (2562). เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการความร่วมมือเฝ้าระวังคุณภาพน้ำคลองเจดีย์บูชา ประจำปีงบประมาณ 2562.ค้นหาเมื่อ 20 มกราคม จาก http://www.mnre.go.th/reo05/th/news/detail/40004­

หมายเลขบันทึก: 716423เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2023 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2023 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท