ฝึกให้เด็กฉลาด เป็นคนดี และมีความสุข ...ด้วยวิธีง่ายๆ


เมื่อคนหนึ่งคน...สามารถเป็นคนดีโดยเนื้อแท้ได้นั้น ครูทุกคน ก็จะเป็นเพียงคนๆหนึ่งในเส้นทางของการสร้างคนดี..........แม้ครูจะมิใช่”ผู้เป็นที่หนึ่ง”เหนือผู้ที่เป็นคนดีเหล่านั้น....แต่ความน่าชื่นใจอยู่ก็ที่ว่า ”ครู” ได้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคนดีเช่นกัน.....

(29)

 

 

 

 ฉลาด เป็นคนดี และมีความสุข 

          การอ่านสถานการณ์ หรืออ่านคนออก การบอกได้ว่าในสถานการณ์ชีวิตนั้นๆ   อะไรเป็นประเด็นหลัก ประเด็นสำคัญ อะไรเป็นข้อคิดเห็น อะไรเป็นข้อเท็จจริง ความจริงของเรื่องนั้นๆ คืออะไร การเข้าใจและรู้วิธีแก้ปัญหา รู้วิธีรับมือกับการสื่อสาร ทุกรูปแบบ น่าจะช่วยให้เด็กๆฉลาดขึ้น เข้าใจชีวิตอย่างเป็นปัจจุบันมากขึ้น

          และด้วยทักษะการรู้เท่าทันที่เข้มข้นเพียงพอ ก็อาจถึงขั้นทำให้เด็กๆบางคนสามารถประเมินสถานการณ์และอ่านแนวโน้มอนาคตออก สามารถบอกตนเองได้อย่างสมเหตุสมผล ว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร” ทำอะไร ด้วยหลักคิดที่ไม่ผิดหลักธรรม
.......และ นำไปสู่การรู้จัก “ทุกข์ให้เห็น-สุขให้เป็น” ได้ด้วย

          การออกแบบกิจกรรม การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร สามารถทำได้โดยหลากหลาย ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ผู้ฝึกต้องตั้งเป้าหมายในใจให้ชัดเจน มีวิธีคิดในการออกแบบกิจกรรม ทั้งแบบเตรียมการมาล่วงหน้า และแบบคิดออกแบบเฉพาะหน้าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งถึงแบบปฏิกิริยาโต้ตอบโดยปฏิภาณตามสถานการณ์ในชั้นเรียน  เป็นต้น

          ตัวอย่างการฝึกในชั้นเรียนด้วยกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลาย เป็นการฝึกให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ คิดสังเคราะห์ คิดเปรียบเทียบเชื่อมโยงนำไปใช้ ฯลฯ

          ขณะเดียวกันก็รู้จักสื่อสารสะท้อนความคิดด้วยการพูดและเขียนทั้งการและการถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเข้าใจ รู้เท่าทันความจริงที่อยู่เบื้องหลัง หรือตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง ดังตัวอย่างวิธีฝึก อาทิเช่น

           ฝึกให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของข้อสอบปรนัย โดยการเอาข้อสอบที่ไม่มีโจทย์มาให้ทำ เพื่อให้ฉุกใจคิด (เรื่องรู้เท่าทันข้อสอบปรนัย)

           การฝึกให้พิจารณาผู้ที่อ้างว่ามาจากองค์กรการกุศล มาขายของขณะมีการเรียนการสอนอย่างมีวิจารณญาณ

          การฝึกให้ดูให้ดี ว่าแท้ๆแล้วผู้ที่อยู่ตรงหน้าเราเป็นใคร อย่าเชื่อเอาตามความเคยชิน (เรื่อง อาจารย์ยังไม่มา..นั่นใครน่ะ)

          การฝึกให้เห็นปัญหาการละเลยจุดเล็กๆในการสื่อสาร และวิธีปรับคุณภาพการสื่อสาร เมื่อช่วยกันจัดเก้าอี้ในห้องเรียน แล้วมีเสียงดังรบกวนห้องอื่น (เรื่อง ฝึกเด็กปริญญาตรี ...ให้จัดเก้าอี้)

          การฝึกวิธีคิดเชิงวิพากษ์ และการคิดเปรียบเทียบเชื่อมโยงระหว่างการเขียนประวัติศาสตร์ กับการเขียนข่าว เพื่อให้เข้าใจการประกอบสร้างความจริง (เรื่องประวัติศาสตร์..จริงไหม?)

          การมองเห็นและเข้าใจ “ความเป็นปุถุชน” ทั้งของตนและผู้อื่น เมื่อได้ทำงานที่ต้องมีส่วนได้ส่วนเสีย  มีการให้คุณให้โทษแก่กันและกัน  หรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่นการทำงานเป็นทีม  หรือการทำงานกลุ่มในโอกาสต่างๆ เป็นต้น 

          โดยครูต้อง (ยอมเหนื่อย) ที่จะฝึกเรื่องเหล่านี้อย่างละเอียด ละเอียดอ่อน และต่อเนื่อง  และต้องยอมเสียเวลาที่จะชี้ให้เขาเห็นทุกเม็ด  ไม่ปล่อยผ่านเลยสักเรื่องเดียว  เขาจึงจะเห็นการสัมพันธ์เชื่อมโยง ที่ทำให้เกิดผล  ผลกระทบ  และผลกระทบสืบเนื่องของการสื่อสาร จนครบกระบวนการอย่างง่าย  และอาจนำไปใช้กับเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขาได้ในสักวันหนึ่งข้างหน้า.....

          ทั้งนี้ ผู้สอนต้องประเมินอารมณ์และความรู้สึกของผู้เรียนอย่างฉับไว ต้องคิดให้ทันการณ์ และต้องสื่อสารให้ผู้เรียนตามทันด้วย.....

          การสร้างคนให้เป็นคนดีด้วยจิตใจเนื้อแท้ มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีคุณธรรมขั้นสูงคือความเสียสละ สามารถสร้างควบคู่ไปกับความเก่งในการเรียน และความสามารถในการทำงาน ได้
          แต่ผู้สอนก็ต้องตั้งใจจริง ต้องทุ่มเท และต้องเสียสละอย่างมาก

          เพราะเมื่อคนหนึ่งคน...สามารถเป็นคนดีโดยเนื้อแท้ได้นั้น ครูทุกคน ก็จะเป็นเพียงคนๆหนึ่งในเส้นทางของการสร้างคนดี..........แม้ครูจะมิใช่”ผู้เป็นที่หนึ่ง”เหนือผู้ที่เป็นคนดีเหล่านั้น

         ....แต่ความน่าชื่นใจก็อยู่ที่ว่า ”ครู” ได้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคนดีเช่นกัน.....

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 81956เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เชื่อในเรื่องนี้ค่ะ

เบื้องหลัง ความหลัง เบื้องลึก ก้นบึ้ง...หัวใจ ความคิด คนต้นแบบ

 

หมอเล็กคิดว่า "ครู" มีส่วนอย่างมาก เท่า ๆ หรือเกือบ ๆ เท่า "พ่อ-แม่" ซึ่งเป็นครูของเราคู่แรก ค่ะ

ปล. ปิดเทอมแล้วยังคะ ลูกศิษย์ทั้งหลาย

ช่วยเรียนให้อ.แอมป์มาเขียนบันทึกเพิ่มได้แล้ว

มีคนใกล้ ลงแดง...

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

พี่แอมป์เชื่อแบบเดียวกับคุณหมอเล็กนะคะ  : ) 

 "ครู" มีส่วนอย่างมาก เท่า ๆ หรือเกือบ ๆ เท่า "พ่อ-แม่" ซึ่งเป็นครูของเราคู่แรก"

       น้องภูโชคดีจังที่"ครู"คู่แรก มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งต่อชีวิตเช่นนี้  : )   ไม่แปลกใจเลยที่ลูกภูเป็นเด็กช่างคิด มีจินตนาการ และละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ  หลายคำที่หลานคุยกับคุณพ่อคุณแม่แล้วทำให้พี่แอมป์รู้สึกทึ่งนะคะ   

ขอบคุณอีกหลายๆครั้งค่ะ สำหรับการต่อยอดอย่างน่ารักและเป็นธรรมชาติของคุณหมอเล็ก  ทำให้พี่แอมป์ได้เห็นและซาบซึ้งอีกครั้งว่าผู้ที่มีวิธีคิดและอุดมการณ์แบบเดียวกันนั้น  จะเข้าใจในกันและกันได้โดยไม่ยากเย็นเลย 

กำแพงภาษาอาจเป็นอุปสรรคเพียงเล็กน้อย (ถึงปานกลาง) : )  : )  เท่านั้น 

พี่แอมป์ชอบอ่านหนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์  ท่านพุทธทาส และอีกหลายๆท่านที่เขียนอธิบายหลักธรรม  และได้นำคำบางคำ หรือบางประโยคมาใช้ต่อด้วยความเคารพ และเพราะเห็นว่าเหมาะแก่ความหมายที่เราตั้งใจสื่อสาร  ดังประโยคที่เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ประโยคนี้

                          “ทุกข์ให้เห็น-สุขให้เป็น”

ซึ่งพี่ชอบจริงๆ  และต้องขออภัยที่มิได้อ้างอิงไว้ก่อนหน้านี้นะคะ  พี่ตั้งใจว่าปิดเทอมนี้จะจัดเวลาจัดการเรียบเรียงข้อเขียนให้เรียบร้อยถูกต้องครบถ้วนสักที  จากนั้นจะได้ร่วมกันบ่นเอ๊ยร่วมกันเขียนอะไรต่อมิอะไรต่อไปอย่างสนุกสนาน ตามประสาแม่ๆและป้าๆอย่างเราต่อไปนะคะคุณหมอเล็ก : )   

สวัสดีค่ะ น้องแอมแปร์

  • การเป็นครูที่ดี  คือ  การทำให้ผลผลิต คือ นักเรียน ดีกว่าตนเอง
  • หวังว่าจะได้พบน้อง คนเก่งที่สงขลา ในเร็วๆๆนี้นะคะ

สวัสดีค่ะพี่อ้อยที่เคารพยิ่ง

แอมแปร์ต้องกราบขอโทษพี่อ้อยเป็นอย่างสูงเลยนะคะ ที่ไม่ได้เข้ามาตอบความเห็นนานข้ามปี เนื่องจากงานที่หนักเต็มสองมือมาตลอดจนแอมแปร์นึกขำๆว่าอยากให้มีมือที่สามมาช่วยจริงๆ 

งานมหาวิทยาลัยตอนนี้สุดยอดค่ะพี่อ้อย แอมแปร์สะกดคำว่า "ปิดเทอม" ไม่เป็นมาสองปีแล้ว ตั้งแต่ย้ายคณะและย้ายหลักสูตรจากนิเทศศาสตร์มาอยู่ครุศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทยนี้  แอมแปร์ก็แทบจะกลายร่างเป็นปลาหมึกเพราะงานยุ่งสุดยอดจริงๆ  แต่จะว่าไปแล้วก็สนุกดีค่ะพี่อ้อย  ถ้าเราปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่ต้องผลิตหลักฐานกันทุกกิจกรรมได้  ก็เพลินไปอีกแบบเพียงแต่จะทำให้เราเหลือเวลาน้อยลง ที่จะ "ทำให้ผลผลิต คือ นักเรียน ดีกว่าตนเอง"  เพราะเราต้องเอาเวลาไปคิด ไปเขียน ไปพิมพ์รายงานผลต่างๆ แล้วก็ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน รวมถึงรายงานงบประมาณทุกบาทที่ใช้ว่าได้ผลตามเป้าหรือไม่  แถมยังต้องสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการและ สะ-เต้ก-โฮล-เด้อร์ อีกด้วย ^_^ 

เลยทำให้"ความเป็นครูที่ดี" พร่องไปบางส่วนค่ะพี่อ้อย เพราะต้องเอาเวลาหลายส่วนไปทำรีพอร์ตทุกรูปแบบ  แทนที่จะมีเวลาให้กับเด็กเต็มที่ ทีละคนและให้เวลาอย่างทั่วถึงทุกคน  ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย  เพราะการทำรีพอร์ตต้องใช้เวลา ต้องคิด ต้องผลิต ในขณะที่เวลาที่เราจะต้องให้กับเด็ก ก็อยู่ในยี่สิบสี่ชั่วโมงเดียวกัน ...แอมแปร์นึกแล้วก็กลุ้มใจอยู่เนืองๆ..

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นครูที่ไม่เก่ง แต่เป้าหมายชีวิตของแอมแปร์ ก็คือ "การทำให้ผลผลิต คือ นักเรียน ดีกว่าตนเอง"  ให้จงได้  ดังที่พี่อ้อยสรุปเป็นข้อคิดไว้ให้อย่างน่าประทับใจ  ไม่ว่าจะแลกด้วยเวลาชีวิตอีกนานเท่าไหร่แอมแปร์ก็เต็มใจทำ และจะตั้งใจรออย่างมีความสุขเสมอค่ะ

กราบขอบพระคุณพี่อ้อยมากๆนะคะที่แวะมาพร้อมกับความอบอุ่นอยู่เสมอ แม้ว่าจะยังไม่ได้พบกันในวันนี้ แต่วันข้างหน้ายังมี แอมแปร์เชื่อว่าสักวันคงได้พบกับพี่สาวที่เป็นแม่พิมพ์ในดวงใจคนนี้อย่างแน่นอน 

ขอให้พี่อ้อยมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจและมีความสุขกับทุกสิ่งที่พี่ได้ทำนะคะ

เคารพรักยิ่งค่ะ

แอมแปร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท