[บันทึกที่ 1] เทวตานุสติ กับ เทพปกรณัม : กระบวนการสู่ขุมพลังภายในตน


เทวตานุสติ กับ เทพปกรณัม : กระบวนการสู่ขุมพลังภายในตน

ในช่วงเวลาสัก 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้การสนทนาใน Line Group : Retreat and Reflection นั้นเข้มข้นมาก ๆ และหนึ่งในประเด็นที่เราพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ คือเรื่องของเทพปกรณัมที่ไม่ใช่แค่ตำนาน หรือเรื่องที่มาเล่าเอาสนุกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องราวที่ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจและแอบซ่อนแนวคิดบางอย่างให้ก้าวพ้นตัวตนอันคับแคบ ไปสู่ตัวตนที่กว้างขึ้น (เราเองในฐานะ Mythology Fanclub ก็ใจฟูไปด้วยเวลาได้ฟังและได้แบ่งบันเรื่องราวแบบนี้ในมุมมองใหม่ ๆ 5555555)

แต่จากการคุยกันก็ทำให้เรากลับฉุกคิดว่า “เออ… ในทางพระพุทธศาสนาเองก็น่าจะมีคำสอนที่เกี่ยวเนื่องกันหรือเปล่านะ” เผื่อมันจะสามารถนำมาเชื่อมร้อยเรื่องราวเหล่านี้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และอาจจะมีมุมคิดอื่น ๆ ที่น่าสนใจและทำให้เราต่อยอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้มากขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติการที่น่าสนุกขึ้นด้วย พอคิดได้ก็เจอลองค้นหาดูเล่น ๆ ใน Internet และกับพบหัวข้อที่น่าสนใจจริง ๆ ด้วย

สิ่งที่เราพบจากการค้นหาครั้งนี้คือเรื่อง “อนุสติ ๑๐” ซึ่ง 1 ในอนุสติทั้ง 10 นี้มีข้อหนึ่งที่กล่าวถึงการระลึกถึงคุณธรรมอันดีของเทวดา หรือที่ภาษาพระท่านเรียกว่า “เทวตานุสติ” มันทำให้เรายิ่งสนใจมากยิ่งขึ้นและคิดว่า “เทวตานุสติ” กับ “เทพปกรณัม” นี่แหละอาจจะมีส่วนเชื่อมโยง เรื่องร้อย และต่อยอดองค์ความรู้ให้กับเราได้ อ่านไปคิดไปอยู่สักพักเลยขอหยิบเรื่องนี้มาเขียนเป็น Reflection เอาไว้หน่อยเป็นถือเป็นการสร้างองค์ความรู้จากเรื่องที่เราชอบ สนใจ และอินกับมันมาก ๆ (ส่วนอีกด้านก็คือ… วันที่ 14 ม.ค. 2567 พี่ ๆ ในกลุ่ม Retreat and Reflection นัดรวมตัวกันไปบ้านอาจารย์ใหญ่ของพวกเรา เราเลยอยากเอา Reflection ชิ้นนี้เป็นของฝากให้อาจารย์ เผื่ออาจารย์จะต่อยอดองค์ความรู้นี้ให้ด้วย อิอิ)

งั้นเราเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับคำว่า “อนุสติ ๑๐” ก่อนก็แล้วกันนะ

อนุสติ ๑๐ หมายถึง ความระลึกถึง, อารมณ์อันควรระลึกถึงเนือง ๆ — recollection; constant mindfulness มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่

  1. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ — recollection of the Buddha; contemplation on the virtues of the Buddha)
  2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues the Doctrine)
  3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)
  4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย — recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
  5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — recollection on liberality; contemplation on one’s own liberality)
  6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)
  7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — mindfulness of death; contemplation on death)
  8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
  9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — mindfulness on breathing)
  10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbana)

พอได้อ่านเรื่องอนุสติ ๑๐ ทำให้รู้สึกถึงความเป็นสุดยอดในพระปัญญาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงมอบเครื่องมือพิเศษ ๑๐ อย่างนี้ไว้ให้แก่พุทธบริษัทของพระองค์แต่ละจำพวก เพราะในอนุสติทั้ง ๑๐ อย่างนี้เป็นเหมือนกับ Plugin (โปรแกรมเสริม) แต่ละชิ้นที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งพลังบางอย่างได้โดยง่าย และเราสามารถเลือกใช้งานในแต่ละอย่างได้ตามความถนัด หรือตามสถานการณ์ที่เหมาะสมได้เลย เจ๋งมาก ๆ เลยนะ (พอเขียนมาถึงตรงนี้ก็รู้สึกว่าเดี๋ยวคงต้องจัดเวลามาเขียน Reflection เรื่องอนุสติ ๑๐ อีกครั้งหนึ่งน่าสนใจมาก ๆ เลยแหะ)

อย่างที่บอกพอเราได้อ่านเรื่องราวของอนุสติ ๑๐ แล้ว มันทำให้เรารู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมันเป็นดังตัว Pluson สุดพิเศษที่จะช่วยให้เราสามารถค่อย ๆ ชะลอ และหยุดพักวงจรความฟุ้งซ่าน เข้าสู่สภาวะแห่งการใคร่ครวญ จนเข้าถึงแหล่งพลัง และความสงบอันเป็นที่สุดได้ แต่วันนี้เราอยากจะเน้นถึงเรื่องของเทวตานุสติ กับ เรื่องของเทพปกรณัม เราก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมกันหน่อย 55555 จนไปเจอบทความของหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช (วัดสวนสันติธรรม) 

ท่านกล่าวอย่างน่าสนใจว่า “... เทวตานุสติ คิดถึงเทวดา ทีนี้เรานึกไม่ออกเทวดาหน้าตาเป็นอย่างไร คิดไม่ออก เราคิดถึงคุณ ธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา ธรรมะที่ทำให้คนธรรมดาเป็นเทวดา คือเขามีศีล 5 แล้วเขามีหิริโอตัปปะ หิริก็คือมีความละอายใจที่จะทำชั่ว โอตัปปะก็คือเกรงกลัวผลของการทำชั่ว เราคิดถึงคุณของเทวดา ยุคนี้ชอบคิดถึงเทวดา แต่คิดแล้วกิเลสเกิด เจ้าประคุณ ขอเชิญเทพองค์นั้นองค์นี้มาช่วยเราอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้คิดถึงความดีของเขา แต่คิดอยู่ๆ ก็อยากให้เขามาช่วยเรา เขาจะมาช่วยอะไรเรา สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ช่วยกันไม่ได้จริงหรอก ช่วยให้กำลังใจได้ หรือว่าถ้าเรามีกรรมดีพอ เขาก็พอช่วยได้ ถ้าเราไม่มีกรรมดีของเราเลยก็ช่วยไม่ได้…

พอได้อ่านข้อความตอนนี้ของหลวงปู่แล้วก็รู้สึกแจ่มชัดมากขึ้น และเริ่มเห็นเค้าโครงของการเรียงร้อยและความสัมพันธ์ระหว่าง “เทวตานุสติ” กับ “เทพปกรณัม” ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย

จากการที่เราได้อ่านความหมายและอ่านข้อความที่หลวงปู่ปราโมทย์ท่านได้อธิบายคำว่า “เทวตานุสติ” ไว้นั้น ทำให้เราเห็นชัดว่า “เทวตานุสติ” นั้นเป็นการระลึกถึงคุณธรรม คุณงามความดี วีรกรรม และเรื่องราวของเทวดา (หรือตำนานของบุคคล) องค์นั้น ๆ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับเทพปกรณัมที่เชิญชวนให้เราได้มองเห็นเรื่องราว วีรกรรม และความกล้าหาญของเทวดา วีรบุรุษ หรือผู้คนเหล่านั้นที่จะกระทำการบางอย่างให้บรรลุผลตามที่ตนเองต้องการ

แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ได้มีเท่านั้นหรอกนะ… เพราะหากเราลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมจากพระสูตรเอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง ข้อที่ 179 - 180 ก็จะยิ่งพบความน่าสนใจเพิ่มเติมที่ 2 เรื่องนี้เชื่อมร้อยกันได้อย่างแนบเนียนและน่าสนใจ โดยในพระสูตรกล่าวว่า

เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง

[๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรม อย่างหนึ่งคืออะไร คือพุทธานุสสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

[๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรม อย่างหนึ่งคืออะไร คือธัมมานุสสติ... สังฆานุสสติ... สีลานุสสติ... จาคานุสสติ... เทวตานุสสติ...  อานาปานสติ...  มรณสติ...  กายคตาสติ...  อุปสมานุสสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ 

จบวรรคที่ ๑

จะเห็นได้ว่าในพระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่าการเจริญอนุสติทั้ง ๑๐ อย่างนี้จะทำให้เราสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตของเราไปสู่ความเป็นที่สุดได้ (ซึ่งเป็นปลายทางอันยาวไกลของผู้คนและอาจเป็นความใฝ่ฝันของใครหลาย ๆ คนด้วยก็ได้)

แต่ที่เราเห็นถึงความเชื่อมร้อยและเชื่อมโยงกันอย่างเนียบเนียบดังที่กล่าวไว้คือ… เราไม่ได้เพียงแค่มานั่งระลึกถึงเทวดาแล้วจบไป หรือมานั่งเล่า นั่งฟังเรื่องราวของเทพปกรณัมแบบเพลิน ๆ แล้วก็จบไป (แต่ก็สามารถทำแบบนั้นได้นะ ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่วันนี้เราอยากนำเสนอทางเลือกอื่น ๆ ที่จะมาสนุกกับเรื่องราวของเทพปกรณัมให้มากขึ้นเท่านั้นเอง)

สำหรับเราแล้ว… การได้หยุดระลึกถึงคุณธรรม คุณงามความดี วีรกรรม หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกเล่าขานในเทพปกรณัมไม่ว่าชนชาติไหน เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม มันเป็นตัวช่วยให้เราค่อย ๆ ดึงตัวเราออกจากความยุ่งเหยิง วุ่นวาย และสับสน และพาตัวเรามาเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่กำลังได้ดู ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง ได้เล่าอยู่ ณ ตอนนั้น และยิ่งเราค่อยได้เชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างมาคุณภาพมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งนำพาเราให้เท้าเข้าสู่โลกใบใหม่ในเรื่องราวเดิม ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น และเมื่อเราก้าวเดินไปในโลกใบนั้นด้วยหัวใจที่เปิดกว้างและใคร่ครวญเรื่องราวต่าง ๆ ตามไป เข้าจะเริ่มเข้าสู่ขุมพลังที่ถูกซุกซ่อนไว้กาย ในจิตของเรา และเริ่มมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

กระบวนการที่ผมเล่าอาจะดูเป็นเรื่องเพ้อฝันและไร้สาระ… แต่หากคุณสังเกตดูให้ดี ๆ ก็จะพบว่าแท้จริงแล้วกระบวนการแห่งระลึกถึงคุณของเทวดา หรือเทวตานุสติ กับการฟังเรื่องราวของเทพปกรณัมอย่างใส่ใจและใคร่ครวญนั้นเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ทราบและปฏิบัติตามอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เริ่มต้นจากวันที่เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ลังเล สงสัย ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือกำลังจะหมดแรง → เราเริ่มได้ยินได้ฟังเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจ (อาจเป็นเรื่องราวของบุคคล ประวัติศาสตร์ หรือเพลงดี ๆ สักเพลงหนึ่งก็ได้) → เราฟังเรื่องราวเหล่านั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ → เราเริ่มเกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ร่างกายที่เคยตึง เคยล้าเริ่มได้พักผ่อน → เราได้ยินเรื่องราว ถ้อยความ และเนื่อหาของสิ่งนั้นชัดเจนขึ้น → เราค่อย ๆ ปล่อยตัว ปล่อยใจ ปล่อยอารมณ์ให้ไหลไปตามถ้อยความ และเรื่องราว → เราเริ่มดำดิ่งสู่เรื่องราวเหล่านั้นไปอย่างช้า ๆ → บางครั้งเราก็ปล่อยให้อารมณ์บางอย่างเข้ามาครอบครองตัวเราสักครู่ หรือปล่อยให้ตัวเราได้พักและหลับไป → ณ ขณะนั้นเป็นช่วงเวลานั้น เราได้เข้าสู่การชาร์ตพลังงานอย่างเต็มที่ → สมองและจิตใต้สำนึกของเราเริ่มกระบวนการการจัดเรียงเรื่องราวต่าง ๆ เสียใหม่ จิตใจเริ่มขยับขยายสู่พื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในชีวิต → เรากลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้งด้วยความมีชีวิตชีวา

แม้ข้อความเหล่านี้เป็นข้อความที่ดูยืดยาว เยิ่นเย้อ และดูใช้เวลาอันเนิ่นนาน แต่เชื่อเถอะว่าในชีวิตจริงของเรานั้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นจริงกับเรา และมันอาจใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น หรือหากเราฝึกฝนมามากพอ มันก็เป็นไปได้ที่กระบวนการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที 

ผมไม่รู้หรอกว่าคุณจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อเถอะว่ามันเกิดขึ้นได้จริง ๆ และเมื่อคุณสังเกตและพบเจอกับมันด้วยตัวเองคุณอาจจะหาวิธีการอธิบายปรากฏแห่งชีวิตของคุณได้ดีกว่าผมก็ได้ใครจะรู้ 55555

เอาหละ… เขียนมายืดยาว นี่เป็นการเชื่อมร้อยเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการอ่าน ใคร่ครวญ และสังเกตว่าปกรณัมทำงานกับผมอย่างไร แต่ผมเองก็รู้สึกว่าผมมีหลายอย่างที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เปรียบดังการเดินทางของวีรบุรุษ วีรสตรี และผู้กล้าทั้งหลายนั่นแหละ การได้ระลึกถึงเทวดา การได้อยู่กับตำนานเทพ เป็นความมหัศจรรย์แห่งภูมิปัญญาของผู่คนโบราณ เป็นเครื่องมือและแนวทางหนึ่งที่จะนำพาให้ตัวเราเข้าถึงแหล่งพลังงานดี ๆ ภายในตัวเอง นำพาตัวเองออกจากความแคบคับภายในใจ ไปสู่จิตที่กว้างใหญ่ และสูงส่งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการนำพาให้เรากลับเชื่อมโยงกับธรรมชาติ บริบท และเรื่องราวที่เกิดขึ้นตรงหน้าให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือค่อย ๆ ให้เราได้พัฒนาภูมิปัญญาของตัวให้สูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ต้องขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนในกลุ่ม Retreat and Reflection ที่จุดประกายให้ผมได้หันกลับมาสนใจเรื่องราวในมุมที่แตกต่างออกไป ได้ลองค้นหา เชื่อมโยงองค์ความรู้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตให้มีชีวิตที่ดีขึ้น สนุกขึ้น และสามารถดูแลตัวเอง ดูแลคนรอบข้างได้มากขึ้นด้วย อีกทั้งยังต้องขอบคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งเป็นบุคคล หนังสือ บทความ หรือเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังต่อ ๆ กันมากันที่ทำให้องค์ความรู้เหล่านี้อยู่ในสมอง อยู่ในเนื้อในตัว (แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆก็ตาม) และขอบคุณอีกหลาย ๆ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมตัวเราและการเดินทางของเราด้วย

การเขียน Reflection ครั้งนี้เป็นงานเขียนที่เราค่อนข้างตั้งใจมาก ๆ เลยนะ เราดีใจมาก ๆ ที่ได้เขียนมันออกมาเพราะเป็นเรื่องที่เราชอบมา ๆ และสนใจมาก ๆ การได้เขียนถึงเรื่องที่ชอบแม้จะเหนื่อยสักหน่อยแต่ก็ทำให้ใจฟูได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สอง การได้เชื่อมโยงความชอบของตัวเองเข้ากับพุทธธรรม มันทำให้เราได้มุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าเออ… เราเองก็ใกล้ชิดพระพุทธธรรมมากขึ้นด้วย และได้วิถีปฏิบัติการในชีวิตที่เป็นแบบเรา มันก็น่าสนุกดีที่จะได้ทดลองทำ และการได้ซนไปเรื่อย เรียนรู้ไปของเราเนี่ย ไม่รู้เป็นประโยชน์กับคนอื่ยไหมนะ แต่เป็นประโยชน์กับเรามากจริง ๆ เพราะในขณะที่เขียน Reflection ก็มีความลังเล ไม่แน่ใจอยู่ แต่ก็ใช้กระบวนการที่เขียนนั้นแหละ เป็นตัวกระตุ้นทำให้เขียนจนจบได้ ขอบคุณมากจริง ๆ นะ

สุดท้ายคือ… วันพรุ่งนี้ก็ได้ของขวัญหนึ่งชิ้นเอาไปฝากอาจารย์แล้ว 55555 ไม่ว่าจะเป็นขอขวัญที่ดีไหม แต่รู้ว่าน่าจะได้อะไรกลับมาต่อยอดความคิดอีกแน่ ๆ 55555 (เอ๊ะ… สรุปนี้เป็นของขวัญของใครกันแน่นะ ? 55555)

ข้อมูลอ้างอิงจาก

  1. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต). อนุสติ 10,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CD%B9%D8%CA%B5%D4&original=1 [13 มกราคม 2567]
  2. หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช (วัดสวนสันติธรรม). อนุสติ 10 [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา : https://www.dhamma.com/anussati10/ [13 มกราคม 2567]
  3. พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ข้อที่ ๑๗๙ - ๑๘๐ หน้าที่ ๓๙ - ๔๐ แหล่งที่มา : https://84000.org/tipitaka/read/?20/179-180/39-40 
หมายเลขบันทึก: 717033เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2024 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2024 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท