ทำด้วยใจ อะไรก็ดูง่าย และเบาสบาย


ความสำเร็จเล็กๆ อาจเป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่และจุดประกายไฟแห่งศรัทธาได้ไม่รู้มอด

       เป็นเรื่องเก็บตกจากการสัมมนาภาคเมื่อ 24-25 มี.ค.50 นี้อีกค่ะ  ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็น “คุณอำนวย ที่ชื่อจริงว่าปลื้มจิต” ของกลุ่ม 4 มีสมาชิก 5 คน มี “คุณลิขิต” ถึง 2 คน น้องเอ็ม (จริยา) และคุณรัตติยา จากคณะวิทยาศาสตร์ มอ. เวลา 1.30 ชั่วโมงผ่านไป ได้เก็บบันทึกความประทับใจไว้ได้มากมาย  เมื่อจบชั่วโมงเรื่องเล่าแล้ว  คุณอำนวย (ชื่อโหล) ทั้งหลาย  ก็นำมาเล่าต่อในกลุ่มใหญ่ที่นั่งล้อมวงกัน และตั้งอกตั้งใจฟังเรื่องจากกลุ่มอื่นๆ

        ความสำเร็จเล็กๆ แต่เป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่จากห้องเจาะเลือดที่เล่าโดย น้องอร (อรอนงค์) และพี่น้อย (นันทวัลย์)

        เธอทั้งสองจะต้องพบปะผู้คนที่มาเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจต่างๆ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ เสมหะ ฯลฯ วันละไม่ต่ำกว่า 600 คน


        ยิ่งมากคน ยิ่งมากความ และยิ่งมากด้วยอารมณ์ (ที่ร้อนแรงพร้อมจะระเบิด)
       
       คนห้องเจาะเลือดเขาไม่ต้องกู้ระเบิดด้วยกลวิธีอย่างไร น่าสนใจ

        น่าสนใจตรงที่เขาวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน อะไรคือปัญหาของระบบงานและจะทำอย่างไรให้งานบริการเป็นเลิศ ถูกใจ และถูกต้องตามหลักวิชา ต่อผู้รับบริการ

        น้องอรบอกว่า “ต้องใจเย็น ค่อยพูดค่อยจา ฟังปัญหาเขาให้มากขึ้น”  

วันหนึ่ง
ผู้ป่วย “ทำไมราคาแล็บแพงจังเลย”
น้องอร “ขอเช็คดูก่อนค่ะว่าตรวจอะไรบ้าง” และก็พบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการจริง เธอจึงสวมวิญญาณผู้พิทักษ์สิทธิ์ผู้รับบริการ จัดการแก้ไขประสานงานให้ ผู้ป่วยก็แฮปปี้ น้อยอรก็มีสุข (ใจ) แต่ถ้าเธอเพิกเฉยต่อคำบอกกล่าว เหตุการณ์ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

        มาถึงเรื่องเล่าของพี่น้อยบ้าง เธอบอกว่าคนที่มาห้องเจาะเลือดมีตั้งแต่เด็กจนถึงแก่มากๆ มาด้วยรถเข็น เปลนอน เขาก็ช่วยกันจัดระบบ ถ้าอายุ 60 ขึ้นก็จะมีคิวให้พิเศษ  ไม่ต้องมารวมกับหนุ่มสาว ทั้งผู้ป่วยและญาติ แฮปปี้  และชมเชยการจัดการด้วยวิธีนี้

        พอมาถึงเด็กนี่ซิ จะทำอย่างไรไม่ให้ร้องกระจองอแงเพราะกลัวเข็ม  แรกๆ ใครมีขนมติดตัวมาเพื่อจะเป็นอาหารเช้าหรือยามหิวก็จะเอามาแจกล่อใจเด็กก่อน “ลูกอย่างร้องนะคะ ป้ามีขนมให้หลังเจาะเลือดเสร็จ” ชักได้ผลแฮะ  ก็เลยมาคิดร่วมกันอีกว่า จะล้วงกระเป๋าหรือปิ่นโตผู้ใจดีบ่อยๆ ไม่ดีแน่  มองไปรอบๆ ตัว  อ้าว ! เรามีทุนอยู่รอบตัว  “กระดาษ กล่อง พลาสติก ฯลฯ” ล้วนแต่ขายได้  ก็เลยเกิดโครงการ “ล่อใจเด็ก” (แต่ไม่แตกนะคะ)

        เกิดอะไรขึ้น  มีความสะดวกต่อการปฏิบัติงาน  ผู้รับบริการและญาติเกิดความพึงพอใจ  ผู้ปฏิบัติงานก็ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้รับบริการ

        ตัวอย่างเล็กๆ ทั้งสองนี้ เกิดจากจิตใจที่จะช่วยเหลือ โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่อยากบอกว่าที่แท้แล้วคนทำได้ผลตอบแทนเป็นความ “อิ่มใจ ได้บุญ” ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อทำบุญทุกวันจิตใจก็เบิกบาน ทำงานก็เป็นสุข มีหรือทุกข์จะกล้ำกลาย จริงไหมคะ

        อยากให้วัฒนธรรมนี้ดำรงคงอยู่และแพร่ขยายวงกว้างออกไปมากๆ สังคมโดยรวมจะร่มเย็น เป็นสุข

 

หมายเลขบันทึก: 87307เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2007 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มารับสัมผัส....จิตแห่งสุขนี้ด้วยค่ะ

อ่านแล้วมีมีความสุข ทำให้ใจเราอ่อนละมุนขึ้น...นี่แหละค่ะของความดีในการเล่าเรื่องความสำเร็จ ความภูมิใจ เพราะอิ่มใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟังค่ะ...

(^_____^)

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

กะปุ๋ม

เรื่องเล่าดีๆแบบนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ต่อๆไปนะคะ

ขอบคุณที่ทางภาควิชาฯเปิดโอกาสให้คนทำงานทั้งหลายได้นำมาเสนอค่ะ แล้วก็ขอบคุณคุณอำนวยทั้งหลายของเรา (ชื่อโหลแต่ผลงานคับแก้ว) ที่นำมาสื่อสารต่อ อยากอ่านจากทุกมุมมองเลยค่ะ

นำรูปกลุ่ม 4 มาฝาก (ฝีมือคุณไมโตเขาหละ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท