กิจกรรมทำร้ายหนู


ผมเขียนบันทึกนี้ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ดูขวางคลองและแสบนัก ปล.คนเครียดง่ายห้ามอ่าน

กิจกรรมทำร้ายหนู

มีเพื่อนๆหลายคนที่มีลูกมาเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนของลูกมักมีกิจกรรมต่างๆที่ให้พ่อแม่มีส่วนร่วม หรือแม้ไม่ก็ไม่ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมแต่ต้องไปดูลูกแสดง กิจกรรมอะไรบ้างล่ะที่อยากจะยกตัวอย่าง อันที่พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมที่ฮิตติดตลาดเป็นอย่างมากคือ วันพ่อหรือวันแม่ ที่ทางโรงเรียนจะให้พ่อหรือแม่ไปนั่ง แล้วให้ลูกๆของตนมากราบตัก ฟังดูเหมือนดี เป็นการส่งเสริมจริยธรรมและประเพณีอันดีงานของประเทศไทยเรา ซึ่งนับวันมีแต่จะลดน้อยหายไปทุกที

การปลูกฝังสิ่งดีๆอันนี้ น่าจะช่วยทำให้เด็กเกิดจิตสำนึก เลยปลูกฝังมันซะตั้งแต่เล็กๆน่าจะดี แต่มาคิดดูอีกที ปีหนึ่งก็มีครั้งเดียว แล้วทุกวันมันไม่ต้องกราบพ่อ สวัสดีแม่กันบ้างหรือ พ่อแม่มิใช่ว่าจะสำคัญเป็นพิเศษเฉพาะในวันที่ไปนั่งให้ลูกไหว้ที่โรงเรียนในวันสำคัญ แต่บทบาทและน่าที่ที่สำคัญมันมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกลมหายใจต่างหากที่สำคัญที่สุด

 ลองนึกดู ในวันที่เด็กๆคนอื่นๆ มีพ่อหรือแม่มาให้กราบ เด็กบางคนที่พ่อหรือแม่ไม่มี จะต้องทำหน้าอย่างไรในวันสำคัญต่างๆ คนจัดงานเป็นผู้ใหญ่ เป็นครูอาจารย์ บรรลุนิติภาวะกันแล้ว ย่อมนึกและคิดได้ว่าเป็นธรรมชาติของสัตว์โลก ที่ย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ และตาย พ่อแม่ก็มีการตายด้วยเช่นเดียวกัน แต่เด็กเล็กๆในโรงเรียนประถม จะเข้าใจหรือไม่ ในหัวของเขาคงเกิดการเปรียบเทียบกันจ้าละหวั่น ทำไมเพื่อนเขามีแม่ ทำไมเราไม่มีแม่ อายก็อาย เสียใจก็เสียใจ

ถึงตรงนี้ ผมอยากถามว่ากิจกรรมกราบตัก อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของโรงเรียน ยังคงน่าจะเทิดทูนอยู่อีกหรือไม่ แย่ไปกว่านั้น หากพ่อแม่คนไหนไม่ว่างจะไป แล้วลูกน้อยจะรู้สึกอย่างไร คุณครูเคยมีความรู้สึกร่วมกับหนูน้อยเหล่านั้นหรือไม่ คำตอบคือ อาจจะมี แต่ผมไม่รู้ ในสังคมยุคปัจจุบันที่มีแต่การแข่งขัน ทุกคนต้องทำงาน การจะออกไปร่วมกิจกรรมบางอย่าง อาจจะส่งผลกระทบต่องานเขาได้ ด้วยหน้าที่การงานของข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือลูกจ้างบริษัท การจะลางานออกไปโรงเรียนลูกก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว

กิจกรรมชั้นนำอีกอย่าง คือกิจกรรมที่ลูกทำ แต่พ่อแม่ต้องไปดู หากมองแบบผิวเผิน ผ่านแล้วผ่านไป คงไม่ต้องมานั่งเขียนอยู่อย่างนี้ แต่นี่บางทีเทอมหนึ่งๆมีการแสดงหลายครั้ง ไหนจะเกิดอยากจัดงานเต้นรำ งานเดินแฟชั่นของเด็กๆ งานวันปีใหม่ งานวันคริสต์มาส อะไรอีกมากมายหลายงาน สิ่งที่คุณครูต้องคิดก็คือ ใครเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเรื่องชุดแสดง ใครต้องมาดูลูกๆของเรา ใครต้องลางาน ลาเจ้านาย คำตอบก็คือเรา พ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกไม่เหมือนเพื่อน อยากไปซื้อลูกโป่งให้ลูก ยิ่งลูกมีจำนวนลูกโป่งหรือพวงมาลัยคล้องคอมากเท่าไหร่ ลูกยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น แต่ทุกครอบครัวก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆเสมอไป คนที่มีความทุกข์ที่สุดก็คงเป็นทั้งพ่อ แม่และลูกน้อยนั่นเอง

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่ากิจกรรมไม่ดี ผมเป็นฝ่ายสนับสนุนอีกต่างหาก ว่าโรงเรียนต้องมีกิจกรรมให้เด็กทำ ผมโตมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะเรียนแบบเด็กที่ทำกิจกรรม กิจกรรมที่ดีจะส่งเสริมสติปัญญาเด็ก ส่งเสริมภูมิต้านทานด้านการเข้าสังคมให้เด็ก แต่ผมคิดว่า กิจกรรมในโรงเรียนที่ดี ควรจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ปกครองหลายๆคนที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องทำมากมายในแต่ละวัน ต้องไม่กระทบต่อจิตใจของเด็กบางส่วนที่ไม่มีความพร้อมเหมือนเพื่อนๆ อาจจะดูว่าเขาเป็นส่วนน้อย ไม่น่าจะต้องไปใส่ใจ แต่หัวใจดวงน้อยนั้น เวลามันถูกกระทำ ถูกเปรียบเทียบ มันส่งผลให้เกิดรอยด่างพร้อยไปได้นานและใหญ่หลวงนัก เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวได้ฉันใด หัวใจดวงน้อยที่ถูกละเลยย่อมสะเทือนถึงสังคมได้เสียสักวัน

 

หมายเลขบันทึก: 96662เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีครับ
  • อ่านบันทึกนี้แล้วยอมรับว่าโดนมาก -
  • ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ากิจกรรมการกราบพ่อ กราบแม่ในวันสำคัญของโรงเรียนนั้นเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ดี   ปลุกฝังจิตสำนึกทางวัฒนธรรมของไทย  เสริมสร้างสายสัมพันธ์และความมั่นคงทางครอบครัวได้เป็นอย่างดียิ่ง
  • แต่ในมุมกลับกัน,  บางครอบครัวอยู่ในสภาวะที่ต่างกัน  มีความพร้อมที่ไม่พร้อมเหมือนเพื่อน ๆ ..
  • ผมว่าประเด็นเหล่านี้น่าคิดครับ..และผมก็คิดขวางโลกในเรื่องนี้มานาน  แต่ก็เพิ่งมาพบคนที่พูดและวิพากษ์ได้อย่างถึงลูกถึงคนคราวนี้เอง
  • บางครั้งลูกก็ถามว่า  "จะไปดูมั๊ย... อยากให้พ่อไป..."
  • ...
  • ขอบพระคุณครับ

ปีที่แล้ว ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3

คุณครูที่โรงเรียนแต่งตั้งผมเป็นกรรมการโรงเรียน ตามระเบียบจำเป็นต้องมีการประชุมกรรมการ

วันประชุมเป็นวันอังคาร ซึ่งเป็นวันที่ผมต้องผ่าตัด คนไข้นัดไว้นานแล้ว และมีหลายคน ไม่สามารถเลื่อนได้ (และคิดว่าจะไม่เลื่อนด้วย)

เลยบอกครูใหญ่ว่าไม่สามารถร่วมประชุมได้จริงๆ

เย็นวันเดียวกันไปรับคุณแป้ง ลูกสาวคนโตกลับบ้าน ระหว่างทาง เธอเลยถามพ่อว่า "คุณพ่อคิดว่า เรื่องประชุมที่โรงเรียนของน้องแป้ง กับเรื่องคนไข้ เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน"

เอาล่ะสิท่าน

"เรื่องของลูกสำคัญเสมอค่ะ เพียงแต่ว่า เรื่องประชุมนั้น พ่อคุยกับน้าไก่อยู่บ่อยๆอยู่แล้ว ไม่ต้องประชุมก็ได้ แต่คนไข้ของพ่อเขาไม่สบาย เค้ารอพ่อเพียงคนเดียว พ่อช่วยเขาให้หายป่วย ถ้าพ่อไปประชุมแล้วใครจะรักษาเขาล่ะคะ แล้วอย่างนี้ลูกคิดว่า เรื่องไหนสำคัญกว่ากันคะ"

"เรื่องผ่าตัดค่ะ"  'OK มั้ยลูก" "OK ค่ะ"

ว่าไงครับ ลูกสาวผม คนโตค่อนข้างนุ่มลึก คล้ายคนโตของอาจารย์ ส่วนตัวเล็กซ่าแสบถึงกึ๋นครับ

ชอบอ่านบันทึกขวางคลองมากค่ะอาจารย์ :)

พี่สาวดิฉันต้องลาหยุดงานหลายครั้ง เพราะมีงานที่โรงเรียนอนุบาลของลูก ซึ่งผู้ปกครองควรจะต้องไป

ดิฉันก็ถามว่า ทำไมต้องถึงกับต้องหยุดงาน ไม่ไปไม่ได้บ้างหรือ????

เวลานั้นก็คิดเหมือนอาจารย์ค่ะว่า แล้วเด็กคนอื่นที่ไม่มีพ่อแม่ มีแต่ญาติผู้ใหญ่เขาจะเห็นกันอย่างไรนะ ผ้าขาวผืนน้อยๆ :(

ขอบคุณครับอาจารย์ P

อีก 4 ปีข้างหน้า คงถึงคิวอาจารย์บ้างแล้วล่ะครับ

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกก็คือ การศึกษาครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ กิจกรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับการเรียน โรงเรียนที่ดีต้องสร้างความสมดุลย์ในเรื่องนี้ครับ ผมคิดว่าโรงเรียนส่วนมากหาจุดสมดุลย์ไม่เป็น เด็กๆยังต้องเรียนพิเศษอยู่ร่ำไป พ่อแม่ต้องลำบากไปกับการเรียนของลูกอยู่เสมอครับ

ยังไม่เคยถามเลยว่า ตอนนี้อาจารย์มีอายุครรภ์เท่าไหร่แล้ว ฝากท้องอยู่กับใคร คลอดเมื่อไหร่ครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

       เป็นการสะท้อนความคิด  และผลกระทบที่ทางโรงเรียนก็อาจจะลืมไป  

       ดิฉันและเพื่อนครูเคยเห็นภาพโหดร้ายมาแล้วหลายครั้ง    จึงทราบผลกระทบนั้นดี  เมื่อโรงเรียนเก่าซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จัดงานวันแม่โดยเชิญแม่ทุกคนมาร่วม   แล้วนักเรียนระดับชั้นแม่ ๖ ซึ่งแม่เพิ่งเสียไป ๑๐  วัน  ต้องมากราบคุณครูที่ปรึกษาแทน  อารมณ์และบรรยากาศขณะนั้นทำร้ายทุกคน

       ต่อมาให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่องแม่  ในมุมมองของครู  ครูคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนน่าจะถ่ายทอดได้ดีที่สุด  แต่ เมื่อครูได้อ่านเรียงความของนักเรียน.....คนนั้น   มีตอนหนึ่งว่า    "แม่ครับ...ถึงแม้ว่าตอนนี้แม่จะอยู่บนสวรรค์  ผมก็รักแม่และผมขอสัญญาว่าจะเป็นคนดีของสังคมครับ"  ดิฉันก็รู้สึกทันทีว่าได้ทำร้ายเด็กคนนี้อย่างแสนสาหัส    

       สำหรับที่โรงเรียนปัจจุบันให้คุณแม่หรือคุณพ่อเป็นตัวแทนห้องละ ๑ คน  ซึ่งห้องไหนไม่จัดก็ได้

ก็ช่วยลดภาวะกดดันไปได้ระดับหนึ่ง

      โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับความคิดและมุมมองของคุณหมอ  เพราะสภาพครอบครัวในสังคมปัจจุบัน  แม้ว่าผู้ปกครองจะไม่ติดภารกิจ เช่นคุณหมอ  แต่ก็มีไม่กี่ครอบครัวที่อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก   ครอบครัวมีการแตกแยกมากขึ้น   

      จะนำความคิดนี้ไปบอกกล่าวแก่เพื่อนร่วมงานค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ภาทิพ P

ขอบพระคุณครับอาจาารย์

เมื่อกี้ไปเยี่ยมๆน้องม.๑ผ่านบันทึกของอาจารย์ น่าประทับใจ ชวนให้คิดถึงโรงเรียนดีนัก

ครูบาอาจารย์ที่ทุ่มเท น่าเทิดทูน (มากกว่ายกย่อง) ครับ

ผมทำงานร่วมกับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ ก็พบว่า เด็กในวัยนี้มีปัญหาเยอะมากเลยครับ และคุณครูต้องรับภาระในการแก้ปัญหามากมาย งานล้นครับ

ผมเคยคิดว่าตัวเองเหนื่อยแล้ว ครูกลุ่ม (และกลุ่มอื่นๆอีก) นั้นเหนื่อยกว่าผมมาก

เรียนมาก็แค่ทราบทฤษฎี ลงไปทำงานด้วยเลยได้รู้ว่า ต่างกันที่ความรู้สึกและบรรยากาศครับ

ซึ้งมากกกกกค่ะคุณหมอ

จอยนี่เอง เป็นเด็กคนหนึ่งที่รู้สึกทุกอย่างที่คุณหมอเขียนมา

ไม่เคยสักครั้งเลย สักงานเลยด้วย แต่ไม่ได้เสียใจนะคะ แต่อายเพื่อนอ่ะค่ะ ที่ไม่มีพ่อแม่มาเหมือนเค้า

พ่อ-แม่เป็นครูน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท