กว่าจะเป็นคนต้นแบบ..เราจะต้องทำอะไรบ้าง?


ต้นแบบและวางรากฐานสู่เส้นทางผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและผู้ปฏิบัติการขั้นสูง: จากอดีตสู่อนาคต

 การเป็นต้นแบบและวางรากฐานสู่เส้นทางผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและผู้ปฏิบัติการขั้นสูง: จากอดีตสู่อนาคต

        เราได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พยาบาลที่กำลังเข้าสู่เส้นทางผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและผู้ปฏิบัติการขั้นสูง: จากอดีตสู่อนาคต วันที่ 11 มีนาคม 2567 เลยกลับมาทบทวนชีวิตที่ผ่านมา (life review) ว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ก็พบว่า ชีวิตทำงานเราได้รับโอกาสจากองค์กร โดยเฉพาะหัวหน้าฯพยาบาลทุกท่านมอบหมายงานที่ท้าทายให้ทำตลอดมา เราต้องมีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำและการทำงานใช้วิจัยและ KM เป็นฐานคิดในการขับเคลื่อน

โอกาสที่เราได้รับ

  •  อยู่หน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง คือ การดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม 6 ปีและดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด 30 ปี 
  • ได้เข้าอบรมเฉพาะทางต่างๆมากมาย 
  • ได้รับโอกาสเรียนรู้จากรุ่นพี่ที่เก่งด้านคลินิกและการวิจัย 
  • มีชีวิตการทำงานวนเวียนกับการทำวิจัยและKM 

ชีวิตทำงานวนเวียนอยู่กับงานวิจัยและKM

  • ตอนเรียนปริญญาตรี ฝึกทำวิจัยตอนเรียนก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ค่อยๆแกะค่อยๆเกา และทำตามขั้นตอนที่อาจารย์สอน ทำจนเสร็จ แต่ไม่ได้ลึกซึ้งว่า ทำวิจัยไปทำไม

ชีวิตทำงานปีแรก 2524-2529  

  • บรรจุเข้ารับราชการ 2 เมษายน 2524   ตำแหน่งพยาบาล 3 ระดับ 3 ก็ตั้งใจทำงานดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม 4ก ตั้งใจดูแลผู้ป่วยข้างเตียงให้ดี  ค่อยๆเรียนรู้กับรุ่นพี่ไปพอทำได้ เพราะแต่ละวันต้องวิ่งทำงานตั้งแต่ต้นเวร จนจบเวร ดูแลพยาบาลใหม่ที่เข้ามาหมุนเวียนมาฝึกงานในหอผู้ป่วยให้ดี ให้สามารถทำงานได้ ผู้ป่วยปลอดภัยและพึงพอใจ ดังนั้นเรื่อง การทำวิจัยไม่เคยคิด ไม่เคยรู้และไม่เคยทำ ขณะอยู่ในกระบวนการทำงาน รู้เพียงว่าทำงานให้ได้มาตรฐานและผู้ป่วยรอดชีวิต ไม่เคยบ่นให้ใคร รักงานที่สุด
  • ไปอบรมเฉพาะทางที่ศิริราช ได้วุฒิบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2528 มีโอกาสเรียนทฤษฎีทางการพยาบาลกับ ท่านอาจารย์ ดร ทัศนา บุญทอง ตอนนั้นอาจารย์จบจากอเมริกามาหมาดๆ

หัวหน้าหอผู้ป่วยเคมีบำบัด 5จ 2530-2560

  • ถูกคัดเลือกไปเป็นหัวหน้าหอผู้ป่วย 5จ เดือน พฤษภาคม 2530  ตอนนั้นยังเป็นพยาบาล ระดับ 5 เลยได้เป็นรักษาการหัวหน้าฯไปก่อน เพราะคุณสมบัติยังไม่ถึง ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการหัวหน้าหอผู้ป่วย 5จ วันที่ 24 พค 2533
  • ไปเรียนต่อ ป โท ปี 2533 จบ 2536 กลับจากเรียน ป โท  ทำวิจัย และขอเลื่อนระดับเป็น พยาบาลระดับ 6 ปี 2538 
  • ยังขาดคุณสมบัติเงินเดือนยังไม่ถึง เมื่อเงินเดือนถึงในวันที่ 1 ตค 2539 มหาวิทยาลัยเลื่อนระดับให้เป็น พยาบาล ซี 7 หัวหน้าหอผู้ป่วย ซี 7 วันที่ 11 พย 2539 
  • จบโทมา ปี 2536 ได้เป็นเลขาฯ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพ หัวหน้าจินตนา บุญจันทร์  ได้ทำคู่มือการพยาบาล 4 เล่มและทำวิจัยวิเคราะห์อัตรากำลัง จนได้ตีพิมพ์ จินตนา บุญจันทร์, สุรีพันธ์ เวชนิยม, อุบล จ๋วงพานิช และคณะ (2542).  การจัดอัตรากำลังการพยาบาลในหอผู้ป่วยตามความต้องการการพยาบาล ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์.วารสารสมาคมพยาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2542; 17(2):29-38. 
  • มีโอกาสเป็นคณะทำงานพัฒนาการบันทึกทางการพยาบาลโดยใช้โอเรม กับพี่บุปผา ชอบใช้ ได้หนังสือ การพัฒนากระบวนการพยาบาล โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม และปรับแบบประเมินผู้ป่วยฯของ รพ ศรีนครินทร์ 2545

ยื่นขอพยาบาลชำนาญการพิเศษ ซี 8 ปี 2542

  • เริ่มทำวิจัยหลายเรื่อง ยื่นขอ ซี 8  ปี 2542 วิญญาณนักวิจัยเริ่มเกิด ประกอบกับเป็นเลขาฯวิจัย โดยมีอดีตหัวหน้าฯ พี่ชูศรี คูชัยสิทธิ์ เป็นประธานฯ ทำไปเรียนรู้ไป เป็นวิทยากรวิจัยเชิงทดลอง ทำวิจัยแต่ละเรื่อง ล้วนได้เรียนรู้ทุกขั้นตอน
  • งานส่งขอ ซี 8 คือ คู่มือการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดและ งานวิเคราะห์ การให้ข้อมูลเตรียมความพร้อมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด และส่งงานวิจัยเรื่อง อุบล  จ๋วงพานิช,  รัชนีพร คนชุม,และสมจิตร์ หร่องบุตรศรี.การศึกษาคุณภาพชีวิตและพฤติกรรมการดูแลตนเอง ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมที่ผ่าตัดและได้รับยาเคมีบำบัด. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์บูรพา  2541; 6(2):7-15.
  • หลังจากได้ ซี 8 เราก็ไปสอบ APN ได้วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง สาขา อายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ (Advanced-Practiced Nurse)พ.ศ. 2547 
  • ไปเรียนนวดแผนจีน ได้วุฒิบัตร Basic Theories of Traditional Chinese Medicine and Tuinatology of Traditional Chinese Medicine ที่ Faculty of Nursing Guangxi Traditional Chinese Medical  University  Nanning, Guangxi, People’s Republic of China. 2006 (2549) เปิดโลกทัศน์มาก เริ่มเข้าใจภาษาอังกฤษดีขึ้น กลับมา หัวหน้าพยาบาล พี่ชูศรี คูชัยสิทธิ์ บอกให้ไปเรียนระบาดวิทยา เลยลองส่งโครงร่างไป ในที่สุดก็ได้ไปเรียน ตอนนั้นอายุมากสุดในชั้นเรียน มิน่าเชื่อว่าเราอ่านงานวิจัย ภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องแบบไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทย และเขียนโครงร่างภาษาอังกฤษได้สำเร็จ ดูเหมือนจะเขียนง่ายกว่าภาษาไทย 
  • ไปเรียน Diploma in International Course in Research Methodology and Biostatisticคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น SC12 ปี พ.ศ. 2551
    • นำเสนอและพัฒนาโครงร่างวิจัยเรื่อง Preferred music therapy for anxiety and pain  reduction in cancer patients: a randomized controlled trial.
    • เรียนระบาดก็จดบันทึกค่ะ https://www.gotoknow.org/dashboard/blogs/39936
    • ได้รับรางวัลศิษย์ก้าวหน้าทางด้านวิชาการ มอบให้ปี 2567 นี่เองค่ะ
  • รางวัลที่ได้รับช่วงนั้น
    • รางวัลนำเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติ Poster price ที่ IVORY AFRICA 2540
    • รางวัลพยาบาลดีเด่น ของสภาพยาบาล ประเภท ผู้ปฏิบัติการพยาบาล ในระบบบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ/ตติยภูมิ ด้านปฏิบัติการพยาบาล พ.ศ. 2548
    • พยาบาลดีเด่น สาขาพยาบาลที่มีผลการดำเนินงานวิจัยดีเด่น สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคฯ ปี 2550

ยื่นขอพยาบาลเชี่ยวชาญ ซี 9 ปี 2551 อายุ 50 ปี 

  • การได้พยาบาลเชี่ยวชาญ ก็ไม่ได้โดยบังเอิญ แต่เกิดจากการมีผลงานจากการพัฒนางานประจำอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีโอกาสไปเป็นวิทยากร เราจะเขียนเป็นบทความให้ผู้จัดเพื่อลงในหนังสือจัดประชุม และมีการพัฒนางานประจำให้เป็นวิจัย ทุกครั้งที่ทำวิจัยจะมีการขอทุน ขอจริยธรรมวิจัย ทำวิจัยเสร็จ มีการนำเสนอผลงานวิจัยภายในประเทศและต่างประเทศทุกครั้ง แล้วตีพิมพ์ทุกเรื่อง มีการวางแผนนำผลวิจัยไปใช้ในคลินิกอย่างเป็นรูปธรรม และเก็บ nursing outcome ทุกเดือนและทำเป็น control chart เมื่อใดที่ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงในทางลบ ต้องร่วมกัน KM กับบุคลากรในหอผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ปัญหาแล้วทบทวนงานวิจัยเพื่อนำมาวางแผนปรับกระบวนการดูแลใหม่ จนผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย นั่นคือ สิ่งที่เราทำประจำจนเป็นนิสัย
  • ในช่วงปี 2551 งานบริการพยาบาล มีกรอบพยาบาลเชี่ยวชาญอยู่ 9 กรอบ แต่คนครองตำแหน่งยังไม่ครบ มหาวิทยาลัยกำหนด deadline ให้ส่งซึ่งเหลือเวลาอีกสามวัน อาจจะเป็นความโชคดีที่ท่านหัวหน้าฯพยาบาลถามว่า ใครมีผลงานพร้อมส่งให้ส่งได้ในวันจันทร์ ดังนั้นเรามีเวลารวบรวมผลงานสองวัน คือ เสาร์และอาทิตย์  ผลงานที่ต้องส่งคือ คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดและงานวิจัย 
  • คู่มือการพยาบาลฯเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องรวบรวมบทความที่เราเคยไปสอนมาประกอบเป็นคู่มือฯ โชคดีที่ผ่านมาเราพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์เอง เราต้องนำบทความที่เคยมีมาเรียบเรียงใหม่ให้กระชับ ทำไปลูบหัวใจไป จะได้ใจเย็นๆๆๆ เพื่อจะได้พิมพ์งานให้ถูกต้อง การเว้นวรรค การเขียนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเอกสารอ้างอิง เป็นต้น  ส่วนวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราตีพิมพ์ไว้หลายเรื่อง แค่เลือกเรื่องดีดี แล้วเย็บรวมกันเพื่อส่งก็สำเร็จแล้ว เอกสารบรรยายที่ตีพิมพ์ เราก็ส่งประกอบไปด้วย รวบรวมแล้วเย็บเล่มก็จบ
  • ผลงานที่ส่งขอในตำแหน่งพยาบาลเชี่ยวชาญ ได้แก่
    1. งานวิจัยสามเรื่อง 1) อุบล จ๋วงพานิช,  รัชนีพร คนชุมและสมจิตร์  หร่องบุตรศรี. (2542).ผลการให้ความรู้และการพยาบาลระบบสนับสนุนต่อคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมที่ผ่าตัดและได้รับยาเคมีบำบัด วารสารสมาคมพยาบาลสาขาภาคฯ 17(3):42-50  2) อุบล จ๋วงพานิช,  อาภรณ์  ทวะลี, สุรีพร คณาเสน,และสุพัสตรา สุกุมาลย์.(2549). การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ได้รับยาเคมีบำบัด. วารสารรามาธิบดีพยาบาลสาร.12(1):49-66. 3) อุบล  จ๋วงพานิช, ณัฏฐ์ชญา   ไชยวงษ์,และนางสาวจุรีพร อุ่นบุญเรือง .(2551) ผลของการใช้โปรแกรมวางแผนการจำหน่ายต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.16(3):32-42
    2. คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด 1 เรื่อง 
    3. เอกสารประกอบคำบรรยายที่ตีพิมพ์ในวารสาร 
  • พยาบาลเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง วันที่  30 ตุลาคม  2552 

มีโอกาสรับรางวัล เกี่ยวกับการทำวิจัย

  • รางวัล R2R Thailand ครั้งที่ 1 เรื่อง ผลของการใช้โปรแกรมวางแผนการจำหน่ายต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด รับรางวัล เดือน กรกฎาคม 2551 
  • รางวัล R2R Thailand ครั้งที่ 6 ร่วมสร้างวัฒนธรรม R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี กรุงเทพฯ กลุ่มงานบริการระดับตติยภูมิ เรื่อง ศึกษาประสิทธิผลของการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด อุบล จ๋วงพานิชและคณะ
  • ผู้ร่วมทีม รับรางวัล R2R Thailand เรื่อง ผลการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อการป้องกันและบรรเทาการเกิดช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในการประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย routine toresearch ครั้งที่ 7 ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัยครั้งที่ 7 “R2R เสริมพลัง สร้างคุณภาพ สู่สุขภาวะ” ระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2557 ณ อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี” กรุงเทพฯ และได้รับรางวัลในการนำเสนอผลงาน กลุ่มงานบริการระดับตติยภูมิ  โดย นางสาวสุกัญญา จันหีบและ นางอุบล จ๋วงพานิช
  • รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2554 สาขาการวิจัย ด้านคลินิก 31 กรกฎาคม 2555
  • รางวัล KM,CoP
  • รางวัลเกียรติยศจากคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • รางวัลศรีมอดินแดง ประเภท บุคลากรสายสนับสนุน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 ธันวาคม 2557 ถือเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิตการรับราชการ

ปี 2558 ทำวิจัยจนได้เทียบเท่า ป เอก

  • ยื่นสอบ อนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง สาขา อายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ (Advanced-Practiced Nurse)พ.ศ. 2557(อพย.) โดยใช้งานวิจัย อุบล  จ๋วงพานิช, จุรีพร อุ่นบุญเรือง,จันทราพร ลุนลุด, ทิพวรรณ  ขรรศร,  ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์.ผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวลและความปวดในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด วารสารสมาคมพยาบาล สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ .2555;30(1):46-52
  • อนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ (Advanced-Practiced Nurse) (อพย.)เทียบเท่าปริญญาเอก ประกาศ 10 พฤศจิกายน 2558
  • ผลจากที่ไปเรียนระบาดวิทยา สามารถนำงานวิจัยที่เรียนมายื่นสอบเทียบ ป เอก

อยากเป็นพยาบาลเชี่ยวชาญต้องไปนำเสนอผลงานต่างประเทศ

  • เรามีโอกาสไปนำเสนอลงานต่างประเทศหลายครั้ง แต่ละครั้งได้ประสบการณ์ที่ดีเสมอ เช่น ไปนำเสนอที่อเมริกา ครั้งแรก woman health  มีอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ อ โอเรม มาบรรยายด้วย หลายคนตามไปเยี่ยม อ โอเรมด้วยแต่เราไม่ได้ไป อย่างไรก็ตามสิ่งนั้นก็ทำให้เราได้ใช้ทฤษฏีอาจารย์มาทำวิจัยหลายเรื่องเลย
  • อีกที่อยากแนะนำให้ไปนำเสนอ คือ ประชุมวิชาการของ ICN ที่จะจัดหมุนเวียนไปประเทศต่างๆทั่วโลก เราเคยไป ICN Yogohama 2550, ICN AUSTRALIA2556, ICN Spain 2560 สิ่งได้ เรามีโอกาสพบพยาบาลจากทั่วโลกมานำเสนอและเป็น speaker ได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงาน

ชีวิตก่อนและหลังเกษียณอายุราชการยังวนเวียนอยู่กับวิจัย

  • เป็นวิทยากรR2R,KM,EBP,CNPG
  •  เป็น Fa ให้กับพยาบาลทั่วประเทศ
  • เป็นกรรมการฯสมทบจริยธรรม มข ตอนทำงาน ปี 2554 แต่ยังไม่ค่อยรับงานพิจารณาจริยธรรม เพราะมีแต่เวลาทำงานดูแลผู้ป่วยและรับตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าพยาบาลฝ่ายวิจัย
  • เป็นรองหัวหน้าฝ่ายพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ 2556-2559
  • เป็นรองหัวหน้าพยาบาลฝ่ายพัฒนาวิชาชีพ 2559-2561
  • เป็นกรรมการพิจารณาผลงานเพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้น ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2558-2561
  • เป็นคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัย สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วาระ ปี 2565- 2567
  • คณะกรรมการวิจัยทางการพยาบาลแห่งชาติ สภาการพยาบาล ตามคำสั่งสภาการพยาบาล ที่ 307/2565 วาระ 2565-2569 
  • กรรมการสมทบ จริยธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2561 จนถึงปัจจุบัน
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการ R2R คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • คณะกรรมการโครงการวิจัยเพื่อพัฒนางานประจำ (routine to research: R2R) มหาวิทยาลัยขอนแก่น  
  • เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเครื่องมือวิจัยให้นักศึกษาพยาบาล ระดับปริญญาโท และเอก
  • เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการระดับประเทศ ระดับ ชำนาญการพิเศษ ของ รพ ศิริราช รพ มหาราชนครเชียงใหม่ รพ สงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น
  • เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการ ระดับชำนาญการและชำนาญงาน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2566
  • กรรมการวิจัยสถาบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2565-ปัจจุบัน
  • เป็นที่ปรึกษาพยาบาลในการพัฒนาผลงานเพื่อสอบอนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง (APN)
  • เป็นวิทยากรทำผลงานเลื่อนระดับของ รพ ต่างๆ
  • เป็น Facilitator พยาบาลเลื่อนระดับ
  • ได้รับประกาศจากหน่วยระบาดวิทยา ให้เป็นศิษย์ก้าวหน้าทางวิชาการ ในวันที่ 24 พย 2566

สรุป ปัจจุบันและอนาคต เสนอเพื่อพิจารณาพยาบาลที่จะเดินตามรอย 10 ประการ

  1. ต้องทำงานอยู่ในหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง ผู้ป่วยมีความซับซ้อน ดูแลยุ่งยาก 
  2. ทำงานในคลินิก จนเกิด intuation&insight (การหยั่งรู้หรือรู้โดยสัญชาตญาณ&เข้าใจอย่างถ่องแท้)
  3. มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องโดยใช้วิจัยเป็นฐาน
  4. นำผลวิจัยมาใช้ในคลินิกให้เห็นผล
  5. นำเสนอผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
  6. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ KM กับคนในองค์กรและนอกองค์กรในเรื่องที่ตนเชี่ยวชาญ
  7. เขียนบทความในเวปไซด์และตีพิมพ์ผลงานในวารสารพยาบาล
  8. พัฒนาตนเองจนคนมองเห็นในที่แจ้งว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเราไม่ต้องประกาศตัว
  9. เป็นวิทยากรเกี่ยวกับงานที่เราเชี่ยวชาญ 
  10. รางวัลต่างๆจะตามมาเอง 

งานทั้งหมด 10 ประการ ต้องทำให้ครบ ต่อเนื่อง ไม่เคยหยุด สุดที่ความสำเร็จของทุกคน

พี่แก้วบันทึกไว้

12.3.67

 

รางวัลปี 2567

ภาพถ่ายร่วมกับหัวหน้าฯ เบญจมาศ

บันทึกไว้ว่าเคยรับเครื่องราชย์สายสะพายสองครั้ง

หมายเลขบันทึก: 717325เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2024 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุดยอดมากๆๆ เป็นแนวทางให้น้องๆทำตามได้เลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท