๘.ยกภาวะผู้นำชุมชนโดยเวทีสาธารณะ...บทเรียนกับเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (๑)


"........ทำให้เวทีสาธารณะระดับเครือข่ายชุมชน มีบทบาทต่อการจัดให้ชุมชนร่วมกันสังเคราะห์และสะท้อนผลจากกระบวนการเรียนรู้ในช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งจากเวทีที่จัดขึ้น ไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น ซึ่งในเชิงกระบวนการแล้ว จัดว่าเป็นการพากันเรียนรู้ที่จะมุ่งสู่อนาคตและพัฒนาแนวการจัดการร่วมกันนั่นเอง..........."

               การพัฒนาสุขภาพในกระบวนทัศน์ใหม่ เป็นสุขภาพที่เน้นการป้องกัน  ควบคุม และสร้างเสริม  หรือเป็น วิถีสุขภาพเชิงรุก (Proactive Heath Development Approach)  รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการรักษาความมีสุขภาพดีและความใส่ใจต่อการสร้างสุขภาวะ (Well-Being Health) ให้สมดุลกับสุขภาพแบบตั้งรับซึ่งเน้นการต่อสู้ให้หายจากความเจ็บป่วย (Illness Health)  กลุ่มปัจเจกและชุมชนต่างๆทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก ต่างกำลังมุ่งสู่สุขภาพในกระบวนทัศน์ใหม่นี้

               สุขภาพแนวใหม่นี้  ต้องปรับวิธีคิดใหม่  ใช้ความรู้แนวใหม่ที่เชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดกับการปฏิบัติ ตลอดจนต้องสร้างคนและพัฒนาศักยภาพชุมชน ให้มีความสามารถในการจัดการตนเองแบบใหม่ 

               การลงมือทำและเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างภาควิชาการซึ่งมีทักษะทางวิชาการและความรู้ (Knowlege and Technical Skills) กับภาคประชาชนและเครือข่ายชุมชน ซึ่งเป็นผู้นำทางประสบการณ์และมีความรู้ที่สามารถปฏิบัติในวิถีการดำเนินชีวิตจริง (Non-Technical Skills) เป็นหนทางหนึ่งของการพัฒนาสุขภาพแนวใหม่นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง

               ผู้นำ  ความเป็นผู้นำ  และภาวะผู้นำ เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพในแนวทางใหม่นี้  เพราะแนวทางการพัฒนาสุขภาพเชิงรุกนั้น  ประชาชนและชุมชนต้องยกระดับเชิงคุณภาพของการมีส่วนร่วม จะเป็นผู้รอรับบริการไถ่เดียวไม่พอ (Passived Participants) ทว่า ต้องสามารถร่วมปฏิบัติและทำในสิ่งที่ตนเองต้องการด้วยตนเอง (Active Participants) 

              สามารถนำการตัดสินใจ   ริเริ่มด้วยตนเอง  และจัดการตนเองได้  ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นสุขภาพของภาคประชาชนที่ประชาชนและชุมชนต้องมีความสามารถในการแสดงความเป็นผู้นำและบริหารจัดการภาวะผู้นำ  การพัฒนาทักษะปัจเจก ความเข้มแข็งของชุมชน และการส้รางเสริมศักยภาพชุมชนระดับต่างๆ จึงเป็นการจัดการการพัฒนาสุขภาพที่สำคัญ และทำให้เรื่องสุขภาพกับการพัฒนาสังคม เกื้อหนุนส่งเสริม และบูรณาการเป็นเรื่องเดียวกัน 

             อย่างไรก็ตาม   ผู้นำ  ความเป็นผู้นำ  และภาวะผู้นำ  แม้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการยกระดับการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสุขภาพโดยองค์รวมของสังคม แต่ก็มีความหมายที่แตกต่างกัน  

             ผู้นำ หมายถึง ตัวผู้นำและตำแหน่งหน้าที่ในการเป็นผู้นำ ซึ่งโดยทั่วไป  เราแบ่งผู้นำออกเป็นสองแบบ คือผู้นำแบบเป็นทางการ และผู้นำโดยธรรมชาติ

            ประชาชนและชุมชนส่วนใหญ่ของสังคมไทย  มักรู้จักแต่เพียงผู้นำที่เป็นทางการหรือผู้นำโดยตำแหน่ง อีกทั้งรับรู้ตนเองเพียงการเป็นราษฎร  รอคอยเป็นผู้ตาม  และเป็นผู้ต้องได้รับบริการจากการที่มีผู้อื่นมาทำในสิ่งที่ตนเองต้องการให้  ซึ่งทำให้หลายสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตและเป็นสิ่งที่ต้องร่วมสร้างด้วยตนเอง  ขาดพลังจัดการให้ทัดเทียมกับความจำเป็นของโลกปัจจุบัน  ทั้งในเรื่องสุขภาพและอื่นๆ 

             ความเป็นผู้นำ  หมายถึง คุณสมบัติและลักษณะการเป็นผู้นำ  ซึ่งตัวผู้นำและผู้อยู่ในตำแหน่งการนำ  จะมีอยู่อย่างหลากหลาย อีกทั้งอาจจะแตกต่างกันในความเป็นผู้นำ แม้ในฐานะการเป็นผู้นำในเรื่องเดียวกัน โดยทั่วไป  เรารู้จักความเป็นผู้นำโดยจำแนกไปตามวิถีการนำ และวิธีการที่ใช้แสดงความเป็นผู้นำ เป็นต้นว่า  ผู้นำเชิงอำนาจ  ผู้นำทางปัญญา  ผู้นำทางความรู้  ผู้นำทางจิตใจ   ผู้นำเชิงบารมี   ผู้นำทางค่านิยม  ผู้นำทางการปฏิบัติ  ผู้นำทางความดีงาม  เป็นอาทิ

            การจำแนกความเป็นผู้นำ ด้วยตำแหน่งผู้นำ มักทำให้ชุมชนและสังคมรู้จักความเป็นผู้นำในความหมายที่แคบ ต่อเมื่อศึกษาเรียนรู้ศักยภาพและทุนทางสังคม  ตลอดจนความสามารถพิเศษที่ปัจเจกแต่ละคนจะมีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติในชีวิตของตนเอง เราจึงจะสามารถเห็นได้ว่า  แท้จริงแล้วปัจเจกแต่ละคนมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน  อีกทั้งสามารถแสดงความเป็นผู้นำออกมาในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกัน 

           บางคนรู้เป็นหมอ  บางคนรู้เป็นชาวนา บางคนรู้ทำมาค้าขาย  บางคนรู้สร้างความสุขแก่ผู้อื่น  บางคนรู้ความเป็นครู  บางคนรู้การช่าง  บางคนรู้ปกป้องคุ้มภัยชุมชน  บางคนรู้ถ่ายทอดสื่อสาร  บางคนเก่งทำเรื่องส่วนรวม  บางคนเก่งทำอาหารเลี้ยงดูผู้คน และอีกสารพัดที่หลายหลากอยู่ในความเป็นมนุษย์ 

            กล่าวได้ว่า  ทุกคนจะมีความสามารถในการแสดงความเป็นผู้นำออกมาในสถานการณ์ต่างๆไม่เหมือนกัน  เมื่ออยู่ร่วมกันและจัดการสารทุกข์สุขดิบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว  ชุมชน และกลุ่มก้อนการรวมตัวเป็นหน่วยทางสังคมต่างๆ  ปัจเจกทุกคนจึงต่างพึ่งพาอาศัยกัน บางโอกาสเป็นผู้นำ บางสถานการณ์เป็นผู้ตาม  หากขาดผู้อื่นเราก็จะไม่มีทางพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ คนอื่นและผู้อื่นก็เช่นกัน ผู้คนและสรรพสิ่งจึงเป็นองค์ประกอบซึ่งกันและกันทั้งความมีและไม่มี  การนำและการตาม  

              ภาวะที่ผุดขึ้นจากการจัดการเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งทำให้ทุกคนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ควรโน้มการคิด ตัดสินใจ และพากันปฏิบัติไปทางไหน และอย่างไรนั้น  เราเรียกองค์รวมของสิ่งนั้นว่า ภาวะผู้นำ (Collective Leadership)

            อย่างไรก็ตาม  คนส่วนใหญ่มักไม่เห็นความเป็นผู้นำที่อยู่ในตนเอง  กล่าวอย่างที่สุด  เรามักรู้จักผู้นำที่ให้คนอื่นแสดง  ทว่า มักไม่ได้เรียนรู้ให้เห็นความเป็นผู้นำภายในตนเอง ความเป็นผู้นำในอีกความหมายหนึ่ง จึงหมายถึงการเรียนรู้เพื่อเห็นตนเองและสามารถเคารพการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆของตนเองได้  ความเป็นผู้นำกับความเชื่อมั่นในตนเองจึงมีความหมายที่ใกล้ชิดกันมาก และผู้นำในความหมายนี้ ย่อมหมายถึงผู้นำโดยการปฏิบัติ ซึ่งปัจเจกและชุมชนทุกคนสามารถแสดงความเป็นผู้นำได้ (Leader is not position,but action) (จาก ศาสตราจารย์ ดร. วาย เจมส์ ซี เยน และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.กระแส ชนะวงศ์) 

             ภาวะผู้นำ  เป็นผลรวม (Collectives) จากการจัดการเหตุปัจจัยและเงื่อนไขแวดล้อมหลายด้าน โดยทั่วไปแล้ว  ปัจเจกและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทสังคมไทย มักไม่กล้าแสดงความเป็นผู้นำที่มีอยู่อย่างจำเพาะตนออกมา เพราะสภาวการณ์ต่างๆ ทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนประสบการณ์ทางสังคมของชุมชน ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงศักยภาพและทุนทางสังคมอันมีอยู่อย่างหลากหลาย 

            ดังนั้น การมีผู้นำ และความเป็นผู้นำ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายของประชาชน จึงต้องการการเรียนรู้และพัฒนาการจัดการที่ดี  กลุ่มปัจเจก ชุมชน และเครือข่ายชุมชน จึงจะสามารถแสดงภาวะผู้นำออกมา ทางด้านสุขภาพและการส้รางเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติเชิงรุกและจำเป็นต้องก่อเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในฐานะผู้ริเริ่มและผู้นำการปฏิบัติ  จึงจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง

             อย่างไรก็ตาม  นอกเหนือจากการเกิดวิกฤติและสั่งสมในกระบวนการทางสังคมจากคนหลายรุ่น (Learning Community by Crisis) ซึ่งอาจจะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว  การให้ประสบการณ์ทางสังคมแก่ปัจเจก  ชุมชน และเครือข่ายเชิงพื้นที่ของชุมชน โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมและการจัดเวทีเรียนรู้สาธารณะ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาและการลงมือทำจริง  ก็นับว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และสร้างประสบการณ์ตรงที่จะมีความหมายต่อการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning)

             เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาวะผู้นำของชุมชนไปด้วย ก็จะทำให้เกิดเวทีการเรียนรู้ตนเอง  เคารพตนเอง  เคารพชุมชนอื่น เคารพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เห็นศักยภาพและความเป็นผู้นำของตน อีกทั้งได้ประสบการณ์ตรงในการคิดและแสดงการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับอนาคตของตนในประเด็นการจัดการที่มีความเป็นส่วนรวม มีความหมาย และเข้าถึงคุณค่าที่ลึกซึ้งมากยิ่งๆขึ้น   เป็นการจัดการและกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งผุดบังเกิด ภาวะผู้นำ (Collective Leadership) เสริมศักยภาพชุมชนให้มีโอกาสเพิ่มพูนความสามารถจัดการเรื่องส่วนรวมของตนเองร่วมกับคนอิ่น       

              แนวคิดเบื้องต้นดังที่กล่าวมา  ทำให้เครือข่ายวิจัยสร้างสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง  กับเครือข่ายวิจัยลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และเครือข่ายชุมชน  จัดเวทีสาธารณะ  เพื่อเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายการวิจัยที่ทำงานเชิงพื้นที่ภายใต้ประเด็นที่แตกต่างกัน  เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2550  ที่วัดบางช้างเหนือ  ตำบลคลอใหม่  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม  โดยมีเครือข่ายการวิจัยด้านสุขภาพจากคณะและสถาบันต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล  กับ อบต และชุมชนคลองใหม่  เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

                ขณะเดียวกัน  ก็เป็นเวทีจัดการเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งทำให้เวทีสาธารณะระดับเครือข่ายชุมชน มีบทบาทต่อการจัดให้ชุมชนร่วมกันสังเคราะห์และสะท้อนผลจากกระบวนการเรียนรู้ในช่วงเวลาต่างๆ  รวมทั้งจากเวทีที่จัดขึ้น ไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น  ซึ่งในเชิงกระบวนการแล้ว จัดว่าเป็นการพากันเรียนรู้ที่จะมุ่งสู่อนาคตและพัฒนาแนวการจัดการร่วมกัน  พัฒนาศักยภาพปัจเจก และเสริมสร้างภาวะผู้นำชุมชน นั่นเอง

                 แง่มุมดังกล่าวนี้  มีความน่าสนใจทั้งในเชิงระเบียบวิธีของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเสริมพลังชุมชน และเป็นวิธีวิทยาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการจัดการภาวะผู้นำของชุมชน   นอกเหนือจากบทเรียนที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง.

 

                

            

หมายเลขบันทึก: 96361เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท