๖. เมื่อผมเริ่มใช้ “วิธีสอน” และ "สอนเป็น"


ปีการศึกษา ๒๕๒๑ ผมขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดนครสวรรค์  เดิมได้รับคำสั่งให้อยู่ที่โรงเรียนนครสวรรค์  ต่อมาใกล้เปิดภาคเรียน ทางศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ขอให้ไปช่วยสอนที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง  ในอำเภอเก้าเลี้ยว  ที่เพิ่งขออนุญาตจัดตั้งใหม่ โดยมีครู ๒ คน คือ ผมและครูใหญ่  อีกประมาณ ๒ เดือนกว่าจึงจะเริ่มมีครูมาบรรจุใหม่ ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว โดยใช้ไม้ยูคาลิปตัสทำเสา  ที่ดูดีหน่อยคือหลังคามุงกระเบื้องจากวัดมอบให้  ส่วนอาคารเปิดโล่งยาวตลอดอาคาร  ไม่มีฝาห้องและฝาอาคาร  ใช้กระดานดำกั้นให้ดูเป็นห้องเรียน  ส่วนข้างล่างทะลุมองเห็นกัน  พื้นที่ในโรงเรียนมีต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว เพราะเดิมเป็นที่ทำอ้อย ทำขี้ใต้จากต้นยางของชาวบ้าน  จึงมีทั้งต้นยาง ต้นมะม่วง ต้นมะขาม ต้นอ้อย ต้นกล้วย ฯลฯ และต่อมาผมให้นักเรียนช่วยกันปลูกต้นไม้รอบโรงเรียนเพื่อเป็นรั้วไปด้วย  บริเวณเขตโรงเรียนส่วนมากปลูกเป็นยืนต้นประเภทสวยงาม เช่น ต้นคูณ ต้นหางนกยูง ต้นลั่นทม ต้นแค ต้นกันเกรา ต้นหูหนู  ต้นหูกวาง เป็นต้น  ส่วนในบริเวณโรงเรียนปลูกต้นไม้ที่กินได้เพิ่มอีก เช่น มะยม พุทรา มะไฟ มะปราง มะขามเทศ กล้วย อ้อย ข้าวโพด มันเทศ ถั่วลิสง ฯลฯ ต้นไม้งอกงามเร็วมาก อาจเป็นเพราะดินที่ร่วนซุย และปุ๋ยชั้นดีของนักเรียน ทำให้ภาคเรียนที่สองและปีต่อมา นักเรียนจึงเก็บผลมากินเป็นของเล่น  และอาหารกลางวันได้

          เปิดปีแรกรับนักเรียนทั้งระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีสุดท้ายจากหลักสูตรเก่า และหลักสูตรใหม่  รวมประมาณ ๑๔๐ คน  แบ่งนักเรียนออกเป็น ๔ ห้องเรียน  ช่วงแรกมีสอนเป็นเรื่องราวแค่ ๒ วิชา คือ ช่วงเช้าสอนแค่วิชาภาษาไทย ผมเป็นคนสอน  และคณิตศาสตร์ ครูใหญ่ท่านเป็นคนสอน  ท่านสอนสนุกมาก  เพราะท่านจบเอกคณิตศาสตร์มาโดยตรง  ส่วนภาคบ่ายนำนักเรียนช่วยกันพัฒนาอาคารสถานที่  ทั้งหักร้างถางพง ทำสนามฟุตบอลหน้าอาคารเรียน ประตูฟุตบอลใช้ไม้ยูคาฯทำเสา  สนามวอลเล่ย์บอลทำใต้ต้นยางใหญ่หลายต้นล้อมรอบ จึงกลายเป็นสนามกีฬาที่นักเรียนชอบมาก มาเล่นได้ทั้งวันเพราะร่มตลอด พื้นก็เป็นดินทราย เวลาทิ้งตัวจึงไม่เจ็บและเกิดแผล และบางครั้งก็กลายเป็นสนามตระกร้อไปด้วย  จากการที่นักเรียนเล่นกันบ่อยตลอดวัน  จนฝีมือชำนาญขึ้น  สามารถไปแข่งขันระดับจังหวัดกับโรงเรียนอื่นๆ จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และปีต่อมาก็ชนะเลิศ เรียกว่าเป็นอานิสงส์ของสนามกีฬาใต้ต้นไม้แท้ๆ 

          บางวันก็พากันไปเอาทราย และหินกรวดจากแม่น้ำปิง มาทำพื้นปูนอาคารเรียน และก่อสร้างห้องสุขา  ช่วงแรกทำง่ายๆ  แค่ขุดดินทำเป็นหลุมลึกประมาณ ๒.๕๐ เมตร ใช้ไม้พาดหลุม แล้วนำหัวส้วมหินขัดสีแดงแบบนั่งยองมาวางบนไม้  แล้วเกลี่ยดินรอบๆ ฝาก็กั้นจากไม้ที่เหลือ สามารถใช้ได้เป็นปี  เพราะดินรอบๆเป็นดินทราย น้ำซึมได้ ไม่เต็มไว  พอครบปีเริ่มราดไม่ลง เพราะมีแต่เนื้ออุจจาระ ก็ให้นักเรียนช่วยกันขุดหลุม ทำสุขาใหม่ ส่วนของเก่ามักเกณฑ์นักเรียนที่สอบไม่ผ่าน นำเนื้อฯไปฝังตามหลุมต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามเขตแดนโรงเรียน  โดยอ้างว่า  ถ้าไม่ตั้งใจเรียนให้ดี  ก็ต้องไปทำงานที่ใช้แรงงาน  เด็กก็คงต้องจำใจยอมทำ  แม้ไม่ชอบก็ตาม  จนเปิดโรงเรียนครบ ๓ ปี จึงได้รับงบก่อสร้างจากทางราชการ มีอาคารเรียน อาคารประกอบ และห้องสุขาเป็นกิจจะลักษณะ  

            ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่  ท่วมโรงเรียนและชุมชนมิด  พอน้ำลดแต่พื้นที่หน้าอาคารเรียน ประมาณ ๓๐ ไร่  เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำยังขังอยู่  จึงคิดริอ่านทำนาปรัง เพื่อหาเงินใช้หนี้ร้านค้าที่ไปซื้อวัสดุครุภัณฑ์ไว้  ตอนแรกไปหาซื้อกล้าข้าว แต่พอชาวบ้านรู้ว่าจะเอาไปทำนาใช้หนี้  จึงยกให้ฟรีๆ  พอได้กล้า ก็จะให้เด็กนักเรียนช่วยกันกันเจาะดิน  แต่น้ำยังอยู่มาก ผู้ปกครองสงสารลูกหลานตัวเอง  จึงอาสามาไถแปร และทำเทือกให้  ไม่คิดค่าจ้าง  ขอแค่เติมน้ำมันและสุรา ๒-๓ ขวด ไถเสร็จ  พอไถเสร็จก็ให้นักเรียนยืนเรียงหน้ากระดาน  เอากล้าข้าวปักดำ  จนสำเร็จ  ตอนเกี่ยวข้าว  ก็ให้นักเรียนยืนเรียงหน้ากระดาน นำมีดหรือเคียวช่วยกันเกี่ยวข้าว  แล้วให้นักเรียนช่วยกันฟาดข้าวที่ราวไม้  จนได้ข้าวเปลือก เกือบ ๑๗ เกวียน ตอนนั้นเกวียนละประมาณ ๙๐๐ บาท  ได้เงินมาหมื่นกว่า  พอใช้หนี้ร้านค้าเกือบหมด  ปีต่อมาโรงเรียนจึงทำนา ทำไร่ข้าวโพดอีก ครบ ๓ ปี จึงใช้หนี้ได้หมดสิ้น  และหลังจากนั้งทางราชการจัดสรรงบประมาณมาให้  จึงไม่ต้องไปก่อหนี้ยืมสินใครอีก   ที่ต้องเป็นหนี้  เพราะในยุคนั้น โรงเรียนต้องตั้งให้ได้ครบ ๓ ปี ทางราชการจึงจะจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารเรียน และงบใช้สอย    ดังนั้น  ๓ ปีแรก โรงเรียนจะต้องช่วยเหลือตนเอง  บางแห่งก็ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนอย่างเต็มที่  แต่บางแห่งผู้บริหารและครูต้องช่วยกันหาเงินมาบริหารจัดการการเรียนการสอนให้มีคุณภาพให้ได้นั่นเอง เพราะชุมชนเข้าใจว่าทางราชการเข้ามาจัดการให้แล้ว  

             จากการที่โรงเรียนเปิดใหม่  จึงขาดแคลนครูครบทุกวิชา  และเมื่อได้ครูมาครบทุกวิชา  ก็มีเหตุให้ทุกบ่ายวันศุกร์ และเช้าวันจันทร์จะเหลือผมคนเดียว บางครั้งก็จะมีครูใหญ่อยู่ด้วย เพราะครูส่วนมากมาจากถิ่นอื่น ถึงวันศุกร์ก็ต้องกลับบ้านพร้อมเรือเที่ยวบ่ายสองที่ไปรับนักเรียนที่ไปเรียนตัวจังหวัดกลับบ้าน (สมัยนั้นโรงเรียนที่ผมไปสอน  จะเดินทางไปกลับจากตัวจังหวัดด้วยเรือหางยาวจะสะดวกที่สุด) พอถึงวันจันทร์ครูผมก็จะมาพร้อมกับเรือลำแรกเที่ยวเที่ยงที่รับชาวบ้านกลับจากการซื้อของ ทำให้ผมจึงแก้ปัญหาการจัดการเรียนสอนโดยบังเอิญ  และต่อมาวิธีการนี้  จึงกลายมาเป็น “วิธีสอนที่ดีที่สุด” ในชีวิตความเป็นครูของผม  รวมทั้งผมได้ประยุกต์วิธีนี้สอดแทรกตลอดทุกปีที่ผมสอนเสมอจนผมเลิกทำงานในวงการศึกษาไม่กี่ปีนี่เอง

          ช่วงแรกที่มาอยู่โรงเรียนนี้ ผมนำวิธีการที่ได้มาจากโรงเรียนแรก คือ การคัดลายมือตัวบรรจงครึ่งบรรทัดมาส่งวันละ ๑ หน้า และการอ่านหนังสือคนละ ๑ หน้ามาใช้กับนักเรียนที่นี่ด้วย  เพราะดูๆก็มีลักษณะสภาพปัญหาที่คล้ายกัน  แต่เมื่อปัญหาของที่นี่เกิดจากมีครูไม่ครบทุกวิชา และขาดครูในบางวัน  ตอนแรกผมก็ใช้วิธีเรียกประชุมนักเรียนมารวมกันทุกห้อง เพื่ออบรมแนะนำในเรื่องต่างๆ แต่เมื่อหลายครั้งทั้งเด็กและผมก็เบื่อประชุม  เพราะไม่มีเรื่องจะคุย  แต่จะปล่อยไปเล่นอย่างอิสระก็ไม่ได้  เพราะมีครูคนเดียว

          ครั้งหนึ่งในช่วงบ่ายวันศุกร์ ก่อนจะถึงชั่วโมงประชุมเพื่อไหว้พระสวดมนต์ก่อนกลับบ้าน  ผมจึงเรียกรวมทุกห้องเข้าที่ประชุม  ตอนแรกก็ว่าจะพูดแนะนำอะไรไปตามประสาคนหวังดี (บ่น) แต่วันนั้นผมเกิดอาการเบื่อที่จะพูด ผมจึงเปลี่ยนให้สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิก่อน  แล้วให้นักเรียนเอาหนังสือเรียนภาษาไทยขึ้นมาอ่าน  และตอบคำถามท้ายเรื่องที่อ่าน  ใครเสร็จแล้วให้มาส่ง  ผมตรวจสอบว่าถูกต้องและเรียบร้อยครบถ้วน  ก็ให้ออกไปเล่นหรือทำงานของตัวเอง  จนถึงเวลาเลิกเรียนตามปกติก็กลับบ้านได้

          พอมีเพื่อนนักเรียนหลายคน  ทำเสร็จก็ไปเล่นได้ ผมสังเกตเห็นนักเรียนในที่ประชุมต่างตื่นตัว  กระฉับกระเฉงขึ้นมาทันทีเพราะอยากไปวิ่งเล่นบ้าง   ผมเห็นว่าแปลกดีที่เกิดการกระตุ้นขึ้นมา  ผมจึงคิดลองทำในวันจันทร์อีกวิชา  เช้าวันจันทร์ต่อมา หลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จ แจ้งให้นักเรียนเอาหนังสือแบบเรียนคณิตศาสตร์ของตัวเองเข้าที่ประชุมด้วย  พอถึงเวลาผมก็ให้ทุกคนอ่านและทำแบบฝึกหัดท้ายบทตั้งแต่บทที่ ๑ ใหม่ เพราะหลักสูตรคล้ายกัน   พอเสร็จและตรวจความถูกต้องก็ให้ออกไปเล่นหรือทำอะไรก็ได้ตามใจนักเรียน

          ผ่านไปอีก ๑ สัปดาห์ สังเกตเห็นกลุ่มหนึ่งทำเสร็จเร็วมาก แต่ส่วนใหญ่ยังนั่งเงียบ  หมด ๓ ชั่วโมงก็ยังไม่เสร็จ พอตรวจสมุดแบบฝึกหัดที่ทำจึงรู้ว่านักเรียนทำไม่ได้   จึงเรียกนักเรียนกลุ่มนี้มาพูดคุย  พบว่าเขาไม่เข้าใจจริงๆ  อ่านก็ไม่เข้าใจ  ถามเพื่อนก็ไม่เข้าใจ  ผมก็อธิบายวิธีการทำก่อนให้อ่านและทำแบบฝึกหัดซ้ำๆกันอีก ๓ สัปดาห์   ก็ยังทำไม่ได้อยู่นั่นแหละ  ผมก็ชักจะหงุดหงิด  เตรียมเอ็ดตะโรตำหนินักเรียน  ดีที่มีอะไรมาสะกิดใจ  นึกขึ้นมาได้ว่า ตัวเองก็เพิ่งมาเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้งก็เมื่อตอนเตรียมจะสอนนี่แหละ  ช่วงแรกก็ใจเย็นขึ้น ให้นักเรียนที่เก่งทำครั้งเดียวเสร็จมาอธิบาย  ก็มีคนผ่านเพิ่มอีก  แต่ก็เกินครึ่งที่ยังไม่ผ่าน  ผมเอะใจจึงลองถามคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนประถม  ส่วนมากตอบได้แค่ชั้น ป.๔  พอเป็นเรื่องพีชคณิต(สมการ) เรขาคณิต เริ่มตอบไม่ได้  ในสัปดาห์ต่อมาผมจึงออกข้อทดสอบคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษามา ๑ ฉบับ จำนวน ๕๐ ข้อ ถามตั้งแต่ ป.๑ - ป.๖ ทุกบทเรียน (ป.๑ ข้อ ๑-๕, ป.๒ ข้อ ๖-๑๐, ป.๓ ข้อ ๑๑-๒๐, ป.๔ ข้อ ๒๑-๓๐, ป.๕ ข้อ ๒๑-๔๐, ป.๖ ข้อ ๔๑-๕๐)

คราวนี้หลักฐานชัดเจน พบว่า นักเรียนบางคนทำคณิตศาสตร์ได้แค่ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อก็มี คงมีความรู้แค่ ชั้น ป.๒ แต่ส่วนใหญ่จะแค่ชั้น ป.๔ พอถึงวันศุกร์ชั่วโมงประชุม ผมจึงแจ้งให้นักเรียนว่าต่อไปจะแบ่งเป็นกลุ่มระดับชั้นตามรายชื่อที่แจ้ง โดยผมให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม หาหนังสือแบบเรียนคณิตศาสตร์ของกลุ่มตัวเองมาด้วย  ในเช้าวันจันทร์ถัดมา ผมจึงแบ่งกลุ่มนั่งใหม่  แต่ละกลุ่มก็นั่งศึกษาทบทวนแบบเรียนของตัวเองตั้งแต่บทที่ ๑ ใหม่ช่วยกันถาม ช่วยกันตอบ ช่วยกันอธิบาย ถ้าคิดว่ากลุ่มตัวเองพอเข้าใจก็ให้ทำแบบฝึกหัดท้ายบท  ช่วงแรกผมก็เดินสำรวจและให้คำแนะนำแต่ละกลุ่ม  ผ่านไป ๒ สัปดาห์ หลายคนดีขึ้นมาก จนสามารถทำแบบฝึกหัดท้ายบทได้ครบทุกบท ก็เลื่อนไปอยู่อีกกลุ่ม แต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจอยู่นั่นแหละ ครั้งต่อมาผมลงไปสอนอธิบายกลุ่มนั้นใหม่ ก็ยังไม่เข้าใจ เกือบหลุดด่านักเรียนว่าไอ้โง่ซะแล้ว ดีที่ยังมีวิญญาณครู (ความรักเด็ก สงสารเด็ก อยากช่วยเหลือเด็ก) อยู่บ้าง  จึงไปเรียกเด็กที่เข้าใจคณิตศาสตร์เร็วมาสอนแทน  ผลปรากฏว่า สอนกันอย่างไรไม่รู้ ครั้งเดียวรู้เรื่องทำได้ดีมาก  จึงพยายามสังเกต พบว่า เขาพูดภาษาเดียวกัน อธิบายยกตัวอย่างสิ่งรอบตัวของเด็กๆ ด้วยกัน 

จากประสบการณ์นี้  ทำให้ผมค้นคว้าหนังสือวิชาครูสมัยตอนเรียนวิทยาลัยครูใหม่  ก็ยังไม่ได้คำตอบที่หายสงสัยได้ โชคดีที่สัปดาห์ต่อมาต้องไปประชุมเกี่ยวกับวัดผลใหม่ตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม จึงแวะเข้าร้านหนังสือศรีไกรลาศบุ๊คสโตร์ที่ตลาดตัวจังหวัด  เจอหนังสือ “ชีวิต เสรีภาพ : ซัมเมอร์ฮิล  ของ เอ เอส นีล แปลโดย คุณเตือนตา สุวรรณจินดา (จำแม่น เพราะประทับใจหนังสือเล่มนี้มากครับ) และผสมเข้ากับเรื่องการวัดผลตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม และหลักการเรียนรู้แบบ “Mastery Learning”ของ Bloom รวมทั้งบังเอิญเข้าห้องสมุดวิทยาลันครูนครสวรรค์ ไปเจอรายงานผลการจัดการเรียนสอนแบบไม่มีชั้นเรียน ของโรงเรียนดาราคาม และโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ซึ่งวิธีที่ผมทำอยู่ก็คล้ายกับวิธีการเหล่านั้นหลายส่วน  ทำให้ผมพอได้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเด็กนักเรียนที่ผมประสบอยู่ 

หลังจากศึกษา-อ่าน ทั้งรายงาน และหนังสือชีวิตเสรีภาพ แบบซัมเมอร์ฮิล ผมจึงมาเรียบเรียง และกำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนของผม ดังนี้ 

  1. สำรวจสภาพการเรียน(ความรู้พื้นฐาน) ทุกวิชากับนักเรียนทุกคนก่อนที่จะเริ่มเรียน (ต่อมาหัวข้อนี้  สมัยผมเป็นผู้บริหาร -ที่ปรึกษาโรงเรียน ขอให้โรงเรียนได้กำหนดเป็นนโยบายว่า ข้อทดสอบนักเรียนที่จะเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ทุกวิชาจะออกตั้งแต่ชั้น ป.๑-ป.๖  จะไม่ออกแค่ชั้น ป.๖ เหมือนเดิม เพื่อเป็นการให้ครูระดับมัธยมศึกษา ได้รู้สภาพการเรียนของเด็กจริงๆ จะได้ช่วยเหลือพัฒนาเด็กได้อย่างแท้จริง เพราะอย่างไรโรงเรียนชนบท ก็ต้องรับเด็กเข้าศึกษาต่อทุกคนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขันคัดเลือกแบบโรงเรียนในตัวจังหวัด หรือกรุงเทพฯ) 
  2. จำแนกนักเรียนออกเป็นกลุ่มตามศักยภาพ  ให้ศึกษาทบทวนการเรียนใหม่จากหนังสือแบบเรียนชั้นนั้นๆ ที่กลุ่มตัวเองยังไม่เข้าใจตั้งแต่ต้น ตามระดับกลุ่มของตัวเอง จะโดยเพื่อนในแค่ละกลุ่มช่วยกัน หรือ ขอให้เพื่อนนักเรียนกลุ่มที่เข้าใจเร็วกว่ามาช่วยสอนหรืออธิบายก็ได้
  3. เมื่อศึกษาจบแต่ละบท  ให้ทำแบบฝึกหัดท้ายบท  จนคิดว่าเข้าใจดีแล้ว  ก็มาขอให้ครูทดสอบความรู้ในบทนั้นๆ (วิธีนี้ครูต้องเหนื่อยหน่อย เพราะต้องเตรียมข้อทดสอบแต่ละบทไว้อย่างน้อย ๕ ข้อขึ้นไป แต่ไม่เหนื่อยที่จะต้องสอน ต้องพูดเหมือนเดิม) ถ้าผ่าน (เกณฑ์ตัดสิน ๘๐) ก็ให้ศึกษาเรียนรู้บทต่อไป จนครบทุกบท ครูก็จะให้มีการทดสอบความรู้รวมทั้งระดับ และถ้าผ่านก็ขึ้นไปเรียนของระดับชั้นกลุ่มที่สูงขึ้นต่อไป  โดยไม่กำหนดเวลาแต่อย่างใด
  4. ส่วนนักเรียนที่เก่ง  เข้าใจเร็ว ก็จะศึกษาด้วยตนเองและขอทำข้อทดสอบประจำบทต่อไป  โดยไม่ต้องรอใคร  ครบทุกบทก็ขอทำข้อทดสอบระดับชั้นตัวเองได้เลย  ถ้าผ่านเกณฑ์ ๘๐ ก็ขอเรียนรู้ชั้นที่สูงต่อไปได้ทันที

วิธีการที่ผมทำโดยบังเอิญนี้  จึงกลายมาเป็น “วิธีสอน” ที่แท้จริงของผม   และผมก็ภูมิใจตัวเองที่กลายเป็น “ครูที่สอนเป็น - สอนได้ - สอนดี” ได้ ตามที่ฝันไว้ก่อนมารับราชการอาชีพครู 

เมื่อผมได้วางระบบ ขั้นตอนการเรียนการสอนแบบซัมเมอร์ฮิล แบบไม่มีชั้นเรียน และตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูมกับเด็กในโรงเรียนที่ผมไปสอน ผลที่ได้ดีมากอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน มีเด็ก ๗ คน ที่สามารถเรียนรู้ได้เร็วเกือบทุกวิชา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ได้ แม้เรียนด้วยตนเองก็ตาม มาถามผมอยู่แค่ ๒ เรื่อง คือ วิธีคำนวณความเร็วของการพายเรือตามน้ำ ทวนน้ำ และสมการหลายชั้นเท่านั้น  เมื่อสอบไล่ปลายปี  ผมจึงพาเด็กกลุ่มนี้ ไปขอโรงเรียนประจำอำเภอ เข้าร่วมสอบความรู้ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่เขตการศึกษาเป็นคนออก แยกอีก ๑ ห้อง โดยใช้ข้อทดสอบที่นักเรียนปกติสอบเสร็จสอบต่อทันทีทุกวิชา  ผลปรากฏว่า นักเรียนทุกคนที่พาไปสอบผ่านเกิน ๕๐ %  มี ๑ คนที่สอบผ่านเกิน ๖๕ %  มี ๒ คนที่ผ่านเกิน ๗๐%  จึงถามความสมัครใจว่าใครอยากอยู่ต่อ หรือ ขอไปศึกษาต่อในระดับมัธยมปีที่ ๔  นักเรียน ๓ คนขอจบ  โรงเรียนจึงออกใบสุทธิจบ ม.ศ.๓ ให้ (อาศัยระเบียบข้อ ๑๑ ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลของกระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๒๑) ซึ่งเด็กทั้ง ๓ คน พอไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ไม่เท่าไหร่ ก็สอบเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมทหารได้ ๑ คน อีก ๒ คนเรียนต่อตนจบ ม.ศ. ๕ ก็สอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคณะวิศวะ และรัฐศาสตร์ได้ 

ตอนแรกครูทุกคนไม่พอใจ บ่นผมและเด็กไปหลายวัน แต่พอเด็กสอบเข้า ม.ศ.๔ โรงเรียนประจำจังหวัดได้อยู่ห้องเรียนที่ดี  จึงเลิกบ่นในที่สุด  แต่โชคดีที่ตอนทำครูใหญ่เห็นด้วย  ซึ่งครูใหญ่บอกว่า เป็นการกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพของเด็ก  และเชื่อว่าในปีการศึกษาต่อมา เราจะได้เด็กเก่งที่เคยเดิมไปศึกษาต่อที่ตัวจังหวัด ผู้ปกครองก็จะกลับให้มาศึกษาต่อที่นี่ ทำให้เราได้เด็กที่เอาใจใส่ในการเรียนเพิ่มขึ้น  และกระตุ้นทำให้ผู้ปกครองส่งเด็กมาเรียนจำนวนมากขึ้นไปด้วย  หลังจากเด็กรุ่นนี้ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ สามารถไปศึกษาต่อจนจบมีอาชีพที่ดีทำทุกคน จึงเป็นที่นิยมของผู้ปกครองอยู่หลายปีในยุคหนึ่ง

ต่อมาหลังจากมีถนนลาดยางดีขึ้น  มีรถประจำทางวิ่งผ่านชุมชนไปตัวจังหวัดเกือบทุกชั่วโมง  และโรงเรียนในตัวจังหวัดก็พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนทุกด้าน ยิ่งโรงเรียนนครสวรรค์มีนักเรียนสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีละหลายร้อยคน โรงเรียนเองก็เปลี่ยนผ่านครูหลายรุ่น ความคึกคัก ความกระตือรือร้นที่จะทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่ก็น้อยลง  สุดท้ายเด็กที่มีโอกาสและความพร้อมที่มาก ก็หันเข้าไปศึกษาต่อในตัวจังหวัดมากขึ้น โรงเรียนแห่งนี้จึงอยู่ในสภาพไปเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน   

เล่าย้อนหลังนิดนะครับ  มีนักเรียนอยู่แค่ ๖ คน ที่จบปีการศึกษาแล้ว  ก็ยังไม่เข้าใจคณิตศาสตร์ชั้นประถมปีที่ ๖ ครบทุกบท ติดอยู่ที่เรื่องสมการ เพราะนึกไม่ออกว่าทำไมต้องสมการ และจะต้องไปทำให้สมการทำไม พอเจอโจทย์แก้สมการที่มีตัวเลข/ตัวแปรมากขึ้น ก็ทำไม่ได้ แต่ก็สามารถเรียนทันเพื่อนตามหลักสูตรส่วนใหญ่ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ได้  ต่อมานักเรียนกลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่า กว่าจะรู้เรื่องสมการดีพอก็ใกล้จะจบ ม.ศ. ๓ แล้ว  สาเหตุที่เข้าใจ ก็คือ กระเป๋ากางเกง ๒ ข้างที่เพื่อนอธิบาย  (ฮา)

ใกล้สิ้นปีการศึกษา  ครูส่วนมากเริ่มหายคิดถึงบ้าน  สามารถปรับตัวตามสภาพท้องถิ่นได้  ก็อยู่ประจำโรงเรียนมากขึ้น  แต่ผมก็ยังให้วิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย เป็นวิชาที่สอนแบบที่ผมทำอยู่ตลอดปี ซึ่งก็ขอให้ครูช่วยแนะนำนักเรียนกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจบางบท  และช่วยออกข้อทดสอบประจำบท และข้อทดสอบรวมระดับชั้น  หลายปีต่อมาครูเหล่านั้นชมเด็กรุ่นแรกให้ผมฟังว่า เก่ง สอนง่าย เอาใจใส่ในการเรียนสูง  ผมจึงขอให้นึกถึงหลักฐานที่ครูเหล่านั้นเคยผ่านตาว่า เริ่มต้นเด็กยังอ่อนมาก แต่เพราะเราช่วยเด็กให้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามศักยภาพ  จึงทำให้เด็กจำนวนมากเรียนทันเพื่อนตามหลักสูตร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าครูเหล่านั้นจะเข้าใจชื่นชมวิธีการนี้ดีขนาดใด  เพราะอีก ๓ ปีต่อมา  ผู้บริหารคนใหม่และครูก็เลิกใช้วิธีการของผม  เข้าใจว่าครูที่ช่วยผมทำงานตอนนั้น  ขอย้ายไปโรงเรียนต่างๆ จนเกือบหมดนั่นแหละ   

สรุปได้ว่า วิธีการสอนแบบที่ผมทำ เป็นวิธีสอนที่ดีที่สุดในโลก  เด็กได้ประโยชน์สูงสุด เด็กจะได้ทั้งคุณภาพและประสิทธิการเรียนรู้อย่างแท้จริง  แต่วิธีนี้อาจไม่ได้ผลดีก็ได้  ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น  แรงจูงใจที่ครูจะกระตุ้นให้กับเด็กมีน้อย  ขาดสื่อที่มีคุณภาพที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูมีภารกิจพิเศษนอกเหนือจากการสอนมากไป   ผู้บริหารที่ไม่มุ่งมั่นต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ผู้บริหารและครูใจไม่กว้างพอที่จะให้โอกาสเด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง  ไม่ยอมให้เวลาที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ (ทั้งๆที่ การสอนแบบ “คุมอง” มีการเผยแพร่ ทำกิจการหารายได้จนร่ำรวย และเด็กก็เก่งขึ้นจริง มีอยู่มากทุกจังหวัด แถมการสอนแบบรามคำแหง, ม.สธ. ก็ยังมีให้เห็นแบบประจักษ์ต่อสายตา  ก็ยังไม่สนใจ ไม่ใส่ใจอยู่นั่นแหละ)  

แต่ถ้ามีครูเอาจริงต่อวิธีการแบบนี้  ส่วนมากทำไม่กี่ปีก็หมดแรง  เลิกไปในที่สุด  เหนื่อยกายไม่เท่าไหร่  เหนื่อยใจจากผู้บริหารและเพื่อนครูมากกว่า   สุดท้ายเมื่อครูที่ตั้งใจอยากเป็นครูหมดแรง และมีน้อยลง  ครูส่วนใหญ่ก็วนเข้าไปหาวงจรอุบาทว์แบบเดิม คือ ถึงชั่วโมงก็เข้าไปสอน-อธิบายตามหนังสือเรียน และบ่นพึมพำกับนักเรียนทุกชั่วโมง ที่แย่กว่านั้น บางคนเข้าไปด่านักเรียน ข่มขู่นักเรียน บางคนก็ขยันเล่าชีวิตครอบครัวตัวเองให้เด็กฟัง (วิชาครอบครัวศึกษา)  และขายของให้เด็กซื้อ ฯลฯ 

                    สงสารเด็กไทย  !!  ช่วยกันส่งเสริมครูที่มีวิธีการสอนที่ดีมากๆ นะครับ

                                                                      ………

                             สิ่งที่เรียนรู้ในปีการศึกษานี้ คือ เมื่อเราตั้งใจทุ่มเททำทุกสิ่งด้วยใจจริง

                                     เพื่อช่วยพัฒนาเด็กให้ดีขึ้น  ทั้งศักยภาพและจิตใจ

                                     มันจะเหมือนมีอะไรบางอย่าง  มาบันดาลให้เราเจอ

                         สิ่งที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ในความฝัน  หรือ ฉุกคิดขึ้นได้ระหว่างนั่งสมาธิ

                         หรือ เจอวิธีการที่ดีๆ จากสิ่งที่ผ่านตา - เจอข้อความเด็ดๆ จากหนังสือที่พบเจอ   

                  หรือเจอหนังสือดีๆ ในร้านค้าและห้องสมุด  หรือคำพูดที่ช่วยสะกิดใจจากคนที่เราพบ

                               จริงๆแล้ว นั่นคือ “อำนาจของพลังจิต” ที่เกิดจากความมุ่งมั่นแน่วแน่

                                  ที่เราตั้งใจคิดที่จะทำทุกอย่างให้ได้ผลดีที่สุดของเราเอง (สมาธิ)

                   อำนาจจิตจากสมาธิ  นั่นแหละ จะช่วยให้เราเกิดสติปัญญา  เข้าใจอะไรได้ง่ายถ่องแท้ยิ่งขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 717814เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2024 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2024 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท