ความแตกต่างด้านภาษาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้บนอินเทอร์เน็ตหรือไม่


ทุกวันนี้ธุรกิจได้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตมากที่สุดโดยทอดทิ้งสังคมไว้เบื้องหลัง

บนโลกกลมๆ ใบนี้ประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติหลากภาษา แต่ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักบนอินเทอร์เน็ตเนื่องมาจากอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกาและแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนจะมายังประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา อีกทั้งการเชื่อมโลกเข้าหากันด้วยสายเคเบิลและคลื่นสัญญาณต่างๆ ก็ถูกทำโดยคนและบริษัทข้ามชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ดังนั้นแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ที่ต้องการความรู้จากโลกออนไลน์มีความจำเป็นจะต้องเข้าใจภาษาอังกฤษ

การศึกษาวิทยาการถือเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การฝึกทักษะทางด้านภาษาก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ผู้ที่สามารถก้าวผ่านเครื่องกีดขวางทางด้านภาษาได้ย่อมมีโอกาสมากกว่าผู้อื่น นั่นเรากำลังพูดถึงสังคมทุนนิยม สังคมแห่งการแข่งขัน เชื่อไหมครับว่าในระหว่างที่เรากำลังอ่านบนความนี้อยู่ เราเป็นผู้โชคดีหนึ่งใน 10 ล้านคนจากประชาชนชาวไทย 60 ล้านคนทั่วประเทศที่มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่เหลืออีกกว่า 50 ล้านคนยังเป็นชาวบ้านตาดำๆ ทำไร่ไถนาอยู่เลย มีใครเคยคิดไหมครับว่าในฐานะประชากรส่วนน้อย เราจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติพัฒนาขึ้น เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้มีการศึกษา สามารถเข้าถึงข้อมูล และสามารถดูแลตัวเองได้

คำถามคือคนไทยควรใช้เฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทยไหม? คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะอย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น เนื้อหาดีๆ ถูกเขียนและแพร่กระจายอยู่บนอินเทอร์เน็ตด้วยภาษาอังกฤษ เราควรจะเข้าใจภาษาอังกฤษโดยไม่ทิ้งภาษาไทย ในทางกลับกันเว็บที่เป็นภาษาไทยเพื่อคนไทยไม่ดีหรือ? คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนว่าจะมีส่วนร่วมและผลักดันให้เว็บไซต์คนไทยได้เกิดและเติบโตขึ้นแค่ไหน คำถามถัดมาก็คือแล้วเว็บไซต์ต่างชาติที่แสดงผลเป็นภาษาไทยหละดีไหม? เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ข้อดีคือโปรแกรมเขามีความสามารถจริง ข้อเสียคือข้อมูลของคนไทยจะตกไปอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศซึ่งก็จะทำให้เกิดการรับส่งข้อมูลปริมาณมหศาลออกไปนอกประเทศ (นั้นก็หมายถึงเงินบาทที่รั่วไหลออกตามไปด้วย) ผมอยากให้ gotoknow.org เป็นเหมือน blogger.com สำหรับคนไทยจัง เราจะได้มีเนื้อหาดีๆ เยอะๆ อยู่ในประเทศ

ทางธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ใครๆ ก็พูดถึงเว็บไซต์ 2 ภาษา (หรือมากกว่านั้น) เพราะ globalization ทำให้เราสามารถค้าขายกับคนต่างชาติได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการรองรับภาษาท้องถิ่นและภาษาอังกฤษ (อีกแล้ว) ในยุคเว็บ 3.0 นี่เองที่ผมคาดหวังที่จะเห็น universal language web ที่สามารถแปลงอังกฤษเป็นภาษาอื่นๆ และในทางกลับกันด้วย เพื่อทำให้ความแตกต่างด้านภาษาลดลง หากใครเคยดูหนังมนุษย์ต่างดาว พวกที่มีสหพันธรัฐแห่งจักรวาลมาประชุมร่วมกัน ต่างคนก็ต่างพูดภาษาของตัวเอง แต่ก็จะมีเครื่องแปลภาษาอะไรสักอย่างเพื่อทำให้สามารถสื่อสารกันได้ เราอาจจะกำลังได้เห็นเครื่องแปลภาษาชาวโลกในยุคเว็บ 3.0 นี้ครับ แต่ก่อนอื่นเลย อยากให้ลองเข้าไปเล่นเว็บแปลภาษาของไทยกันก่อนที่ vaja.nectec.or.th แล้วกัน

ทั้งนี้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่ได้รวมถึงโอกาสของผู้มีความบกพร่อง ในต่างประเทศมีการพูดถึงมาตรฐานการทำเว็บไซต์เพื่อรองรับผู้มีปัญหาดังกล่าว เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น (ตาบอด, สายตาเลือนลาง, ตาบอดสี), ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (หูหนวก), ผู้ที่มีความบกพร่องทางกาย (มือ หรือแขนใช้งานไม่ได้), ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เราเรียกแนวทางนี้ว่า Web Content Accessibility Guideline (WCAG) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก เพียงแต่ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไรนักในประเทศไทย มีคนเคยบอกผมว่าภาษามือเป็นภาษาสากลเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ว่าชาติไหนก็สามารถเข้าใจได้ตรงกัน อันนี้เป็นภาษาสัญลักษณ์ที่ผมใช้บ่อย \\[^_^]// แปลว่า ดีใจครับ

ภาษาใช้ในการสื่อสาร วัฒนธรรมใช้ในการรักษาความเป็นเอกลักษณ์ อินเทอร์เน็ตคือเทคโนโลยีที่ใช้ในการเชื่อมต่อ สุดท้ายเราอาจจะคาดหวังว่าอินเทอร์เน็ตควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโต้ตอบเชิงสังคม และเพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรม แต่จนถึงทุกวันนี้ธุรกิจได้ประโยชน์จากเครื่องมือชิ้นนี้มากที่สุดโดยทอดทิ้งสังคมไว้เบื้องหลัง ใช่หรือไม่ แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

หมายเลขบันทึก: 98210เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ในความคิดผม คึือจะว่าใช่ก็ใช่ จะว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ครับ  . . . . อ่านแล้วดูงงๆเนอะ

การทำ accessibility เหล่านี้ แต่ละอย่างล้วนมีต้นทุนไม่ก็ข้อจำกัดด้าน know -how/เทคโนโลยีทั้งนั้น

อย่างการทำ globalization, localization ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรถ้าทีมงานมีความรู้ด้านภาษาและวัฒนาธรรมอยู่แล้ว ก็ยังพอทำเองได้่ แต่ก็ต้องลงแรง ลงเวลาอยู่ดี แล้วถ้าไม่มีแต่อยากทำยิ่งแล้วใหญ่ ต้องไปจ้างบุคคลมาช่วย ต้นทุนไม่ใช่เล็กๆเลยนะ

หรืออย่างด้านการแปลงจาก หนังสือ-text ใน computer-เสียง อันนี้ถ้าแปลงเองก็ใช้แรงคนมาก จะให้ machine ทำให้ก็ยังราคาค่อนข้างสูง

อย่าง vaja นี่ผมว่าเป็น project ที่น่าสนใจมากครับ ประสิทธิภาพดูเท่าที่ demo ถ้าเอาปรับหน่อยก็เรียกว่าพอใช้ได้เลยนะ แต่น่าเสียดายว่าดูเหมือนจะยังมี barrier ระหว่างผู้พัฒนา-ตัวproject-คนที่จะเอาไปใช้-โอกาสธุรกิจ อยู่

ผู้ที่จะสร้างสื่อ หากต้องการ accessibility มากขึ้น ก็ต้องลงทุน (เงิน เวลา แรง ฯลฯ) มากขึ้น ในขณะที่ด้านกำไร อาจจะสวนทางกัน เพราะบางทีกลุ่มผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นจาก accessibility ที่มากขึ้นก็ไม่ได้สร้างกำไรให้ ้หรือมีจำนวนไม่มากเทียบกับต้นทุนที่ลงไป

พอออกมาอย่างนี้มันทำให้คนทำสื่อต้องคิดหนักในเรื่องนี้ จะว่าทอดทิ้งสังคมก็ใช่ แต่ถ้าทำเองก็เจ็บตัว มันต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็มีต้นทุนมากพอถึงจะทำได้ทั้ง 2 อย่างโดยไม่เสียหาย

สรุปคือตามความคิดผม "ปัจจุบัน" การทำ accessibility ในยังขัดต่อกลไกตลาด เพราะ infra structure ทั้งต้นทุน และเทคโนโลยี ยังไม่เอื้ออำนวยครับ

แต่สำหรับ "อนาคต"ตามความคิดผม และเท่าที่เห็น ผมคิดว่า infrastructure เกี่ยวกับ accessibility จะเอื้ออำนวยมากขึ้นได้ และถึงจุดที่ว่าสามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อกลไกตลาดแน่นอนซักวันหนึ่ง ( ถ้ามนุษยชาติไม่ตายหมดหรือสิ้นอารยธรรมซะก่อนนะ)

ผมเคยอ่านหนังสือของ Bill Gates ที่เขียนเรื่อง information highway ที่เขาเขียนไว้เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน สมัยนั้น computer ทำได้แค่แสดงตัวหนังสือเขียวๆในหน้าจอ สิ่งที่เขาเขียนนั้นมันเหมือนเป็นนิยายวิทยาศาสร์ สำหรับสมัยนั้นมากครับ ประมาณว่า ทุกๆคนไม่ว่าจะมีสภาพร่างกายอย่างไร พูดภาษาอะไร หรืออยู่ที่ใด สามารถเข้าถึง "ข้อมูล" จาก "ทางด่วนข้อมูล" ที่มีข้อมูลจากทุกที่ได้หมด ซึ่งสำหรับสมัยนี้ก็ยังคงเป็นเหมือนนิยายวิทศาสตร์อยู่

แต่เรื่องที่เขาเขียนนั้น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็เป็นจริงหลายเรื่องแล้วในรูปแบบของ computer network, โทรศัพท์มือถือ, text-2-speech, speech-recognition, เทคโนโลยีด้าน presentation, natural language processing, image processing, data mining ฯลฯ ทุกเรื่องล้วนได้เกิดขึ้น และพัฒนาขึ้นเสมอมา ประสิทธิภาพก็มากขึ้น ขนาดก็เล็กลง แถมราคาถูกลงจนใครๆก็เอาไปใช้ได้ ของหลายก็ประสิทธิภาพถึงขั้นและราคารับได้แล้ว อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ก็เป็นที่นิยมตามกลไกตลาด ส่วนที่ยังไม่ถึงขั้น อันนี้ก็จะพัฒนาต่อไป อย่างเรื่อง text-2-speech หรือการแปลงระหว่างภาษา อาจจะพัฒนาไปมาก เริ่มจากขายแพงๆ หรือให้เฉพาะผู้ใช้บางกลุ่มก่อน (แบบในทุกวันนี้) แล้วมีคนใจป้ำทำเป็นบริการสาธารณะฟรี อาจจะเป็น opensource library หรือ web service โดยมี model ธุรกิจจากโฆษณา ฯลฯ ต้นทุนในการเอาไปใช้ถูกลงมาก จนไม่ยี่หระเรื่องการที่จะเอามาใช้ เวลานั้นผู้ทำสื่อจะหยิบมาใช้มากขึ้น แล้วดีไม่ดีต่อไปอาจจะเป็น feature พื้นฐานพ่วงมากับทุกสื่อเลย

การพัฒนาขึ้นเรื่อยๆของเทคโนโลยี จะค่อยๆนำพาเทคโนโลยีกับสังคมเข้าหากัน ตามกลไกตลาดโดยอัติโนมัติเอง

ผมว่าหากเราจดบันทึกเรื่องในวันนี้ แล้วเอากลับมาดูอีก 20 ปีข้างหน้า (ถ้ามนุษยชาติยังไม่ตายหมด หรือสิ้นอารยธรรม) คงจะเป็นอะไรที่น่าสนุกเหมือนกัน บางทีสิ่งที่เราเห็นในเรื่อง star wars อาจจะเป็นของธรรมดาๆสมัยนั้นก็ได้
นะครับ

ขอบคุณ พุทธศาสนิกชน ทุกท่านที่เข้ามาเสนอความคิดเห็นนะครับ
ชอบจริงๆ เลยเวลาคนที่ฉลาดกว่าเรามาบอกว่าเขาคิดอย่างไร เราจะได้เก็บไปต่อยอด สักวันหนึ่งจะได้ฉลาดเหมือนเขาบ้าง ;)

อย่างที่คุณ ศิษหลวงปู่ กล่าว "การพัฒนาขึ้นเรื่อยๆของเทคโนโลยี จะค่อยๆนำพาเทคโนโลยีกับสังคมเข้าหากัน ตามกลไกตลาดโดยอัติโนมัติเอง"
จุดสมดุลย์ของกลไกการตลาดอยู่ที่อุปสงค์และอุปทาน ปริมาณที่มากพอในราคาที่ยอมรับได้ ย่อมผลักดันให้เทคโนโลยีนั้นๆ แพร่หลาย พอดีไปเห็นข่าวของ Google เลยขอหยิบยกมาพูด ณ ที่นี้นะครับ

กูเกิลเปิดตัวบริการแปลภาษาบนเว็บ
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000060359

นักการตลาดสหรัฐคาดการณ์โฆษณาออนไลน์"อิ่มตัว"ยาก
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000060364

ต้องยอมรับว่า Google กล้าที่จะให้ เพราะมี Business Model ในการโฆษณามาสนับสนุน ทำให้บริการหลายๆ ตัวของเค้าเป็นที่นิยม

พอมองกลับมาบ้านเราเลยมีคำถามถึงหน่วยงานภาครัฐว่า เค้ามีนโยบายจะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศอย่างไร
จะขายทำกำไร จะส่งเสริม SME หรือจะ Open source เชื่อว่าผู้ปฏิบัติงานภายในบางคนยังไม่รู้ตัวเองแน่ชัดเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร
พอมองระดับมหภาค พอมีการเมืองมาเกี่ยว ผลประโยชน์เข้ามายุ่ง โปรแกรมดีๆ หลายๆ ตัวของคนไทย อาจถูกเก็บไว้บนหิ้ง เพราะไม่มีใครรู้ว่า จะทำอะไรกับมันต่อดี น่าเสียดายครับ
( เลยถือโอกาสโปรโมตโปรแกรมคนไทยหน่อยครับ http://www.thaiware.com/main/thaisoft.php )

ผมอยากให้ "barrier ระหว่างผู้พัฒนา-ตัวproject-คนที่จะเอาไปใช้-โอกาสธุรกิจ" มันลดลง
ประเทศไทยเราต้องการคนมีวิสัยทัศน์ กล้าที่จะคิด อย่างเรื่อง "ทางด่วนข้อมูล" ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมากครับ
แต่... ก็อีกแหละครับ เรื่องจริยธรรม เป็นหัวข้อที่โดดเด่นและผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในยุคนี้
เราจะรักษาสมดุลย์เรื่องเงินๆ ทองๆ กับเรื่องความเป็นคนดี ได้อย่างไร?

 

พอดีอ่านเจอครับ 

http://manager.co.th/Telecom/ViewNews.aspx?NewsID=9500000067518

คนไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องภาษา แต่ที่สำคัญคือความเร็วในการเชื่อมเน็ตครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท