เมื่อต้องทำบทบาทญาติไปส่งคนไข้ตรวจ


บทบาทคนไปส่ง พฤติกรรม ความพร้อมทั้งการเตรียมตัวและความพร้อมทางอารมณ์จะมีผลต่อกำลังใจของคนไข้ และการดูแลต่อเนื่องด้วย

       เคยทำหน้าที่ไปส่งคนไข้ตรวจที่โรงพยาบาลไหมคะ บันทึกนี้ตั้งใจจะเล่าประสบการณ์การทำหน้าที่ของการเป็น "ญาติ" ที่ไปส่งคนไข้ ว่าควรมีความพร้อมและมีการวางตัวอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมสำหรับตัวเองและสามารถเป็นหลัก เป็นขวัญและกำลังใจให้กับคนไข้ที่เราไปส่งด้วยค่ะ ประสบการณ์ตรงนี้เป็นประสบการณ์ในฐานะที่ได้ทำหน้าที่เป็น ญาติไปส่งตรวจบ่อยครั้งค่ะ และมักจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐด้วย

     ทันทีที่มีคนไข้หรือคนเจ็บป่วยในบ้านหรือในครอบครัว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ประเมินความรุนแรง เพื่อที่จะได้คิดคำนวณว่า ควรไปที่ห้องฉุกเฉินหรือห้องตรวจทั่วไป โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโรงพยาบาลที่คิดว่าดี สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ หรือว่า สะดวก ส่วนนี้สำคัญค่ะ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในใจระหว่างญาติ ระหว่างกระเป๋าเงินที่ต้องจ่าย เมื่อชั่งใจให้รอบคอบแล้ว คนเป็นญาติควรเตรียมการณ์ต่อไป

     อันดับที่ 2  เตรียมตัวก่อนไปส่งตรวจ ญาติควรกินข้าวให้อิ่มก่อน กินยา(ถ้ามี)ให้เรียบร้อย จะตระหนกจนลืมตัวไม่ได้ค่ะ เตรียมน้ำขวด ขนม ลูกอม ยาดม กระดาษชำระม้วนเล็กๆ ถุงพลาสติกใส่ของ ผ้าขนหนูผืนเล็กๆ ใส่เป้ค่ะ ..การเตรียมตรงนี้สำคัญค่ะ ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลเกือบทุกที่มีของพวกนี้ขาย แต่ญาติที่ไปส่งคนไข้คงไม่อยากทิ้งคนไข้ไว้ตามลำพังขณะรอตรวจ การใส่ของในเป้หรือถุงผ้าที่สามารถสะพายได้จะดีกว่าใส่ถุงหิ้ว เพราะบางครั้งญาติอาจจะต้องเป็นคนลากรถเข็นไปเอกเรย์ หรือไปห้องเจาะเลือดเองเวลาที่เจ้าหน้าที่ยุ่งมากๆค่ะ ดิฉันพบว่าทุกครั้งที่ไปส่งคนไข้ตรวจจะต้องกินข้าวให้อิ่มและมีความพร้อมทางกายพอสมควร เพราะบางทีหน้าห้องตรวจไม่มีเก้าอี้ให้นั่งก็ต้องยืนทนได้ด้วย อาจจะเห็นว่าเตรียมของน่าสงสัยหลายอย่างด้วย เช่นถุงพลาสติก คือบางครั้งระหว่างรอ คนไข้อาจจะไอ จาม มีเสมหะ ไม่สะดวกลุกไปบ้วนก็ให้บ้วนใส่ถุงนั้นแหละ หรือบางทีต้องขึ้นนอนเปล ก็เก็บรองเท้าใส่ถุงยัดเข้าในเป้ได้เลยไม่ต้องหิ้ว

    อันดับที่ 3 รอตรวจ ญาติควรถามพยาบาลถึงคิวตรวจและเวลาที่หมอมาตรวจ เพื่อที่จะไม่กังวลหากอยากไปเข้าห้องน้ำ และบางครั้งคนไข้ก็จะกระวนกระวายว่ารอนาน คนที่เจ็บป่วยส่วนมากมักจะนั่งก็ไม่เป็นสุข และต้องการตรวจให้เสร็จๆ เร็วๆ ก็จะได้บอกคนไข้ได้ว่าได้คิวตรวจที่เท่าไหร่

   อันดับที่ 4 ขณะหมอตรวจ ควรเข้าไปฟังหมออธิบายคนไข้ด้วย เพราะในภาวะป่วย คนไข้มักจะมีสมาธิฟังหมอได้ไม่นานและอาจจะรับรู้ได้ไม่หมด การทำหน้าที่ญาติก็คือเข้าไปฟังถ้าหมออนุญาต และส่วนไหนที่สงสัยเช่นการต้องดูแลต่อ ควรทำอย่างไร เมื่อหมอให้ยาไปแล้ว จะต้องระวังอาการอะไรอีกบ้าง อีกกี่วันควรกลับมาใหม่ โรคจะหายขาดไหม หมอวางแผนอย่างไรต่อ ดูเหมือนจุกจิกจู้จี้ใช่ไหมคะ แต่ความจริงถ้าญาติสามารถถามเรื่องการดูแลได้และดูแลถูกวิธีจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้เร็วค่ะ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีหมอหรือพยาบาลคนไหนไม่อธิบายค่ะ ยิ่งถามเรื่องการปฏิบัติตัว ส่วนมากมักจะอธิบายกันเต็มที่ 

   อันดับที่ 5    เมื่อตรวจเสร็จ และทราบผลการวินิจฉัยแล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคเรื้อรัง ช่วงเวลานี้สำคัญค่ะ เพราะคนไข้มักจะเกิดความสงสัย ว่า ใช่หรือ ไม่ใช่มั้ง ที่เกิดอย่างนี้เพราะไปทำอย่างนั้นมั้ง ในฐานะญาติจะไม่เถียงค่ะ เพื่อให้คนไข้ได้พูดสิ่งที่คิดออกมาดังๆ ส่วนมากพูดสักพัก (คืออาจจะหลายวัน) และมักจะตัดสินใจบอกคนอื่นเองว่าตัวเองป่วยเป็นอะไร ซึ่งถึงแม้ญาติที่ไปส่งตรวจจะรู้ว่าเป็นโรคอะไรแน่ แต่ก็ต้องให้สิทธิคนไข้ในการเปิดเผยข้อมูลของตัวเอง พอผ่านไประยะหนึ่ง ธรรมชาติของคนก็คือจะเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตัว และมีใครบ้างที่มีอาการเหมือนกัน แม้แต่คนที่ปฏิเสธโรคก็ยังมีการหาข้อมูลค่ะ อาจจะผ่านการฟัง การคุย การแอบอ่านหนังสือ การทดลอง การสังเกตตัวเอง ถ้าคนเป็นญาติให้ความเข้าใจและไม่บีบบังคับเกินไป จะไม่เกิดความขัดแย้ง แต่จะค่อยๆโน้มนำมาปฏิบัติให้เหมาะกับตัวเขามากที่สุด หน้าที่ของญาติคือให้กำลังใจและจัดหาข้อมูลที่ง่าย สะดวก และผ่อนคลายอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ

    อันดับที่ 6 ถ้าอาการของโรคหนักหนา หรือก้ำกึ่ง สีหน้าท่าทางของญาติสำคัญค่ะ เพราะคนไข้จะจับสังเกตว่าอาการของตัวเองรุนแรงมากหรือน้อยจากสีหน้าของคนที่ไปส่งตรวจนั่นแหล่ะค่ะ บางครั้งอาจสงสัยแล้วบ้างจากหน้าตาท่าทางของหมอและพยาบาล แต่คนไข้จะสังเกตหน้าตาของญาติมากที่สุด ญาติต้องตั้งสติให้ดี ให้เกิดความสงบให้มากที่สุด ประสบการณ์ของดิฉันคือท่าทีที่สงบทำให้เกิดกำลังใจแก่คนไข้ค่ะ บางทีญาติคนอื่นๆที่ไม่รู้อาจจะสงสัยและโวยวายไม่พอใจเรื่องการตรวจรักษาหรืออาการที่ไม่ดีขึ้นเร็วเท่าที่ต้องการ ตรงนี้ต้องพยายามวางเฉยและสงบเข้าไว้ เมื่อมีสักคนโดยเฉพาะคนไปส่งตรวจมีท่าทีสงบแล้ว คนอื่นๆ จะเริ่มหายเครียดและปรับพฤติกรรมได้ด้วย บางครั้งจำเป็นต้องคุยกันเองในระหว่างญาติว่า ต้องให้กำลังใจคนไข้อย่างไรด้วย

   ที่เล่ามาเฉพาะการส่งตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกค่ะ ไปส่งคนไข้ตรวจ ไม่ใช่ไปเป็นเพื่อนอยู่ด้วยตอนตรวจเท่านั้นนะคะ บทบาทคนไปส่ง พฤติกรรม ความพร้อมทั้งการเตรียมตัวและความพร้อมทางอารมณ์จะมีผลต่อกำลังใจของคนไข้ และการดูแลต่อเนื่องด้วย ที่เขียนบันทึกนี้ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นพยาบาลแนะนำญาตินะคะ แต่เป็นฐานะคนที่ต้องทำหน้าที่ ญาติที่ไปส่งคนไข้ตรวจ ที่เห็นว่าบทบาทการไปส่งตรวจนี้สำคัญต่อคนไข้ และต่อคนเป็นญาติด้วยค่ะ

   ท่านผู้อ่านละคะ เคยไปส่งใครตรวจในฐานะเป็นญาติบ้างไหมคะ มีประสบการณ์อย่างไรเชิญเล่าสู่กันฟังค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 85055เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2007 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ไปโรงพยาบาลแต่ละที

  • เห็นคนเยอะ หมอน้อย งานยุ่ง
  • แต่เดี๋ยวนี้เขาจัดระบบระเบียบใหม่ ทำให้การเคลื่อนคนไปแต่ละจุดเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทุกจุสอดรับกัน
  • บางที่2โมงได้กลับบ้าน ถือว่าเร็วมากเลยนะครับ ต่างจากเมื่อก่อน ครึ่งค่อนวันก็ยังแกร่ว
  •  เห็นความกระตือรือร้นของเจ้าหน้าที่
  • ถ้าต่างตนต่างเฉื่อยแฉะ คนไข้ก็จะอยู่ในโรงพยาบาลนาน ความวุ่นวายก็ไม่ลดลง
  • ถ้าต่างคนต่างหาทางระบาย
  • ก็จะมีเวลาเหลือให้นั่งถอนหายใจได้
  • ใครอยากทำบุญขอให้บริจาคสร้างตึกตรวจคนไข้ จะช่วยสังคมได้มาก  
อาจารย์แจกแจงการเตรียมตัวไว้ได้ดีมาก

ขอบคุณค่ะ ครูบา ...ใจพองโตเลยค่ะ....

  • เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลทั่วไปดีขึ้นมากจริงๆค่ะ แต่คนป่วยก็เยอะขึ้นมากๆ จริงๆด้วย
  • โรงพยาบาลรัฐก็ยังเป็นที่พึ่งของคนเงินน้อยได้อยู่เสมอค่ะ
  • คนเป็นญาติก็ต้องดูแลตัวเองด้วย สุขภาพของญาติก็สำคัญก่อนจะล้มพับไปกับคนไข้ ...เห็นหลายรายที่พอคนไข้เข้าโรงพยาบาล ญาติที่ดูแลตายก่อนก็มีค่ะ
  • คนที่ไม่มีภาระต้องดูแลญาติพี่น้องที่เจ็บป่วย..โชคดีมากค่ะ...แต่เมื่อมีภาระก็โชคดีที่ได้เห็นสัจธรรมชองชีวิตชัดขึ้นๆๆ

ขอบคุณบันทึกนี้ครับ

ช่วยคนที่จะต้องมีอันไปโรงพยาบาลได้มาก ทั้งผู้ป่วยและญาติ

ผมตอนนี้อยู่ในวัย ใกล้โรงพยาบาล จึงชอบใจอ่านเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจไว้

จะคัดไปบอกต่อ...

ขอบคุณครับ

คนไข้เยอะมากจริงๆครับ แต่ละวันทำงานยังกะผู้ใช้แรงงานก็ไม่ปาน แต่ก็สู้ๆครับ

  ขอบคุณ อาจารย์

P
 ที่แนะนำเรื่องดีๆ ให้ได้เรียนรู้ครับ เคยไปเฝ้าไข้คุณป้า มันเป็นอะไรที่เศร้าใจมากๆ น่าสงสารคนป่วยจริงๆ ทั้งญาติเรา และคนป่วยอื่นๆ

  ว่าแต่นี่ปิดเทอมแล้ว ผมคงต้องผสมยาเคมีจนแขนโตแน่ๆ อิอิ เพราะคนไข้จะเยอะไม่ค่อยได้พักเท่าไหร่ครับ

เรียน อาจารย์พิชัย กรรณกุลสุนทร ดีใจค่ะที่ได้ทราบว่าบันทึกเป็นประโยชน์...

มีผู้เล่าให้ฟังว่า ในโรงพยาบาลจีน ใบให้คนไข้เซ็นยินยอมรับการรักษาเขาจะมีข้อความว่า "แล้วแต่ฟ้าดินลิขิต"...ฟังดูเป็นอย่างไรบ้างคะ...

ขอบคุณค่ะ คุณนักลงทุนเงินน้อย มีข้อเตือนใจบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลคือ ระยะปิดเทอมถ้าไม่สบายเล็กๆน้อยๆ อย่าไปโรงพยาบาล เพราะคนไข้จะเยอะ....(ข้อสำคัญทั้งหมอและพยาบาลจบใหม่ๆ ทั้งน้าน...อิอิ)

หวังว่าคุณป้าของคุณสุขสบายดีแล้วนะคะ

คุณป้าไปสบายแล้วครับ ไม่ต้องทนทรมารบนโลกใบนี้เหมือนเราแล้ว เราก็ต้องสู้ต่อไปเรื่อย จนหมดลมหายใจ เฮ้อ....

ขอบคุณพี่จันทรรัตน์ ที่เป็นห่วงครับ

ขอแถมอีกนิดนะครับ อาจารย์จันทรรัตน์ครับ 

ถ้าจำเป็นต้องส่งต่อการดูแลให้ญาติคนอ่ื่นต่อ ควรถ่ายทอดข้อมูลที่รับทราบจากคุณหมอ คุณพยาบาลที่ฟังมาอย่างครบถ้วนด้วยครับ
  • ผมมีประสบการณ์ อธิบายเรื่องต่างๆให้ญาติคนที่๑ ฟัง แต่เขาไม่ได้เป็นคนดูแลต่อ  ญาติคนที่ ๒ ๓ ๔ ่มาดูแลต่อ ไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยครับ หรือข้อมูลผิดเพี้ยนไปเหมือนเกมส์พรายกระซิบ
  • ปัญหานี้ผมยังแก้ไม่ตกครับ และบ้านเราเป็นสังคมครอบครัวใหญ่ จะผลัดกันมาเฝ้าดูแล ซึ่งความจริงเป็นจุดแข็ง แต่ก็มาเจอข้อจำกัดอย่างที่ผมเรียนให้ทราบ
  • ผมเตือนเรื่องนี้กับญาติในครั้งแรกทุกครั้ง แต่ก็ยังเกิดเรื่องเป็นประจำครับ
  • อาจารย์มีทางออกมั้ยครับ

สวัสดีค่ะ น้องนักลงทุนเงินน้อย (อิอิ..รีบฉวยโอกาสเรียกว่าน้อง)

เสียใจด้วยค่ะ ..เหลือแต่เราผู้ยังต้องวนเวียนไปจนกว่าจะถึงกาลของตัวเอง...ไม่วันใดก็วันหนึ่ง...เศร้าจัง...

สวัสดีค่ะ อาจารย์ เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ชอบของแถมของอาจารย์ค่ะ...

ค่ะ ส่วนมากในครอบครัวใหญ่จะเป็นอย่างที่อาจารย์แถมค่ะ ที่ คนไปส่งตรวจไม่ใช่คนดูแลประจำ คนดูแลก็เวียนกันดูแล พรายกระซิบเลยเกิดเช่นนั้นเอง

เจอลักษณะคล้ายกันค่ะคือญาติก็กำลังกังวลรับข้อมูลจากหมอก็ไม่เต็มที่ พอไปถ่ายทอดก็บวกความเห็นของตัวเองไปด้วยหรือบางทีก็ลดสิ่งที่ควรสำคัญไป ไปให้สิ่งสำคัญกับเรื่องอื่น(ที่หมอไม่ได้เห็นว่าสำคัญ) พอส่งต่อกันเองก็เลยเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อาจารย์แถมอีกป้ายเป็นคำถามต่อท้าย...หาทางออกอย่างไรดี...

ทำให้นึกถึงประสบการณ์ครั้งที่พากันไปส่งปู่ของพี่เขยตรวจแล้วได้รับรู้ว่าท่านเข้าสู่ระยะสุดท้ายของมะเร็งตับ...ตอนนั้นอาจารย์หมอนัดให้พาญาติที่มีหน้าที่ดูแลไปทั้งหมดแล้วเริ่มต้นอธิบายค่ะ ...เรื่องนี้ยังประทับใจค่ะ เพราะว่าใครสงสัยตรงไหนก็ถามๆๆๆ จนได้ข้อมูลสิ่งที่ต้องดูแลและอาการของโรคในขั้นต่อๆไปค่ะอาจารย์..ตอนนั้นการดูแลเลยไปทิศทางเดียวกันจนวาระสุดท้ายของท่านน่ะค่ะ

ขอบคุณที่อาจารย์แวะมาเพิ่มประเด็นที่สำคัญในการดูแลที่ต่อเนื่องให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท