การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นเรื่องเดียวกันกับวิถีชีวิต


เป้าหมายสูงสุดของการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร คือการสร้างคนดีที่มีจิตใจดีงามโดยเนื้อแท้ ดังนั้น การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร จึงต้องควบคู่ไปกับการฝึกนิสัยคน “เสมอ”

(49)

 

เพื่อให้มองเห็นอย่างง่ายว่า   การรู้เท่าทันการสื่อสาร Communication Literacy   เป็นเรื่องเดียวกันกับวิถีชีวิตของคนเรา    จึงขอสรุปเป็นแนวคิดอย่างง่ายดังต่อไปนี้

1. คำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นคำธรรมดาทั่วไป ถ้าได้ใช้บ่อยๆก็จะเข้าใจง่าย เหมือนกับคำว่า การออกกำลังกาย

2. คำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร จะเป็นคำสำคัญขึ้นมา ก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้รับผลกระทบจากการไม่รู้เท่าทันการสื่อสาร    พูดง่ายๆว่า  เสียรู้  หรือตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉลาดกว่า   ก็จะทำให้ตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของ   "การรู้เท่าทันการสื่อสาร"  ได้

3. คำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร เกี่ยวข้องกับคำว่า การสื่อสารอย่างมีวิจารณญาณ 
 

  • วิจารณญาณ เป็นเครื่องมือ ช่วยให้เกิดทักษะการรู้เท่าทัน
    การรู้เท่าทันการสื่อสาร เป็นผลปลายทางของ การสื่อสารอย่างมีวิจารณญาณ
  •  คุณครูสามารถสอนการสื่อสารอย่างมีวิจารณญาณ ควบคู่กับ การฝึกทักษะรู้เท่าทันการสื่อสาร ได้   
  • เด็กๆจะ “เห็นจริง”ว่าการสื่อสารเป็นกระบวนการ
  • เด็กๆจะ "มองเห็น"ขั้นตอนและวิธีคิดเรื่องการสื่อสาร โดยสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองแยกแยะโดยแยบคาย ตลอดจนเห็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการสื่อสาร
  • โดยเฉพาะเมื่อคุณครูได้ถอดกระบวนการสื่อสาร และชี้ให้เด็กๆเห็นวิธีคิด เห็นกลไกการสื่อสาร เห็นผลโดยตรงและผลกระทบสืบเนื่องของการสื่อสาร ก็จะเกิดประโยชน์สามชั้น คือ

    3.1. สร้างความตระหนักรู้ เรื่อง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ได้เร็ว จากตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัว
    3.2. เกิด ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร อย่างง่าย
    3.3. (อาจ)สามารถเชื่อมโยง ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

    ขอขยายความคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องดังนี้

    การรู้เท่าทัน หมายถึง

          การรู้จริงตามธรรมดา หรือ การรู้ถึงเหตุการณ์หรือความคิดของบุคคลได้ทันที

วิจารณญาณ หมายถึง 

          ปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณาเหตุผล
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) พ.ศ. 2546)

           ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้อง
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542)



ปัญญา หมายถึง 


            ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) พ.ศ. 2546)

            ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด.
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542)

ขออภัยที่มิได้ประมวลความหมายไว้นะคะ

4. เป้าหมายสูงสุดของการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร คือการสร้างคนดีที่มีจิตใจดีงามโดยเนื้อแท้ ดังนั้น การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร จึงต้องควบคู่ไปกับการฝึกนิสัยคน “เสมอ”

5. การฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อสาร ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ครูแต่ละคนสามารถแสวงหา หรือเลือกแนวทางของตนเองได้ สร้างรูปแบบการสอนอันเป็นลักษณะที่ถนัดเฉพาะตนได้

สำหรับดิฉัน วิธีการหลักที่เลือกใช้ค่อนข้างบ่อย คือ วิธีสอนแบบตั้งคำถามให้คิดแย้ง โดยการถาม- ตอบ เป็นขั้นๆไป ใช้คำถามนำให้เขาคิด ไม่ได้บังคับ เด็กๆจะใช้วิจารณญาณพิจารณาได้เอง

ดิฉันไม่สอนให้เชื่อตาม แต่ตั้งเป้าหมายสรุปตามหลักศีลธรรมไว้ในใจ โดยหวังว่ากระบวนการถาม – ตอบ ที่ดี จะนำไปสู่คำตอบสรุปสุดท้ายด้วยตัวของเด็กเองเอง (เราต้องเคารพในวิจารณญาณของเขาด้วย)

มีบางครั้ง ดิฉันจะไม่บอกคำตอบสำเร็จรูป แต่จะตั้งเป็นคำถามไว้ เด็กๆบางคนจะอยากรู้มากว่าดิฉันจะตอบด้วยคำตอบเดียวกับเขาหรือไม่ ดิฉันบอกพวกเขาว่า ไปค้นหาคำตอบด้วยชีวิตของคุณเองเถิด เพราะคำตอบที่คุณตอบในห้องเรียนวันนี้ อาจไม่ใช่คำตอบเดียวกับอีกยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้...
ครูจะรอวันที่คุณกลับมาตอบครูอีกครั้ง....

( แล้วก็แอบขำว่าหากถึงยี่สิบปีข้างหน้า ก็คงต้องนั่งเคี้ยวหมากปากแดงรอเธอ)

เรื่องรูปแบบการสอนนั้น ครูไผ่ได้กรุณาแนะนำดิฉันเรื่อง Constructivism ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และมองเห็นแนวทางที่จะเดินไปชัดขึ้น

ดิฉันได้มีโอกาสอ่านหนังสือศาสตร์การสอน ของท่าน รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี (2548) ท่านเขียนถึงรูปแบบการเรียนการสอนโดยการซักค้าน (Jurisprudential Model) ว่าเหมาะกับการสอนสาระที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งต่างๆ ซึ่งยากแก่การตัดสินใจ ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด รวมทั้งวิธีการทำความกระจ่างในวิธีคิดของตน ซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนความคิดเห็นหรือจุดยืนของตน หรือยืนยันจุดยืนของตนอย่างมั่นใจขึ้น

ดิฉันอ่านแล้วรู้สึกสนใจมาก และอยากเรียนรู้ที่จะฝึกสอนโดยวิธีนี้ด้วย เข้าใจว่าพี่ๆเพื่อนๆที่อยู่คณะครุศาสตร์จะช่วยอธิบายให้เข้าใจได้มากขึ้นค่ะ


6
.. การออกแบบ การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ขึ้นอยู่กับไหวพริบปฏิภาณของผู้สอน

เพราะ การสื่อสาร เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดขึ้นเป็นกระบวนการ และไม่ใช่เหตุการณ์สำเร็จรูป


บางครั้งครู ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบเฉพาะหน้าเดี๋ยวนั้น (ด้นสด หรือ Improvise) ที่จะคิดกระบวนการฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อสาร ในสถานการณ์นั้นให้ทันท่วงที เรียกว่า ต้องตีเหล็กเมื่อร้อน ไม่เช่นนั้นก็จะลืมโจทย์กันไปทั้งครูทั้งเด็ก

..........................................................................

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)  
ความเห็นเพิ่มเติมที่ 86  20 ก.พ. 2550  

หมายเลขบันทึก: 84293เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2007 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์บล็อกอาจารย์ให้ข้อมูลได้ดีมากเลยครับ ผมขอนำบล็อกของอาจารย์มาไว้ในแพลนเน็ตผมนะครับ เพราะคิดว่าจะได้ความรู้จากบล็อคมากเลยครับ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์  Phirakan 

ยินดีที่ได้รู้จักอาจารย์นะคะ  และยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าอยู่ในสายงานเดียวกัน

ดิฉันสอนในสายการเขียนค่ะ  สอนมานานๆก็รู้สึกว่าสอนให้เด็กๆเขียนง่ายกว่าสอนให้อ่าน  ไม่ทราบจะจูงใจเขาอย่างไรเหมือนกัน 

.........ทราบว่าอาจารย์ชอบอ่านหนังสือ  หากอาจารย์มีข้อคิดดีๆจะกรุณาแนะนำก็จะยินดีอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท