การอบรมทางไกล มีความเป็นไปได้เพียงใด


ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICT ทำให้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการพัฒนาบุคลากร ที่เราเรียกว่า e-Training ซึ่งหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนได้นำเอามาใช้ และที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเอง ก็นำมาใช้ประมาณ 2 ปี มาแล้ว แต่จะมีคำถามเสมอว่า จะใช้ได้ผลจริงหรือ รูปแบบการใช้งานเป็นอย่างไร ควรนำเอามาใช้แทนระบบการพัฒนาบุคลากรเดิมที่มีอยู่ได้หรือไม่

     ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทดลองนำเอาระบบ e-Training มาใช้ เพื่อทดลองใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT โดยเปิด website ระบบ e-Training ที่ http://202.143.141.237/etraining/ โดยทดลองนำเอาหลักสูตรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่งเต็มรูปแบบ เพียงแต่เป็นการทดลองเพื่อแสวงหาคำตอบหลายประการ
    การดำเนินการได้เริ่มต้น เป็นขั้นตอนดังนี้

  1. ระยะที่ 1 ใช้ e-Training เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามปกติ นั้นคือ ระบบ e-Training เปรียบเหมือนกับสื่อเสริมของการอบรม คือให้ผู้เข้ารับการอบรมในระบบชั้นเรียน เข้าไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่อบรม หรือนอกเหนือจากที่อบรม จากระบบ e-Training โดยเข้าไปเรียนได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนเข้ารับการอบรมในระบบ e-Training 
  2.  ระยะที่ 2 ใช้ e-Training เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามปกติ โดยพัฒนาสื่อในระบบ e-Training ให้มีลักษณะเป็น Interactive มากขึ้น ผู้เข้ารับการอบรมในโครงการพัฒนาบุคลากรนอกจากจะเข้าอบรมตามปกติแล้ว จะต้องขึ้นทะเบียนเข้ารับการอบรม (สมัครเป็นสมาชิก) ในระบบ e-Training แล้วเข้าไปเรียนรู้วิธีการใช้ระบบ e-Training และ เข้าไปศึกษาเนื้อหาในเรื่องที่ กำลังอบรม โดยยังไม่ต้องลงทะเบียนเข้าอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด แต่เข้าไปเรียนได้ตามอัธยาศัย ควบคู่ไปกับการอบรมในชั้นเรียน
  3.  ลงทะเบียนเรียนในระบบ e-Training ควบคูไปกับการอบรมในชั้นเรียน จะใช้กับกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม มีความคุ้นเคยกับระบบ e-Training กระบวนการนี้ ผู้เข้ารับการอบรม จะต้องลงทะเบียนอลรมในหลักสูตรที่เปิดการอบรมในชั้นเรียน กระบวนการอบรมในชั้นเรียน จะให้ผู้เข้ารับการอบรม ใช้ระบบ e-Training มาขึ้น โดยวิทยากรจะลดบทบาทหน้าห้องเรียนลง มาใช้บทบาทการสื่อสารผ่านทาง Online มากขึ้น เช่น การสื่อสารกับผู้เข้ารับการอบรม การสั่งงาน การตรวจงานผ่านทาง e-Mail แต่กระบวนการก็ยังคงใกล้ชิดกับผู้เข้ารับการบอรม  การแนะนำเรื่องต่างๆ ก็ยังคงต้องแนะนำจากในห้องเรียน ยังไม่เป็นรูปแบบทางไกลสมบูรณ์แบบ
  4. การอบรมทางไกล เต็มรูปแบบ โดยทดลองใช้กับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านทาง Internet ผู้เข้ารับการอบรมเป็นบุคลากรของ กศน. จาก ศบอ. ต่างๆ โดยผู้เข้ารับการอบรมไม่ได้เดินทางมาที่ ศนอ. แต่จะสมัคร และเข้ารับการอบรม จากบ้าน หรือที่ทำงาน และเรียนรู้ทางไกลผ่านระบบ e-Training อย่างแท้จริง การดำเนินการได้เริ่มทดลองในเดือนเมษายน 2550 จากการทดลองครั้งนี้ ไปรับประสบการณ์ และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากจริงๆ พร้อมทั้งได้คำตอบว่า e-Training ใช้ได้จริงหรือไม่ หรือ ถ้า จะใช้จะต้องทำอย่างไรบ้าง

 

คำสำคัญ (Tags): #e-training
หมายเลขบันทึก: 93015เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2007 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ผลจากการทดลองทั้ง 4 ระยะที่ผ่านมา ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ดังนี้

  1. การใช้ระบบ e-Training จะใช้ไม่ได้กับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ และใช้ไม่ได้เลยกับผู้ที่ไม่เคยใช้ Internet หรือใช้ได้เพียงเล็กน้อย เพราะระบบ e-Trainining จะต้องผ่านทักษะการใช้ Internet ในหลายเรื่อง ไม่ใช่เพียงเคยเข้าไปใน website ต่างๆ เท่านั้น เพราะทักษะที่จำเป็นต้องใช้ เช่น
         1.1 ทักษะการท่อง web หรือใช้ www มาบ่อย จึงจะทราบว่า ควรจะ คลิกตรงไหน การเปิดหน้า การย้อนกลับ การบันทึกเป็นต้น
         1.2 ทักษะการสมัครสมาชิก หรือการเข้าระบบต่างๆ
         1.3 ทักษะการศึกษาบทเรียนทาง Internet
         1.4 ทักษะการสื่อสารทาง e-Mail เพื่อคอยตรวจสอบว่า มีข่าวถึงเราบ้างไหม จะต้องส่งข่าว ส่งงานอย่างไร
         1.5 ทักษะการเก็บข้อมูลไว้ศึกษาแบบ Offline
  2. การเริ่มต้นใช้งานในระบบ e-Training แบบเต็มระบบทันที เป็นไปได้ยาก เพราะระบบการเรียนการสอนทาง Internet เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่ไม่เคยสัมผัสคอมพิวเตอร์มาก่อน ดังนั้น การแนะนำวิธีการใช้ระบบ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก แม้แต่ผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้ Internet มาแล้วก็ตาม ดังนั้น ในระบบ e-Training ต้องให้ความสำคัญกับส่วนของคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะใช้ระบบ ต้องมีอย่างละเอียด ทั้งผ่านทาง หน้าจอคอมพิวเตอร์ และการประสานงานโดยตรงกับวิทยากรประจำวิชา
  3. ระบบ e-Training ไม่สามารถเข้ามาทดแทนระบบการพัฒนาบุคลากร หรือการฝึกอบรมแบบชั้นเรียนได้ทั้งหมด บางเรื่องไม่สามารถใช้ e-Training ได้เลย โดยเฉพาะการฝึกอบรมที่ต้องการให้เกิดผลจากด้าน จิตใจ หรือ Affective Domain
  4. สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ที่บรรจุไว้ในระบบ e-Training ต้องมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ และอย่างดี ไม่ใช่เป็นเพียงให้เข้าไปอ่านหนังสือผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ต้องเป็นวิธีการ ใช้ คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ ดังนั้นถ้ามีสื่อที่เหมือนกับหนังสือให้อ่าน ผลที่ได้ก็เป็นเพียงการส่งหนังสือไปให้ผู้เข้ารับการอบรมอ่านที่บ้านเท่านั้น
  5. จากการทดลองที่ค่อยๆ ทำเป็นระยะๆ ช่วยให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถใช้ระบบ e-Training เพื่อช่วยเรียนรู้แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะใช้วิธีการ e-Training มาทดแทนการฝึกอบรมแบบชั้นเรียนได้ทั้งหมด เพราะอุปนิสัยในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่มีอยู่ในบุคคลทุกคน แต่ถ้ามีเงื่อนไขอื่นเข้ามาบังคับ จึงจะศึกษาหาความรู้ เพราะคำตอบที่มักจะได้ยินบ่อยมาก สำหรับผู้ที่เข้ามาอบรม คือ "เรื่องนี้ยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่ได้อบรม" ทั้งๆที่เรื่องนั้นมีอยู่มากมาย บน Internet
  6. การทดลองระบบ e-Training ปัจจุบัน เริ่มในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนนักว่า จะเกิดอะไรบ้าง กับการอบรมแบบเต็มรูปแบบ เพราะเริ่มดำเนินการได้เพียง 1 เดือน และกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามารับการฝึกอบรมผ่านระบบนี้ เข้ามาด้วยเงื่อนไข ที่บังคับว่าจะต้องเข้ารับการอบรมระบบนี้ แต่ที่ได้เรียนรู้ในตอนนี้แล้วก็คือ ระบบการสื่อในระบบ e-Training อย่างเดียวยังไม่พอ ระบบโทรศัพท์ โทรสาร ยังต้องนำเข้ามาใช้ร่วมด้วย

จากการติดตามข้อมูลการเข้าใช้งานในระบบ e-Training ที่บันทึกไว้ในระบบ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  1. ปัจจุบันมีสมาชิกที่เข้ามาใช้ระบบ e-Training จำนวน 416 คน ในจำนวนนี้ ส่วนมากเมื่อสมัคร และเรียนรู้เนื้อหาในระหว่างการอบรมแบบชั้นเรียนและจบหลักสูตรการอบรมแล้ว ไม่เคย Login เข้ามาในระบบอีกเลย มีไม่ถึง 10 % ที่จะเข้ามาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีก
  2. มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ โดยเป็นบุคคลภายนอก (หมายึงไม่ไช่ บุคลากรของ กศน.)จำนวนหนึ่ง  โดยสมัครและเข้ามาเรียนรู้ โดยไม่ได้กรอกข้อมูลรายละเอียดว่า เป็นใครมาจากไหน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้
  3. ในแต่ละวัน จะมีผู้เข้ามาเรียนรู้ประมาณ วันละไม่เกิน 10 คน แต่ช่วงปัจจุบันที่ มีการเปิดการอบรมหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นหลักสูตรบังคับที่บุคลากรกศน. ต้องอบรมผ่านระบบ e-Training จะมีผู้เข้ามาในระบบแต่ละวันเพิ่มขึ้น
  4.  ระยะเวลาในการเรียนแต่ละเนื้อหา ของหลักสูตรที่กล่าวในข้อ 3 ประมาณบทละ 3-5 นาที (มีเนื้อหาทั้งหมด 10 บท)
  5. ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ที่เข้ามาในระบบนั้น เป็นตัวจริงหรือไม่ เพราะเมื่อสมัครแล้ว ก็สามารถใช้ Username และ Password ที่สมัคร เข้ามาเรียนได้ (เหมือนกับการใช้บัตร ATM ผู้ที่ถือบัตรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของบัตร ขอให้รู้รหัสก็สามารถถอนเงินได้) ดังนั้น กระบวนการวัดผล ประเมินผล ที่มีผลได้ผลเสีย จะไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบนี้ได้

 

สลักจิตร คุ้มเพ็ชร

สวัสดีค่ะอาจารย์
    เห็น website ของ ศนอ. มีทั้ง e-Learning และ e-Training ไม่ทราบว่า e-Learning กับ e-Training ต่างกันอย่างไร

แตกต่างกัน 3 เรื่อง

  1. กลุ่มเป้าหมาย e-Training สำหรับกลุ่มใป้หมายที่เป็นบุคลากรของหน่วยงาน ในที่นี้คือหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียน ส่วน e-Learning จะเน้นกลุมเป้าหมายผู้เรียน เช่น นักศึกษา กศน. หรือประชาชนทั่วไป  
  2.  เนื้อหาความรู้ หรือเรียกว่า หลักสูตร e-Training จะเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน ในหน่วยงาน ส่วน e-Learning จะเป็นหลักสูตรตามความต้องการหรือความจำเป็นสำหรับผู้เรียน
  3. กระบวนการเรียนรู้ ใน e-Training จะเน้นกระบวนการฝึกอบรม ส่วน e-Learning จะเน้นกระบวนการเรียนการสอน

ส่วนที่เหมือนกัน คือ ใช้ระบบ เดียวกัน คือ Learnsquare ในการจัดการ LMS และ CMS

 

ผมขอชมเชยอาจารย์ศรีเชาวน์ วิหคโตด้วยใจที่ได้นำระบบการเรียนการการสอนทางไกลโดยรูปแบบ etraining เข้ามาใช้เป็นรูปเป็นร่างซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาทางการศึกษาและสอดคล้องกับหน้าที่ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  แต่ประเด็นที่สงสัยและอยากจะขอความรู้จากท่านอาจารย์ก็คือท่านได้นำทฤษฎีการจัดสภาพการเรียนรู้ในรูปแบบใดมาใช้ในการจัดทำในครั้งนี้ครับ

ขอบคุณครับ
ณัฏฐกรณ์  ปะพาน

สวัสดีครับ คุณณัฐภรณ์

  • ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับ
  • คำถามที่ถามมาตอบยากครับ เพราะตอนนี้เป็นเพียงการเรี่มต้นทดลองเท่านั้น เพราะแค่เพียงทำระบบให้เกิดขึ้น ให้มีกิจกรรมต่างๆ เกิด มีกระบวนการเรียนรู้ ก็แทบแย่แล้วครับ ดังนั้น การจัดสภาพการเรียนรู้จึงยังไม่มีการเข้าไปจัดหรือควบคุม คงเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยมากกว่า แต่ตอนนี้ เริ่มมีเวลาติดต่อกับผู้เรียนมากขึ้น เพราะตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 2000 กว่า คน ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เรียนทุกวัน
  • ถ้าอยากทราบว่าใช้ทฤษฎีใด ลองไปประมวลดูนะครับ จากกระบวนการที่เริ่มต้นมาได้ประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา ได้กำหนดกระบวนการดังนี้ครับ

 

  • ผู้เรียนสมัครเข้าเรียน (ความจริงส่วนมากเป็นการบังคับคือ กลุ่มเป้าหมาย กศน. ต้องทดลองเข้ามาใช้ระบบ
  • ผู้เรียนจะเรียนและทำกิจกรรมตามสื่อที่กำหนด ซึ่งตัวสื่อจะเป็นตัวกำหนดกระบวนการเรียนรู้ เพราะเป็นสื่อแบบ Webbased Instruction
  • เรียนและทำกิจกรรมจนครบแล้วจะมีกิจกรรมต่อเนื่องให้ปฏิบัติ จึงจะจบหลักสูตร
  • ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยครับ แต่การวิจัยก็ยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องของการเรียนรู้มากนัก แต่จะลึกในด้านของการพัฒนากระบวนการอบรมทางไกลมากกว่า

     หลังจากที่ได้เขียนเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน จนถึงวันนี้ 31 กรกฎาคม เวลาผ่านไป 3 เดือน กับแนวคิดเรื่องความเป็นไปได้ของการอบรมทางไกล มีข้อคิดดังนี้

  • มีความเป็นไปได้อย่างมากในการจัดการอบรมทางไกล แต่ความเป็นไปได้นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่างมาก โดยขอสรุปเงื่อนไขต่างๆ ที่สำคัญ ตามความคิดเห็น และข้อมูลบางประการที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้
  • เงื่อนไขประการที่ 1 แรงจูงใจในการเข้าเรียน กรณีที่เห็นชัดที่สุดในการอบรมทางไกลหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แรงจูงใจสำคัญที่บุคลากร กศน. มาเข้าเรียนไม่ใช่อยู่ที่ต้องการรู้เรื่องราวตามเนื้อหาในหลักสูตร แต่มีแรงจูงใจอื่นๆ ดังนี้
          1 ถ้าไม่ได่เข้าเรียนและรับวุฒิบัตร จะมีผลต่อการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพราะการต่อสัญญาการจ้าง จะขึ้นอยู่กับการประเมินของศูนย์ ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาเรียน จึงต้องการวุฒิบัตร และช่วงนี้ ก็เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ จึงถูกบังคับว่า จะต้องได้รับวุฒิบัตร ภายในเดือนสิงหาคม
           2 ต้องการทราบว่า e-Training เป็นอย่างไร มีวิธีการเรียนอย่างไร เพื่อจะได้แนะนำคนอื่น หรือลูกน้องได้ จึงต้องสมัครเข้ามาเรียนด้วย
           3 ต้องการความรู้จริงๆ เพราะสนใจเนื้อหา และนำไปปฏิบัติ
  • เงื่อนไขประการที่ 2 ระบบการดำเนินงาน ซึ่งหมายถึงระบบ e-Training ซึงประกอบด้วย Hardware Software และ Information พร้อมทั้งผู้ดูแลและพัฒนาระบบ
         1 อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องข่าย ของทั้งฝ่ายผู้จัด และฝ่ายผู้เรียน ดูที่ฝ่ายผู้เรียนก่อน หลายท่านต้องเรียนจากร้าน Internet Cafe หรือเสียเงินต่อเชื่อม Internet ที่บ้าน  แต่ส่วนมาก สามารถเรียนจากระบบ Network ภายในหน่วยงานได้ ดังนั้น ถึงจะมีแรงจูงใจขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีเครื่อง ก็เป็นเรื่องยากพอสมควร
          มาดูอุปกรณ์ของฝ่ายจัดบ้าง ค่อนข้างจะยุ่งยาก และซับซ้อนมาก ถ้าไม่พร้อมจริงไ ก็คงจะยากมากในการให้บริการ
          2 Software คงไม่ต้องพูดอธิบายยาก เพราะมีเรื่องให้พัฒนาอย่างมาก เพราะจะกระทบถึงกระบวนการเข้าเรียน ระบบที่ใช้ทุกวันนี้ ก็ยังมีปัญหา เป็ยอย่างมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการเรียน และการให้บริการ ที่ต้องตอบปัยหาผ่านทางโทรศัพท์
          3 สื่อการเรียนรู้ มีกระบวนการสร้างและพัฒนาได้ค่อนข้างยุ่งยาก
  • เงื่อนไขประการที่ 3 ผู้ดำเนินการ ทั้งผู้ดุแลระบบ และครูผู้สอนที่นอกจากจะต้องีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ยังต้องใช้เวลาอยู่หน้าจอ สำหรับสื่อสารกับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง  
  • เงื่อนไขประการที่ 4 การขยายการดำเนินงานให้กว้างขวางขึ้น
         จากขัอมูลในวันนี้ คือ 31 กรกฎาคม มีสมาชิก 3,127 คน และส่วนมากเรียนจบหลักสูตรแล้ว ผลที่ตามมาในระยะเวลาไม่นานนี้คือ ระบบ e-Training ก็จะหยุดนิ่ง เพราะสมาชิกเรียนจบแล้ว และไม่มีเงื่อนไขที่เป็นข้อบังคับให้เข้าเรียน ประกอบกับไม่มีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจ และจูงใจให้เรียน
          แนวทางที่ทำได้ 2 แนวทางคือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่เป็นสมาชิกทั้ง สามพันกว่าคน ที่ส่วนมากเป็นครู กศน. ได้มีส่วนเข้ามาเป็นผู้จัดการเรียนการสอนทางไกล นั่นคือการขยายรูปแบบ ไปยัง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด หรืออำเภอ โดยให้บุคคล และหน่วยงานดังกล่าวมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนทางไกล
         อีกแนวทางหนึ่ง คือ เพิ่มหลักสูตรที่น่าสนใจ ที่จำเป็น เข้าไปในระบบ e-Training โดยการวิเคราะห์อย่างดีว่า มีเรื่องอะไรบ้าง ที่จำเป็นต้องรู้ ที่ควรรู้ 
      

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอชื่นชมอาจารย์อีกคนคะ

ขอแสดงคามคิดเห็นดังนี้

e-Training เน้นกระบวนการฝึกอบรม เมื่อเรียนรู้เสร็จแล้ว หยุดนิ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมีการติดตามผล ว่าสมาชิกได้นำความรู้สู่การปฏิบัติจริงตามเป้าหมายของการฝึกอบรมหรือไม่ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของใคร

ในส่วนของอาจารย์ ถือว่าการฝึกอบรมเนื้อหานั้น จบไปแล้ว หากมีการอบรมใหม่ ต้องมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ว่าเป็นกลุ่มใด ต้องการพัฒนา อะไร เพื่อนำไปใช้อย่างไร เนื่องจากการฝึกอบรมเป็นระบบปิด

ขอให้กำลังใจค่ะ

กัลยา แม้นมินทร์

ขอบคุณ คุณกัลยามากครับ สำหรับข้อเสนอแนะ และกำลังใจครับ เพราะจากข้อความที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2552 เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่อง e-Training จนถึงปัจจุบันปี 2552 ได้ดำเนินการมาเรื่อย พบปัญหาใหม่มาเรื่อยๆ ก็ทำให้ได้รับประสบการณืเพิ่มขึ้น จากข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นความจริงมากครับ เพราะดูเหมือนว่ากลุ่มเป้าหมายประมาณ 3000 คน มีส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลง แต่ที่สำคัญคือ การสำรวจความต้องการอย่างจริงจัง ยังไม่ได้ทำเลยครับ เพียงแต่เป็นการสำรวจแบบกว้างๆ และบางเรื่องก็เป็นเรื่องบังคับเรียน ตามนโยบายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท