หลักธรรมาภิบาล (Good governance) กพร.สป.


                หลักธรรมาภิบาล  หรือ Good governance เป็นหลักเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ตามวิธีทางธรรมาธิปไตย เป็นหลักการปกครองบ้านเมืองที่มีความเป็นธรรม มีกฎเกณฑ์ที่ดีในการบำรุงรักษาบ้านเมืองและสังคมให้มีการพัฒนาครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งยังมีการจัดระบบองค์กรและกลไกต่างๆ ในส่วนราชการ องค์การของรัฐ  การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจน องค์กรอิสระ  องค์กรเอกชน    กลุ่มชมรมและสมาคมต่างๆ ทั้งที่เป็นนิติบุคคล  ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

                ธรรมาภิบาล จึงเป็นแนวทางในการจัดระเบียบ ให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน สามารถอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ในทางถูกต้องเป็นธรรม  ธรรมาภิบาล  ถือว่าเป็นหลักการบริหารจัดการที่ดี เพราะมีการปรับวิธีคิด วิธีการบริหารราชการของประเทศไทยใหม่ทั้งระบบ โดยกำหนดเจตนารมณ์ของแผ่นดินขึ้นมาเพื่อทุกคนทุกฝ่ายในประเทศได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันจัดการ ร่วมกันรับผิดชอบ แก้ปัญหา พาแผ่นดินไปสู้ความมั่นคง  สงบ – สันติสุข มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและก้าวไกล ดังพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” หลักธรรมาภิบาล จึงตั้งอยู่บนรากฐานของความถูกต้อง ดีงาม มั่นคง ที่มุ่งให้ประชาชน สังคมระดับจังหวัด   อำเภอ   ตำบล    หมู่บ้าน   ชุมชนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด   การบริหารจัดการ   การบริหารทุกระดับ    ปรับวัฒนธรรมขององค์การภาครัฐใหม่ เพราะระบบราชการที่แข็งตัวเกินไป ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพและขาดความชอบธรรม กฎเกณฑ์เข็มงวด ช่องทางการสื่อสารขาดตอน รัฐไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้ถูกต้อง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ช่วงชิงอำนาจระบบราชการและรัฐบาลเกิดความล้มเหลว ทำให้ความคิดเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจเปลี่ยนไปกลับกลายมาเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม  กล่าวคือ

                ภาครัฐ   ต้องมีการปฏิรูปบทบาทหน้าที่ โครงสร้างและกระบวนการทำงานของหน่วยงานตลอดจน กลไกลการบริหาร ให้สามารถบริหารทรัพยากรของสังคมอย่างโปร่งใส  ซื่อตรง  เป็นธรรม  มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีสมรรถนะสูง ในการให้บริการของรัฐที่มีคุณภาพ  ไปสู่ประชาชน  โดยจะต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ทำงานโดยยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่วมทำงานกับภาคประชาชน ภาคเอกชนได้อย่างราบรื่นเป็นมิตร

                ภาคธุรกิจเอกชน    ต้องมีการปฏิรูปและกำหนดกติกาในหน่วยงานของภาคธุรกิจเอกชน เช่น บริษัท ห้างหุ่นส่วนฯ ให้มีกติกาการทำงานที่โปร่งใส ซื่อตรง เป็นธรรมแก่ลูกค้า มีความรับผิดชอบแก่ผู้ถือหุ้นและต่อสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามตรวจสอบการให้บริการที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และร่วมทำงานกับภาครัฐและภาคประชาชนได้อย่างราบรื่น เป็นมิตรมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

                ภาคประชาชน   ต้องสร้างความตระหนักหรือสำนึกตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลถึงระดับกลุ่มประชาสังคม ในเรื่องของสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเองและสาธารณะทั้งในทางเศรษฐกิจ    สังคม    และการเมือง เพื่อเป็นพลังของประเทศที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจ  ในหลักการของการสร้าง      กลไกการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือธรรมรัฐให้เกิดขึ้นและทำนุบำรุงรักษาให้ดียิ่งๆ ขึ้น

หลักธรรมาภิบาลประกอบด้วย  หลัก ๖ ประการ ดังนี้

๑.  หลักนิติธรรม  คือ การตรากฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับและกติกาต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและสมาชิก โดยมีการยินยอม พร้อมใจและถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กล่าวโดยสรุป คือ สถาปนาการปกครองภายใต้ กฎหมาย มิใช่กระทำกันเองโดยอำเภอใจหรืออำนาจของบุคคล

๒.  หลักคุณธรรม คือ การยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม มีการรณรงค์เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีงามให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือสมาชิกของสังคมถือปฏิบัติ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความอดทน    ขยัน หมั่นเพียรและความมีระเบียบวินัย

๓.  หลักความโปร่งใส    คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา       และสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้  โดยการปรับปรุงระบบและกลไกการทำงานขององค์กรให้มีความโปร่งใสมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก ตลอดจนมีระบบหรือกระบวนการการตรวจสอบและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ   ซึ่งจะเป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังช่วยให้การทำงานของภาครัฐและเอกชนปลอดจากการทุจริตคอรัปชั่น๔.    หลักความมีส่วนร่วม   คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคม  ที่ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้  ร่วมเสนอความเห็น ร่วมตัดสินใจ และร่วมสร้างความสามัคคี  ให้เกิดกับประชาชน เป็นสำคัญๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ การแจ้งความคิดเห็น การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่นๆ และขจัดการผูกขาดทั้งโดยภาครัฐหรือโดยภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสามัคคีและความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน

๕.  หลักความรับผิดชอบ คือ ผู้บริหารตลอดจนคณะข้าราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ต้องตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่อย่างดียิ่ง โดยมุ่งให้บริการแก่ผู้มารับบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ    กล้าที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจในหน้าที่การงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที

๖.   หลักความคุ้มค่า คือ ผู้บริหารต้องตระหนักว่ามีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ดังนั้นในการบริหารจัดการ จำเป็นจะต้องยึดหลักความประหยัดและความคุ้มค่า ซึ่งจำเป็นจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายไปที่ผู้รับบริการหรือประชาชนโดยส่วนรวม

บทสรุป

ธรรมาภิบาล หรือ Good governance แม้จะดีเลิศแค่ไหนก็ตามแต่ก็ยากที่จะกระทำลงไปให้สำเร็จได้ครบทุกหลักการก่อนที่จะมาให้ความสนใจการพัฒนาด้านการบริหารและการจัดการนั้น ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก่อนทึ่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ การพัฒนางานใดๆ ต้องพัฒนาที่อุดมการณ์อันเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำที่แท้จริง

หมายเลขบันทึก: 99545เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท