BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๖ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน


มงคลสูตร

คาถาที่ ๓

ความเป็นผู้ศึกษามาก. ความมีศิลปะ. ความมีวินัยที่ศึกษาดีแล้ว. ความมีถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต. สี่อย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

การดำรงตนเองไว้โดยชอบ ก็คือ การพัฒนาตัวเองไปสู่ มงคล ๔ ประการเหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ในคาถาที่ ๓ นี้ เป็นการเตรียมตัวเองเพื่อจะได้แยกตัวเองออกมาจากครอบครัว หรือเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพังตัวเองโดยความเป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นเอง...มาถึงตอนนี้ ก็สะดุดถึงคำพังเพยของคนเหนือ

คำพังเพยของคนเหนือเก่าๆ บอกว่า ถ้าปลูกยาสูบเองได้ ก็สามารถมีเมียได้แล้ว ...ซึ่งผู้เขียนฟังแล้วก็รู้สึกว่าแฝงข้อคิดไว้มากมาย กล่าวคือ...

สมัยก่อนความซับซ้อนของวิถีสังคมมีน้อย เมื่อออกจากประถมศึกษายังไม่เป็นผู้ใหญ่ก็เที่ยวบ้างช่วยเหลือคนโน้นคนนี้บ้างไปเรื่อยๆ...อายุเป็นเพียงตัวเลข มิใช่ว่าจะกำหนดความเป็นผู้ใหญ่ได้แน่นอน...ความเป็นผู้ใหญ่อยู่ที่การรับผิดชอบตัวเองและสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง....คนเหนือจึงเอาการปลูกยาสูบมาเป็นเครื่องกำหนดความรับผิดชอบ... 

คนสูบบุหรี่มีมาก แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่า การปลูกยาสูบ เป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่สูงมาก (ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยช่วยก๋งปลูกยาสูบ จึงเข้าถึงเรื่องนี้) เพราะยาสูบต้องการน้ำมาก ต้องการปุ๋ยมาก ยิ่งกว่าต้นไม้อื่นๆ... ถ้าว่าขาดสิ่งเหล่านี้โดยไม่เอาใจใส่แล้ว ใบยาสูบที่ได้มาก็จะไม่ฉุ่น (ไม่เมา) สูบไม่ได้  ดังนั้น ผู้ที่ปลูกยาสูบจึงต้องรับผิดชอบสูง ...ความสามารถปลูกยาสูบเองได้ จึงกลายเป็นตัวบ่งชี้ความรับผิดชอบหรือความเป็นผู้ใหญ่ โดยประการฉะนี้..............

 ส่วนในมงคลสูตรได้เสนอการดำรงตนไว้ชอบเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าไว้ ๔ หัวข้อในฐานะเป็นมงคล กล่าวคือ

๑. พาหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้มีการศึกษามาก นั่นคือ จะต้องศึกษาเล่าเรียนให้มากๆ ดังคำที่ว่า อันวิชาควรเรียนทุกอย่าง แต่ไม่ควรใช้ทุกอย่าง ...พาหุสัจจะ นี้ เน้นความรู้เชิงหลักการหรือทฤษฎี

๒. ศิลปะ คือ ความมีศิลปะ นั่นคือ จะต้องฝึกหัด ฝึกฝนสิ่งที่เล่าเรียนมาให้เกิดทักษะ ความชำนาญ สามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้จริง อย่างถูกต้อง เหมาะสม หรือกลมกลืน...ศิลปะ นี้ เน้นความรู้เขิงช่างหรือปฏิบัติ

๓. สุสิกขิตวินัย คือ ความมีวินัยที่ศึกษาดีแล้ว นั่นคือ เรียนรู้ระเบียบแบบแผนที่เหมาะสมสำหรับตนเอง ทำความเข้าใจธรรมชาติของตัวเองแล้วก็จัดระบบให้แก่ตัวเองเพื่อดำเนินการงานได้อย่างเหมาะสม

๔. สุภาษิตวาจา คือ มีถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต นั่นคือ รู้จักถ้อยคำที่ควรพูด ไม่ควรพูด ซึ่งขยายความไปถึงการฝึกมารยาทเพื่อกำหนดตัวเองตามที่เรียกว่าพัฒนาบุคลิกภาพอีกด้วย..

ประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนจะขยายความนตอนต่อไป 

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญามงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 77536เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2007 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จะจำไว้ใช้ครับ...พระอาจารย์...

 

ผมสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง...คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสฝึกฝนการดำรงตนไว้ชอบ...เพราะว่าไม่มีภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย(ถิ่นอันควร)... ไม่มีผู้รู้(สัตตบุรุษ)คอยแนะนำสั่งสอน... อย่างนี้ถือว่าเป็นกรรมแต่ปางก่อนหรือไม่ครับ...

คุณโยมขำ...

แน่นอนครับ..จัดเป็นกรรมในปางก่อนได้..

การให้ผลตามหน้าที่ของกรรมมี ๔ อย่าง

กรรมแต่งให้เกิด หมายถึง ตอนแรกเกิด

กรรมช่วยเหลือ หมายถึง เข้าไปช่วยเหลือตอนแรกเกิด...เช่น ถ้ามืดมา ก็ให้มืดขึ้นไปอีก ..หรือสว่างมาก็ให้สว่างขึ้นไปอีก

กรรมบีบคั้น หมายถึง คอยบั่นทอน ไม่ให้ตอนแรกเกิดดำเนินไปได้สะดวก... เช่น ถ้ามืดมา ก็ให้สว่างขึ้นมานิดหนึ่ง...หรือถ้าสว่างมาก็ให้มืดไปบางจุด

กรรมตัดรอน หมายถึง ทำลายตอนแรกเกิด เช่น ตอนแรกเกิดเป็นลูกมหาเศรษฐี แต่พยาบาลไปเปลี่ยนเป็นลูกขอทาน....

การเข้าใจเรื่องนี้โดยละเอียด ต้องเอาเรื่อง กรรม ๑๒ มาอธิบาย ซึ่งต้องจัดอีก ซี่รี่ หรือชุดหนึ่งโดยเฉพาะ...

ให้เรื่องที่เสนออยู่ตอนนี้บางเรื่องจบไปก่อน แล้วว่างๆ ค่อยนำมาเสนอ ตอนนี้คุณโยมขำลองค้นหาอ่านเองก็ได้เรื่องกรรม ๑๒ นี้

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท