ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ตอน 3 : เท้าความเดิมถึงต้นตอการแก้ไขปัญหา PM2.5 แบบ “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง”


ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ตอน 3 : เท้าความเดิมถึงต้นตอการแก้ไขปัญหา PM2.5 แบบ “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง”

19 เมษายน 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1] 

 

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า เป็นวิกกฤตของชาติ หรือวาระแห่งชาติแน่นอน แต่ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า ต้นทางแห่งปัญหาที่แท้จริงของฝุ่นพิษหรือมลพิษ PM2.5 คืออะไรกันแน่ คงต้องมาทบทวนเรื่องเก่าๆ กันดูสักนิด เพราะว่ามันเป็นปัญหาระหว่างประเทศไปแล้ว จำไม่ได้ว่ารัฐเริ่มตระหนักถึงปัญหา PM2.5 มาตั้งแต่เมื่อใดแน่ เป็นวาระเร่งด่วน ในช่วงการปฏิรูปประเทศ สปช.และ สปท.(คสช.) ในปี 2557-2559 หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบวาระเร่งด่วนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ (Quick Win) ไม่มีวาระเรื่องฝุ่น PM2.5 แต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหา PM2.5 เป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2562[2] ตาม “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น จีนเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่เรียกว่า “2013-2017 Clean Air Action Plan” (ปี พ.ศ.2556-2560)

 

มท.และ ทส.ได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพเรื่องการจัดการขยะและไฟป่า 

ย้อนไปดูเรื่องเก่าพบว่า ก่อนหน้า คสช.ได้มีการศึกษาและมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับปัญหาการจัดการขยะชุมชน (Municipal Solid Waste) ซึ่งในสมัย คสช.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งในที่สุดมีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560[3] และเกี่ยวกับปัญหาการไฟป่าและหมอกควัน สืบเนื่องมาจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงได้มี “แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง พ.ศ.2547-2551” (Open Burning Control Plan of Implementation) [4] โดย คณะอนุกรรมการกำกับแผนงานและมาตรการในการรองรับนโยบายการห้ามเผาในที่โล่งภายใต้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง ปี 2550-2554 (National Master Plan for Open Burning Control) [5] โดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฏว่าสมัย คสช.มีมติ ครม.เมื่อ 17 มีนาคม 2558 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่ง กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป.ภาค) ตามคำสั่งกองทัพภาคที่ 3 ที่ 1043/2560 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560[6] อันเป็นที่เข้าใจกันว่ามีกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพประสานงานเชิงบูรณาการ

 

ย้อนดูคดีปกครองสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับฝุ่น

ย้อนมาดูคดีต่างๆ ที่ประชาชนและองค์กรเอกชน (NGO) ได้ร่วมกันฟ้องรัฐใน “คดีฝุ่น” ที่มีอยู่หลายคดี ซึ่งผลจากการฟ้องคดีเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเกณฑ์มาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้เป็นไปตามมาตรฐานอนามัยโลก (WHO) เพราะแต่เดิมนั้น ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ไทยยังสูงเกินไปและสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเกือบ 5 เท่า[7] คือเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 มีประกาศ กก.วล. ปรับปรุงเปลี่ยนค่ามาตรฐาน PM2.5(ใหม่)[8] ใช้วิธีตรวจวัดอ้างอิง ด้วยวิธีกราวิเมตริก (1) เดิม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (2) เดิม ค่าเฉลี่ยราย 1 ปี ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

คดีส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐจะเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น แต่หน่วยงานของรัฐก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นไว้ ทำให้หลายคดีที่ประชาชนเป็นผู้ชนะคดีในศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่มีคดีใดที่ถึงที่สุด เพราะต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคดีจึงล่าช้า เช่น คดีศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขแดงที่ 1/2564 (8 เมษายน 2564) [9] ซึ่งยื่นคำฟ้องออนไลน์ขอให้ศาลพิจารณาด่วน ศาลชั้นต้นใช้เวลาพิจารณาเพียง 45 วัน ให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี โดยศาลชั้นต้นสั่งให้ กก.วล.ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ศาลสูง

คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2567 (19 มกราคม 2567) [10] “คดีคืนปอดให้ประชาชนกรณีแก้ฝุ่นล่าช้า” โดยกลุ่มชาวบ้านและนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวม 10 ราย ฟ้องว่านายกรัฐมนตรี ที่ 1 และ กก.วล. ที่ 2ข้อหาละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดฯ ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี โดยศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ฝ่ายรัฐก็ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด

นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมี “คดีฟ้องทะลุฝุ่น” ที่เครือข่ายประชาชนฟ้องรวม 3 องค์กร ยื่นฟ้องบอร์ด กก.วล., ทส. และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566[11] ให้เครือข่ายประชาชนเป็นผู้ชนะคดี คดีนี้มีคำขอท้ายฟ้องรวม 4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ คำขอให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสารพิษ (PRTR : Pollutant Release and Transfer Register) [12] ด้วย 

ซึ่งแม้บางคดีศาลชั้นต้นจะยกฟ้องคดีก็มี เช่น กรณีชาวบ้านฟ้องขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ออกประกาศเขตภัยพิบัติเนื่องจากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานที่กำหนด แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเนื่องจาก ในขณะยื่นฟ้องนั้นค่าฝุ่น AQI (Air Quality Index : ดัชนีคุณภาพอากาศ) ณ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ยังมีค่าไม่สูงกว่า 100 ที่จะจัดเป็นระดับที่มีผลต่อสุขภาพ กล่าวคือยังมีค่าที่ไม่เกินมาตรฐานที่มีผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เป็นต้น 

 

การแก้ไขด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ล่าช้า

การยื่นอุทธรณ์คดีปกครองของฝ่ายรัฐ ทำให้มองว่ารัฐบาลพยายามดึงเรื่องให้ช้าลง อาจเป็นเพราะว่ากำลังรอ “ร่างกฎหมายอากาศสะอาด” ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567[13] ปัจจุบันรอการพิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็น พรบ. ซึ่งหลักการ PRTR นี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีกลุ่มประชาชนล่ารายชื่อได้ 12,165 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมาย PRTR ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว[14] เพราะร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับที่มีหลักการ PRTR ถูกปรับตกไป เนื่องจากมีการวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ต้องมีคำรับรองหรือเสนอโดยนายกรัฐมนตรี

มีข้อสังเกตว่า มาตรฐานฝุ่น PM2.5 เกณฑ์อนามัยโลกที่ 37 มคก./ลบ.ม.[15] แต่ รัฐบาลประกาศที่อัตรามาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. ที่ไม่รู้ว่าไปเอาค่า 37.5 นี้มาจากไหน มองได้ว่าเป็นการเลี่ยงบาลีคดีที่ประชาชนฟ้องให้ออกประกาศ โดยใช้เกณฑ์ที่ 37 มคก./ลบ.ม. แต่รัฐบาลประกาศที่ 37.5 มคก./ลบ.ม. ก็ถือว่ารัฐได้ดำเนินการแล้ว อันเป็นผลให้การพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานฝุ่นนี้ของศาลปกครองขาดการพิจารณาไป เพราะในคำฟ้องยังมีคำขออื่นๆ อีก ซึ่งเป็นโอกาสให้ฝ่ายรัฐได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองต่อไป เป็นการยืดเวลาออกไปได้ เป็นต้น อาจมีผู้มองว่า รัฐพยายามแถสุดๆ เพราะคดีเรื่องฝุ่นนี้มีฟ้องคดีกันมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเรื่องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่นนี้มีประชาชนได้ร้อง ปปช. ว่านายกรัฐมนตรีละเว้นฯ โดยมี เจ้าหน้าที่ ปปช. ประมาณสิบกว่าคนได้มาสอบสวนผู้ร้องที่บ้าน ใช้เวลาสอบปากคำรวดเร็วประมาณ 3 ชม. เป็นการไต่สวนที่ทำกันอย่างง่ายๆ แต่ ปปช. ได้ยกคำร้อง เพราะรัฐบาลมีประกาศมาตรฐานแล้ว (ประกาศ 8 มกราคม 2565) แม้ค่ามาตรฐานที่ประกาศจะต่างกัน 0.5 แต่ก็ถือว่านายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการแล้ว เพราะตัวเลขค่ามาตรฐานที่รัฐบาลประกาศมีค่าใกล้เคียงมาตรฐานโลก จึงถือว่านายกรัฐมนตรีไม่ผิด อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกว่า ในคดีเอกชนฟ้องรัฐเรื่องฝุ่น PM2.5 มีอยู่หลายกลุ่มนั้น ก็จะมีคำขอท้ายคำฟ้องที่วนๆ เหมือนๆ กัน ราวกับว่าลอกล้อคำฟ้องกัน ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อาจเป็นเพราะหลายคดีที่เอกชนฟ้องจะทำแบบลองผิดลองถูก จนเจอมาตรฐาน มาตรการในการจัดทำคำฟ้องที่ดีขึ้น ถูกต้องขึ้นในอำนาจของศาลปกครองก็ได้ 

 

ข้อบกพร่องของร่างกฎหมายอากาศสะอาด

อาจจะมีบ้างในเชิงลึกที่ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดโดยผู้รู้ ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแย้งว่า ร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับที่รัฐโดยสภาได้รับหลักการนั้น ไม่มีความแตกต่างจากกฎหมายเดิม คือ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เช่นในเรื่องการจัดการปัญหา, องค์กรที่จัดตั้ง, การมีส่วนร่วมของประชาชน, ไม่เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเรียกร้องได้ง่าย, การทำแผนยังอยู่หน่วยงานรัฐเป็นหลักไม่มีช่องทางให้ทำประชาคมหรือประชาวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบัน แผนการแก้ไขปัญหาไฟป่าที่ให้ ทส.เป็นเจ้าภาพนั้น ก็ได้บูรณาการร่วมกับ กอ.รมน. และ จังหวัด โดยมีกองทัพภาคที่ 3 เป็นศูนย์กลาง เพราะมองว่า กอ.รมน. และ กองทัพภาค เป็นหน่วยงานความมั่นคงและทหาร ที่ไม่มีหน้าที่โดยตรง และ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานอำนาจซ้อนกัน เป็นองค์กรซ้อนรัฐที่ไม่มีตัวเจ้าหน้าที่ แต่เงินงบเยอะ ทำให้ รัฐเปลืองงบ และ ทำงานซ้ำซ้อนกัน กอ.รมน.ควรยุบไป หรือไม่ทำหน้าที่เช่นนี้ นอกจากนี้ตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดควันข้ามระหว่างประเทศ คือ การใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเมียนมาถึง 93% มากที่สุด โดยบริษัทที่น่าจะมีบทบาทเกี่ยวข้องเช่น บริษัท ซีพี ซึ่งรัฐบาลไทยควบคุมได้เฉพาะในพื้นที่ แต่ฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถควบคุมได้ การเผาป่า ไฟป่า ฝั่งไทยพอควบคุมได้ แต่ฝั่งต่างประเทศควบคุมไม่ได้เลย เพราะต่างเผาตามใจ รัฐเพื่อนบ้านไม่ใส่ใจควบคุม มีผู้เคยเสนอให้รัฐเก็บภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น โดยรวมร่างกฎหมายอากาศฉบับนี้จึงมีผู้มองว่า ไม่ต่างจากกฎหมายของเดิม (กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ต่างกันเพียงแค่ชื่อ 

ตามข่าวเมื่อ 13 ธันวาคม 2566 รัฐบาลได้ตั้ง “คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ”[16] แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมทำงานแบบ Quick Win ระหว่างรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดผ่านสภาฯ เพื่อให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ค่า AQI สูงระดับนี้ พร้อมพูดคุยกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) เพื่อยกระดับการพูดคุยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน รวมถึงพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี ที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และด้วยหวังให้สมกับฉายาที่ตั้งไว้ว่า "กฎหมายอากาศสะอาด คือ โคตรกฎหมายในการแก้ไขปัญหาเรื่องอากาศ"

 

ต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้

ณัฐกร วิทิตานนท์ (2566) [17] เขียนถึงอำนาจอันจำกัดของผู้ว่าฯ และส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และแม้ในช่วงเลือกตั้ง ทุกพรรคจะพูดว่าการกระจายอำนาจอาจช่วยแก้สถานการณ์นี้ให้ดีขึ้นได้ แต่ณัฐกรมองว่าอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาฝุ่นควันได้ทั้งหมด เพราะต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ PM2.5 ไม่ได้ ลองมาดูคำเฉลยกันว่าเป็นเพราะอะไร

ความท้าทายในการแก้ฝุ่นควัน รัฐออก “11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 67” มีมาตรการแต่ปรากฏว่าไร้แผน[18] พบว่ารัฐยังคงวางแนวนโยบายเดิมคือลดจำนวนจุดความร้อนลง นี่เป็นสมมติฐานว่า ทำไม การแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษของรัฐจึงล้มเหลว ด้วยปกติแล้วฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นมาก ในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูแล้ง (มกราคม-มีนาคม) ทั้งนี้เพราะความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับปัจจัยอื่น ทำให้เอื้อต่อการเกิดไฟป่าง่าย โดยเฉพาะเขตภาคเหนือที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น ต้นตอใหญ่ที่สุดของฝุ่น PM2.5 คือการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร และไฟไหม้ป่า เหตุที่การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยากมาก สาเหตุเพราะด้านระบบการผลิตและพฤติกรรมของคนในเมืองและเกษตรกร ข้อจำกัดและจุดอ่อนของนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ และข้อจำกัดด้านการเมือง เป็นต้น

สรุปความล้มเหลวของรัฐ (TDRI 2566) มาจากข้อจำกัดและจุดอ่อนสำคัญ 3 ด้าน คือ[19] 

(1) แนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 แบบภัยพิบัติ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เช่น การตั้งกรรมการในเดือนตุลาคมก่อนมีฝุ่น PM2.5 และสลายตัวเดือนพฤษภาคม ทำให้ขาดความจำสถาบัน ขาดการจัดการและการศึกษาวิเคราะห์แบบต่อเนื่องโดยมืออาชีพ กรณีนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง 

(2) ท้องถิ่นขาดเงิน และถูกซ้ำเติมจากกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ แม้ว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณได้ริเริ่มให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดภายใต้โครงสร้างการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2560 มีการกำหนดนโยบายแผนพัฒนาภาคแบบ One Plan ทำงานแบบเครือข่าย มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดผ่านกระบวนการล่างสู่บน (Bottom Up) ก็ตาม 

(3) แม้จะมีการจัดการฝุ่น PM2.5 ภายในจังหวัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ ชุมชน และกลุ่มประชาสังคม มีมาตรการป้องกันทั้งในเมืองและชนบท ก็ไม่อาจแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ เพราะฝุ่น PM2.5 ส่วนหนึ่งพัดข้ามมาจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะชายแดนฝั่งพม่าที่ปลูกข้าวโพด ส่วนชายแดนเขมรก็มีการปลูกอ้อยและเผาไร่อ้อย ทำให้ฝุ่น PM2.5 พัดเข้าถึงกรุงเทพฯ

 

นี่เป็นการเท้าความเล็กๆ ถึงต้นตอปัญหาที่พอจะเป็นแนวทางในการคิดต่อตามแนวคิด “แสวงจุดร่วม (Points-of-parity) สงวนจุดต่าง (Points-of-difference)” [20] ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อไป


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Bhumi Watchara Charoenplitpon, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 19 เมษายน 2567, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/530035  

[2]ความท้าทายแก้ฝุ่นควัน เมื่อรัฐออกมาตรการแต่ไร้แผน, Policy watch, Thai PBS, 12 กุมภาพันธ์ 2567, 16:55 น., https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-11 

[3]ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนพิเศษ 267 ง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หน้า 2-8, https://www.dla.go.th/work/garbage2.PDF

[4]แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง (พ.ศ.2547-2551) (Open Burning Control Plan of Implementation) โดย คณะอนุกรรมการกำกับแผนงานและมาตรการในการรองรับนโยบายการห้ามเผาในที่โล่งภายใต้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ, ตามหนังสือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ทส 0306/1422 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 เรื่อง การดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง, https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2548/2040923.pdf 

[5]แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง ปี 2550-2554 โดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (National Master Plan for Open Burning Control), มิถุนายน 2548, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/04/pcdnew-2020-04-23_05-20-23_362589.pdf & หนังสือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ทส 0306/59 ลงวันที่ 12 มกราคม 2547 เรื่อง การรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการดำเนินงานตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง, https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2547/1957514.pdf

แผนแม่บทฉบับนี้โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

[6]มติ ครม.เมื่อ 17 มีนาคม 2558 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่ง กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป.ภาค) ตามคำสั่งกองทัพภาคที่ 3 ที่ 1043/2560 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560, https://www.mnre.go.th/nan/th/view/?

[7]คำกล่าวของ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประชาชนและในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท ดู เครือข่ายภาคประชาสังคม-ประชาชนยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ “แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน, enlawfoundation, 22 มีนาคม 2565, https://enlawfoundation.org/pm-2-5-lawsuit/?fbclid=IwAR0QSm75jRv6kdp-ljnM_3F9DFyfvdDnWitKPmFyyLn_phjiWTvWXAeS7hE 

[8]ดีเดย์ 1 มิ.ย.นี้ ปรับเกณฑ์ PM2.5 ใหม่ 37.5 มคก.ต่อลบม., Thai PBS, 3 พฤษภาคม 2566, 10:19 น., https://www.thaipbs.or.th/news/content/327288 & ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 139 ตอนพิเศษ 163 ง วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 หน้า 21, https://www.pcd.go.th/laws/26439 

[9]นาย ภูมิ วชร เจริญผลิตผล ชาวบ้านจ.เชียงใหม่ ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) โดย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้รับมอบอำนาจ กรณีละเลยล่าช้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ 1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1/2564 (8 เมษายน 2564) โดยศาลชั้นต้นสั่งให้ กก.วล.ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ศาลสูง

ดู สรุปย่อ คดีประวัติศาสตร์มลพิษภาคเหนือ ในเฟซบุ๊ก WEVO สื่ออาสา, เพื่อลมหายใจภาคเหนือ, 9 เมษายน 2564, https://www.facebook.com/wevogroup/photos/a.104749631050870/287252126133952/

[10]คดีปกครองนี้ยื่นฟ้องโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุลกับพวก รวม 10 ราย ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) ข้อหาละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ

ดู สรุปคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ ส. 3/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 1/2567 (คดีการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ), โดย สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ ลงวันที่ 19 มกราคม 2567, https://admincourt.go.th/admincourt/site/08hotsuit_detail.php?ids=25471

[11]29 ส.ค. 2566 ศาลปกครองพิพากษาคดี PM2.5 สั่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำ "PRTR" ทำเนียบข้อมูลการปล่อยมลพิษทุกแหล่งกำเนิด หลังภาคประชาสังคมรวมตัวฟ้องคดีทวงสิทธิอากาศสะอาด

ศาลปกครองพิพากษาคดี 'PM2.5' สั่งหน่วยงานรัฐจัดทำบัญชี 'PRTR' รายงานค่าฝุ่นพิษทุกแหล่งกำเนิด เปิดข้อมูลให้ประชาชนรับรู้-เข้าถึงได้, สถานีสื่อสุขภาวะ เฮลท์สเตชั่น, 29 สิงหาคม 2566,https://main.healthstation.in.th/news/show/1115 

[12]กฎหมายการรายงานและเปิดเผยการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) คือกฎหมายที่บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรมระยอง โรงงานอุตสาหกรรมชลบุรี และที่อื่นๆ ‘เปิดข้อมูล’ หรือ Open data มลพิษที่ปล่อยสู่ดิน น้ำ หรืออากาศ ใจความง่ายๆ คือเพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีมลพิษอะไรบ้างที่ถูกปล่อยออกมาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเรานั่นเอง ดู กฎหมาย PRTR คืออะไร, https://www.greenpeace.org/thailand/climate-airpollution-thaiprtr/ 

[13]ผ่านฉลุย สภาฯ ลงมติเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด 7 ฉบับ “พัชรวาท” ขอบคุณทุกฝ่ายมุ่งมั่นแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ถือเป็นวาระแห่งชาติ, ข่าวทำเนียบรัฐบาลไทย, 17 มกราคม 2567, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/77587 

[14]กว่า 12,000 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างกฎหมาย PRTR ขอนายกเศรษฐา อย่าปัดตก, Greenpeace Thailand, 14 กุมภาพันธ์ 2567, https://www.greenpeace.org/thailand/press/51792/climate-airpollution-prtr-over-12000-signatures-urge-pm/

[15]ไทยขอปรับค่ามาตรฐานจากค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. (µg/m3) เป็น “จะต้องไม่เกิน 37 µg/m3” และ จากค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 25 µg/m3 เป็น “จะต้องไม่เกิน 15 µg/m3”

เดิมตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ประกาศ ณ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2553 ค่าแนะนำของ WHO Interim Target -3 (IT-3) มาตรฐาน 24 ชั่วโมง ที่อัตราไม่เกิน 37.5 มคก./ลบม. และมาตรฐาน 1 ปี IT-3 ที่อัตราไม่เกิน 15 มคก./ลบม. และอัตราเป้าหมายสุดท้าย 1 ปี ตามค่าแนะนำของ WHO Guidline (Final Goal Guidelines) คือที่อัตรา 10 มคก./ลบม.

ดู ร่างการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ผ่าน Video Conference ระบบ Zoom) “การปรับปรุงมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศ” วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564, โดย กรมควบคุมมลพิษ, ตามร่างที่ขอกำหนดคือ อัตรา 37 มคก./ลบม., https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2021/01/pcdnew-2021-01-28_08-38-49_387566.pdf 

[16]ตั้ง คกก. PM 2.5 แห่งชาติ ทำงานแบบ Quick Win ช่วงรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านสภาฯ, ไทยรัฐออนไลน์, 13 ธันวาคม 2566, https://www.thairath.co.th/news/politic/2747647 

[17]ต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ PM2.5 ไม่ได้, โดยณัฐกร วิทิตานนท์, 1 พฤษภาคม 2566, https://www.the101.world/not-only-decentralization-for-pm25/ 

[18]มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 2567 รัฐบาลเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5 และไฟป่า ใน 3 พื้นที่แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เมือง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน โดยมี 11 มาตรการ เมื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน จากแผน “11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 67” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะพบว่ายังคงวางแนวนโยบายเดิมคือลดจำนวนจุดความร้อนลง 

ดู ความท้าทายแก้ฝุ่นควัน เมื่อรัฐออกมาตรการแต่ไร้แผน, Policy Watch, Thai PBS, 12 กุมภาพันธ์ 2567, https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-11

[19]ทำไม... การแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ ของรัฐจึงล้มเหลว, The Active, 11 มี.ค. 2566, https://theactive.net/read/pollution-solving-failure/ 

[20]“แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” หลังคำพิพากษาของศาลโลก, บทความวิเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศรายสัปดาห์ ฉบับที่ 8/57 วันที่ 18-24 พ.ย.2556, โดย กองศึกษาวิจัยทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงฯ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (SSC Weekly Focus), https://science.mahidol.ac.th/IC/SSC/ASEAN%20Weekly%20Focus18-24Sep13.pdf 



ความเห็น (1)

Thank you for sharing this ‘background’ of PM2.5 in Thailand.

Is there a breakdown information/statistics on sources/causes of PM2.5 in Thailand?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท