เมื่อสำนักหอสมุดไปถ่ายทำประเพณีรับขวัญแม่โพสพ (ข้าว) : บ้านไผ่ขอน้ำ อ.พรหมพิราม พิษณุโลก (5)


เดินจากบ้านที่เตรียมบายศรีตัดเข้าไปในหมู่บ้าน ถามทางไปบ้านผู้ใหญ่ชวน พี่ป้าน้าอาชี้บอกทางและบางคนเดินตามมาส่งอีกต่างหาก

           เดินจากบ้านที่เตรียมบายศรีตัดเข้าไปในหมู่บ้าน ถามทางไปบ้านผู้ใหญ่ชวน พี่ป้าน้าอาชี้บอกทางและบางคนเดินตามมาส่งอีกต่างหาก พอมาถึงก็จัดแจงยกเครื่องวีข้าวแบบใช้แรงคนออกมากลางลานเพื่อสาธิตการวีข้าวลีบออกจากข้าวเปลือก ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องจักรจัดการให้หมดแล้วเครื่องใช้มือจึงไม่ค่อยได้ใช้แล้ว บางบ้านปล่อยให้ผุพังไปโดยไม่ได้จัดการอะไร

ลานตากข้าวเปลือก

 ลานตากข้าวเปลือก นิยมตากตามลานหน้าบ้าน

เครื่องวีข้าวลีบออกจากข้าวเปลือกใช้แรงคน

เครื่องวี (พัด) ข้าวแรงคน วิธีการใช้ง่ายๆ เพียงนำข้าวเปลือกใส่ลงในเครื่องและหมุนเครื่องให้เกิดลมพัดเอาข้าวที่เบากว่าออกทางด้านบนและข้าวที่หนักกว่าจะถูกส่งลงมากองกับพื้นด้านหน้า ใช้คนทำงานอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ คนตักข้าวใส่เครื่องด้านบน คนหมุนให้เกิดลมพัด และคนคอยกวาดข้าวให้ออกห่างจากเครื่องเพื่อเปิดทางให้ข้าวที่เหลืออยู่ในถังด้านบนตกลงมาได้สะดวกขึ้น และอาจมีบางคนที่เหลือคอยคนให้ข้าวร่วงลงมาง่ายขึ้นจากเครื่องข้างบนซึ่งบางครั้งจำเป็นและบางทีไม่ต้องก็ได้

ช่วยกันวีข้าวลีบออกจากข้าวเปลือก

      ใช้แรงคนช่วยสร้างกระแสลม

     แต่วันนี้เรามีสมาชิกมาช่วยออกแรงหลายคน ข้าวกองโตๆ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็จัดการเรียบร้อย หลังจากนำข้าวใส่กระสอบเรียบร้อยแล้ว ผู้มาร่วมออกแรงได้ของกำนัลเป็นน้ำสีเหลืองอำพัน 1 ขวดกลม หัวเราะกันครื้นเครงไป

***หมายเหตุตบท้าย หนึ่ง  บ้านในชนบทไทยเรา ไม่มีรั้วเหมือนในเมือง เดินทะลุถึงกันหมดไม่มีซอย ที่สำคัญไม่มีใครหลงทาง

***หมายเหตุตบท้าย สอง พึ่งรู้ว่าพี่นิด (สุวรรณา) เก่งเรื่องการจัดการข้าวเปลือก ข้าวลีบ เพราะโตมากับโรงสีข้าว มิน่าช่วยเขาทำงานคล่องซะขนาดนั้น



ความเห็น (7)
ยังมีอีกนะ คนที่ทำหน้าที่หมุนเครื่องวี บางครั้งต้องทำหน้าที่เปิดฝาด้านท้ายของเครื่องวี เพื่อให้ข้าวที่ฝ่อ หรือข้าวที่ไม่มีคุณภาพออกทางด้านท้ายของเครื่อง ส่วนด้านหน้าก็จะได้ข้าวเปลือกที่พร้อมจะนำไปสี ที่เห็นอุปกรณ์ที่เปิดท้ายจะใช้อุปกรณ์แหลมๆ หรือเคียวเกี่ยวข้าว เปิดช่องเล็กๆไว้ เพื่อให้ข้าวที่ไม่มีคุณภาพออกทางด้านหลัง (จากภาพ คนที่สวมหมวกและถือไม้ไว้นั่นแหละ)
ไหนบอกว่ามีคนช่วยเยอะไงล่ะ ในภาพเห็นมีคนทำไม่กี่คนเอง นอกนั้นหลบแดดกันหมดเลย (ขอบอกฝุ่นละอองที่ออกมากับข้าวเปลือกคันมาก ขนาดคนอง ยังต้องพึ่งแป้งเย็นเลย)
  • ขอบคุณพี่โหน่ง ที่มาช่วยเติมรายละเอียดให้ค่ะ คนเดียวหรือจะจำได้หมด จริงมั๊ยคะ
  • ใครที่ไปด้วยกันอยากต่อเติมให้สมบูรณ์ ก็ช่วยกันหน่อยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังค่ะ  หาดูไม่ค่อยได้แล้วค่ะ
  • ขอบคุณ คุณรานีค่ะ ที่แวะมาอ่านบันทึก
  • ที่พิษณุโลกของเรามีอะไรน่าเก็บ น่าค้นหา อีกมากทีเดียวค่ะ

ที่อีสานก็คงเช่นกัน เมื่อเครื่องจักรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงาน เกือบทุกขั้นตอน

เหลือแต่ยังไม่เคยเห็นเครื่อง ดำนา (ปลักกล้า) เท่านั้นเองครับ

  • สวัสดีค่ะ คุณแจ๊ค ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ
  • เครื่องจักรทำงานใช้เวลาน้อยกว่า ได้งานดีกว่า สะดวกกว่า แม้จะลงทุนเยอะกว่า เลยเข้ามาแทนที่ ทั้งคน ทั้งควาย ได้รวดเร็วมาก
  • ทำไงได้ละคะ โลกนี้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอๆ นี่นา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท