ชีวิตที่พอเพียง  4698. เรียนรู้จากความเจ็บป่วย  ประสบการณ์รอบสามของภูมิคุ้มกันบำบัด 


  

ผมเล่าประสบการณ์รอบแรก (ให้ยา ๖ ครั้ง) ไว้ที่ (๑)    และรอบสอง (ให้ยา  ๓ ครั้ง) ที่ (๒) 

ครั้งที่ ๑  รอบ ๓

หมอนัดวันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๗ ก่อน ๑๒.๓๐ น.    ผมไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อย    โดยในตอนเย็นวันที่ ๑๐ ผมไลน์ไปเรียน อ. หมอสิทธิพรว่าวันจันทร์ผมจะไปรับ บีซีจี ตามนัด เวลา ๑๒.๑๕ น.   ท่านตอบรับทราบ    และท่านก็มาที่ห้องบำบัดเวลานั้น    เวลา ๑๒.๓๐ น. ผมก็ได้รับบีซีจีอยู่ในกระเพาะปัสสาวาะเรียบร้อย 

เนื่องจากช่วงนั้น อาจารย์หมอประเวศ เข้ารับการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม    ผมจึงถือโอกาสไปเยี่ยมท่านที่ชั้น ๗ ตึกนวมินทร์    ไปพบ อ. หมอจันทพงษ์อยู่ด้วย    อาจารย์คุยเสียงดัง และเป็นสาระเรื่องแนวทางพัฒนาสังคมและโลกที่ปัจจุบันเดินผิดทาง ผิดธรรมชาติ    ท่านถามเรื่องการดำเนินการของ สช. ตามที่ท่านให้การบ้านไว้   

นั่งคุยสักพักผมก็ลากลับเพื่อให้ท่านได้พักผ่อน    กลับถึงบ้านราวๆ บ่ายสองโมง    รีบดื่มน้ำเป็นการใหญ่ เพื่อจะได้ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ   

การถ่ายปัสสาวะหลังจากนั้นปกติดี    แต่ตอนสุดมีลมออกมาปุดๆ หลายปุด ในการถ่ายปัสสาวะ ๒ ครั้งแรก    หลังจากนั้นไม่มีลมอีก แต่เวลาฉี่รู้สึกปวดหรือระคายในลำกล้อง   และตกค่ำรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว   แต่ผมไม่ได้กินยาใดๆ   ตื่นเช้าวันที่ ๑๒ ก็ยังรู้สึกตะครั่นตะครอคล้ายมีไข้ต่ำๆ    จึงไม่ได้ออกไปเดินออกกำลัง     แต่ผมก็ยังออกไปหาหมอฟันตอนเช้า  และไปประชุมตอนบ่าย    

หมอฟันใส่รากฟันใฟ้    แล้วให้ยา Amoxycillin ป้องกันการติดเชื้อ   กับพาราเซตามอลมากินยามปวด    ผมกินทันที่ตอน ๙.๓๐ น. ทั้งสองอย่าง  และกินพาราอีกทีตอนบ่าย   ไม่ทราบว่าเพราะยาแก้ปวดลดไข้นี้หรือเปล่าที่ทำให้อาการตะครั่นตะครอหายเป็นปลิดทิ้ง    เช้าวันที่ ๑๓ ผมออกไปเดินออกกำลังได้ตามปกติ    รวมทั้งอาการระคายในลำกล้องก็หายไปด้วย   

แต่สังเกตว่ากลางวันวันที่ ๑๓ ผมปวดนิดๆ ที่อัณฑะด้านขวาสองสามวินาที  หลังจากนั้นอีกราวๆ สิบนาที ปวดที่ท้องน้อย สองสามวินาที    เป็นอาการปวดพอรู้สึก ไม่ก่อความทรมานแต่อย่างใด   และเกิดแค่ครั้งเดียว 

ครั้งที่ ๒  รอบ ๓

วันที่ ๑๘ มีนาคม ผมไปรายงานตัวก่อน ๑๑.๓๐ น.   เวลา ๑๒.๒๕ น. ก็ได้ใส่ยา บีซีจี   โดยคราวนี้แพทย์ประจำบ้านชื่อ นพ. สิริรัฐ นาคแดง เป็นผู้ใส่ให้  เราคุ้นเคยกันมาแล้วในการให้ยารอบแรก   คุณหมอเล่าว่า เพิ่งกลับมาจากไปฝึกงานที่โรงพยาบาลญี่ปุ่นที่ฟูกุโอกะ ๑ เดือน   เราคุยกันว่าโรงพยาบาลญี่ปุ่นคนไข้ไม่แน่น    ก่อน ๑๓ น. ผมก็ขึ้นรถกลับบ้าน

คราวนี้รู้สึกตะครั่นตะครอค่อนข้างมาก    ต้องกินยาพารา และนอนพัก

ครั้งที่ ๓  รอบ ๓ 

วันที่ ๒๕ มีนาคม ผมไปโรงพยาบาลแต่เช้า เพราะหมอฟันนัดตัดไหมที่เย็บไว้สองสัปดาห์ก่อนในการใส่รากฟันเทียม   แล้วไปนั่งทำงานที่ห้องอาหารอาคารศรีสวรินทร์    โดยระวังตัวแจไม่ดื่มน้ำมาก และตอนเช้ามืดก็งดยาขับปัสสาวะที่กินครึ่งเม็ดทุกเช้า    กินอาหารเที่ยงที่นั่นแล้วไปรายงานตัวที่ห้อง ๕๑๗ ตามนัด   

วันนี้ อ. หมอสิทธิพร ใส่ยาให้เอง    และนัดอีก ๓ เดือนไปส่องกล้องวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗  พร้อมทั้งสั่งยา บีซีจี อีก ๓ ขวดสำรองไว้    แต่ผมยังไม่ได้ซื้อ เพราะต้องรีบเข้าประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสดศรีแบบออนไลน์ โดยผมเป็นประธาน    กะว่าจะไปซื้อเช้าวันที่ ๑๗ มิถุนยาน พร้อมกันเลย                 

รอบสามให้ยา ๓ ครั้ง สัปดาห์ละครั้ง    แล้วจะเว้นไป ๖ เดือน แล้วให้อีก ๓ ครั้ง    ทุกๆ ๖ เดือน จนครบ ๓ ปีในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๙ (หวังว่าจะอยู่จนถึงวันนั้น)    

วิจารณ์ พานิช 

๑ เม.ย. ๖๖    ห้อง ๑๕๑๐ โรงแรมจอมเทียนบีช    

 

หมายเลขบันทึก: 717846เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2024 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2024 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะรอติดตาม จนถึงได้ยาครบนะคะอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท