การคุ้มครองและป้องกันสิทธิความหลากหลายทางเพศในจังหวัดแม่ฮ่องสอน : แนวคิด ทิศทาง และกระบวนการขับเคลื่อนในระยะตั้งต้น


ผ่านไปเกือบสิบวัน แต่เรื่องนี้สำคัญเลยต้องบันทึกไว้

LGBTQ หรือเรียกรวมๆว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นอีกกลุ่มคนที่มีที่ยืนในสังคมแม่ฮ่องสอนเราน้อยมาก


เราอาจจะเห็นเขาและเธอเหล่านั้น ในบทบาท สถานที่ และเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยผู้ใหญ่ หรือในเด็ก เยาวชน 
แต่เราไม่เคยได้ฟังเสียง ได้เห็นความสำคัญของการมีตัวตนของพวกเค้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งที่ เค้าอยู่ในสังคมเดียวกันกับเราเรื่อยมา และกฎหมาย นโยบายมากมายในปัจจุบันก็เกิดขึ้นมารับรองสิทธิการมีอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของพวกเค้า

18 มีนา นัดคุยกันในบรรยากาศเบาๆ ที่ร้านกาแฟครูนก นักกิจกรรมคนสำคัญ ผู้คร่ำหวอดกับการพัฒนาเด็กในภาวะยากลำบากของแม่ฮ่องสอน แม้ครูนกจะเกษียณจากโรงเรียนห้องสอนศึกษาไปแล้ว แต่ก็มีประสบการณ์การดูแล ช่วยเหลือเด็ก LGBTQ จนลูกศิษย์ลูกหาเหล่านี้ เติบโต ฝ่ามรสุมจนยืนหยัดได้ในสังคม นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนกับครูนัน อาจารย์เกษียณจากโรงเรียน อบจ.บ้านจองคำ ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นประธานสมาคมสถาบันปัญญาวิถี หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมสำคัญของแม่ฮ่องสอน และยังมี น้องก้อง เจ้าหน้าที่จาก พม. แม่ฮ่องสอน ที่ดูแลในเรื่องนี้ มารับฟัง และหาทางเชื่อมโยงกับกิจการด้าน LGBTQ ของ พม. รวมถึงกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ พ.ร.บ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และเข้าถึงอีกมาก

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นับว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นแรกของประเทศไทยที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

คุยกันสักพัก ก็มี “ครูจอย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กล่าวถึงเขามาร่วมแจม ครูจอยอายุสี่สิบเศษๆ และเป็นอีกหนึ่งคนที่กล้าแสดงตัวตนว่า ตนเองก็เป็นคนในกลุ่ม”ชายรักชาย” อย่างเต็มภาคภูมิ

วันนี้ เรา ทั้งหญิง ชาย และบางส่วนของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มาร่วมจิบโกโก้ น้ำชา กาแฟ เสวนา กันในคาเฟ่เล็กๆ แต่เนื้อหาเข้ม ทว่ากลมกล่อม หอม อย่างกะกาแฟลาเต้

ยังไม่มีใครตั้ง Note Taker (ส่วนเลขากลายๆ อย่างน้องนก สถาบันปัญญาวิถี วันนี้มีเจ้าตัวเล็กมาด้วย กำลังซน ตื่นตากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆในร้าน ก็เลยต้องไปไล่จับกันก่อน ผมเลยอาสาบันทึกแบบสรุปๆให้)

  • สถานการณ์
    -    กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นกลุ่มที่พบเห็นได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับทุกจังหวัดในประเทศไทย และนานาชาติทั่วโลก 
    -    เราอาจจะเห็นเขาและเธอเหล่านั้น ในบทบาท สถานที่ และเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยผู้ใหญ่ หรือในเด็ก เยาวชน แต่เราไม่เคยได้ฟังเสียง ได้เห็นความสำคัญของการมีตัวตนของพวกเค้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งที่ เค้าอยู่ในสังคมเดียวกันกับเราเรื่อยมา และกฎหมาย นโยบายมากมายในปัจจุบันก็เกิดขึ้นมารับรองสิทธิการมีอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของพวกเค้า
    -    หากจะทำเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน , เมืองยั่งยืน แต่ขาดองค์กระกอบในเรื่องเสียง ข้อเสนอ การมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เท่ากับทำไม่ครบ ไม่ยั่งยืนได้จริง

     

  • หลักการเชิงนโยบาย
        -มี พ.ร.บ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นับว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นแรกของประเทศไทยที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข้อมูล ยังไม่รู้สิทธิ ยังเข้าไม่ถึง

     

  • กระบวนการ
        เริ่มจากวงเสวนาไม่เป็นทางการ โดยเชิญกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนทั่วไปที่มีความสนใจ มี passion มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พูดง่ายๆคือ ไม่ได้แยกประเด็นความหลากหลายทางเพศออกจากคนทั่วไป เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว หรือถูกจับจ้อง แต่ให้บูรณาการไปด้วยกัน เป็นเหมือนนิเวศสุขภาวะที่มีความสำคัญต่อกัน โดยมีคนชวนคุย ในบรรยากาศที่เป็นมิตร อบอุ่น (เบื้องต้นเสนอเป็นร้านกาแฟครูนก) ระหว่างพูดคุย ก็มีทีมวิชาการจับประเด็น สรุป ยกระดับจากความรู้ในตัวบุคคล เป็นความรู้สาธารณะ (Public Knowledge) มีการนำเอางานวิจัย บทเรียนการพัฒนาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมานำเสนอ รวมถึงมีการสื่อสารสาธารณะที่มีศิลปะ มีสุนทรียะ เป็นสื่อที่เสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับวิธีคิด (Mindset)


การเสวนาหรือสร้างพื้นที่พบปะพูดคุยแบบนี้นั้น ทำได้ทั้ง onsite ,on line , on ground โดยมีการประสานข้อมูลและกระบวนการกัน เมื่อจัดวงคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้จนได้แนวทาง แผนงานชัดขึ้นก็นำเสนอต่อกองทุนฯ ต่อไป ซึ่งพื้นที่รูปธรรมน่าจะเป็นในเขตอำเภอเมืองซึ่งมีเครือข่ายเพื่อนเตือนเพื่อน และเครือข่ายอื่นๆดำเนินงานอยู่ โดยทำโครงการในนามสถาบันปัญญาวิถี โดยมีสำนักงาน พมจ.แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในภาคี คอยประสาน ส่งเรื่องให้ส่วนกลาง ผลในเชิงนโยบาย หลักๆคงเป็น “ขาเคลื่อน” คือขับเคลื่อนนโยบายรัฐด้านความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดเป็นนโยบายโรงเรียน กติกาหน่วยงาน ชุมชน ฯลฯ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น การโอบอุ้มดูแลกัน สงเคราะห์ ช่วยเหลือกันในระดับบุคคล ระดับเครือข่าย ระดับท้องถิ่นได้มากขึ้น


เนื่องจากความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความเชื่อ การจะปรับเปลี่ยนความเชื่อต้องอาศัยการทำงานที่ต่อเนื่อง ที่ถึงไม่มีงบ ก็ยังขับเคลื่อนได้ สิ่งที่วงคุยวันนี้ จึงเน้นอีกเรื่องก็คือ การทำงานโดยไม่เอางบประมาณเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเปิดตัวว่าจะทำเพื่อให้ได้โครงการ ให้ได้ทุน ก็เสี่ยงต่อการที่จะไม่ได้รับความไว้วางใจ ขอให้เริ่มงานด้วยใจศรัทธา เห็นความสำคัญของการทำเรื่องนี้ เป็นจิตอาสา สร้างให้คนรู้สึกดีที่ได้มาพบ มาเจอ มาแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้เราสามารถทำเรื่องนี้ได้ต่อเนื่องมากกว่าการผูกติดกับงบประมาณ


    ในส่วนการจัดเวที หรือกิจกรรมประกวดต่างๆ วงเสวนาวันนี้ก็อภิปรายกันว่า มันมี Side Effect ที่ต้องคำนึงด้วย เช่น ความเหลื่อมล้ำของผู้เข้าประกวด  หรือการถูกตัดสินด้วยมาตรฐานแบบ “ชายเป็นใหญ่” เป็นไปได้ควรเลี่ยงไปก่อน

 

  • ความท้าทาย
    ประเด็น LGBTQ หรือความหลากหลายทางเพศ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเราน่าจะเริ่มจากกลุ่มเด็กนักเรียน เป็นหลักก่อน รองลงมาคือกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งสภาพปัญหาและความต้องการแตกต่างกัน สำคัญคือ เราต้องมีข้อมูลให้มากกว่านี้ ซึ่งต้องชวนทั้งคน ทั้งข่าย ทั้งหน่วยงานมาพูดคุยกันในแบบกระบวนการข้างต้น
    วัยนักเรียนนั้น น่าจะได้มีกระบวนการทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ซึ่งตรงนี้ ต้องอาศัยสหวิชาชีพ เช่น ครู หมอ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาชุมชน นักกิจกรรมบำบัด เข้ามาร่วมสานพลังกัน เบื้องต้น ผมรับอาสาเปิด messenger กลุ่มชวนคนมาคุยกัน เพื่อให้เกิดการข้อมูลเหล่านี้กระจายไปในเบื้องต้น และค่อยๆก่อรูปเป็นเครือข่ายคนทำงานที่ชัดขึ้น

    (เก็บความเบื้องต้น จากวงกาแฟยามบ่าย ในประเด็น LGBTQ หรือเรียกรวมๆว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 18 มีนาคม 2567 ครับ)

     
หมายเลขบันทึก: 717765เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2024 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2024 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท