ปัพพตูปัตถรชาดก


มีพระพุทธดำรัสว่า มหาบพิตร ไม่ควรลงโทษในเสวกผู้มีอุปการะและในหญิงซึ่งเป็นที่รักของพระองค์

ปัพพตูปัตถรชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. ปัพพตูปัตถรชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๙๕)

ว่าด้วยสระโบกขรณีที่เชิงเขา

             (พระราชาตรัสถามปัญหากับอำมาตย์โพธิสัตว์ว่า)

             [๘๙] สระโบกขรณีมีน้ำเย็น รสอร่อย เกิดอยู่ที่เนินหินเชิงภูเขาหิมพานต์ น่ารื่นรมย์ สุนัขจิ้งจอกรู้อยู่ว่า ราชสีห์รักษาสระโบกขรณีนั้นไว้ ก็ยังลงไปดื่มกิน

             (อำมาตย์โพธิสัตว์ทราบว่า อำมาตย์คนหนึ่งจะก่อเหตุร้ายภายในพระราชวัง จึงกราบทูลว่า)

             [๙๐] ข้าแต่มหาราช ถ้าสัตว์มีเท้าทั้งหลายพากันดื่มน้ำในมหานที แม่น้ำจะไม่ชื่อว่าเป็นแม่น้ำเพราะเหตุนั้นก็หาไม่ หากว่าชน ๒ คนนั้นเป็นที่รัก ขอพระองค์ทรงงดโทษเสียเถิด

ปัพพตูปัตถรชาดกที่ ๕ จบ

----------------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ปัพพตูปัตถรชาดก

ว่าด้วย สระที่เชิงเขาลาด

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า อำมาตย์คนหนึ่งของพระเจ้าโกศล ก่อการร้ายขึ้นภายในพระราชวัง พระราชาทรงสอบสวน ทรงทราบเรื่องนั้นโดยถ่องแท้แล้ว จึงเสด็จไปยังพระเชตวัน ด้วยทรงดำริว่า จักกราบทูลพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดา แล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อำมาตย์คนหนึ่งก่อการร้ายขึ้นภายในพระราชวังของข้าพระองค์ จะควรทำอย่างไรแก่อำมาตย์ผู้นั้น พระพุทธเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามพระราชานั้นว่า มหาบพิตร ก็อำมาตย์ผู้นั้นมีอุปการะต่อพระองค์ และหญิงนั้นเป็นที่รักของพระองค์หรือ. กราบทูลว่า เป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าข้า อำมาตย์ผู้นั้นมีอุปการะยิ่งนัก ช่วยเหลือราชตระกูลทุกอย่าง ทั้งหญิงนั้นก็เป็นที่รักของหม่อมฉัน. มีพระพุทธดำรัสว่า มหาบพิตร ไม่ควรลงโทษในเสวกผู้มีอุปการะและในหญิงซึ่งเป็นที่รักของพระองค์ แม้แต่ก่อน พระราชาทั้งหลายทรงสดับถ้อยคำของเหล่าบัณฑิต ก็ยังไม่ทรงวางพระทัยเป็นกลาง.
               เมื่อพระราชาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ก็ได้มีหน้าที่ถวายอรรถและธรรมของพระองค์ ครั้งนั้นอำมาตย์คนหนึ่งของพระราชา ก่อเหตุร้ายภายในพระราชวัง พระราชาทรงทราบเรื่องนั้นโดยถ่องแท้ จึงทรงดำริว่า ทั้งอำมาตย์ก็มีอุปการะแก่เรามาก ทั้งหญิงนี้ก็เป็นที่รักของเรา จะทำลายคนทั้งสองนี้ไม่ได้ เราจะถามปัญหากะอำมาตย์บัณฑิต ถ้าจะต้องอดทนได้ เราก็จะอดทน ถ้าอดทนไม่ได้ เราก็จะไม่อดทน จึงตรัสเรียกหาพระโพธิสัตว์ให้อาสนะ แล้วตรัสว่า ท่านบัณฑิต เราจักถามปัญหา. เมื่อเขากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระพุทธเจ้าจักแก้ปัญหา.
               เมื่อจะตรัสถามปัญหา จึงตรัสคาถาแรกว่า :-
               สระโบกขรณีมีน้ำใสสะอาดเกิดอยู่ที่เชิงเขาลาดน่ารื่นรมย์ สุนัขจิ้งจอกรู้ว่าสระนั้นอันราชสีห์รักษาอยู่ แล้วลงไปอาบน้ำได้.
               พระโพธิสัตว์ทราบว่า อำมาตย์คนหนึ่ง ชะรอยจักก่อเหตุร้ายขึ้นในภายในพระราชวังของพระราชานี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ข้าแต่มหาราช ถ้าสัตว์ทั้งหลายที่มีเท้าพากันดื่มน้ำในแม่น้ำใหญ่ แม่น้ำจะกลายเป็นไม่ใช่แม่น้ำ เพราะเหตุนั้นก็หามิได้ ถ้าบุคคลทั้งสองนั้นเป็นที่รักของพระองค์ พระองค์ก็ทรงงดโทษเสีย.
               พระมหาสัตว์ได้ถวายโอวาทแก่พระราชาอย่างนี้ พระราชาทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ แล้วมีพระดำรัสว่า ยกโทษแก่คนทั้งสองว่า ตั้งแต่นี้ไป เจ้าทั้งสองอย่าทำกรรมชั่วเช่นนี้อีก. พระราชาทรงทำบุญมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์ ทรงบำเพ็ญทางไปสวรรค์ให้บริบูรณ์.
               แม้พระราชาโกศลได้ทรงสดับพระธรรมเทศนานี้แล้ว ก็ทรงยกโทษให้คนทั้งสองเหล่านั้น วางพระองค์เป็นกลาง.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น อานนท์ ในครั้งนี้
               ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็น เราตถาคต นี้แล.

----------------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #อำมาตย์บัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 717937เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2024 04:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2024 04:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท