โครงการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านผสมผสานการออกกำลังกายฟ้อนเชิง


เป้าหมาย : ให้เยาวชนและประชาชนที่สนใจได้รับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สะล้อ ซอ ปิน สืบสานต่ออย่างมีระบบและยั่งยืน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยได้แสดงออกในสิ่งที่ชอบและถนัดให้จริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายและผู้ที่สนใจมีสุขภาพกาย จิต อารมณ์ และสังคมที่ดี

โครงการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านผสมผสานการออกกำลังกายฟ้อนเชิง

 

๑.  คำสำคัญ :          

 

๒.  จังหวัด :           น่าน

 

๓.  กลุ่มเป้าหมาย :  

               กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงาน ได้แก่ เยาวชนและประชาชน จาก ๖ หมู่บ้านในเขตพื้นที่บริการของสถานีอนามัยอ่ายนาไลย แยกเป็น ๑) เยาวชนนักเรียน จำนวน ๑๓๑ คน แยกเป็น วงสะล้อ ซอ ปิน ขลุ่ย จำนวน ๑๐๘ คน และ ฟ้อนเชิง จำนวน ๒๓ คน และ ๒) ประชาชนที่สนใจ ๑๓ คน

 

๔.  เป้าหมาย :

               ให้เยาวชนและประชาชนที่สนใจได้รับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สะล้อ ซอ ปิน สืบสานต่ออย่างมีระบบและยั่งยืน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยได้แสดงออกในสิ่งที่ชอบและถนัดให้จริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายและผู้ที่สนใจมีสุขภาพกาย จิต อารมณ์ และสังคมที่ดี

 

๕.  สาระสำคัญของโครงการ :

               ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของล้านนาในแต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน สำหรับที่ ต.อ่ายนาไลย อ.เวียงสา จ.น่าน มี สะล้อ ซอ ปินและฟ้อนเชิงซึ่งมีสืบทอดกันมานานแต่นับวันจะเลือนหายไป นอกจากนั้นความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุไม่เพียงทำให้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเลือนหายเท่านั้น แต่ยังได้เป็นเหตุให้กับปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกหลายประการ เช่น เมื่อถนนหนทางสะดวก สื่อต่าง ๆ เข้าถึงชุมชน ทำให้เยาวชนรับค่านิยมการบริโภคแบบคนในเมือง มีแข่งขันกันด้านวัตถุนิยมกันมาก ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวต้องตรากตรำทำงานประกอบอาชีพกันหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ ขาดการออกกำลังกายอย่างมีแบบแผน ทำให้เกิดความเครียด ครอบครัวขาดความอบอุ่น ไม่มีเวลาพูดคุยปรึกษาหารือกัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หันไปพึ่งยาเสพติด เป็นต้น ในฐานะที่สถานีอนามัยเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ มีหน้าที่ในการดูแลด้านสุขภาพของประชาชน ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพ จึงคิดที่จะเข้าไปมีส่วนในการป้องกันและแก้ปัญหาโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

๖.  เครื่องมือที่ใช้ :

               โครงการฯ ดำเนินงานผ่านกิจกรรม ๕ ประการ คือ ๑) จัดอบรมให้ความรู้เรื่องศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและการดำรง ไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงานต่อไป โดยวิทยากรผู้มีความสามารถด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจากโรงเรียนสา และจากสภาวัฒนธรรมอำเภอเวียงสา ๒) เชิญกลุ่มวัฒนธรรมพื้นบ้านวงตะวันน้อย กลุ่ม ต.ถืมตอง มาแสดงให้ผู้เข้าร่วมรับการอบรมได้ชม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่จะให้มีความตั้ง ใจพยายามเรียนรู้และฝึกฝนให้ประสบผลสำเร็จ  ๓) เปิดการเรียนการสอน สะล้อ ซอ ปิน และฟ้อนเชิงให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยวิทยากรในชุมชน จำนวน ๕ คน จำนวน ๑๘ วัน และวิทยากรจากโรงเรียนสา ๑ คน จำนวน ๕ วัน  ๔) ปิดการอบรมและประเมินผลโครงการระหว่างการอบรมและเปิดเวทีเพื่อระดมสมองในการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป  และ        ๕) นัดพบกลุ่มเดือนละ ๒ ครั้ง เพื่อฝึกฝนทบทวนให้เกิดความชำนาญและเล่นเข้าวงกันได้อย่างไพเราะและเล่นเพลงได้มากขึ้น

 

๗.  การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน :

               ดำเนินงานโดยสถานีอนามัย โดยมีหน่วยงานในพื้นที่เช่น อบต. และโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม

 

๘.  ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ :

               ระยะเวลาดำเนินงาน ๑ ปี เริ่มต้น ๑ กันยายน ๒๕๔๖ สิ้นสุด ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๗

 

๙.  การประเมินผลและผลกระทบ :

               โครงการมีการประเมินผลการดำเนินงานโดยใช้แบบสอบถาม สำหรับผลการศึกษาพบผลการดำเนินโครงการ ๓ ระดับ คือ ระดับแรกคือ ผลลัพธ์ ได้แก่ การฟื้นฟู/สืบทอดสะล้อซอปิน/ฟ้อนเชิงในพื้นที่, การออกกำลังกายประยุกต์ และพัฒนาเด็กและเยาวชน ระดับที่สองคือ ผลกระทบ ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน  และระดับที่ ๓ เป็นความต่อเนื่องของโครงการ ได้แก่ วงดนตรีพื้นบ้าน การออกกำลังกายประยุกต์ และการสนับสนุนของหน่วยงานในพื้นที่

 

๑๐. ความยั่งยืน

               จากการดำเนินงานโครงการ ทำให้เกิดความสนใจของชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้จะเป็นผู้สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมนี้ต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นหน่วยงานในพื้นที่ยังรับภารกิจนี้เข้ามาดำเนินงานต่อ ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัยที่ได้จัดสรรงบประมาณของทางราชการเพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่างต่อ โรงเรียนในพื้นที่ได้มีการดำเนินงานต่อยอดเช่น การจัดตั้งวงดนตรีในโรงเรียน การออกกำลังกายประยุกต์ นอกจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลก็ยังมีแนวทางในการสนับสนุนต่อยอดด้วยอีกทางหนึ่ง

 

๑๑. จุดแข็งและอุปสรรค

               -    

 

๑๒.                 ที่ติดต่อ :

               สถานีอนามัยอ่ายนาไลย ต.อ่ายนาไลย อ.เวียงสา จ.น่าน

หมายเลขบันทึก: 72094เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท