๑๐. เมื่อผม “เป็นวิทยากรเต็มตัว”


จะว่าไปผมก็ “เป็นวิทยากร (ผู้ให้ความรู้)” มาตั้งแต่เป็นสามเณร  เพราะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ให้กับชาวบ้านในวันพระอยู่บ่อยครั้ง  ส่วนใหญ่ก็มักเทศน์เรื่องทั่วไป เช่น กฎแห่งกรรม การมีคุณธรรมน้ำใจ การประพฤติตนเป็นคนดี ตามแนวทางพุทธศาสนา ยกนิทานชาดกประกอบ และสอดแทรกความคิดเห็นตัวเองไปด้วย  ปี ๒๕๑๖-๑๗ ช่วยสอนธรรมวิภาคกับพุทธประวัติให้กับพระบวชใหม่  ก็พอจะนับว่าเป็นวิทยากรให้ความรู้ได้เหมือนกัน  ยังไม่นับว่าเป็นครู  เพราะแค่อธิบายกับชี้แนะพระบวชใหม่เท่านั้น     

ผมมาเป็นวิทยากรแบบที่พิธีกรแนะนำ ในปี ๒๕๒๒ ช่วงแรกๆ ผมแค่แนะนำให้ความรู้ (Lecturer) ทางด้านวิชาภาษาไทยบ้าง ผสมธรรมะ ประวัติศาสตร์ และวิธีสอนบ้าง  แก่คณะครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่หน่วยงานต้นสังกัดจัดขึ้น บางครั้งก็เข้าเรือนจำไปให้ความรู้บ้าง ชี้แนะบาปบุญคุณโทษ เล่าเรื่องราวกฎแห่งกรรมบ้างแก่นักโทษหลายจังหวัด  แถมบางทีก็มีหน่วยงานอื่นๆ มาเชิญไปให้ความรู้ แต่จุดประสงค์แฝง(หลัก)ก็คือ ขอให้ช่วยกระตุ้นพนักงาน-เจ้าหน้าที่ของตนเองให้ขยันทำงานมากขึ้นมากกว่า สมัยนั้นยังไม่มีสถาบันหรือหน่วยงานใดรับจัดฝึกอบรมบุคลากรอย่างเป็นกิจจะลักษณะ (คงยังไม่เห็นความสำคัญและเห็นช่องทางการใช้งบประมาณ)  ซึ่งก็แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะเห็นว่าควรขันเกลียวเสียทีบ้าง ก็จะเชิญวิทยากรมาให้ความรู้หรือพูดกระตุ้นกำลังใจ คราวมีการประชุมหน่วยงานตนเองประจำเดือน (คงไม่ได้จัดงบประมาณด้านนี้ไว้โดยเฉพาะ)  

ต่อมาปี ๒๕๓๖  ผมเริ่มขยับมาเป็นวิทยากรผู้ฝึกอบรม (Trainer) และวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) เพราะคงเห็นว่าผมสอนนักเรียนมาหลายปี  น่าจะพอมีความรู้ความสามารถพัฒนา(บังคับ)พนักงาน-เจ้าหน้าที่ได้ละมั๊ง  แล้วกลายมาเป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่ทั้ง consultant, adviser, mentor และ expert ในที่สุด  ว่าไปการเป็นวิทยากรหลายรูปแบบ ทำให้ผมสามารถใช้ศักยภาพและสมรรถภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่  แต่ผมเห็นว่า การเป็นวิทยากรผู้บรรยายมีความสุขมากกว่าการเป็นวิทยากรอื่นๆ เนื่องจาก เริ่มต้นพิธีกรก็มักจะเยินยอผู้บรรยายให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือน้องๆเทวดานั่นแหละ จนผู้บรรยายก็แทบจะตัวลอย ส่วนที่มีความสุข ก็คือ พอบรรยาย(พูด)เสร็จ ก็ลาที่ประชุมได้เลย ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่ออีก (ฮา) 

ในการเป็นวิทยากรบรรยาย ผมเชื่อว่าผมเป็นวิทยากรคนหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมตั้งใจฟังผมพูดจนจบเวลา เพราะภายหลังได้รับคำชมจากผู้คนต่างๆว่า  ทำไมการประชุมแต่ละแห่งที่ผมเป็นวิทยากร  เป็นการประชุมที่เรียบร้อย สงบ ไม่พลุกพล่าน ต่อมาผมคอยสังเกตก็เป็นจริงตามที่มีคนชมผม  ผมจึงพยายามวิเคราะห์และทบทวนดู  อาจเป็นเพราะผมมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย มีมุกขำขัน มีจังหวะจะโคนในการพูด ผมชอบเล่าประสบการณ์ชีวิตของผมและผู้อื่นมาเป็นตัวอย่าง เนื่องจากฟังชาวบ้านมาระบายให้ฟังบ่อยครั้ง  ทั้งในฐานะพระ และฐานะหมอดู  จึงพอรู้เรื่องชีวิตชาวบ้านทุกรูปแบบไปด้วย   แต่เวลาที่ผมพูดถึงสภาพปัญหาชีวิตของบุคคลทั่วไปที่ผมยกตัวอย่างประกอบ ทั้งด้านส่วนตัว และในที่ทำงาน ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเงียบตั้งใจฟังมากกว่าเรื่องอื่นๆ (น่าจะมาจากเรื่องจริงที่ผมฟังมาจากชาวบ้าน)  ครั้งต่อไปถ้าผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรอีก ผมก็มักให้น้ำหนักกับสภาพปัญหาชีวิตมากกว่าแนวคิด หรืออุดมคติ (พุทธองค์จึงเน้นสอนแต่เรื่องทุกข์ การดับทุกข์)  ทุกครั้งผมก็จะชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่ครู หรือเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานในหน่วยงานนั้นๆ ต้องเจอในแต่ละวัน  ผมยกตัวอย่างในลักษณะกรณีศึกษา พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้น และแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาหลากหลายมุมมอง  ผมและผู้จัดให้มีการประชุมประจักษ์ด้วยสายตาว่าผู้เข้าประชุมมีดวงตาที่แจ่มใส หายเซ็ง กระตือรือร้นมากขึ้น ทำให้ผมรู้ว่าการที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นคุณค่า ไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่มาร่วมประชุมอีก  คือ ช่วยให้ผู้เข้าประชุมรู้จักตนเอง  เข้าใจตนเอง เข้าใจสภาพงานหรือบริบทงาน เข้าใจเพื่อนร่วมงาน เข้าใจผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ทุกคนต่างทำผิด ทำพลาด มีพลั้ง มีเผลอได้  การทำงานจึงควรมุ่งแต่เป้าหมายหรือผลลัพธ์  ไม่ควรเน้นแต่วิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนมากนัก  ภารกิจที่ดีในหน่วยงาน คือ ควรเพิ่มแต่ความสุข ไม่ควรเพิ่มทุกข์ต่อกัน

การเป็นวิทยากรที่เหนื่อยที่สุด คือ เป็นวิทยากรประเภทฝึกอบรม  พอๆกับการเป็นครูสอนนักเรียนประจำวิชา การให้ความรู้ แนวคิด แนวปฏิบัติ ไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ แต่ก็ต้องคอยดูว่าผู้เข้าร่วมประชุมด้วย ถ้ารู้สึกว่าเริ่มเบื่อหน่าย ก็จะพักเบรก หรือเล่าสภาพปัญหาประกอบ   ส่วนที่เหนื่อยมากที่สุด คือ ต้องหาวิธีให้ผู้ฝึกอบรมทำกิจกรรม คอยเดินชี้แนะ คอยตอบคำถามแต่ละกลุ่ม/คน ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ท่าน มีหลายครั้งเคยเจอผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ ๒๐๐ ท่าน (เพื่อประหยัดงบประมาณ) แถมผมต้องตรวจงาน/กิจกรรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทำเสร็จในแต่ละวัน เพื่อประเมินงานหรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข  กว่าสิ้นสุดเวลาเข้ารับการอบรมก็หมดแรงทันที (ปกติ ๓ วัน) การเป็นวิทยากรฝึกอบรม  แรกๆ ก็มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลต่างๆ ให้เป็นคณะช่วยกันให้ความรู้ ชี้แนะ แต่พอต้องตรวจสอบงานหรือกิจกรรมมักจะเหลือผมคนเดียวทุกครั้งไป  เข้าใจว่าไม่กล้าประเมิน กลัวผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่พอใจ และกลัวความรู้ตัวเองไม่พอในการแก้ไขงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม  เพราะการฝึกอบรมประเภทนี้  ผมขอให้ผู้ดำเนินการเว้น ๑ บรรทัด ใต้คำว่า “ได้เข้าร่วมการอบรม” เพื่อระบุในใบเกียรติบัตรด้วยว่าผ่านการอบรมอยู่ในระดับใด มีตั้งแต่ระดับดีเยี่ยม ดีเด่น ดีมาก ดี(เขียนด้วยลายมือ) ถ้าของผู้ใดไม่มีคำว่าระดับ  แสดงว่าแค่เข้าร่วมการอบรม แต่ไม่ได้แสดงความรู้ความสามารถให้เห็นเป็นประจักษ์  ที่ทำเช่นนี้เพราะผมเห็นว่าการประชุมอบรมที่ผ่านมาและตามที่ต่างๆ ทุกครั้งได้ผลน้อยมาก แม้จะมีการให้ตอบแบบประเมินหลังการฝึกอบรมก็ตาม  ผู้เข้ารับการฝึกอบรมก็ไม่ตั้งใจฝึกอบรม อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง เล่นโทรศัพท์ ลุกเข้าลุกออกตลอดเวลา พอพูดคุยสอบถามก็ทำให้รู้ว่าส่วนมากเข้ามารับอบรมด้วยความไม่เต็มใจเพราะหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาส่งมา พอผู้เข้ารับการฝึกอบรมรู้ว่ามีการตรวจ/ประเมินจริงเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง จึงตั้งใจมากขึ้น ยิ่งรู้ว่าในใบเกียรติบัตรจะระบุผ่านการอบรมในระดับใดด้วย ก็ยิ่งตั้งใจมากยิ่งขึ้น  หลังจากที่ผมทำไปได้ ๒ ปี คุรุสภา และ ก.ค. ก็ระบุในการผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูว่าใบเกียรติบัตรต้องมีการระบุการผ่านการอบรมด้วย จึงทำให้การประชุมแบบอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งต่อไปมีคุณค่าและความสำคัญตามไปด้วย     

ส่วนการเป็นวิทยากรกระบวนการ พัฒนามาจากที่ผมเป็นวิทยากรฝึกอบรมคณะครูให้จัดทำแผนการสอน ปีแรกๆ ผมก็ให้ความรู้การจัดทำแผนการสอนอย่างครบถ้วน แล้วให้คณะครูลงมือเขียนแผนการสอนตามวิชาที่ตนเองสอนอยู่  สมัยนั้นผมเชื่อว่า คณะครูมีความรู้มากในวิชาที่ตนเองสอนอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมใช้วิธีสอนใหม่ๆให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ชอบสอนหรืออธิบายให้ความรู้ตามหนังสือเรียนที่ใช้เท่านั้น (ครูและนักเรียนทุกคนเชื่อว่าหนังสือแบบเรียนคือหลักสูตร)  ไม่เคยสอนตามแผนการสอนที่เขียนขึ้นส่งโรงเรียนจริงๆหรอก (เพราะแผนการสอนมีไว้แค่ให้ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่เซ็นอนุมัติตามระเบียบทางราชการ) ในแผนการสอนที่ครูส่วนใหญ่ส่งก็มักระบุวิธีสอนไว้ ๓ ขั้น มีขั้นนำ ขั้นสอน ขั้นสรุป  ผมก็ได้แนะนำให้ครูนำวิธีสอนใหม่ๆ ไปใช้  เช่น การสอนแบบอภิปราย  การสอนแบบทดลองฝึกปฏิบัติ  การสอนแบบปุจฉาวิสัชนา การสอนแบบทักษะกระบวนการ ฯลฯ อบรมเสร็จก็ผ่านไป ผมก็นึกว่าครูคงพัฒนาการสอนด้วยวิธีการสอนแน่เลย  แต่สุดท้ายพอไปเยี่ยมชมโรงเรียน  ก็ยังพบว่าทั้งแผนการสอน และการสอนก็ยังเหมือนเดิม  ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง   ช่วงนั้นมีอคติต่อครูว่า  ท่านคงเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี  ไม่ยอมพัฒนาเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อเด็กเลย (แต่แปลกที่ผลงานทางวิชาการที่ครูส่งไปขอเลื่อนวิทยฐานะ ในแผนการสอนกลับมีขั้นตอนสวยหรูตามวิธีการสอนแปลกใหม่ทุกคน)     

ปีต่อมาผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรฝึกอบรมอีก  ผมจึงนำปัญหาที่เจอมาทบทวน  โดยหลังจากให้ความรู้ในการจัดทำแผน  วิธีสอนเรียบร้อยแล้ว  ผมก็ให้คณะครูเริ่มเขียนแผนการสอนด้วยวิธีสอนที่ตนเองเลือก  โดยผมไม่ได้แจกแบบฟอร์มแผนการสอนที่ สปช. และที่กรมสามัญศึกษายุคนั้นวางแนวไว้ หลังจากผ่านไปประมาณ ๔๐ นาที ผมแวะเยี่ยมชมแต่ละกลุ่ม/คน พบว่าบางคนเขียนไม่ได้, ถ้าไม่มีหนังสือเรียนหรือคู่มือมาประกอบ, บางคนก็เขียนได้ แต่ไม่ต่อเนื่อง, บางคนก็เขียนแบบที่ตัวเองนึกได้ฯลฯ พอเอาร่างแผนการสอนที่คณะครูเขียนขึ้นมาตรวจอย่างละเอียด พบว่า คณะครูส่วนมากยังไม่ได้คำนึงถึงจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเลย,  บางคนก็เขียนตามวิธีสอนเลย, บางคนก็ยังเขียนแบบ มีขั้นนำ ขั้นสอน ขั้นสรุป เหมือนแผนการสอนรุ่นเก่าๆ  ผมจึงเอะใจว่า ในเมื่อทุกโรงเรียนใช้หลักสูตร พ.ศ.๒๕๒๑ และปรับปรุงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในการจัดการเรียนการสอน และมีการอบรมครูในด้านนี้ทุกปีอยู่แล้วนี่นา แล้วทำไมครูยังเขียนแผนการสอนให้เป็นไปตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมด้วยวิธีสอนใหม่ๆ ไม่ได้อีก ทั้งๆที่หลักสูตร ๒ ฉบับนี้ ระบุว่า การสอนและการวัดผลประเมินผลแต่ละวิชาต้องสอนและวัดตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเสมอ

ผมจึงนำปัญหาที่พบเจอนี้ มาพุดคุยกับผู้รับผิดชอบการประชุมในวันรุ่งขึ้น  ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้  ผมจึงเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาทำแบบสอบถามความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการสอน วิธีสอน และหลักสูตรสัก ๑๐ ข้อ กับคณะครูในช่วงเช้าก่อนดีไหม  ที่ประชุมเป็นอันตกลง ผมจึงออกคำถามให้ตอบแบบอัตนัยว่า ๑. หลักสูตร คืออะไร ? ๒.หลักสูตร พ.ศ. ๒๕๓๓ มีหลักการ จุดหมาย และขอบเขตอย่างไร ?  ๓. หลักสูตร พ.ศ. ๒๕๓๓ ต่างจากหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๐๓ และ หลักสูตร พ.ศ. ๒๕๒๑ อย่างไร ?  ๔. การนำหลักสูตรไปใช้จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนควรทำอย่างไร ? ๕. หลักสูตรแต่ละกลุ่มวิชา มีจุดประสงค์อย่างไร ?  ๖. แผนการสอนที่ดีควรเขียนตามอะไร ?  ๗. ทำไมการสอนต้องมีวิธีสอนด้วย ?  ๘. ทำไมหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงแนะนำให้จัดการสอนแบบ ๙ ขั้น ของโรเบิร์ต กาเย่ (Robert Gagne) ด้วย  ๙. การวัดผลประเมินผลควรวัดอย่างไร ด้วยอะไร ?  ๑๐. จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลประเมินผลมีคุณภาพเชื่อถือได้ ?  ช่วงพักเบรก ผมตรวจพร้อมกับผู้รับผิดชอบ  ผลปรากฏว่า คณะครูตอบคำถามข้อ ๑,๒,๓,๔,๕,๘,๑๐ ไม่ได้เลย ส่วนข้ออื่นตอบมีส่วนใกล้เคียงบ้าง ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า คณะครู และโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของหลักสูตร (มีการนำหลักสูตรไปใช้แค่กำหนดรายวิชาที่เรียนตามโปรแกรมการเรียน/ระดับชั้นเท่านั้น) และเข้าใจหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนอย่างถ่องแท้  ดังนั้นพอช่วงที่สองของภาคเช้าประกาศผลการทดสอบ ได้เสียงฮือฮาเต็มที่ประชุม ผมจึงเฉลยและอธิบายให้ความรู้ตามคำถามนั้นไปด้วย  ซึ่งคิดว่าละเอียดพอสมควร  หลังจากพูดคุยกับคณะครูและผู้รับผิดชอบ พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ทุกคนเอ่ยปากบอกว่าชัดเจนมาก ภาคบ่าย ผมจึงอธิบายวิธีการกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมในการเรียนแต่ละวิชา  ตามจุดประสงค์ของกลุ่มวิชา โดยผมจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรแบบนี้

      เนื้อหา กิจกรรม จุดประสงค์

 

 

   

 

ถ้าเป็นหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๖๑  ก็นำคุณภาพนักเรียนระดับชั้นที่หลักสูตรต้องการ มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดการเรียนรู้แกนกลางมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปเป็นตัวชี้วัดการเรียนรู้ของโรงเรียนตัวเองต่อไป  ซึ่งน่าจะออกไปในทางแบบนี้

สาระที่ 

มาตรฐาน

การเรียนรู้

ตัวชี้วัดแกนกลาง

 

ตัวชี้วัดการเรียนรู้ของ รร. /

พฤติกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียน-ครูต้องการ

K

ความรู้

P

ทักษะ -พฤติกรรม

A

จิตพิสัย /

คุณลักษณะ

 

 

         

 

หลังจากที่ครูพอเข้าใจที่มาของหลักสูตร และการนำหลักสูตรไปใช้จัดการเรียนการสอนแล้ว เข้าช่วงที่สองของภาคบ่าย ก็ลองให้คณะครูนำจุดประสงค์มาวิเคราะห์พร้อมกิจกรรมและเนื้อหาตามที่หลักสูตรวางแนวไว้  มากำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ขอนำหลักสูตร ๒๕๖๑ มาแสดงเป็นตัวอย่าง   หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ไว้  ๕ สาระการเรียนรู้  จำนวน ๕ มาตรฐาน  ๒๒  ตัวชี้วัด ดังนี้ (ผมแนบไฟล์ตารางวิเคราะห์หลักสูตร 20240422112238.docx)

          สาระที่

มาตรฐานการเรียนรู้

   ตัวชี้วัดแกนกลาง

 

ตัวชี้วัดการเรียนรู้ ของ รร. /

พฤติกรรมการเรียนรู้

ที่โรงเรียน-ครูต้องการ

   K

ความรู้

P

ทักษะ/

พฤติกรรม

A

จิตพิสัย /

คุณลักษณะ

สาระที่ ๑ การอ่าน

มาตรฐาน ท ๑.๑   

ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิดเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจ แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและ มี นิสัยรักการอ่าน

 

  • อ่านออกเสียงคำ  คำคล้องจอง และข้อความสั้นๆ
  • บอกความหมายของคำ และข้อความที่อ่าน
  • ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
  • เล่าเรื่องย่อจากเรื่องที่อ่าน
  • คาดคะเนเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่าน
  • อ่านหนังสือตามความสนใจอย่างสม่ำเสมอและนำเสนอเรื่องที่อ่าน
  • บอกความหมายของเครื่องหมาย  หรือสัญลักษณ์สำคัญที่มักพบเห็นในชีวิตประจำวัน
  • มีมารยาทในการอ่าน

๑. อ่านออกเสียงและเข้าใจเรื่องที่อ่านได้อย่างถูกต้องพร้อมเล่าเรื่อง,ย่อ,สรุปตามหลักการอ่านโดยอ่านจากหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก ๑๕ เรื่องขึ้นไป ดังนี้

๑.๑  หนังสือแบบเรียนของกระทรวง ศึกษาธิการจบเล่ม จำนวน....หน้า

๑.๒ นิทานอีสป   ๕  เรื่อง

๑.๓ เรื่องสั้นที่ทันสมัย  ๕   เรื่อง

๑.๔ บทร้อยกรอง  ๑๐   บท

๑.๕ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ ๒ ข่าว

๒. อ่านในใจและเข้าใจเรื่องที่อ่านจากหนังสือที่เลือกอ่านได้อย่างถูกต้องตามหลักการอ่าน ๕ ครั้ง

     

สาระที่ ๒ การเขียน

มาตรฐาน ท   ๒.๑ 

ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • คัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด
  • เขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ
  • มีมารยาทในการเขียน

๓. เขียนบรรยายภาพที่ตนเองวาดหรือครูนำมาให้ ๒๐ ภาพขึ้นไปได้อย่างถูกต้อง

๔. คัดลายมือด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัดโดยใช้ตัวอักษรหัวกลมตัวเหลี่ยมได้ถูกต้อง สวยงาม จำนวน ๕๐ ครั้ง 

     

สาระที่ ๓ การฟัง การดู  และการพูด

มาตรฐาน ท ๓.๑   สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ  และพูดแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกในโอกาสต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ และสร้างสรรค์

 

  • ฟังคำแนะนำ คำสั่งง่ายๆ และปฏิบัติตาม
  • ตอบคำถามและเล่าเรื่องที่ฟังและดูทั้งที่เป็นความรู้และความบันเทิง
  • พูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู
  • พูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์  
  • มีมารยาท ในการฟัง การดู และการพูด

 

๕. เล่าเรื่องหน้าชั้นเรียนต่อเพื่อนและครูจำนวน ๔ ครั้งขึ้นไปโดยเล่าจากเรื่องที่ฟังมาหรือจากการดู/ชมหรือจากประสบการณ์ของตนเอง      

สาระที่ ๔ หลักการใช้ภาษาไทย

มาตรฐาน ท ๔.๑   เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

 

  • บอกและเขียนพยัญชนะสระ วรรณยุกต์ และเลขไทย
  • เขียนสะกดคำและบอกความหมายของคำ
  • เรียบเรียงคำเป็นประโยคง่าย ๆ
  • ต่อคำคล้องจองง่ายๆ

 

๖. เขียนคำตามคำบอกและเครื่องหมาย, สัญลักษณ์ที่พบเห็น ครั้งละ ๑๐ คำ จำนวน ๒๐ ครั้งขึ้นไปได้อย่างถูกต้อง

๗. เขียนประสมคำครั้งละ ๒๐ คำจำนวน ๒๐ ครั้งขึ้นไปได้อย่างถูกต้อง

๘. เขียนประโยคที่ถูกต้องตามหลักภาษาครั้งละ ๑๐ ประโยค จำนวน  ๕  ครั้งขึ้นไป

     

สาระที่ ๕ วรรณคดีและวรรณกรรม

มาตรฐาน ท ๕.๑    เข้าใจและแสดงความคิดเห็น วิจารณ์วรรณคดี และวรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่าและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

 

  • บอกข้อคิดที่ได้จากการอ่านหรือการฟังวรรณกรรมร้อยแก้วและร้อยกรองสำหรับเด็ก
  • ท่องจำบทอาขยานตามที่กำหนดและบทร้อยกรองตามความสนใจ

 

๙. นำปริศนาคำทายหรือบทร้องเล่นท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนและ เล่นกับเพื่อน ๆ ได้ ๕ ชนิด

๑๐. ท่องจำบทอาขยานเป็นบทกลอนอย่างสั้น ๒ บทขึ้นไป จำนวน ๔ เรื่อง

     

ที่ผมนำเอาหลักสูตร ๒๕๖๑ มาเป็นตัวอย่าง เพื่อครูยุคนี้ได้ประโยชน์ไปด้วย  เพราะไม่ว่าจะหลักสูตรปรับปรุงใหม่ไปอย่างไร หลักสูตรทุกฉบับก็จะต้องมีจุดมุ่งหมายการการสอน มีวิธีการสอน มีการวัดผลประเมินผลเหมือนกัน เพียงต่างกันที่การใช้คำและรูปลักษณ์เท่านั้น  เช่น ถ้านำเอามาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร ๒๕๖๑ มาเรียบเรียงใหม่ โดยตัดคำว่ามาตรฐานและตัวชี้วัดออกไป ก็จะกลายเป็นคำอธิบายรายวิชา ของหลักสูตร ๒๕๒๑ ทุกประการ เช่น  วิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑

.

           ฝึกอ่านออกเสียงคำ คำคล้องจอง และข้อความสั้นๆ บอกความหมายของคำ และข้อความที่อ่าน ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน เล่าเรื่องย่อจากเรื่องที่อ่าน คาดคะเนเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่าน อ่านหนังสือตามความสนใจอย่างสม่ำเสมอและนำเสนอเรื่องที่อ่าน บอกความหมายของเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์สำคัญที่มักพบเห็นในชีวิตประจำวัน มีมารยาทในการอ่าน

          ฝึกคัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด   ฝึกเขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ  มีมารยาทในการเขียน

          ฝึกฟังคำแนะนำ คำสั่งง่ายๆ และปฏิบัติตาม ฝึกตอบคำถามและเล่าเรื่องที่ฟังและดูทั้งที่เป็นความรู้และความบันเทิง  ฝึกพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู พูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์ มีมารยาทในการฟัง การดู และการพูด

          ฝึกบอกและเขียนพยัญชนะสระ วรรณยุกต์ และเลขไทย เขียนสะกดคำและบอกความหมายของคำ เรียบเรียงคำเป็นประโยคง่ายๆ ต่อคำคล้องจองง่ายๆ

         ฝึกบอกข้อคิดที่ได้จากการอ่านหรือการฟังวรรณกรรมร้อยแก้วและร้อยกรองสำหรับเด็ก  ท่องจำบทอาขยานตามที่กำหนดและบทร้อยกรองตามความสนใจ

            ……….

ซึ่งถ้าพูดกันง่ายๆ  หลักสูตร ๒๕๒๑ ครูก็แค่เอาคำอธิบายรายวิชา พร้อมจุดประสงค์กลุ่มวิชามาวิเคราะห์หลักสูตร  เพื่อกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของครูต่อไปนั่นแหละ (เหล้าเก่าในขวดใหม่) ก็เหมือนหลักสูตรใหม่ ครูและโรงเรียนก็ต้องนำมาตรฐาน-ตัวชี้วัดและสาระสำคัญของหลักสูตร  มากำหนดเป็นตัวชี้วัดการเรียนรู้ หรือออกแบบพฤติกรรมผลการเรียนรู้ตามที่โรงเรียนต้องการพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เต็มที่  แต่ต้องคำนึงถึงขอบเขตบริบทของนักเรียน ครอบครัว ครู โรงเรียน และสังคมด้วย แต่จากที่ผมเคยไปเยี่ยมชมโรงเรียน และการสอนของครู ทุกคนก็ยังแค่นำเอามาตรฐาน-ตัวชี้วัดของหลักสูตรมาประดับในแผนและสมุด ป.พ.๕ เท่านั้น ยังไม่เห็นครูท่านใดและโรงเรียนใดกำหนดตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่เป็นของตัวเองได้ชัดเจนเลย   

หรือจะใช้แนวทาง Backward Design (สพฐ. ยุคหนึ่งขยันออกมาอบรมและบังคับครูทั้งประเทศใช้) มาออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน  ไหนๆก็ไหนๆ ผมขอนำเอาแนวคิดแนวทางของ Backward Design ของ Grant Wiggins และ Jay McTighe  มาสรุปง่ายๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ กําหนดเป้าหมายการเรียนรู้ (Indentity desired goals)

ครูต้องวิเคราะห์หลักสูตรของวิชาที่จะนํามาออกแบบ  ให้เข้าใจถึงคุณภาพนักเรียน มาตรฐานการเรียนรู้  และตัวชี้วัดแกนกลางแต่ละหัวข้อของรายวิชานั้นๆว่า หลักสูตรต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ เกิดความเข้าใจ เกิดทักษะหรือเจตคติเรื่องใดบ้าง

การตั้งคําถามที่ชัดเจน  จะช่วยให้เห็นถึงเป้าหมายการเรียนได้เร็วขึ้น ดังนี้

๑. นักเรียนควรรู้อะไรและมีความเข้าใจในสาระการเรียนรู้เรื่องใดบ้าง

๒. นักเรียนควรแสดงความสามารถในเรื่องใดบ้าง ที่จะทําให้เป็นพฤติกรรมติดตัวหรือเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์

๓. สาระสําคัญใดที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และนําไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวันได้  

   อย่างมีคุณภาพทั้งการเรียนและการทํางานในอนาคต

๔. นักเรียนควรมีความรู้และความเข้าใจที่ยั่งยืนเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง  ที่สามารถนําไปบูรณาการเชื่อมโยงกับ                 ประสบการณ์ในชีวิตประจําวันได้อย่างมีศักยภาพ

.

ขั้นตอนที่ ๒ กําหนดหรือระบุหลักฐานที่จะช่วยแสดงถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียน ว่าได้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่กําหนด(Determine Acceptable Evidence)

ครูต้องระบุเครื่องมือที่ใช้วัดผลประเมินผลพฤติกรรมการเรียนรู้รวบยอด ด้วยวิธีการประเมินอย่างหลากหลาย และต่อเนื่องจนจบสิ้นกระบวนการเรียนรู้ที่ครูจัดขึ้นอย่างเที่ยงตรง ส่งผลต่อการเรียนรู้จริงของนักเรียน เพื่อเป็นหลักฐานที่แสดงถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียน ว่านักเรียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่ได้กําหนดไว้  เช่น แบบทดสอบ แบบประเมิน แบบสังเกตพฤติกรรม  แบบบันทึก  และผลงานของนักเรียนต่างๆ ฯลฯ 

.

ขั้นตอนที่ ๓ วางแผนการจัดกิจกรรมและเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้วางแผนการจัดกิจกรรมและเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Plan learning experiences and instruction)

เมื่อครูได้กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้และหลักฐานที่แสดงถึงพฤติกรรมหรือผลการเรียนรู้เชิงประจักษ์ชัดเจนแล้ว ครูก็เริ่มวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้หลากหลายตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ และทฤษฎีทางการศึกษา เช่น ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสิ่งเร้าและตอบสนอง (S-R Theory)  ทฤษฎีความรู้ (Cognitive Field Theory)  ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพสมรรถภาพและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนให้เต็มที่  โดยครูควรตั้งคำถาม จะช่วยให้ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

๑. นักเรียนจําเป็นที่จะต้องมีความรู้ หรือทักษะพื้นฐานอะไรก่อนบ้าง  จึงจะช่วยพัฒนาให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจจนบรรลุเป้าหมายที่กําหนดไว้ได้

๒. ครูจําเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอะไรบ้าง  จึงจะช่วยพัฒนานักเรียนให้ก้าวไปสู่ความสําเร็จได้

๓. ครูต้องใช้สื่ออะไรบ้าง ที่จะช่วยกระตุ้นนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

๔. ทบทวนว่าขอบข่ายสาระการเรียนรู้  รูปแบบกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้มีความสอดคล้องกันหรือไม่

วิธีการ Backward Design ช่วยให้ครูคิดเหมือนนักวัดผลประเมินผล  โดยครูกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ที่ต้องการไว้ก่อน  แล้วนึกถึงเครื่องมือหรือหลักฐานที่บ่งชี้ว่านักเรียนทำได้แล้ว  ถึงจะมาออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน   ถ้าเทียบกับการทำนา สิ่งแรกคือระบุว่าต้องการข้าวสารที่มีคุณภาพดีชนิดใด เช่น อยากได้ข้าวหอมมะลิจำนวน ๑๐๐ ถังต่อไร่  ต่อไปก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ข้าวหอมมะลิ ๑๐๐ ถังต่อไร่  ก็ต้องคิดหาเครื่องมือ วิธีการในการทำนาที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การทำแปลง เพาะกล้า ปักดำ การดูแลนา การเกี่ยวข้าวว่าจะใช้เครื่องมือชนิดใด จะใช้คนและแรงงานสัตว์แบบเดิมได้ไหม  พอไหม หรือต้องใช้นวัตกรรม/เทคโนโลยีสมัยใหม่อะไร และเมื่อได้เครื่องมือวิธีการทำนาตามเป้าหมายแล้ว คราวนี้ก็มาวางแผนว่าจะต้องดำเนินการทำนาตั้งแต่ต้นจนจบด้วยเครื่องมือวิธีการอย่างไรบ้างจนได้ข้าวหอมมะลิ ๑๐๐ ถังต่อไร่ 

ถ้าครูมองภาพเชื่อมโยงระหว่างผลลัพธ์กับกระบวนการปฏิบัติได้ ครูก็จะพัฒนาศักยภาพสมรรถภาพนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพสักที  แล้วครูก็จะมีความสุข ความภูมิใจในอาชีพของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน 

หลังจากที่ผมดำเนินการฝึกอบรมตามสภาพปัญหาที่พบ โดยเริ่มตั้งแต่พาครูให้เห็นความสำคัญของหลักสูตร  ช่วยกันวิเคราะห์หลักสูตร  กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ หรือ ผลการเรียนรู้ที่โรงเรียน-ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียนโดยเฉพาะ  แล้วสุดท้ายพาครูออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพสมรรถภาพนักเรียนอย่างเต็มที่ตามบริบทของครู นักเรียน ครอบครัว และสังคม เป็นแผนการสอนที่ทุกคนอ่านแล้วมองเห็นภาพชัดเจน ปฏิบัติได้ผลดีจริง ครูบรรจุใหม่รุ่นหลังก็สามารถนำไปเป็นแนวทางการสอนของตัวเองได้   

ผมลองเคยนับว่าผมเป็นวิทยากรมาแล้วเท่าใดจนถึงปัจจุบัน  เท่าที่นับออกก็น่าจะราวๆ ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ แห่งได้  ดังนั้น  พอนับได้ว่าผมทำหน้าที่วิทยากรฝึกอบรม และวิทยากรกระบวนการได้ครบถ้วนนและได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐  ถือว่าเป็นไปตามความตั้งใจแล้วครับ 

และผมขอแนะนำว่า  ถ้าท่านใดอยากมีความสุข  ความภูมิใจในการเป็นวิทยากร  ท่านอย่าตั้งความคาดหวังสูงนัก  และอย่าตั้งความหวังว่าผลงานที่ท่านฝึกอบรมไว้จะอยู่อย่างยั่งยืนไปนานๆนะครับ   เพราะเมื่อองค์กรหรือหน่วยงานใดเปลี่ยนผู้บริหารใหม่  ก็จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฝึกอบรมของท่าน(พวกขี้เกียจ) รีบไปฟ้องเอาใจนายคนใหม่ และส่วนมากนายคนใหม่ก็มักจะเชื่อพวกที่ฟ้องนี้เสียด้วย  นายคนใหม่ก็จะถือโอกาสนี้แสดงตนว่า เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่ดี  มีแนวทางที่ดีกว่า  จึงสั่งยกเลิกแนวทางที่ท่านทำไว้ บางแห่งก็หมดสิ้น  แม้ว่าจะมีผลงานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่าแนวที่ท่านทำไว้ถูกต้องมีประสิทธิภาพมากมายก็ตาม  สุดท้ายพอเวลาผ่านไป  ก็มักจะมาพูดให้เราชื่นใจ(แกมเจ็บใจ)ว่า  รู้อย่างนี้เชื่อท่าน(วิทยากร)ก็ดีแล้ว, เพิ่งรู้ว่าได้ของดีก็สายเสียแล้ว, ที่ท่าน(วิทยากร)แนะไว้ ทำไว้ ได้ผลดีจริง ฯลฯ   สิ่งที่ท่านควรทำ คือ หัวเราะให้คนเหล่านั้น  แล้วก็เดินจากมาเท่านั้นแหละครับ   

                                 และผมก็เชื่อว่าบ้านเมืองเราก็คงเป็นอย่างนี้อีกนานแสนนาน   

.

การเรียนรู้ที่ผมได้จากการเป็นวิทยากร

๑. ทุกคนไม่อยากพบความทุกข์ และเจอปัญหา   ถ้าเราช่วยให้เขาเข้าใจชีวิต  เข้าใจปัญหา เข้าใจความทุกข์  และแนวทางการพัฒนาชีวิต และการทำงาน  ก็จะทำให้เขามีความสุขในการใช้ชีวิต และการทำงานเพิ่มขึ้นได้บ้าง

๒. การที่จะช่วยให้คนพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น  ต้องช่วยให้เขามีเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมาย หรือความใฝ่ฝันก่อน เขาถึงจะมีทั้งแรงจูงใจ และวิสัยทัศน์พอที่จะกล้าเปลี่ยนแปลงตนเองได้

๓. เป้าหมายที่ชัดเจน  ควรมีทั้งความมุ่งหวังหรือจุดมุ่งหมาย  วิธีการ และระดับที่ตนเองอยากได้หรืออยากมี  จึงจะช่วยให้การดำเนินการมีทิศทางแน่นอน สร้างแรงกระตุ้นให้กับบุคลากรอย่างท้าทาย จนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  เช่น 

“...ภายในปี ๒๕๗๐ โรงเรียน..........จะพัฒนาการจัดการศึกษาให้ได้ระดับมาตรฐานสากล  มุ่งพัฒนาศักยภาพสมรรถภาพนักเรียนตามแนว Neuroscience อย่างเต็มที่  เพื่อให้นักเรียนมีชีวิตที่มีความสุขทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก”    

คำสำคัญ (Tags): #การเป็นวิทยากร
หมายเลขบันทึก: 717939เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2024 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2024 07:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท