อนภิรติชาดก


พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ดูก่อนมาณพ มิใช่แต่เวลานี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน มนต์ของเธอคล่องแคล่ว ในเวลาจิตของเธอไม่ขุ่นมัว แต่ในเวลาที่จิตขุ่นมัวด้วยราคะเป็นต้น มนต์ของเธอก็เลอะเลือน

อนภิรติชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. อนภิรติชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๘๕)

ว่าด้วยจิตขุ่นมัวและไม่ขุ่นมัว

             (อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ถามมาณพผู้เป็นศิษย์ถึงสาเหตุที่มนต์เสื่อมหายไปแล้ว จึงกล่าวว่า)

             [๖๙] เมื่อน้ำขุ่น ไม่ใส บุคคลย่อมไม่เห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด เม็ดทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น

             [๗๐] เมื่อน้ำใสสะอาด บุคคลย่อมเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด เม็ดทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น

อนภิรติชาดกที่ ๕ จบ

--------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

อนภิรติชาดก

จิตขุ่นมัว-ไม่ขุ่นมัว

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกุมารพราหมณ์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี มีกุมารพราหมณ์คนหนึ่งเรียนจบไตรเพท สอนมนต์พวกกุมารกษัตริย์และกุมารพราหมณ์เป็นอันมาก. ต่อมาเขาอยู่ครอบครองเรือน ตกอยู่ในอำนาจราคะ โทสะ โมหะ คิดแต่เรื่องผ้า เครื่องประดับ ทาส ทาสี นา สวน โค กระบือ บุตรและภรรยาเป็นต้น จึงมีจิตขุ่นมัว ไม่อาจสอบทานมนต์โดยลำดับได้ มนต์ทั้งหลายเลอะเลือนไปทั้งข้างหน้าข้างหลัง.
               วันหนึ่ง เขาถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นหลายอย่างไปพระเชตวัน บูชาพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนหนึ่ง. พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเขา แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนมาณพ เธอยังสอนมนต์อยู่หรือ มนต์ของเธอยังคล่องอยู่หรือ. กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เมื่อก่อนมนต์ของข้าพระองค์ยังคล่องดีอยู่ ตั้งแต่ข้าพระองค์ครองฆราวาส จิตของข้าพระองค์ขุ่นมัว ด้วยเหตุนั้น มนต์ของข้าพระองค์จึงไม่คล่องแคล่ว.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ดูก่อนมาณพ มิใช่แต่เวลานี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน มนต์ของเธอคล่องแคล่ว ในเวลาจิตของเธอไม่ขุ่นมัว แต่ในเวลาที่จิตขุ่นมัวด้วยราคะเป็นต้น มนต์ของเธอก็เลอะเลือน.
               เมื่อเขาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ครั้นเจริญวัย ได้ไปเรียนมนต์ในเมืองตักกสิลา เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนมนต์กะขัตติยกุมารและพรหมณกุมารเป็นอันมากในกรุงพาราณสี. พราหมณ์มาณพคนหนึ่งในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น ได้ศึกษาไตรเพทจนชำนาญ แม้แต่บทเดียวก็ไม่มีสงสัย ได้เป็นอาจารย์สอนมนต์.
               ต่อมา พราหมณ์มาณพอยู่ครองฆราวาส กลับมีจิตขุ่นมัว ไม่สามารถร่ายมนต์ได้ เพราะคิดแต่การครองเรือน. ครั้นอาจารย์ถามว่า มาณพ มนต์ของท่านยังคล่องแคล่วอยู่หรือ. เมื่อเขาตอบว่า ตั้งแต่ครองฆราวาส จิตของข้าพเจ้าขุ่นมัว ไม่สามารถร่ายมนต์ได้ จึงกล่าวว่า เมื่อจิตขุ่นมัวแล้ว มนต์ที่เรียนแม้เชี่ยวชาญก็เลือนได้ แต่เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว จะไม่มีเลอะเลือนเลย แล้วกล่าวคาถาสองคาถาว่า :-
               เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.
               เมื่อน้ำไม่ขุ่น ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ทรงประชุมชาดก เมื่อจบอริยสัจ พราหมณ์กุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               มาณพในครั้งนั้น ได้เป็นมาณพนี้แล ในครั้งนี้
               ส่วนอาจารย์ คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาอนภิรติชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------             

 

หมายเลขบันทึก: 717867เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2024 04:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2024 04:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท