เรื่องดีๆ ที่อยากแบ่งปัน


ความยั่งยืนของคนเกิดจากไหน? หาคำตอบได้ที่นี่

       หาโอกาสนำเรื่องดีๆ ที่ได้เรียนรู้จากเวทีหนึ่งๆ จัดโดยมูลนิธิข้าวขวัญเมื่อปีที่แล้ว (2549)แต่ยังไม่ได้นำมาเผยแพร่ความคิด ความรู้สึกของคุณณัฏฐณิชา ภูมิภาคิน

·         ก่อนเจอข้าวขวัญ ทำงานมาอย่างไร และ รู้จักข้าวขวัญได้อย่างไร   

           สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (Institute for Sustainable Agriculture Community-ISAC)  ดำเนินการเรื่องเกษตรอินทรีย์ รณรงค์ลดการใช้สารเคมี  ตลาดทางเลือก  ที่เจอขวัญขวัญเพราะองค์กรทำเรื่องเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน ลดสารเคมี   เจอกันมาก่อนในเวทีต่างๆ  เหมือนองค์กรทั่วไปที่ไม่รู้จักกัน เวลามีเวทีก็ไปร่วมงาน เราก็รู้จักว่าตรงนี้ทำอะไร ตรงโน้นทำอะไร  จนในที่สุดเมื่อมีงานอะไรก็ชักชวนกันไป คลุกคลีสนิทสนมกันไป โดยเฉพาะหัวหน้าทั้ง 2 หน่วยงานสนิทสนมกัน คือ คุณเดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ และ คุณชมชวน บุญระหงษ์  ผู้อำนวยการ ISAC

         องค์กรเราอยู่ที่เชียงใหม่ ขยายพื้นที่ทำงานที่เชียงใหม่ พื้นที่ทำงานเน้นที่เชียงใหม่ก่อน  เชื่อมเครือข่ายต่างจังหวัด  ที่เรามา มูลนิธิข้าวขวัญ (มขข.) ก็เป็นเครือข่ายกัน เครือข่ายก็จะเชื่อมลักษณะขององค์ความรู้  ในพื้นที่ทำงานเน้นไร่นาตัวอย่าง  พื้นที่รูปธรรมไป

·         องค์กรมีแนวทางการทำงานอย่างไร

         จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น (1) พึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นาและชุมชน เช่น การใช้พันธุ์พืชใหม่ การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง (2) ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (3) พึ่งองค์ความรู้และข้อมูลจากภายนอก  (4) พึ่งตลาดต่างประเทศ  ดังนั้นมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชนเชื่อว่าการทำการเกษตรด้วย ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการทำการตลาดด้วยระบบตลาดทางเลือกจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น ภาวะหนี้สินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากการลงทุนสูงและตลาดไม่เอื้ออำนวย สุขภาพทรุดโทรมอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีและการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี ขาดความมั่นคงทางด้านอาหาร วัฒนธรรมการผลิตและการบริโภคเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง พึ่งตนเองได้น้อยลง เกิดการเอาเปรียบระหว่างเกษตรและผู้บริโภค และเกิดปัญหาของสังคมต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย

           เพื่อให้การทำการเกษตรและตลาดทางเลือกนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน ควรมีการดำเนินงานและความสัมพันธ์เป็นแบบ ชุมชนและมีรูปแบบเป็น ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โดยที่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภคมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือ การมีความสุขความสงบ มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความมั่นคงทั้งทางด้านอาหาร เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพึ่งตนเองได้ในที่สุด

      เราจึงเน้นต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเป็นอันดับแรก  ถ้าไม่มี ISAC ชุมชนสามารถอยู่ได้  ให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในลักษณะของการสร้างเครือข่ายโดยชุมชนเอง  เช่น ทำตลาดด้วยชุมชน เป็นสหกรณ์ ดำเนินงานด้วยตัวชุมชนเอง (สหกรณ์ตั้งมา 5 - 6 ปีแล้ว) ISAC ตั้งสหกรณ์มา 2 แห่ง ที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์   แล้วสหกรณ์เข้มแข็งไหม ?  เค้าสามารถดำเนินการเองได้   ISAC ค่อยๆ ถอนตัวเป็นพี่เลี้ยงและช่วยปรึกษาปัญหาต่างๆ ให้เค้าได้ เมื่อก่อนเราบริหารเอง  มีอะไรก็เข้าไปแก้ปัญหา ทำเองหมด หลังจากนั้นก็ให้สมาชิกตั้งเป็นประธาน คณะกรรมการ ของเค้าเอง  และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่เรื่อยๆ มา

·         หน้าที่พี่เลี้ยงอย่างไร

      เราให้ในเรื่ององค์ความรู้  ฝึกอบรมให้กับสมาชิกของสหกรณ์และคนอื่นๆ  เราใช้พื้นที่เดิมที่มีอยู่เป็นแหล่งเรียนรู้ คอยให้คำปรึกษา-คำแนะนำ  เมื่อก่อนเราทำหมดแต่เดี๋ยวนี้เป็นลักษณะแบบนี้ ควบคุมอยู่ห่างๆ  

      สหกรณ์จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2536 ได้รับทุนจากต่างประเทศ  และตั้งแต่ปี 36 มีองค์กรสนับสนุนเช่น  องค์กรโนวิบ (Novib) ให้ทุน 10 ปี ขณะนี้สิ้นสุดแล้วองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนสถาบัน
1) เกษตรกร และผู้บริโภค ในประเทศ
2) องค์กรโนวิบ (Novib) ประเทศเนเธอร์แลนด์
3) มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (HBF) ประเทศเยอรมนี
4) อ๊อกแฟม เกรท บริเทน
5) สถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย

·         มีแนวความคิดอย่างไร ที่จะทำให้หน่วยราชการกับ ISAC เสริมการทำงานร่วมกันได้

ที่ผ่านมาเราเข้าหาราชการ  ในจังหวัดเรามีราชการสำนักงานไหนที่มีบทบาท ตัวอย่างเช่น อบจ.  เราก็เข้าไป เวลาเค้าจัดเวที  เราก็เข้าไปคุยในประเด็นเกษตรอินทรีย์ ของบประมาณในการประชาสัมพันธ์เรื่องเกษตรอินทรีย์  หรือ การที่เราเข้าไปอบรมร้านค้าปุ๋ยเคมี ในชุมชน ให้ปรับเปลี่ยนโดยลดการขายปุ๋ยเคมี เป็น  มาขายปุ๋ยอินทรีย์    และการมีใบความรู้ให้แก่เกษตรกร.....เคมีไม่ได้ดีอย่างเดียวมีอันตรายด้วย  ต้องใช้ให้ถูกวิธีนะ.....ใบความรู้เรื่องการตรวจดิน ให้ร้านค้าปุ๋ยเคมีเป็นหมอดินให้ได้..สร้างความสัมพันธ์ระหว่างร้านค้าปุ๋ยเคมีกับเกษตรกรในแง่ที่ดี ...จากที่มองว่าร้านขายปุ๋ยเคมีเป็นฝ่ายที่ได้อย่างเดียว

.....ขณะนี้ทำได้แค่อบรมแนวความคิดกับร้านค้าปุ๋ยเคมีใหญ่ๆ ในชุมชน เราคัดเลือกโดยมีแนวคิดว่า เป็นร้านขายปุ๋ยเคมีใหญ่ในชุมชน เป็นร้านที่เกษตรกรรู้จัก    หลังจากนั้นเราก็เข้าไปคุยแนวคิดกับเจ้าของร้านค้าแบบตัวต่อตัว.....ที่คุยมา 4 - 5 ร้าน เค้าเห็นด้วย และชักชวนกันมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้    โดยเจ้าของร้าน 1 คนและพนักงานในร้าน 1 คน  ร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งมีประเด็นต่างๆ เช่น แนวคิดทิศทางในการปรับเปลี่ยนการขายปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์  ให้เสนอปัญหาของร้านค้า ลักษณะของการระดมปัญหา ปัญหาไหนหนักสุดสำหรับเค้า และช่วยกันหาแนวทางแก้ไขด้วยกัน..... อยากเห็นร้านค้าของเขาเป็นเช่นไร.....ส่วนใหญ่ที่ระดมจะตอบว่า  อยากเห็นเกษตรกรในชุมชนมาเชื่อมเค้า พนักงานของเค้ามีความรู้ในเรื่องการขายสารเคมี อย่างงั้นเรามาพัฒนาให้พนักงานมีความรู้เรื่องสารเคมี  ไม่ใช่ขายอย่างเดียว ...ซึ่งในความเป็นจริงพนักงานบางร้านไม่มีความรู้..เริ่มจากเรื่องการปรับปรุงดิน เราลดการขายปุ๋ยเคมีมาขายปุ๋ยชีวภาพแทนไหม...เค้าก็เห็นด้วย....อยากให้ร้านขายปุ๋ยเคมีเป็นหมอดิน วิเคราะห์ดินให้เกษตรกร  เพราะว่าที่ผ่านมาเมื่อเกษตรกรมีปัญหาเรื่องดินต้องส่งไปที่ตัวจังหวัด   กว่าจะรู้ผลการตรวจวิเคราะห์ก็นานและต้องเสียทั้งเวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง.....ซึ่งถ้าร้านขายปุ๋ยในพื้นที่เป็นหมอดินเอง ตรวจดินให้เกษตรกรในพื้นที่จะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งวิธีแก้ปัญหานี้เกษตรกรก็สนใจ   และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและร้านขายปุ๋ยในพื้นที่

 ·         ครั้งนี้ตั้งใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอะไรและในวันนี้ (21 พ.ย. 49) มีกิจกรรมห้องเรียนรู้ 3 ห้องในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ

1. ห้องการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี(แมลง)

2. ห้องการปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี(ดิน)

3. ห้องการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว 

เราสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องกำจัดแมลงโดยชีววิธี (แมลง) เพราะเราไม่ถนัด และอยากมาหาความรู้เรื่องนี้มากทีสุด   สำหรับเรื่องการปรับปรุงดินโดยชีวิวิธี (ดิน) เราก็ทำอยู่ และที่เราไม่ได้เลือกข้าว เพราะพื้นที่เราไม่ได้เน้นเรื่องข้าว เราเน้นเรื่อง ส้ม กับ ผัก

·         ใช้วิธีปลอดสารพิษแล้วผลผลิตของส้มดีขึ้นไหม

          จริงๆ ไม่ได้กำจัดถึงขั้นเคมี มีลักษณะของการไล่แมลงไป รสส้มมีลักษณะเปรี้ยว ไม่หวาน  ไม่เหมือนการใส่ปุ๋ยเคมี ที่มีฮอร์โมนเร่งความหวาน ไล่แมลง เคลือบผิว  สำหรับเราไม่ใส่ซักอย่าง  .....จ๊ะจ๋าได้ทดลองชิมส้มที่คุณณัฏฐณิชานำมาให้ ซึ่งเป้นส้มที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีหรือฉีดสารใดๆ ....ส้มมีรสเปี้ยวอมหวาน ....

·         มีหน้าที่อะไรในที่ทำงาน

          เรา (คุณณัฏฐณิชา ภูมิภาคิน)  เป็นผู้ประสานงานปฏิบัติการเครือข่าย ลด ละ  เลิก การใช้สารเคมี  ....และยังทำหน้าที่ประสานงานในพื้นที่ด้วย ในปีนี้มีประเด็นคือ เยาวชนและเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง  โดยไปอบรมให้ความรู้เรื่องผลกระทบ และเป็นทีมพัฒนาบุคลากร  อบรมเจ้าหน้าที่ทำงานเกษตรอินทรีย์อีกทีหนึ่ง เพื่อให้เขาสามารถจัดกระบวนการในพื้นที่ได้   เรียกได้ว่าทำงานประสานงานในพื้นที่ทั้ง เด็ก ครู เกษตรกร และ ผู้บริโภค

·         มีการทำงานช่วยเหลือกันอย่างไร

           เราทำงานเป็นระบบและทำงานเชื่อมโยงกันตลอด ไม่แยกประเด็นกัน ปฏิบัติการทำงานเป็นทีม  ข้อมูลเราเชื่อมโยงกันตลอด พูดแทนกันได้ แต่ทำแทนกันไม่ได้ เช่น เรื่องตลาดเราพูดได้ แต่เราจัดการตลาดไม่ได้    เรามีเจ้าหน้าที่ 12 คน

·         มีการหาความรู้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

          เรามีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง มีเวทีอะไรเราก็เข้าตลอด ดูว่าใครเกี่ยวข้องบ้างก็ส่งเจ้าหน้าที่คนนั้น และเราไม่ได้ไปอบรมอย่างเดียว เราก็อบรมให้คนอื่นด้วยในเรื่องที่เราทำเช่น พื้นที่การผลิต เกษตรอินทรีย์  สารเคมี ทำแผนเกษตรชุมชน 

ผู้ให้สัมภาษณ์  : คุณณัฏฐณิชา ภูมิภาคิน

สถานที่ติดต่อ : 363 หมู่ที่ 4 ถ.เชียงใหม่-แม่โจ้ ต. หนองจ้อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210

โทรศัพท์ : 053- 354053–4

E-mail : <[email protected]> และ [email protected]

เว็บไซต์ : http://www.isacnn.org/  

หมายเลขบันทึก: 92628เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท