๙. เมื่อผม “ตกผลึกวิธีสอน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้”


หลังจากปีการศึกษา ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ไม่ว่าผมจะไปสอนที่โรงเรียนใด  ผมจะใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนตามแนวที่ผมทำในโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมตลอด  โดยมีจุดมุ่งหมายว่าจะ “มุ่งค้นหาและพัฒนาสมรรถภาพ/ศักยภาพมนุษย์” อย่างสุดความสามารถเท่าที่ผมจะทำได้ และผมยังพัฒนาคำถามเพื่อครอบคลุมระดับสมรรถภาพการเรียนรู้ทั้งด้านพุทธิพิสัย,ทักษะพิสัย และจิตพิสัย (Cognitive, Affective, and Psychomotor Domains) ตามทฤษฎีของ Bloom มากขึ้น บางแห่งก็เพิ่มความเข้มข้นด้วยคำถามเชิงลึกเน้นการวิเคราะห์ทั้งเชิงหลักการ เชิงโครงสร้าง และการเชื่อมโยงมากขึ้น เช่นที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน และโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี เพราะนักเรียนส่วนมากมีพื้นฐานการเรียนที่จะเรียนรู้การวิเคราะห์ได้ แต่กว่าจะนักเรียนพัฒนาการคิดแบบวิเคราะห์ได้ ผมก็ทำให้นักเรียนจำนวนมากของโรงเรียนต่างๆที่ผมไปสอน เสียใจที่ติด ๐ ในภาคเรียนแรกเสมอ เนื่องจากนักเรียนทุกโรงเรียนโดยเฉพาะโปรแกรมวิทย์-คณิต  มักจะมีอคติในการเรียนวิชาสามัญในตอนต้นเสมอ กว่าที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่แท้จริงของแต่ละวิชาได้ ก็มักจะเสียเวลาไปพอสมควร   

ซึ่งเรื่องนี้จะไปโทษนักเรียนฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ครูผู้สอนก็มีส่วนที่ทำให้นักเรียนส่วนมากดูถูกวิชาสามัญ ด้วยการสอนที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของหลักสูตร  สอนแต่แบบอธิบายตามหนังสือเรียน  บางคนก็ยังสอนแบบบอกจดอยู่ก็มี  แถมข้อสอบก็ออกตามเนื้อหาหนังสือที่เรียน  ง่ายจนทำคะแนนได้สูงโดยไม่ต้องทุ่มเทในการเรียนให้กับวิชาเหล่านี้  ซึ่งต่างกับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่นักเรียนต้องเรียนรู้จากความเข้าใจในวิธีทำ หรือสูตรที่ใช้ หรือการทดลอง หรือการคำนวณ เพื่อจะแก้โจทย์ปัญหาได้  ข้อทดสอบก็ออกโจทย์ใหม่  ไม่ได้นำมาจากตัวอย่างที่ครูสอน หรือแบบฝึกหัดที่นักเรียนทำ จึงทำให้นักเรียนเห็นว่าวิชานี้  มีคุณค่าในการเรียนจริงๆ แม้จะยากที่จะทำความเข้าใจไปบ้างก็ตาม ใครเรียน ๒ วิชานี้เก่ง ครูก็ชมยกย่อง เพื่อนนักเรียนก็เลื่อมใส เป็นใครใครก็ภูมิใจที่เรียนเก่งในวิชานี้   

ในการจัดการเรียนการสอนตามแนวนี้ของผม  ไม่ได้ทำกับวิชาภาษาไทยตลอด  ยังได้ทำกับหลายวิชา เช่น วิชาสังคมศึกษา วิชาภูมิศาสตร์  วิชาประวัติศาสตร์  วิชามนุษย์กับสิ่งแวดล้อม วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิชาพระพุทธศาสนา วิชาคณิตศาสตร์  วิชาการพูด เป็นต้น  ตามที่โรงเรียนนั้นๆ มอบหมาย  เพราะขาดแคลนครูวิชานั้น หรือไม่มีครูคนใดถนัดในการสอนวิชาดังกล่าว จึงทำให้ผมมีความรู้เพิ่มเติมในเกือบทุกสาขาวิชา 

ที่โรงเรียนประจวบวิทยาลัย  ผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชาการพูด  สัปดาห์แรกผมอธิบายขอบเขตการเรียน และเนื้อหาวิชา  อีก ๑๖ สัปดาห์ ผมนำวิธีการของโทสต์มาสเตอร์มาประยุกต์ในชั้นเรียน  โดยให้นักเรียนได้ฝึกพูดจริงๆ หน้าชั้นเรียน  ๕ ประเภท มีการพูดแนะนำตัว, การพูดเรื่องประทับใจ, การพูดแบบเล่าเรื่อง/นิทาน, การพูดในโอกาสต่างๆ, และให้เลือกการพูดที่ตนเองชอบ (สุนทรพจน์, การวิจารณ์, การโน้มน้าวใจ, เรื่องตลก, เรื่องหวาดเสียวน่ากลัว ฯลฯ)   โดยผมจัดหาไมโครโฟนและเครื่องบันทึกเสียงไว้อัดการพูดของนักเรียน  มีพิธีการก่อนนักเรียนจะพูดตามลำดับเลขที่ มีการประเมินการพูดตามเกณฑ์ที่โทสมาสเตอร์วางไว้  ซึ่งผมเป็นผู้ประเมินในการพูด ๒ แบบแรก ต่อมาจึงเลือกนักเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพูดมาเป็นกรรมการประเมินตัดสิน   ถ้านักเรียนไม่ผ่านการพูดประเภทใด จะต้องมาพูดประเภทนั้นอีกครั้งจนกว่าจะผ่าน  การพูดแต่ละประเภทจะมีคะเต็ม ๑๐ คะแนน ใครผ่านทั้งการพูด ๕ ประเภท ก็จะได้คะแนนระหว่างเรียน ๕๐ คะแนนทันที  ผลปรากฏว่า วิธีการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก  ได้นักพูดที่มีฝีปากคมกล้า และพิธีกรชั้นสูงมาอีกหลายคน  ส่วนนักเรียนทั่วไปทุกคนก็มีความเชื่อมั่น  กล้าที่จะพูดในที่ชุมชนมากขึ้น

เมื่อผมไปสอนที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน  ในปีการศึกษา ๒๕๒๕ ผมก็นำวิธีการพูดแบบโทสมาสเตอร์ไปให้นักเรียนได้ฝึกพูดนำเสนอความคิดเห็นตามประเด็นเรื่องที่ผมกำหนด โดยให้นักเรียนจับสลากเลือกเอง ได้หัวข้อไหนก็พูดเรื่องนั้น หัวข้อมีทั้งหลักธรรม, ประวัติพุทธเจ้า หรือสาวก, ประเด็นทางสังคม, ข่าวสาร, ขนบธรรมเนียมประเพณีระดับชาติและท้องถิ่น, แง่มุมทางจิตใจ เช่น ความรัก, การนินทา, การพูดเท็จ ฯลฯ แต่พูดได้คนละครั้ง  เนื่องจากมีเวลาไม่พอ   ส่วนการตอบคำถามก็ยังให้นักเรียนทำอยู่เช่นเดิม

โดยเฉพาะที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี ผมอยู่ที่นี่เกือบ ๕ ปี (๒๕๓๐-๒๕๓๔) จึงสามารถกำหนดภารกิจการเรียนรู้ ๘ อย่าง ตามจุดประสงค์และเนื้อหาวิชาในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาทุกรูปแบบทุกขั้นตอนทั้งด้านความรู้ และเจตคติอย่างเต็มศักยภาพและสมรรถภาพการเรียนรู้ เช่น ภารกิจชิ้นงานที่ ๑ วิเคราะห์พุทธประวัติ  ภารกิจชิ้นงานที่ ๒ อธิบายหลักธรรมตามทัศนะตัวเอง ภารกิจชิ้นงานที่ ๓  จัดทำตารางเปรียบเทียบความเข้าใจผิดต่อคำศัพท์ทางพุทธศาสนาที่ประชาชนนำมาใช้แล้วคลาดเคลื่อน  ภารกิจชิ้นงานที่ ๔ จัดทำรายงานการปฏิบัติตัวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา  ภารกิจชิ้นงานที่ ๕ วิเคราะห์บุคลิกนิสัยจิตใจตนเอง เป้าหมายในชีวิต และแนวทางการพัฒนาตนเอง  ภารกิจชิ้นงานที่ ๖ ฝึกเจริญจิตภาวนาขณะมีสิ่งรบกวนได้ (นั่งสมาธิ ๓๐ นาทีขึ้นไป)  ภารกิจชิ้นงานที่ ๗  ฝึกปฎิบัติตนมารยาทไทย และมารยาทชาวพุทธ  ภารกิจงานชิ้นที่ ๘ บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน หรือ เข้าอบรมค่ายธรรมะ ถ้าใครทำภารกิจงานชิ้นใดไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (ร้อยละ ๗๐)  ก็ต้องทำจนกว่าจะผ่านเกณฑ์ ภารกิจงานแต่ละชื้นจะมีคะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน ถือเป็นคะแนนระหว่างเรียน ๗๐ คะแนน และคะแนนปลายภาคเรียนที่ต้องสอบด้วยข้อทดสอบปรนัยอีก ๓๐ คะแนน ส่วนภารกิจงานชิ้นที่ ๘ เป็นคะแนนด้านจิตพิสัยหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ที่ผมประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้นี้  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า หลังจากศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ผมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรที่จะใช้ในปีการศึกษา ๒๕๓๓ จึงทำให้ผมเข้าใจเรื่องหลักสูตร และเห็นความสำคัญของหลักสูตรมากขึ้น และเข้าใจวิธีการที่จะสอนหรือจัดการให้เป็นไปตามหลักสูตร ไม่ได้ยึดหนังสือแบบเรียนเป็นหลักในการสอนเหมือนเดิม  เพียงแต่ใช้เป็นสื่อในการเรียนเท่านั้น

โรงเรียนนี้ผมชื่นชมประทับใจมาก  มีความเป็น “โรงเรียน และ วิทยาลัย” ตามชื่อของโรงเรียน  เป็นโรงเรียนที่มีแนวการดำเนินการที่มุ่งพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่  เพราะนักเรียนโรงเรียนกว่าจะเข้ามาเรียนได้ ต้องผ่านการสอบคัดเลือกอย่างเข้มข้น โรงเรียนนี้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.๔-๖) เท่านั้น แต่ละระดับชั้นมี ๒๔ ห้องเรียน รวมทั้งโรงเรียน ๗๒ ห้องเรียน มีนักเรียนรวมประมาณสามพันกว่าคน  โรงเรียนจัดให้มีแผนการเรียนที่ให้นักเรียนเลือกเรียนได้อย่างหลากหลาย เช่น แผนการเรียนพาณิชยกรรม แผนการเรียนอุตสาหกรรม แผนการเรียนพลศึกษา  แผนการเรียนเกษตรกรรม  แผนการเรียนศิลปหัตถกรรม  แผนการเรียนด้านภาษาต่างประเทศโดยตรง  และยังมีแผนการเรียนวิทย์-คณิต ที่จัดให้มีการเรียนวิชาเพิ่มเติม(ความถนัด) ไปตามสาขาคณะวิชาที่ตัวเองอยากไปเรียนต่อ เช่น พื้นฐานพาณิชยกรรม ก็จะไปศึกษาต่อด้านบัญชี การตลาด การเงิน การคลัง, พื้นฐานเกษตรกรรม ก็จะไปศึกษาต่อในคณะเกษตร ปศุสัตว์ พืช, พื้นฐานสาธารณสุข ก็ไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ พยาบาล, พื้นฐานอุตสาหกรรม ก็ไปทางวิศวกรรม ช่าง เททคโนโลยี, พื้นฐานคหกรรม ก็ไปทางทำอาหาร, พื้นฐานศิลปกรรม ก็ไปศึกษาต่อทางโบราณคดี ศิลปะสาขาต่างๆ เป็นต้น  ถือว่าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรียุคนั้น สามารถจัดการศึกษาที่สนองความแตกต่างระหว่างบุคคลได้อย่างดีเยี่ยม

และโรงเรียนสุดท้ายที่ผมได้สอน คือ โรงเรียนตากพิทยาคม  ผมมาช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา และสังคมศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๓๕-๒๕๓๙  โดยยังใช้วิธีการเรียนตามแนวทฤษฎีการการเรียนรู้ของ Bloom เหมือนเดิม แต่ประยุกต์ใช้วิธีการสอน Team Teaching กับภารกิจงานแต่ละชิ้น  โดยกำหนดเป็นฐานการเรียนรู้ ๘ ฐาน มีครูประจำฝึกฝนและสอนนักเรียนตามฐานที่รับผิดชอบ วิธีการนี้ทำกับนักเรียนทุกห้อง ทุกระดับชั้นตั้งแต่ ม.ศ. ๑-๖ นักเรียนแต่ละระดับชั้นจะเข้าเรียนรวมกันทุกห้องในหอประชุม  โรงเรียนนี้มีนักเรียนระดับชั้นละ ๑๐ ห้องเรียน  ผมจะเริ่มต้นชั่วโมงแรกด้วยการจัดระเบียบแถวให้นั่งห่างกันอย่างน้อย ๖๐ เซนติเมตร เพื่อให้สามารถกราบไหว้พระสวดมนต์ได้สะดวก  ต่อมาฝึกการยืน การลุกนั่ง  การนั่งคุกเข่า  การกราบไหว้พระตามเบญจางคประดิษฐ์ ให้เป็นไปตามจังหวะพร้อมเพรียงกันทั้งที่ประชุม แล้วชั่วโมงถัดไปจึงพาไหว้พระสวดมนต์สรภัญญะ และนั่งสมาธิ  ต่อจากนั้นผมจึงอธิบายจุดประสงค์การเรียนวิชา ขอบเขตเนื้อหาวิชา และวิธีการเรียนในปีการศึกษานี้ว่าจะเรียนแบบฐานการเรียนที่มีครูคอยชี้แนะทำกิจกรรมหรือให้ความรู้ หรือให้ศึกษาจากเอกสารที่ครูเตรียมไว้ แต่ละคนต้องทำกิจกรรมหรือทดสอบสมรรถภาพ/ความรู้ของฐานการเรียนรู้ให้ผ่านตามเกณฑ์  จึงจะไปเรียนที่ฐานการเรียนใหม่ได้  เมื่อผ่านแต่ละฐานจะมีครูผู้รับผิดชอบฐานลงนามกำกับไว้  การเรียนแต่ละฐานจะไม่มีเวลากำหนด  ใครผ่านได้ครบทุกฐาน  จะใช้เวลาที่เหลือไปเรียนหรือทำกิจกรรมอื่นได้อย่างเสรีตามความสนใจ  ชั่วโมงที่ ๓ หลังจากพาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทบทวนการลุกนั่ง การกราบไหว้ แล้วจึงเล่าประวัติพระพุทธเจ้าในแง่ต่างๆ ท้ายชั่วโมงก็ทดสอบความเข้าใจ การวิเคราะห์ด้วยคำถามที่ผมเตรียมไว้ ๕ คำถาม รุ่งขึ้นตรวจเสร็จแล้วก็จะประกาศรายชื่อที่ผ่าน พร้อมใบผ่านฐานให้นักเรียน ถือว่าเป็นวิธีการสอนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง  นักเรียนต่างสนุก ตื่นเต้น เพราะแต่ะฐานจะมีกิจกรรมที่ท้าทายศักยภาพและสมรรถภาพ ใครผ่านแต่ละฐานได้ ก็จะภูมิใจ เอามาอวดเพื่อน(เกทับ)  ที่น่าตื่นเต้น ท้าทายมาก คือ ฐานสมาธิ เพราะครูผู้รับผิดชอบฐานนี้กำหนดให้นักเรียนไปฝึกนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์ ท่ามกลางสายตาเพื่อนนักเรียนที่เดินผ่านไปมา  นักเรียนเล่าวว่ากว่าจะทำใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่านได้ ก็ต้องใช้เวลาหลายครั้ง เพราะอายเพื่อน แต่เมื่อหลายครั้งผ่านไป  ก็มีเพื่อนมานั่งทำสมาธิที่นี้มากขึ้น คงทำให้หายฟุ้งซ่าน จิตจึงแน่วแน่ต่อคำบริกรรมที่ใช้จนจิตสงบได้ (บางคนหมดเวลาที่กำหนด  ก็ยังนั่งอยู่ สะกิดก็ไม่ลุก ภายหลังเด็กเล่าให้ฟังว่า จิตสงบเงียบ ไม่ได้ยินอะไร มีความสุขมากในขณะนั้น) ต่อมาจึงมีนักเรียนที่ผ่านฐานนี้ได้มากขึ้นตามลำดับ  เพราะคนที่ผ่านไปได้เล่าอุบายวิธีทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่านให้เพื่อนฟัง   

ส่วนกิจกรรมภารกิจงานที่ ๘ ได้รับคำชื่นชมมากมายจากเทศบาล โรงพยาบาล สถานีอนามัย วัด ชุมชน หมู่บ้าน ที่มีกิจกรรมให้นักเรียนไปขออาสาทำกิจกรรมตามที่ชุมชนกำหนด ๒ ครั้งว่า นักเรียนตั้งใจ เอาใจใส่ในการทำกิจกรรมอย่างละเอียด อยากให้โรงเรียนทำกิจกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะสามารถทำให้นักเรียนในท้องถิ่นรู้จักช่วยทำกิจกรรมช่วยเหลือในชุมชนตัวเอง  โดยไม่เกี่ยงงานหรืออิดออดเหมือนเดิม แม้ไม่มีครูไปคุมทำกิจกรรมก็ตาม  ส่วนมากนักเรียนจะรวมกลุ่มเพื่อนในท้องถิ่นตัวเอง ทำกิจกรรมในช่วงวันหยุด เสาร์อาทิตย์ (ที่จริงในหนังสือขอนุญาตที่โรงเรียนทำถึงชุมชน ให้นักเรียนกลุ่มนี้(ระบุรายชื่อ) มาร่วมทำกิจกรรมในชุมชนตามที่ชุมชนกำหนด ระบุว่า ชุมชนจะลงนามรับรอง พร้อมทั้งประทับตราได้ก็ต่อเมื่อพึงพอใจในการทำงานของนักเรียนเท่านั้น แค่นี้ชุมชนก็มีเครื่องมือขู่นักเรียนลูกหลานตัวเองได้แล้ว)

ส่วนอีกวิชาหนึ่ง คือ วิชาประวัติศาสตร์  ในปีนี้ผมใช้วิธีสอน ๒ ประเภท  ประเภทที่ ๑ ในชั่วโมงเรียน ผมใช้วิธีตั้งคำถามยั่วให้นักเรียนตอบด้วยวาจา ซึ่งนักเรียนก็ต้องตั้งใจตอบ เพราะถ้านักเรียนตอบได้ก็นับเป็นคะแนนเก็บสะสมระหว่างภาคอีกทางหนึ่ง  แต่ถ้าตอบไม่ได้ ผมให้เขกโต๊ะ ๓ ครั้งแทน แต่ถ้าข้อไหนตอบผิดๆถูกๆ อ้างหลักฐานมั่ว ผมก็ให้เขกโต๊ะร้อยครั้ง เป็นการปรามพวกอยากแย่งตอบ ทั้งๆที่ตัวเองยังไม่มีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงรองรับความคิดเห็น  ประเภทที่ ๒ ผมเตรียมข้อสอบแบบปรนัย จำนวน ๒๐๐ ข้อ สอบก่อนสิ้นสุดชั่วโมงเรียนใช้เวลาประมาณ ๘ นาทีทุกครั้ง ครั้งละ ๕ ข้อ แล้วค่อยเฉลยพร้อมอธิบายในท้ายสัปดาห์ ถือเป็นคะแนนเก็บระหว่างภาคเรียน จำนวน ๒๐ คะแนน  ต้องทำถูกทั้ง ๕ ข้อ จึงจะได้คะแนน

ครั้งหนึ่งผมถามว่า “สมัยสุโขทัยปกครองแบบใด” นักเรียนตอบได้หมดทุกคนว่า “แบบพ่อปกครองลูก” ผมถามต่อไปว่า รู้ได้อย่างไรว่ากรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบนี้ ส่วนมากตอบว่าอยู่ในหนังสือ ผมถามต่อไปว่าแล้วทำไมเราเชื่อหนังสือ นักเรียนตอบว่าเพราะหนังสือกล่าวไว้  ผมถามว่าหนังสืออ้างหลักฐานจากอะไร  นักเรียนช่วยกันตอบว่า หนังสืออ้างหลักฐานจากศิลาจารึก  ผมถามต่อไปว่าจากศิลาจารึกหลักที่เท่าไหร่ ด้านไหน วรรคไหน ไม่ว่าห้องไหนก็ตอบไม่ได้  เพราะหนังสือแบบเรียนมีมาให้แค่นั้น  ผมจึงให้ไปช่วยกันค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยันในสัปดาห์ต่อไป  ส่วนผมก็ต้องรีบไปค้นคว้าอ่านศิลาจารึกทั้งหมดเหมือนกัน เผื่อจะตอบเด็กๆไม่ได้

ซึ่งชั่วโมงต่อมา เด็กก็แต่ละคนก็ตอบไม่เหมือนกัน จึงให้ช่วยกันอ่านศิลาจารึกแต่ละด้าน แต่ละวรรค ช่วยกันตีความ จนได้ข้อสรุปว่า น่าจะมาจากข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๒ ถึง ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑ ที่ว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจะกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันโดยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม.."    และจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่๓ บรรทัดที่ ๑๐-๒๒ ข้อความที่ว่า “วันเดือนดับ  เดือนโอกแปดวัน  วั-นเดือนเต็ม  เดือนบ้างแปดวัน  ฝูงปู่ครู  เถร  มหาเถ-ร  ขึ้นนั่งเหนือขดานหิน  สูดธรรมแก่อุบาสก  ฝู-งท่วยจำศีล  ผิใช่วันสูดธรรม  พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัย  ขึ้นนั่งเหนือขดา-นหิน  ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน  ฝูงท่วยถือบ้านถือ เมือง  ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม  ท่านแต่งช้างเผื-อกกระพัดลยาง  เที้ยรย่อมทองงา(ซ้าย)ขวา  ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง  ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง)อรัญญิกแล้-วเข้ามา”  พอได้อย่างนี้  นักเรียนจึงเข้าใจว่า  หลักฐานอ้างอิงเท่านั้นที่จะช่วยยืนยันความคิดเห็นของตัวเองได้ดีที่สุด  และเป็นผลพลอยได้  ทำให้นักเรียนมีสมรรถภาพการสังเกต  การอ่านด้านวิจารณญาณดีขึ้นตามไปด้วย

ครั้งต่อไปผมถามว่า “การปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้ดีแบบใด” ทุกคนก็แย่งกันตอบว่าดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ผมก็เลยแย้งว่า “รู้ได้อย่างไรว่าดีอย่างนั้น อย่างนี้ นักเรียนเคยอยู่ในระบบการปกครองแบบนี้หรือ เกิดทันกันหรือ” คราวนี้ก็นั่งนิ่งไปนาน พยายามจะตอบให้ได้ ตอบเท่าไหร่ผมก็ว่าไม่ถูกสักที  ผมจึงยกชูนิ้วชี้ของผมแล้วถามว่า นิ้วชี้ผมยาวหรือสั้น นักเรียนก็ตอบยาวบ้าง สั้นบ้าง  ผมตอบว่านี่แหละที่ไม่รู้วิธีคิดให้เป็น  ที่จริงเรายังไม่สามารถตอบได้ว่านิ้วชี้ผมยาวหรือสั้น  ต่อมาผมยกทั้งนิ้วชี้ และนิ้วกลางขึ้นพร้อมกัน  คราวนี้นักเรียนนึกออกช่วยกันตอบว่าเพราะมีการเปรียบเทียบ จึงสามารถรู้ว่านิ้วไหนสั้นกว่า  ทำให้นักเรียนได้แง่คิดไปว่า ถ้าเราไม่เคยอยู่แบบนี้ หรือเคยเกิดทัน แต่เราสามารถหาความจริงได้ด้วยการจำแนกแจกแจงการปกครองในรูปแบบต่างๆก่อน จะอาจศึกษาที่ผู้บันทึกไว้ หรือใครเล่าให้ฟังแบบการวิเคราะห์  แล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบกับการปกครองอื่นๆ” ภายหลังนักเรียนจึงตอบได้ชัดเจนขึ้น

คำถามแต่ละคำถามกว่าจะตอบได้ก็ต้องซักไปเรื่อยๆ คำถามแรกๆ ใช้เวลาถึง ๓ คาบก็มี แต่พอนักเรียนได้หลัก แนวคิด และแนวการเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีแล้ว การเรียนเรื่องต่อไปก็ง่ายขึ้น เร็วขึ้น บางเรื่องใช้เวลาไม่ถึงคาบก็จบแล้ว ทำให้นักเรียนกลายเป็นคนต้องคิดให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม และจะตอบอะไรต้องมีหลักฐานอ้างอิงประกอบด้วย ต่อมาผมถามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายในลักษณะเจาะลึก เช่น ทำไมเราต้องใช้เบี้ยเป็นตัวแทนการซื้อขาย ทำไมอยุธยาต้องไปตีเมืองสุโขทัย ทำไมพม่ายกทัพมาตีเมืองไทยชนะ แต่ทำไมไทยยกทัพไปตีพม่าไม่สำเร็จ เป็นต้น วิชาผมจึงเป็น “วิชาทำไม”  ผมถือว่าผมได้ใช้วิธีการตั้งคำถามด้วยวาจาในการพัฒนาสมรรถภาพการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีของ Bloom ทุกระดับ พร้อมทั้งวัดสมรรถภาพทางจิตพิสัยไปด้วย   จากวิธีสอนแบบนี้  ทำให้นักเรียนรุ่นนี้บอกว่า  พอไปเจอข้อสอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ วิชาสังคมศึกษาจึงตอบได้ง่ายขึ้น เพราะได้วิธีคิดไปจากตอนที่เรียน

และอีกส่วนหนึ่งผมได้ใช้วิธีการติวนักเรียนระดับชั้น ม.๖ ด้วยการนำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยย้อนหลัง ๕ ปี มาให้นักเรียนฝึกทำ  ผลปรากฏว่า ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยตามที่ต้องการได้  จึงทำให้ผมเชื่อมั่นว่าวิธีการที่ผมพานักเรียนฝึก พานักเรียนทำมาตลอดหลายปี สามารถทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จทั้งในแง่ศักยภาพ และสมรรถภาพ รวมทั้งการศึกษาต่อได้อย่างน่าพึงพอใจ แต่วิธีที่ผมทำนั้น ครูท่านอื่นจะทำตามได้เสมอ ซึ่งผมขอยืนยันว่าได้ผลดีแน่นอน  แต่ครูเหล่านั้นต้องมีใจรักและวิญญาณครูอย่างเต็มเปี่ยมจริงๆ  เพราะวิธีแบบที่ผมทำ  ครูต้องเหนื่อยมากทั้งทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะนำมาตั้งเป็นคำถามให้สะท้อนสมรรถภาพการเรียนรู้ในระดับต่างๆอย่างชัดเจน  และที่เหนื่อยที่สุด คือ การอ่านคำตอบที่เด็กอธิบายมาอย่างละเอียด  แถมการพยายามแกะลายมือของเด็กนักเรียนด้วย  อันนี้โหดที่สุด  เพราะทำให้ตาลายและสายตาสั้นลงได้ง่ายที่สุด   

ในขณะที่ผมออกไปวิทยากรให้ความรู้แก่คณะครู และนักเรียนในที่ต่างๆ ผมก็พยายามแนะนำวิธีเรียนวิธีสอนแบบนี้เสมอ แต่หาคนทำตามยากมาก  เพราะเหตุสภาพดังกล่าว  แต่ก็หวังว่าครูทุกท่านคงจะมีใจรักเด็ก สงสารเด็ก อยากช่วยเหลือพัฒนาเด็กให้ดีขึ้น ด้วยการหาวิธีการที่ดีๆ มาอยู่เรื่อยๆนะครับ

.

สรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ  

๑. การสอนหรือการจัดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การสอนและการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุผลจุดมุ่งหมายและตัวชี้วัดการเรียนรู้กำหนดไว้ในหลักสูตร   ยิ่งถ้าครูกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ชัดเจนตามระดับสมรรถภาพการเรียนรู้ทั้งด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาศักยภาพและศักยภาพของตัวเองให้ก้าวหน้าสูงขึ้นได้อย่างเต็มที่  เพียงแต่ขอให้ครูใจแข็ง ไม่ยอมให้นักเรียนที่ยังมีความรู้ หรือสมรรถภาพไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ผ่านขึ้นไปเรียนเนื้อหาในบทต่อไป ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นวิชาที่เห็นได้ชัด ถ้านักเรียนมีความรู้เดิมไม่เพียงพอ  จะไม่มีวันเข้าใจเนื้อหาที่สูงขึ้นในบทต่อไปได้เลย

๒. บลูม (Benjamin Samuel Bloom) นักการศึกษาชาวอเมริกันเชื่อว่า "การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยพฤติกรรมการเรียนรู้ และความรู้ทางจิตวิทยาพื้นฐาน"

๓. กิจกรรมที่บันดาลให้เกิดการเรียนรู้ได้นั้น  มักเกิดจาก ๓ สถานการณ์  ดังนี้  ๑. กิจกรรมที่สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย แปลกใหม่ เกิดการแข่งขัน   ๒. กิจกรรมที่มีผลประโยชน์-รางวัลเป็นแรงจูงใจ    ๓. กิจกรรมที่เกิดจากความคาดหวัง-ความใฝ่ฝันที่เป็นอุดมคติ  หรือ ความทุกข์ที่ทำให้มีอันตรายต่อชีวิต     



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท