ภาพยนต์สารคดี เรื่องโรคมะเร็ง


(บทความจากหนังสือเกลียวสัมพันธ์ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2559)           

         เมื่อปีค.ศ.2015 Public Broadcasting Services PBS ซึ่งเป็นหน่วยงานเผยแพร่สื่อความรู้ เพื่อการศึกษาของสหรัฐ ได้จัดทำภาพยนตร์สารคดี 3 ตอน เรื่อง  Cancer:  The  Emperor  of All Maladies www.pbs.org/kenburns/cancer-emperor-of-all-maladies/  ซึ่งเกี่ยวกับวิวัฒนาการการวิจัยค้นคว้า เพื่อการรักษาโรคมะเร็ง เคยมีผู้นำมาโพสต์บน YouTube แต่ได้ถูกลบไปเนื่องจากเรื่องลิขสิทธิ์

           ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจาก หนังสือรางวัลพูลิตเซอร์ ประเภท Non Fiction เมื่อปีค.ศ. 2011 ‘The  Emperor  of All Maladies  : A  Biography  of Cancer’  หนังสือเล่มนี้ ออกวางจำหน่ายเมื่อปีค.ศ. 2010 เขียนโดย นายแพทย์ Siddhartha Mukherjee หนังสือแปลเป็นภาษาไทย ออกวางจำหน่ายเมื่อปีค.ศ. 2013 ในชื่อ ‘จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง’ ผู้แปล  สุนันทา วรรณสินธ์ เบล สำนักพิมพ์มติชนเป็นผู้แทนจำหน่าย

           Siddhartha Mukherjee ชื่อของเขาอาจอ่านว่า สิทธารถะ หรือ สิทธัตถะ  เป็น แพทย์อเมริกัน เชื้อสายอินเดีย เกิดในนิวเดลีเมื่อปีค.ศ. 1970 มุคเคอร์จีมีเชื้อสายเบงกาลีเรียนจบชั้นมัธยมที่อินเดีย ปีค.ศ. 1989 ไปศึกษาต่อชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้ทำงานในห้อง Lab ของ Paul Berg ซึ่งได้รางวัลโนเบลสาขาเคมี มุคเคอร์จีได้ทุนการศึกษา Rhodes Scholarship ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร จบปริญญาเอกด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และกลับมาศึกษาที่สหรัฐฯ จบแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์และเป็นเฟลโลว์วิชามะเร็งวิทยา ที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตต์ เจเนอรัล หลังจบการศึกษามุคเคอร์จีทำงานด้าน การสอน วิจัย และรักษา ที่ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค มุคเคอร์จีได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐก ในพิธีประสาทปริญญาประจำปีค.ศ. 2016 ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ หนังสือ The Emperor of All Maladies: A Biography of Cancer ยังได้รับรางวัล 10,000ปอนด์ หนังสือยอดเยี่ยม รางวัลของหนังสือพิมพ์The Guardian สหราชอาณาจักรด้วย

             ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชุดนี้คือ Ken Burns ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างหนังสารคดี แนวประวัติศาสตร์ จนกล่าวกันว่า คนอเมริกันได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากภาพยนตร์ของ Ken Burns มากว่าแหล่งใดๆทั้งหมด ผู้เขียนบท และกำกับการแสดง คือ Barak Goodman ซึ่งได้รางวัลเอมมี่หลายครั้ง Goodman ให้ทีมงานไปเฝ้าที่สองโรงพยาบาล คือ จอห์นส์ ฮอปกินส์ รัฐแมรี่แลนด์ และ ศูนย์การ แพทย์ชาร์ลสตัน แอเรีย ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียทำความสนิทสนมกับแพทย์พยาบาล และทีมงานให้การรักษาของโรงพยาบาล เมื่อมีผู้ป่วยมะเร็งเข้ามารักษา ทีมถ่ายทำก็เข้าไปเล่าวัตถุประสงค์ขั้นตอนการถ่ายทำภาพยนตร์ และขออนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยและญาติให้ความร่วมมืออย่างดีมาก มีบางรายขอยกเลิกกลางคัน เนื่องจากปัญหาความ เจ็บปวด ความโศกเศร้า ซึ่งอยากเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัว Edward Herrmann (ค.ศ. 1943-2014) ผู้บรรยายในภาพยนตร์ โด่งดังมาจากการแสดง เป็นประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ และเป็นผู้บรรยายหลักในภาพยนตร์ The History Channel เฮอร์มานถึงแก่กรรมด้วยมะเร็งสมอง ก่อนภาพยนตร์ออกฉายเพียง 3 เดือน

 

               ภาพยนตร์แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนละประมาณ 2 ชั่วโมง ตอนแรก เป็นเรื่องของ นายแพทย์ Sidney Farber (ค.ศ. 1903-1973) พยาธิแพทย์แห่งโรงพยาบาลเด็กบอสตัน ผู้พยายามหาวิธีรักษาผู้ป่วยเด็กโรคลิวคีเมีย ภาพยนตร์ใช้การดำเนินเรื่องการรักษาในยุคปัจจุบันที่ โรงพยาบาลจอห์นส์ฮอปกินส์ รัฐแมรี่แลนด์ ตัดกลับย้อนไปหาอดีต เมื่อครั้งฟาเบอร์ เริ่มหาวิธีรักษาโรคลิวคีเมียในเด็กด้วยยา Aminopterin ในปีค.ศ. 1948 และนายแพทย์  Louise Goodman (ค.ศ.1906-2004) Alfred Gilman (ค.ศ.1908-1984)เภสัชกรจากมหาวิทยาลัยเยล ใช้ไนโตรเจนมัสตาร์ดจนมาถึงเริ่มการใช้ยาต้านมะเร็งหลายขนานควบคู่กัน ในปีค.ศ.1962 ในสูตร VAMP (Vincristine+ Amethopterin + Mercaptopurine+ Prednisolone) 

           ในด้านการตื่นตัวทางสังคม Mary Lasker (ค.ศ.1900-1994) นักธุรกิจหญิงชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์ป่วยหนักด้วยโรคติดเชื้อในวัยเด็ก มีแรงบันดาลใจที่จะปรับปรุงการดูแลรักษา ด้านการแพทย์และสาธารณสุข แมรี่เป็นนักขายที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ ก้าวขึ้นไปเป็นเจ้าของกิจการแต่งงานครั้งที่สองกับ Albert Lasker มหาเศรษฐีด้านธุรกิจโฆษณา สองสามีภรรยา พยายามหนุนนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติในสหรัฐ สมัยประธานาธิบดีทรูแมน แต่ทำไม่สำเร็จ แมรี่ ลาสเคอร์จึงมุ่งมาทางการส่งเสริมทุนวิจัยเพื่อพัฒนา ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระดมทุนผ่านสื่อ มวลชน วงการธุรกิจ และสายสัมพันธ์ที่ต่อถึง นักการเมืองในสภา และประธานาธิบดี แมรี่ ลาสเคอร์กับซิดนีย์ ฟาร์เบอร์ ร่วมดำเนินการปรับปรุงสมาคมโรคมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) จนเป็นปึกแผ่น มีผลงานเพิ่มขึ้น และผลักดันให้สภาผู้แทน และประธานาธิบดีนิกสัน ผ่านกฎหมายเมื่อ ปลายปีค.ศ. 1971 ที่สร้างความก้าวหน้าแก่วงการวิจัยโรคมะเร็งอย่างมาก โดยให้ทุนวิจัยและป้องกันโรคมะเร็ง ตั้งงบประมาณใน 3 ปีแรก เป็น วงเงิน 1,600 ล้านดอลลาร์ บทสรุปจากตอนแรก ทำให้เห็นว่าความคิดดีๆ ที่มีหลักฐาน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ก็อาจไร้ค่า ถ้าไม่ได้ถูกนำมาเป็นนโยบายปฏิบัติเพื่อสังคมส่วนรวม 

            ตอนที่สอง เป็นเรื่องการรักษามะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด ประวัติวิวัฒนาการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม ยุคนายแพทย์ William Halsted (ค.ศ.1852-1922) ศัลยแพทย์แห่งโรงพยาบาล จอห์นส์ ฮอปกินส์ ผู้ริเริ่มการผ่าตัด Radical Mastectomy ตัดเต้านม ต่อมน้ำเหลือง และ กล้ามเนื้อหน้าอก 

          ยุคกบฏต่อความเชื่อดั้งเดิมทางศัลยศาสตร์ ศัลยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย พิตต์สเบอร์ก Bernard Fisher (เกิด ค.ศ.1918-2019)ไม่เชื่อทฤษฎีของ Halsted เขาเชื่อว่ามะเร็งเต้านม ไม่ใช่ Local disease แต่เป็น Systemic Disease การผ่าตัดที่ยิ่งตัดเนื้อร้ายออกให้มาก จะทำให้โรคมะเร็งเต้านมหายขาด ไม่น่าจะถูกต้อง เขาเสนอการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก ที่เรียกว่า Lumpectomy   เริ่มงานวิจัยเมื่อ ค.ศ.1958 ทำ Randomized Clinical Trial ตั้งเป้าในผู้ป่วย 800 ราย ระยะแรกความเชื่อของ Fisher ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการศัลยแพทย์ ไม่มีผู้ให้ความ ร่วมมือในงานวิจัย จนกระทั่ง Rose Kushner นักหนังสือพิมพ์สตรี และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม Kushner เคยเรียนเตรียมแพทย์ เธอค้นคว้าเรื่อง มะเร็งเต้านม อย่างจริงจัง และเขียนลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสท์ฉบับ 6 ตุลาคม ค.ศ.1974 กระตุ้นให้ผู้ป่วยสตรีโรคมะเร็งเต้านม ออกมายืนยัน สิทธิการเลือกวิธีการผ่าตัดแบบ Radical หรือเลือกแค่ตัดเอาก้อนเนื้องอกออก Fisher ได้ผู้ป่วยครบตามเป้าหมาย เขาตีพิมพ์ผลงานวิจัยใน New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1985 ผลการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแบบ Radical Mastectomy และ Lumpectomy ไม่ต่างกัน เป็นอันปิดฉากทฤษฎีของ Halsted 

          ส่วนเรื่องมะเร็งปอด เริ่มจากมีการแจกบุหรี่ ให้กับทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อบรรเทาความเครียด หลังสงคราม มีวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ แพร่กระจายไปในสังคม ประกอบกับแรงหนุนจากการโฆษณา การสูบบุหรี่มีผลให้โรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ข้อมูลสรุปชัดเจน ต้นปีค.ศ.1964 มีคำแนะนำเรื่องผลร้ายของการสูบบุหรี่ และเริ่มมีการรณรงค์ให้งดการสูบบุหรี่ ในสหรัฐฯ 

         ตอนที่สาม การค้นพบยาใหม่ ที่ใช้การรักษาแบบ Target Therapy ยา Herceptin (Trastuzumab) รักษามะเร็งเต้านมชนิด HER2- Positive ที่เริ่มใช้เมื่อปีค.ศ.1988 ยา Gleevec (Imatinib) ของบริษัท Novartis ใช้รักษาโรคลิวคีเมียบางชนิด และโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร ยาที่ค้นพบใหม่ๆมีมากขึ้น แต่มีราคาสูงมาก 

           ฉากที่ควรดูเริ่มประมาณ นาทีที่ 22-41 เล่าเรื่องราคายารักษามะเร็งที่มีราคาสูง ทำให้มีผลกระทบ มีคนเข้าถึงการรักษาได้น้อยมาก นายแพทย์ Harold Freeman อดีตนายกสมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐ ผู้กระตุ้นให้เกิดความเท่าเทียมกัน ในการที่ประชาชนผู้ยากไร้ จะสามารถเข้าถึงยาราคาแพงที่จำเป็น ได้กล่าวถึงปัญหานี้ด้วยความห่วงใยปัญหาเรื่องราคายา สภาพของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรคมะเร็งบางชนิด บางระยะ จำเป็นต้องมองอีกทางออกหนึ่ง ในการรักษาโรค มะเร็ง ในเมื่อโอกาสเอาชนะโรคมีน้อยมาก การดิ้นรนสู้ต่อไป ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก 

       ที่ Charleston Area Medical Center ในรัฐ West Virginia เล่าเรื่อง Palliative Care มีฉากของ แพทย์หญิง Suzanne  Cole แพทย์หน่วยมะเร็งวิทยา แนะนำผู้ป่วย ที่การรักษาไม่ได้ผล ให้ยอมรับ มากกว่าที่จะดิ้นรนต่อสู้ ในสงครามที่ไม่มีวันชนะ แนวคิดเรื่อง Palliative Care เริ่มมาจาก Cicely Saunders (ค.ศ.1918-2005) พยาบาลชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกงาน ด้าน Palliative Care และเป็นพยาบาล ที่ได้รับการยอมรับจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งสหราชอาณาจักร ให้ได้รับอภิไธย FRCS และ FRCP

        สหัสวรรษใหม่เริ่มขึ้น พร้อมกับแนวคิดใหม่ ที่เชื่อมโยงโรคมะเร็งกับพันธุกรรม และแนวคิดการรักษาโรคมะเร็งแนวใหม่ นอกเหนือไปจากการผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด นั่นคือ Immunotherapy วิวัฒนาการแนวคิดนี้กล่าวถึง นายแพทย์ Bert  Vogelstein (เกิด ค.ศ.1949 ยังมีชีวิตอยู่) ศาสตราจารย์วิชามะเร็งวิทยา และพยาธิวิทยา โรงพยาบาลจอห์นส์ฮอปกินส์ ผู้บุกเบิกด้านเวชพันธุศาสตร์โรคมะเร็ง และ Mary–Claire King (เกิด ค.ศ.1946 ยังมีชีวิตอยู่) นักชีววิทยา และพันธุศาสตร์ผู้ค้นพบ Breast Cancer Gene BRCA 

        ศัลยแพทย์ 2 คน ผู้ผันมารักษาโรคมะเร็งด้วยImmunotherapy คือ นายแพทย์ William Coley ค.ศ.1862-1936) ผู้บุกเบิก และ นายแพทย์ Stephen Rosenberg (เกิด ค.ศ.1940 ยังมีชีวิตอยู่) ใช้ Immunotherapy ร่วมกับยาเคมีบำบัด การค้นคว้าวิจัยเรื่องความเชื่อมโยง ระหว่างโรคมะเร็ง และเวชพันธุศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น มีการตั้งโครงการศึกษารายละเอียดพันธุกรรมในมนุษย์ (Human Genome Project) และ Cancer Genome Atlas การค้นคว้าลึกลงไปในระดับโครโมโซม ดีเอ็นเอ อาจทำให้ทราบวิธีการในการรักษาได้ดีขึ้น 

       ภาพยนตร์ชุดนี้จำหน่ายในราคา $34.99- $39.99 ในรูปแบบแผ่นดีวีดี และแผ่นชนิดบลูเรย์ โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งควรจัดซื้อไว้และใช้เป็นสื่อการสอน นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านจุดประกายให้เกิดความสนใจ ไปค้นคว้าเพิ่มเติมด้าน ประวัติศาสตร์การรักษา และการวิจัยเรื่องโรคมะเร็ง การบริหารจัดการ การสร้างความสัมพันธ์ กับนักการเมือง สื่อ และนักธุรกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบาย ตัวอย่างเวชปฏิบัติในผู้ป่วยที่มีโรค และความทุกข์เรื้อรัง การใช้ความเมตตา ให้ความหวัง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยีด้านยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือที่ทันสมัย

 

 

หมายเลขบันทึก: 717304เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท