ชีวิตที่พอเพียง  4695. การก่อตัวทางสังคมของนักศึกษา และเครือข่ายทางวาทกรรมของปัญญาชน


 

นี่คือชื่อบทที่ ๒ ของหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมือง วัฒนธรรม ของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลาฯ  โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ   ที่ผมลงข้อสะท้อนคิดจากการอ่านบทที่ ๑ และบทนำไปแล้วที่ (๑)   

ผมทั้งอ่านหนังสือ และทบทวนความจำของตนเอง  ว่าผมจำเรื่องราวทางสังคมการเมืองไทยช่วงปี ๒๕๑๐ – ๒๕๒๐ ได้อย่างไรบ้าง   โดยที่ช่วงนั้นชีวิตผมหมกมุ่นอยู่กับการสร้างตัวทางวิชาการ เน้นที่การวิจัย   

เมื่ออ่านหนังสือ ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากการก่อตัวและวาทกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงนี้ จะมีปฏิกิริยาจากผู้ครองอำนาจ และจากสังคมโดยทั่วไปอย่างไร   ถามต่อว่า ที่จริงก็ไม่ใช่ว่านิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจะไม่ก่อตัวทางสังคม    แต่การก่อตัวในปัจจุบันแตกต่างจากสมัย ๕๐ ปีก่อนอย่างมากมาย   นิสิตนักศึกษาสมัยก่อนก่อตัวโดยแสดงเป้าหมายเพื่อช่วยคนยากคนจน และเพื่อบ้านเมืองอันเป็นส่วนรวม    นิสิตนักศึกษาสมัยปัจจุบันก่อตัวเพื่อแสดงออกต่างอย่างไร    ถ้าจะตีความว่าค่อนไปทางเน้นตัวตนของตนเอง จะผิดหรือไม่   

สมัยนั้น สื่อทางสังคมที่มีผลกระตุ้นสำนึกของผู้คน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา เป็นสื่อวารสารและหนังสือ   สมัยนี้สื่อมีความหลากหลายมาก และผู้สื่อสารก็ทำได้ทุกคนทางโซเชี่ยลมีเดีย   ทำให้การสื่อสารอุดมการณ์เพื่อสังคมที่ทำได้สะดวก หรือมีทิศทางเป้าหมายชัดเจนได้ง่าย เมื่อ ๖๐ ปีก่อน    ทำได้ยากแล้วในสมัยนี้    คิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่   

หนังสือบอกว่า สมัยนั้นการก่อตัวมักมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีลักษณะพิเศษจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ   หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขยายคณะวิชาออกไปจนครอบคลุมเกือบทุกสาขา    เป็นปัจจัยให้สังคมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปลี่ยนไป    ผมตีความว่า ปัจจัยหนุนให้มีการก่อตัวทางสังคมและการเมืองจึงลดหย่อนลงไป    เป็นไปได้หรือไม่        

ข้อความใน ๗๙ หน้าของหนังสือ เล่าเรื่องการก่อตัวของนักศึกษา และของปัญญาชน    ที่ทั้งเชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงกัน    ที่เชื่อมโยงกันคือ ผ่านทางเอกสารที่เป็นหนังสือและวารสาร   ที่เดิมถูกคุมเข้มงวด   วารสารที่เด่นที่สุดคือสังคมศาสตร์ปริทัศน์  ที่แม้ผมจะซื้อ และต่อมาบอกรับเป็นสมาชิก ก็ไม่รู้รายละเอียดของกำเนิดอย่างที่ระบุในหนังสือ    นอกจากนั้นยังมีวารสารอื่นๆ อีกมากมาย ที่หนอนหนังสืออย่างผมมีความสุขมาก ที่ได้ระลึกชาติกลับไปกว่าครึ่งศตวรรษ   ที่รับรู้แต่ไม่เคยได้อ่านคือหนังสือนักศึกษาเล่มละบาท   

การก่อตัวของนักศึกษา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลของนักเรียน นักเรียนอาชีวศึกษา  และนักศึกษาในต่างจังหวัด    ผมได้เรียนรู้เรื่องการก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ที่เริ่มรับนักศึกษาในปี ๒๕๐๕   และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี ๑ - ๒ ทุกคณะต้องเรียนร่วมกันที่คณะนี้   ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันง่ายของนักศึกษา เพราะสนิทกันข้ามคณะ   ไม่ทราบว่าเพราะเหตุนี้หรือไม่ที่ระบบนี้สลายไปในที่สุด    ไม่มีบอกไว้ในหนังสือ   

รายชื่อปัญญาชนที่ระบุในหนังสือนั้น    อีก ๒ ทศวรรษต่อมา เมื่อผมมาเริ่มงาน สกว. ในปี ๒๕๓๖   ก็ได้หลายท่านมาเป็นผู้นำด้านการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์    ท่านที่มีสีสันมากที่สุดคือ ศ. ดร. สมศักดิ์ ชูโต    ที่มาด้วยชุดสากลสีสดใส พร้อมกล้องถ่ายรูปคู่ใจ    คำคมที่ผมได้ติดตัวมาคือคำถามว่า Are you part of the problem or part of the solution?    ผมถามตัวเองบ่อยๆ เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือเรื่องที่ซับซ้อน    ท่านหนึ่งกลายเป็นเพื่อนสนิทและนัดพบกันในกลุ่มสี่สหายมาจนบัดนี้ คือ ศ.ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 

อ่านบทที่ ๒ จบ ผมอยากให้ท่านผู้เขียน คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ ทำวิจัยว่า ๖๐ ปีผ่านไป กระบวนการการก่อตัวทางสังคมของนักศึกษา และเครือข่ายทางวาทกรรมของปัญญาชนมีลักษณะต่างออกไปอย่างไร   มี impact ต่อ social transformation ของสังคมไทยอย่างไร

วิจารณ์ พานิช

๒ มี.ค. ๖๗

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท