จินตนาการต่อ จาก รายวิชารู้ทันการเงินสำหรับนักเรียน ม. ปลาย


 

ได้รับแจกหนังสือ เรื่องเล่าจากห้องเรียนรายวิชารู้ทันการเงิน มาจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    พลิกๆ ดูแล้วก็เห็นลู่ทางออกแบบรายวิชาเพื่อการเรียนรู้เชิงรุก    โดยมีการให้สัมภาษณ์ของ ผอ. อธิษฐาน์ คงทรัพย์ (๑)  ที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้ออกแบบโดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย  ช่วยไขจินตนาการออกไปอีกกว้างไกล 

Faculty of Learning Sciences and Education - Thammasat University | Pathum  Thani

ที่สำคัญคือ เอาหลักการและแนวคิดที่ผู้เขียน (ครูไก่โต้ง - วีรพล แก้วพันธุ์อ่ำ  และครูชัน - ธีรภาพ แซ่เซี่ย) เขียนไว้ในหนังสือ   เอามาตีความใช้เชื่อมโยงรายวิชาเข้ากับ “วิชาชีวิต” เพื่อวางพื้นฐานทักษะชีวิตทีละน้อย ตั้งแต่ชั้นประถมต้นก็น่าจะได้   

Education is not preparation for life; education is life itself. --- John Dewey    ที่อยู่ในบทนำ เป็นข้อความที่ผมถือปฏิบัติมาตลอดชีวิต   จนเข้าสู่วัย ๘๒ ยิ่งเข้มข้น   เพราะในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ผมไม่ได้มองแค่การศึกษา (การเรียนรู้) เพื่อชีวิตของตนเองเท่านั้น   ยังมองเป้าหมายที่ชีวิตที่ดีของคนไทยรุ่นหลังทั้งประเทศ    เป็นการเรียนรู้เพื่อยกระดับค่านิยม (V – Values ใน VASK) ของตนเอง สู่ค่านิยมทำเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมขึ้นไปอีก 

ภาพประกอบที่ ๑  ในหน้า ๗    ช่วยให้ผมมองเห็นวิธีการที่ครูใช้ภาพชวนนักเรียนทำความเข้าใจ เส้นทางการเรียนรู้ในแต่ละวิชา   ที่ควบคู่ไปกับจินตนาการเส้นทางชีวิตของตน    ซึ่งในที่นี้เป็นการทำความเข้าใจเส้นทางการเรียนรู้เพื่อ “รู้ทันการเงิน”  ควบคู่ไปกับ “รู้ทันชีวิต” แต่ละช่วง    ไปในตัว

ทำให้จินตนาการ “รายวิชารู้ทัน...”  ที่ครูชวนนักเรียนร่วมกันออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ได้ไม่มีจบสิ้น    รู้ทันยาเสพติด    รู้ทันการเป็นแม่(และพ่อ)วัยใส    รู้ทันอบายมุข    รู้ทันการติดเกม    รู้ทันความเครียด    รู้ทันปัญหาที่บ้าน    รู้ทันความยากจน   รู้ทันโอกาสจัดทีมเรียนรู้จากบริการชุมชน (เช่นสร้างหมู่บ้าน ก ให้เป็นหมู่บ้านปลอดขยะ)  ฯลฯ   

เป็นวิชาบูรณาการ ที่น่าจะบูรณาการทุกรายวิชาเข้ามาได้   และสอดใส่เรื่องราวที่ให้ความตื่นเต้น หรือสนุกสนานได้    มีเรื่องเล่าเร้าพลังกระตุ้นความสนใจ และกระตุ้นแนวทางประพฤติตัว     

ครูต้องสะสมเรื่องเล่าเร้าพลังหลากหลายแบบ หลากหลายสาระกระตุ้นใจ ไว้ใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก ทั้งที่อยู่ในรูปตัวหนังสือ เสียง และวิดีทัศน์   สำหรับใช้กระตุ้นนักเรียนหลากหลายรูปแบบ     

ครูร่วมกันออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของรายวิชา ก ในชั่วโมง PLC  และร่วมกันทำงานเป็นทีม “เรียนรู้บทเรียน” (LS – Lesson Study) ตามในหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้    โดยอาจหาที่ปรึกษาที่เป็นผู้ประกอบการในชุมชน (ยิ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนยิ่งดี) สำหรับนำความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge  หรือ practical knowledge) ของท่านผู้นั้นมาใช้  

ซึ่งหมายความว่า มี PLC ไม่เฉพาะการออกแบบรายวิชา    แต่เป็น PLC ของการดำเนินการรายวิชานั้นโดยตลอด ไปจนถึงการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   และการหมุนวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ของครูด้วย Kolb’s Experiential Learning Cycle   และกระบวนการเรียนรู้บทเรียน 

เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้เชิงรุก ทั้งของนักเรียนและของครู   เกิดการเรียนรู้ครบด้าน และเรียนรู้อย่างลึก ทั้งนักเรียนและครู           

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717800เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2024 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2024 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท