สิริกาฬกัณณิชาดก


พระราชาทรงทราบเหตุการณ์นั้นตามคำของมโหสถ หายกริ้ว ทรงยินดีต่อมโหสถ ตรัสว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้า วันนี้ข้าจักเสื่อมจากสตรีรัตนะ เห็นปานดังนี้

สิริกาฬกัณณิชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๒. สิริกาฬกัณณิชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๙๒)

ว่าด้วยสิริกับกาฬกัณณี

             (พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า)

             [๘๓] หญิงที่มีรูปงาม มีกิริยามารยาท และความประพฤติเรียบร้อย ชายไม่พึงปรารถนาเธอ ท่านเชื่อไหมล่ะ พ่อมโหสธบัณฑิต

             (เสนกบัณฑิตฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)

             [๘๔] ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า ชายนั้นคงเป็นคนต่ำต้อย เพราะสิริกับกาฬกัณณีเข้ากันไม่ได้เลยไม่ว่าในกาลไหนๆ

สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๒ จบ

-------------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

สิริกาฬกัณณิชาดก

ว่าด้วย สิริกับกาฬกรรณี

               สิริกัณณิชาดกนี้ จักมีแจ้งใน มหาอุมมังคชาดก ดังนี้.
               ครั้งนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ปิงคุตตระ. เป็นชาวมิถิลาไปกรุงตักกสิลา เรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนได้รวดเร็ว. มาณพนั้นให้ทรัพย์เครื่องตอบคุณ แล้วลาอาจารย์กลับบ้าน. ก็ธรรมเนียมมีอยู่ว่า ถ้าธิดาในสกุลนั้นเป็นผู้เจริญวัย อาจารย์ต้องยกให้แก่ศิษย์ผู้ใหญ่. อาจารย์นั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่ง มีรูปงามเปรียบด้วยเทพอัปสร. ลำดับนั้น อาจารย์กล่าวกะปิงคุตตรมาณพนั้นว่า เราให้ธิดาแก่เจ้า เจ้าจงพาไปด้วย. แต่มาณพนั้นไม่ใช่ผู้มีบุญ เป็นคนกาลกรรณี. ส่วนนางกุมาริกาเป็นผู้มีบุญมาก. จิตของปิงคุตตรมาณพมิได้ปฏิพัทธ์เพราะเห็นนางกุมาริกานั้น. มาณพนั้น แม้ไม่ปรารถนานางกุมาริกา ก็ต้องรับด้วยคิดว่า เราจักไม่ทำลายคำของอาจารย์. พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ได้ให้ธิดาแก่มาณพนั้น. มาณพนั้นนอน ณ ที่นอน อันมีสิริที่ตกแต่งแล้วในเวลาราตรี. ให้ละอายใจใน เพราะนางกุมารีนั้นมาขึ้นนอนด้วย. ก็ลงจากที่นอนนอนที่ภาคพื้น. ฝ่ายนางกุมาริกาก็ลงมานอนใกล้ๆ มาณพนั้น. มาณพก็ลุกขึ้นไปบนที่นอน. นางกุมาริกานั้นก็ขึ้นไปยังที่นอนอีก. พอนางกุมาริกาขึ้นไป มาณพก็ลงจากที่นอน นอนที่ภาคพื้นอีก. ชื่อว่ากาลกรรณี ย่อมไม่ร่วมกับสิริ. นางกุมาริกานอนที่ที่นอน มาณพนั้นนอนที่ภาคพื้น. มาณพนั้นยังกาลให้ล่วงไปอย่างนี้ สิ้นสัปดาห์หนึ่ง. ก็พานางกุมาริกานั้นไหว้อาจารย์ออกจากพระนครตักกสิลา. ในระหว่างทางมิได้พูดจาปราศรัยกันเลย ชนทั้งสองมิได้มีความปรารถนากัน ได้มาถึงกรุงมิถิลา.
               ฝ่ายปิงคุตตรมาณพเห็น ต้นมะเดื่อต้นหนึ่งเต็มไปด้วยผล ในที่ใกล้พระนคร. ถูกความหิวเบียดเบียน ก็ขึ้นต้นไม้นั้น. เคี้ยวกินผลมะเดื่อ. ฝ่ายนางกุมาริกานั้นก็หิวโหย จึงไปที่โคนต้นไม้กล่าวว่า ข้าแต่นาย จงทิ้งผลลงมาให้ข้าพเจ้าบ้าง. มาณพนั้นตอบว่า มือตีนของเจ้าไม่มีหรือ เจ้าจงขึ้นมาเก็บกินเอง. นางก็ขึ้นไปเก็บเคี้ยวกิน. มาณพรู้ว่านางขึ้นมา ก็รีบลงล้อมต้นมะเดื่อด้วยหนามแล้วกล่าวว่า เราพ้นจากหญิงกาลกรรณี แล้วหนีไป. นางกุมาริกานั้น เมื่อไม่อาจลง ก็นั่งอยู่บนนั้นนั่นเอง. วันนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงเล่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้นแล้ว. เมื่อประทับนั่งบนคอช้าง เสด็จเข้าพระนครในเวลาเย็น. ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกุมาริกานั้น มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ในนาง. จึงตรัสสั่งให้ถามว่า นางมีผู้หวงแหนหรือหาไม่. นางแจ้งว่า สามีของนางที่สกุลตบแต่งมีอยู่ แต่เขาให้ข้าพเจ้านั่งบนนี้ ทิ้งเสียแล้วหนีไป. อมาตย์กราบทูลความนั้นแด่พระราชา. พระราชาทรงดำริว่า ภัณฑะไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของหลวง. จึงให้รับนางลง แล้วให้ขึ้นคอช้างนำไปราชนิเวศน์. อภิเษกสถาปนาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระนางเป็นที่รัก เป็นที่ชอบพระหฤทัยแห่งพระราชา. ชนทั้งหลายกำหนดรู้ พระนามของพระนางว่า อุทุมพรเทวี เพราะพระราชาได้พระนางมาแต่อุทุมพรพฤกษ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ยังชาวบ้านใกล้ประตูเมืองให้แผ้วถางทาง. เพื่อประโยชน์ในการเสด็จพระราชดำเนินสู่สวนหลวง. ปิงคุตตรมาณพเมื่อทำการจ้าง โจงกระเบน มั่นถางทางด้วยจอบ. เมื่อทางยังไม่แล้ว พระราชาประทับบนรถที่นั่งกับด้วยพระนางอุทุมพรเทวีเสด็จออกจากพระนคร. พระนางอุทุมพรเทวีได้ทอดพระเนตร เห็นปิงคุตตรมาณพผู้กาลกรรณีนั้นแผ้วถางอยู่. เมื่อทอดพระเนตรมาณพนั้น ด้วยนึกในพระหฤทัยว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ ก็ทรงพระสรวล. พระราชาทอดพระเนตร เห็นพระนางทรงพระสรวลก็กริ้ว. ตรัสถามว่า หัวเราะอะไร. พระนางกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรุษผู้ถางทางนี้เป็นสามีคนเก่าของข้าพระบาท ยังข้าพระบาทให้ขึ้นต้นมะเดื่อ แล้วเอาหนามสะวงไว้แล้วไป. ข้าพระบาทแลดูเขาแล้วคิดว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ จึงหัวเราะ. พระราชาตรัสว่า เธอกล่าวมุสา เธอเห็นอะไรอื่น เราจักฆ่าเธอ. ตรัสฉะนี้ แล้วทรงจับพระแสงดาบ. พระนางมีความเกรงกลัวพระราชอาญา จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ตรัสถามบัณฑิตทั้งหลายก่อน. พระราชาจึงตรัสถามเสนกว่า ท่านเชื่อหรือ. เสนกทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อ ชายอะไรจะละสตรีเห็นปานดังนี้ไป พระเจ้าข้า. พระนางอุทุมพรได้ทรงสดับคำของเสนก ยิ่งกลัวพระราชอาญาเหลือเกิน. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เสนกจะรู้อะไร เราจักถามมโหสถ.
               เมื่อจะตรัสถามมโหสถ จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ดูก่อนมโหสถบัณฑิต สตรีรูปงาม และนางสมบูรณ์ด้วยอาจารมารยาท บุรุษไม่ปรารถนาสตรีนั้น เจ้าเชื่อหรือ.
               มโหสถบัณฑิตได้ฟังกระแสพระราชดำรัสนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เชื่อบุรุษผู้หาบุญมิได้ พึงมี. สิริและกาลกรรณีย่อมร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ.
               พระราชาทรงทราบเหตุการณ์นั้นตามคำของมโหสถ หายกริ้ว ทรงยินดีต่อมโหสถ. ตรัสว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้า วันนี้ข้าจักเสื่อมจากสตรีรัตนะ เห็นปานดังนี้. ด้วยถ้อยคำของเสนกผู้โฉดเขลา. ข้าได้นางนี้ไว้เพราะอาศัยเจ้า. ตรัสชมฉะนี้แล้ว พระราชทานกหาปณะแสนหนึ่งบูชามโหสถ. ฝ่ายพระเทวีถวายบังคมพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ได้ชีวิต เพราะอาศัยมโหสถบัณฑิต. ข้าพระองค์ปรารถนาพระพร เพื่อให้มโหสถบัณฑิตนี้ตั้งอยู่ในที่เป็นน้องชาย. ขอพระองค์โปรดประทานเถิด. พระเจ้าวิเทหราชก็พระราชทานพรแก่พระนางว่า ดีแล้วพระเทวี เธอจงรับพร เราให้พรแก่เธอ. พระนางจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า จำเดิมแต่วันนี้ ข้าพระองค์จะไม่บริโภคอะไรๆ มีรสอร่อย เว้นน้องชาย. ตั้งแต่นี้ไป ข้าพระองค์จงได้เพื่อให้เปิดประตูในเวลาหรือมิใช่เวลา ส่งของมีรสอร่อยไปให้น้องชายนั้น. ข้าพระองค์ขอรับพระพรนี้. พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า ดีแล้ว นางผู้เจริญ เธอจงรับพรนี้.
               จบปัญหาสิริกับกาลกรรณี

จบ อรรถกถา สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๒

----------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #มโหสธบัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 717915เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2024 04:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2024 04:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท