เรียนรู้การสร้างนวัตกรรมจากละครเกาหลี


นวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องคิดค้นมาเพื่อการพาณิชย์เสมอไป ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมก็มี

          หากเราดูละครเกาหลีเรื่อง ซอดองโย อย่างต่อเนื่องจะเห็นได้ชัดว่าความรุ่งเรืองของอาณาจักรต่างๆในอดีตนั้น นอกจากกำลังทางทหาร ความกว้างใหญ่ไพศาลของพื้นที่ที่ครอบครอง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรแล้ว สามารถศึกษาค้นคว้าได้จากสิ่งประดิษฐ์ หรือภูมิปัญญาของคนในยุคอดีตในสิ่งต่างๆที่ได้คิดและสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการทดลองปฏิบัติจนได้มาซึ่งคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยได้พบเจอในละครของไทย (ละครของไทยที่ผมรู้สึกว่าสร้างได้มีคุณค่าและสาระหน่อย เห็นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความกตัญญูที่ถือว่าทำได้ดี) ข้อคิดที่ผมได้จากการชมละครดังกล่าวที่สำคัญนอกเหนือจากสิ่งประดิษฐ์คิดค้นแล้วนั้น การสร้างวัฒนธรรมให้คนในหน่วยงานกระตือรือร้นในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นความท้าทายของคนส่วนใหญ่ในหน่วยงาน พอจะมาประมวลให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ดังนี้ 

  • การจดบันทึก สิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปภาพและข้อความ รวมถึงสูตรลับต่างๆ เพื่อไม่ให้ความรู้นั้นๆสูญหาย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดให้มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นได้อีกในภายหลัง
  • ความอุตสาหมานะ เพราะหลังจากที่ได้รับคำสั่งให้มาคิดค้นวิธีการย้อมผ้าสีใหม่ๆ และมีความคงทน หรือการคิดค้นเสื้อเกราะ การคิดค้นกระดาษที่มีคุณภาพสูง (เยื่อกระดาษเหนียว และหมึกไม่ซึมเลอะ) รวมถึงสิ่งต่างๆอีกมากมายในเรื่อง ทุกคนในหน่วยงานช่างก็ช่วยกันคิดหาวิธี ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง โดยไม่ลดละความพยายาม แม้ว่าหลายคนจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
  • การแข่งขัน ขอเรียกว่าการแข่งดี คือแข่งขันกับทำความดี หรือสิ่งที่ควรจะทำ ทำให้เห็นว่าการแข่งขันไม่ใช่เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป ถ้าการแข่งขันนั้นมีความยุติธรรม และแฝงด้วยมิตรภาพ ไม่เหยียบบ่าเหยียบไหล่ หรือทำร้ายใครให้ตัวเองขึ้นมาเป็นคนเด่นคนดัง
  • การประกาศเกียรติคุณ ทุกครั้งที่ใครก็ตามคิดค้นเรื่องใหม่ๆได้ ก็จะเรียกทุกคนมารวมตัวกัน และประกาศผลงานการคิดค้นใหม่ๆโดยยกย่องผู้ที่เป็นคนคิดค้นได้ อีกทั้งในเรื่องไม่สะท้อนให้เห็นถึงความอิจฉาริษยา แต่กลับเป็นว่าทุกคนในหน่วยงานต่างสรรเสริญยกย่องกันและกัน
  • การสร้างความยอมรับ โดยการให้เกียรติแก่ผู้ที่คิดค้นนวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยให้จารึกชื่อ หรือเครื่องหมายที่แสดงว่าผลงานนั้นๆ ได้รับการคิดค้นโดยใคร และจะติดไปกับสิ่งของนั้นๆ สิ่งนี้ผมเชื่อว่าได้กลายมาเป็นตราสินค้า (Brand) ในปัจจุบัน

 

            อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ข้อคิดที่น่าสนใจก็คือ นวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องคิดค้นมาเพื่อการพาณิชย์เสมอไป จะเห็นว่าในละครดังกล่าวหลายครั้งจะสื่อให้เห็นว่าสิ่งที่คิดค้นได้นั้นจะนำไปใช้ในการสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้า หรือไม่ก็เป็นทางการทหาร ซึ่งนำมาซึ่งลาภยศเงินทองต่างๆ แต่ก็มีที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม อย่างกรณีที่พระเอกของเรื่องสามารถคิดค้นสร้างหลุมไฟ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือน และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง อันเนื่องมาจากผลของความชื้นในอากาศลดลงนั่นเอง ซึ่งพระเอกในเรื่องก็ไม่ได้คิดว่าองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องสงวนรักษาเป็นความลับอย่างเดียว แต่เมื่อพบชาวบ้านที่ป่วยหรือได้รับความทุกข์ก็ได้สร้างหลุมไฟให้กับชาวบ้าน ถึงแม้ว่าจะถูกตำหนิบ้างจากคนที่ไม่เข้าใจว่าเอาความลับไปเปิดเผย แต่คนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาก็เข้าใจในภายหลังว่านี่แหละคือความมีน้ำใจ และคิดถึงประโยชน์ของคนในสังคมโดยรวม

หมายเลขบันทึก: 86115เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท