วิชชาธรรมกาย : วิธีทดลองจิตว่าอาสวะจะสิ้นเพียงไหน


วิชชาธรรมกาย : วิธีทดลองจิตว่าอาสวะจะสิ้นเพียงไหน

     ทนี้เป็นบทสอบสวนตัวเอง ว่ายังมีกิเลสอยู่หรือไม่ คำว่า “อาสวะ” แปลว่า กิเลส คือ กิเลสที่ใจ การสอบสวนหรือการตรวจสอบให้สอบสวนที่ใจ

     กามคุณ ๕ คือความยินดีในกาม ได้แก่ การยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส หมายความว่า เรายินดีในรูปร่างของสตรี เรายินดีในเสียงที่ไพเราะ เช่นเสียงของนักร้อง เรายินดีในกลิ่น เช่น กลิ่นน้ำหอม เรายินดีในรส ได้แก่ รสแห่งกาม เรายินดีในการได้สัมผัสกาย ได้ลูบไล้กาย ได้กอดจูบ ลูบคลำ รวมเรียกว่ากามคุณ ๕ เรายินดีหรือไม่ นี่คือเรื่องกามคุณของมนุษย์ กามคุณในทิพย์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือในทิพย์เขาก็มีกามคุณ แต่เบาบางกว่ามนุษย์ อย่างที่เขาพูดว่านางฟ้า นางสวรรค์ ถามว่าเรายินดีหรือไม่

     เรื่องของอยากมี อยากเป็น ยังมีความอยากอยู่หรือไม่ ถ้าเขาให้เราเป็น เทวดา อินทร์ พรหม บรมกษัตริย์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี อยากหรือไม่อยากคราวนี้มาถึงอยากมีบ้าง คือ อยากรวย อยากมีสมบัติมาก ๆ อยากมีลาภ อยากมียศศักดิ์ อยากให้เขายกย่องสรรเสริญ อยากมีความสุขสารพัด นี่คือเรื่องของ “ภวตัณหา”

     คราวนี้มาถึงเรื่อง “วิภวตัณหา” บ้าง ได้แก่ ความอยากให้สิ่งที่เราชอบเราพอใจ คงสภาพอยู่ ไม่ให้เสื่อมสลาย พัสดุกามก็คือทุกชนิดที่เป็นวัตถุส่งเสริมให้กิเลสกามคงสภาพอยู่ เช่น สาวงามของเรา อย่าให้เธอต้องแก่เฒ่าเลย เพื่อสภาพแห่งกามจะได้ไม่เสื่อมคลาย น้ำหอมยี่ห้อที่เราได้กลิ่นแล้วส่งเสริมให้กามกิเลสคงมั่น ขอให้น้ำหอมยี่ห้อนี้อย่าได้หมดไปจากตลาดเลย สรีระของคุณเธอจงเต่งตึงอย่าเ***่ยวย่นได้ไหม ยาสมุนไพรขนานที่กินแล้วส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ ตัวอย่างที่กล่าวนี้ เป็นพัสดุกามทั้งนั้น โจทย์เขาถามว่าเราอยากให้สิ่งเหล่านี้คงสภาพอยู่ไหม?

     คำตอบอยู่ที่ใจเรา หากเรายังยินดีอยู่ ตำราเขาบอกว่ายังมี “รส” คำว่ารสเป็นความรู้ทางวิชชาธรรมกาย หมายถึง เราติดใจรส เราอร่อยในรส เรายังยินดีในรส แปลว่า กิเลสหรืออาสวะยังไม่สิ้น หากเราไม่ยินดีในรส แปลว่า “จืด” แต่นี่แสดงว่า รสยังไม่จืดคือรสยังโอชาอยู่ เมื่อรสยังมีอยู่ชาติเกิดตามทันที ชาติสนับสนุนทันที

     คำว่า “ชาติ” หรือ “ชาต” แปลว่า เกิด คือการการเวียนว่าย หลวงพ่อท่านพูดว่า ยังมีรสมีชาติ คือถ้ารสไม่จืด ชาติก็ตามมาเพราะรสกับชาติเกี่ยวข้องกัน เมื่อมีรสก็ต้องมีชาติเสมอไป

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะตรวจสอบใจของเราอย่างไร?

     o วิธีสอบท่านให้ทำ ๓ สถาน คือ ขณะที่ใจหมกมุ่น ๑ ขณะที่สภาพใจสงบ ๑ และขณะที่
ใจอยู่กับกายธรรม ๑ หากใจของเราให้คำตอบตรงกันใน ๓ วาระจึงจะฟังได้

     แม้ใจของเราจะตอบอย่างไร อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเราหลอกตัวเองมาแล้ว ท่านให้เดินวิชาตรวจสอบเสียก่อน ดังนี้

แนวเดินวิชา

ลำดับแรก

     เดินวิชาถอยหลังจากกายธรรมย้อนมาหากายมนุษย์ หยุดกลางดวงธรรมของกายมนุษย์ เพื่อดูทุกข์และสมุทัย ให้ดูที่ทุกข์และสมุทัยนั้น ว่าดวงตัณหาขุ่นมัวหรือจางหายไป หากจางหาย แปลว่า ตัณหาเบาบางลงแล้ว หากยังขุ่นมัวพึงทราบเถิดว่า ตัณหายังมีบริบูรณ์ เมื่อตัณหามีขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ อุปาทาน ภพ ชาติ ตามแนวการเดินวิชาว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทนั้น

ลำดับสอง 

     การเดินวิชาบทนี้ เมื่อเห็นดวงตัณหา พึงส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงตัณหาให้เห็น ดวงเห็น จำ คิด รู้ ของตัณหานั้น เมื่อเห็นแล้วนึกรวมเห็น จำ คิด รู้ ให้เป็นหนึ่ง แล้วเราก็นิ่งลงไปกลางดวงนั้น เราก็เห็นว่า ดวงตัณหาซ้อนในเห็น จำ คิด รู้ และในเห็น จำ คิด รู้ นั้นมีอายตนะ ๑๒ เมื่อมีอายตนะ ๑๒ ย่อมมี “ผัสสะ” ตัวผัสสะยังอำนวยการให้มีการรับส่งของอายตนะ นั่นคือ ตัณหาเกิดขึ้นได้เสมอ หากมีอะไรมากระทบอายตนะ

     อย่าลืมเดินวิชา เรามุ่งภาคปฏิบัติ ว่าเราปฏิบัติได้หรือไม่ หากเรามุ่งอ่านตำราได้แต่จำได้ พูดได้เท่านั้น แต่ทำไม่ได้ แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรกัน ดังนั้นขอให้มุ่งปฏิบัติทุกเรื่อง ดูบทบัญญัติทุกเรื่อง อ่านคำอธิบายเสร็จแล้วเดินวิชาทันทีอย่าอ่านเพื่อรู้ ขอให้อ่านเพื่อปฏิบัติ วิชาธรรมกายของเราจะสูญต่อเมื่อเราอ่านเพื่อรู้ หากรูปการเป็นอย่างนี้ วิชาธรรมกายจะสูญในเร็ววัน ต่อไป เราจะพบแต่คนท่องวิชาได้ แต่หาคนทำวิชาเป็นไม่ได้

     กิเลสตระกูลต่าง ๆ ที่อยู่ในใจสัตว์โลก มีดังนี้

     อาสวะ คือ กิเลสที่หมักดองใจ

- กามาสวะ เครื่องหมักดองสันดานสัตว์ เป็นเหตุให้อยากได้กามหนึ่ง
- ภาวสวะ เครื่องหมักดองสันดานสัตว์ เป็นเหตุให้อยากมีอยากเป็นหนึ่ง
- อวิชชาสวะ เครื่องหมักดองสันดานสัตว์ เป็นเหตุให้มืด ทำให้โง่เขลาหนึ่ง

     อนุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน

- กามราคานุสัย คือความยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์
- ปฏิมานุสัย คือความไม่พอใจแล้วผูกใจเจ็บจนถึงขั้นจองเวร
- อวิชชานุสัย คือความมืด ความบอด ความโง่เขลา การไม่เห็นธรรม การไม่รู้ธรรม

     สัญโญชน์ แปลว่า เครื่องร้อยรัดสัตว์ให้ข้องอยู่ในวัฎสงสาร

- กามราคสัญโญชน์ มีอารมณ์ยินดีในกามคุณ
- ปฏิฆสัญโญชน์ ไม่ชอบอารมณ์ใด ๆ โดยไม่มีเหตุผล
- อวิชชาสัญโญชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม

     นิวรณ์ แปลว่า เครื่องสกัดกั้นความดี

- กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีในอารมณ์กามคุณ
- พยาปาทนิวรณ์ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ
- อวิชชานิวรณ์ ความไม่รู้สัจธรรม

     โยคะ แปลว่า เครื่องประกอบสัตว์ให้ติดภพภูมิ

- กามโยคะ ความยินดีในกามคุณ
- ภาวโยคะ ความยินดีในภพภูมิต่าง ๆ
- อวิชชาโยคะ ความยินดีในความรู้ที่ไม่ตรงความจริง

     โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำทำให้สัตว์จมอยู่ในสังสารวัฎ

- กามโมฆะ ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ
- ภโวฆะ ความยินดีในภพภูมิ
- ทิฏโฐฆะ ความยินดีในความเห็นผิด
- อวิชโชฆะ ความยินดีในความรู้ที่ไม่จริง

     คันถะ แปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไม่ให้หลุดไปจากโลก

     อุปาทาน แปลว่า ยึดมั่นถือมั่น

     กิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมอง

     กองทัพกิเลสชุดใหญ่หรือเรียกว่า ปิฎกธาตุปิฎกธรรมของฝ่ายอกุศลที่เข้ามาสวมซ้อนในใจและกายของเราทุกกาย มีดังนี้

อภิชญา พยายาท มิจฉาทิฎฐิ

โลภะ โทสะ โมหะ

ราคะ โทสะ โมหะ

กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย

สักกายทิฎฐิ สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา

กามราคะ พยาบาท รูปราคะ อรูปราคะ

มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

     สังโยชน์ คือ กิเลสเครื่องผูกรัดใจสัตว์มี ๑๐ อย่าง

๑. สักกายทิฎฐิ ความเห็นผิดเป็นเหตุให้ถือตัวตน

๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในปฏิปทา

๓. สีลัพพตปรามาส ความถือศีลพรตนอกธรรม

๔. กามราคะ ความติดในกิเลสตาม

๕. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด

๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม

๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม

๘. มานะ ความสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่

๙. อุทธัจจะ ความคิดพล่าน

๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง

     จะเห็นว่า กิเลสเหล่านี้ มีอวิชชากำกับอยู่ท้าย เหมือนกับเรื่องอาสวะและเหมือนกับเรื่องอนุสัยนั้น แต่ละชื่อของกิเลส มีความหมายคล้ายกัน สรุปแล้วก็เรื่อง กามคุณ เรื่องอารมณ์ความไม่พอใจ เรื่องอวิชชา

     กิเลสแต่ละตัวทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งอวิชชาที่กำกับกิเลสตัวนั้นก็ทำหน้าที่ไม่เหมือนกันด้วย ทั้งสัญโญชน์ นิวรณ์ โยคะ โอฆะ มีอวิชชากำกับไว้ทั้งนั้น

     ดูไปแล้วคล้ายสุนัขไล่เนื้อ อวิชชาคือหัวฝูง พอหัวฝูงเห่าให้สัญญาณ ลูกฝูงจะออกไล่สัตว์ทันที ตัวหนึ่งปัสสาวะ สัตว์ใดเข้าแนวเขตปัสสาวะจะตาฟาง ตัวหนึ่งกัดที่เอ็นขา เพื่อให้สัตว์เดินไม่ได้ ตัวหนึ่งขึ้นขี่หลังเพื่อให้สัตว์เกิดกังวลใจ ตัวหนึ่งกัดที่ตา ตัวหนึ่งกัดที่ท้อง สุดท้ายสัตว์เก้งกวางล้มลง แล้วมันก็ช่วยกันรุมจนถึงแก่ความตาย แล้วก็ช่วยกันกินเนื้อกินไส้

     ไม่ผิดอะไรกับมนุษย์ กิเลสร้อยแปดรุมจิตใจเรา เพราะมันอยู่ที่ใจของเราอยู่แล้ว โบราณเขาพูดว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ก็คือกิเลสมากมายและตัณหาก็มีรูปแบบนานานั่นเอง

     มีกิเลสร้ายอยู่ ๒ ตัว คือเรื่องกิเลส ๑๐ นั้น มุ่งมาที่ “อหิริกกิเลส” คือความไม่ละลายต่อบาป และ “อโนตตัปกิเลส” คือ ความไม่กลัวบาป หากกิเลส ๒ ตัวนี้เจริญขึ้นในใจเมื่อไร จะสามารถทำลายล้างได้หมด เพราะตัวอื่นเป็นเชื้อมาก่อน คือ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง)

     กิเลสมีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด กิเลสประเภทที่มีอวิชชากำกับ เป็นกิเลสละเอียดยากต่อการกำจัดต้องใช้วิชาธรรมกายระดับสูง กิเลสบางอย่าง เพียงเรารักษาศีลก็แก้กันได้ กิเลสบางอย่างต้องแก้โดยสมาธิภาวนา แต่การแก้กิเลสประเภทที่มีอวิชชากำกับ แก้ยากมาก ต้องใช้วิชาธรรมกายชั้นสูง เพราะอะไรจึงยาก เหตุที่ยากเพราะกิเลสตระกูลนั้นขยายงานเป็นปฏิจจสมุบาท แยกเป็นทีมงาน รับส่งกันไม่สิ้นสุด คือ

     เมื่อมีอวิชชา จะต้องมีสังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่ กิเลสแต่ละตัวเขาก็มีนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ของเขา เขามีการส่งวิชากันไม่ขาดระยะ เขาทำงานมีประสิทธิภาพ สัตว์โลกเกิดเท่าไร ตายเท่านั้น ไม่รอดเลย แม้แต่หนึ่งเดียว

(จากหนังสือ แนวเดินวิชาหลักสูตรมรรคผลพิสดาร ๑ ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ )

******

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท