ชีวิตที่พอเพียง  4660. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (228) สุขภาวะทางอารมณ์และสังคม (social and emotional wellbeing)


 

สมรรถนะทางอารมณ์และสังคม (social and emotional skills - SES) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากในสังคมปัจจุบันและอนาคต   จึงเป็นเรื่องที่ครูและวงการศึกษาพึงเอาใจใส่   จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเอื้อและท้าทายให้นักเรียนพัฒนาสมรรถนะนี้ใส่ตนตลอดช่วงของการเรียนในโรงเรียน และหลังจากนั้น   

สมรรถนะทางอารมณ์และสังคมคืออะไร

สมรรถนะทางอารมณ์และสังคม เป็นทักษะและขีดความสามารถที่ซับซ้อนในการรับรู้และกำกับหรือควบคุมอารมณ์ของตน อันจะช่วยให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมีความเหมาะสม เป็นปฏิสัมพันธ์เชิงบวก   เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการอยู่ในสังคมอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์ 

อาจจำแนกสมรรถนะทางอารมณ์และสังคมออกเป็น ๕ ส่วนคือ

  1. รู้จักตัวเอง (self-awareness)    เข้าใจอารมณ์ของตนเอง และผลของอารมณ์นั้นต่อความคิดและพฤติกรรมของตน   และเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน ค่านิยม และความต้องการของตนเอง   
  2. มีความสามารถควบคุมตนเอง (self-regulation)   สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เป็นพฤติกรรมเชิงบวกในสถานการณ์ที่ท้าทาย    แสดงอารมณ์ของตนออกมาอย่างสร้างสรรค์    จัดการความอีดอัดขัดข้องใจได้อย่างเหมาะสม    สมรรถนะส่วนนี้อาจเรียกว่า EF – Executive Functions   
  3. รู้จักหรือเข้าใจสังคม (social awareness)   เอาใจใส่และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น    แสดงความเอาใจใส่อารมณ์ความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น   เอาใจใส่และเข้าใจการสื่อสารด้วยอวัจนภาษา   
  4. ทักษะด้านปฏิสัมพันธ์ (relationship skills)   ธำรงปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น    สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ทั้งด้วยวัจนภาษา และอวัจนภาษา    จัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์    และทำงานกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์   
  5. ตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ   อย่างมีจริยธรรม   สร้างสรรค์  และเหมาะสมต่อบริบทหรือสถานการณ์ในขณะนั้น และในระยะยาว 

จะเห็นว่า SES เกี่ยวข้องกับ emotional intelligence 

สิ่งที่ครูควรทำเพื่อหนุนให้ศิษย์สร้าง SES ใส่ตน

  1. สร้างระบบนิเวศเชิงบวกในชั้นเรียนและโรงเรียน   ระมัดระวังไม่ให้มีการใช้ภาษาเชิงลบ    ไม่มีการข่มขู่รังแก ดูถูกกัน
  2. เอื้อให้นักเรียนรู้จัก เข้าใจ และฝึก SES 
  3. บูรณาการการฝึก SES เข้ากับทุกบทเรียน
  4. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในหมู่นักเรียน    ได้แก่ ความร่วมมือ  การทำงานเป็นทีม  และการร่วมกันสร้างสรรค์    และในขณะเดียวกัน เอาใจใส่ป้องกันไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์เชิงลบ 
  5. ให้โอกาสนักเรียนได้ร่วมกันสะท้อนคิด   โดยสะท้อนคิดเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ของตนในแต่ละกิจกรรม    ครูต้องไม่รีบเร่งจัดการเรียนรู้ให้เสร็จ โดยไม่เปิดโอกาสให้ศิษย์ได้สะท้อนคิดร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์   
  6. เอาใจใส่สุขภาพจิตของศิษย์    และมีมาตรการช่วยเหลือแก่ศิษย์ที่ต้องการ
  7. สร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ ในการพัฒนาสุขภาวะด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียน   โดยทำความเข้าใจเรื่องนี้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง    เพื่อร่วมมือกันสังเกตและหาทางช่วยเหลือ   ครูต้องไม่ละเลยบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง 
  8. หาทางแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของศิษย์    สู่การแก้ไข SES ด้านลบ    

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ

  1. สร้างบรรยากาศของการพูดคุยกันอย่างเปิดใจ    พ่อแม่พูดคุยกับลูกสบายๆ เกี่ยวกับความรู้สึกของตน 
  2. พ่อแม่ทำตัวเป็นตัวอย่างด้าน SES 
  3. ส่งเสริมให้ลูกไปร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน  เพื่อฝึกปฏิสัมพันธ์เชิงบวก
  4. ส่งเสริมให้ลูกใช้ความมานะพยายาม เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด   พ่อแม่ชมความพยายาม มากกว่าความสำเร็จ 
  5. เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญความท้าทาย หรือความยากลำบาก

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ

  1. ละเลยไม่เอาใจใส่ความรู้สึก หรือสุขภาพจิตของลูก
  2. ด่วนตำหนิ หรือลงโทษลูก   โดยไม่คำนึงถึงรากฐานหรือต้นเหตุของปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของลูก     

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning – SEL) เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน   ในปัจจุบันชีวิตของเด็กนักเรียนจำนวนมากประสบความล้มเหลว เพราะสาเหตุด้านการเรียนรู้ SEL ไม่พัฒนา     เมื่อ SES ไม่แข็งแรง    ชีวิตก็ว้าเหว่     ถูกชักจูงไปในทางเสื่อมได้ง่าย   

วิจารณ์ พานิช

๙ ม.ค. ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 717319เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2024 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2024 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท