ก้าวสู่ความเป็นองค์กรชั้นนำกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ตอน 1


การสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันในสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทของสหรัฐอย่างต่อเนื่องนั้นนำมาซึ่งความพยายามของรัฐบาลที่จะสู้หรือรับมือกับสินค้าจากญี่ปุ่นให้ได้

ภาคเอกชนตื่นตัวขานรับกรอบแนวคิดการบริหารจัดการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award หรือ TQA) เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาคราชการโดยการนำของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เห็นชอบนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้ให้เหมาะกับการบริหารจัดการภาครัฐ และกำหนดชื่อใหม่เป็น Public sector Management Quality Award หรือ PMQA  

นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2539 ที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการจัดตั้งรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย ด้วยเล็งเห็นว่าถ้าจะปล่อยให้องค์กรของไทยยังคงบริหารจัดการแบบไร้ทิศทาง ขาดแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นระบบแล้ว ความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยเราคงจะต้องถูกประเทศคู่แข่ง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านทิ้งห่างไปไกลแบบไม่เห็นฝุ่น แล้วเมื่อถึงวันนั้นคงจะช้าไปเสียแล้วที่จะลุกขึ้นมากอบกู้สถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้  

เหมือนกับที่ในอดีตประเทศสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลได้ตื่นตัวหันมากระตุ้นให้ภาคธุรกิจในประเทศเร่งปรับตัวอย่างขนานใหญ่ หลังจากที่พบว่าสินค้าอุตสาหกรรมมากมาย โดยเฉพาะรถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมากมาย ด้วยคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้น และราคาแข่งขันได้กับสินค้าของอเมริกา การสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันในสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทของสหรัฐอย่างต่อเนื่องนั้นนำมาซึ่งความพยายามของรัฐบาลที่จะต้องหันกลับมาหากลยุทธ์ที่ช่วยยกระดับภาคธุรกิจของตนให้สามารถสู้หรือรับมือกับสินค้าจากญี่ปุ่นให้ได้ นี่จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยจนได้กรอบแนวทางการบริหารที่เป็นเลิศ และเป็นที่มาของการมีรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) และยังตราเป็นกฎหมายไว้ใน Public Law 100-107 ลงวันที่ 20 ส.ค. ค.ศ. 1987 ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Foundation for Malcolm Baldrige National Quality Award) รางวัลดังกล่าวยังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ “Malcolm Baldrige” ซึ่งดำรงตำแหน่ง Secretary of Commerce ในสมัยนั้น  

สำหรับประเทศไทยถึงแม้จะเริ่มมีรางวัลดังกล่าวช้ากว่าประเทศอื่น แต่ความสำคัญของการมีรางวัลคุณภาพแห่งชาตินี้จะให้เห็นได้จากการที่รัฐบาลของไทยในสมัยนั้น และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ผลักดันให้รางวัลนี้เป็นหนึ่งในแผนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี มีคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานคณะกรรมการคนแรก จนถึงปัจจุบันที่มีคุณสมภพ อมาตยกุล เป็นประธานคณะกรรมการคนล่าสุด กิจกรรมการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรต่างๆได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการนำกรอบการบริหารจัดการตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้เริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อ่านต่อ ตอน 2

คำสำคัญ (Tags): #tqa
หมายเลขบันทึก: 92912เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2007 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท