ความหมายของ "ประเพณี"


"ประเพณี" คืออะไร

ประเพณี คืออะไร

              เมื่อเอ่ยถึงประเพณีต่างๆไม่ว่าจะเป็น ประเพณีสงกรานต์ ทำบุญตักบาตร ลอยกระทง หรือแห่เทียนเข้าพรรษา ฯลฯ เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องคุ้นหูคุ้นตา ได้ยินได้ฟังและปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องปกติ แต่หากจะถามว่าประเพณีคืออะไร หลายคนคงตอบไม่ถูก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปีพ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ประเพณี” ไว้ว่า หมายถึง สิ่งที่นิยมถือปฏิบัติสืบๆกันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี ซึ่งขนบธรรมเนียม ในที่นี้ มีความหมายว่า แบบอย่างที่นิยมกันมา ส่วน จารีตประเพณี ก็คือ ประเพณีที่นิยมและประพฤติกันสืบมา ถ้าฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว

              ในเรื่องเกี่ยวกับประเพณีนี้ หนังสืองานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ในหมวดขนบธรรมเนียมประเพณี เล่ม ๑ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ดังต่อไปนี้

              ท่านบอกไว้ว่า ประเพณีใดก็ตามหากถือเป็นธรรมเนียมว่าสมควรประพฤติกันอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีผิดถูกทางศีลธรรมหรือทางระเบียบแบบแผน แต่ถือเป็นเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ แบบนี้เรียกว่า ธรรมเนียมประเพณี หรือ ประเพณีนิยม เช่น การแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ด้วยการยกมือไหว้ อย่างไรก็ดี ประเพณีต่างๆจะเป็นประเพณีขึ้นได้ ต้องเป็นสิ่งที่สืบต่อ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมานาน หากเป็นอยู่ชั่วขณะ แม้จะนิยมปฏิบัติกันทั่วไป ก็มิใช่เป็นประเพณี เป็นแต่เพียง“แฟชั่น”ซึ่งนิยมกันสมัยหนึ่งเท่านั้น พอหมดความนิยมก็เลิกกันไป

             ประเพณีเกิดจากความประพฤติหรือการกระทำของใครคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งเห็นประโยชน์และความจำเป็นตามที่ต้องการจากการกระทำเช่นนั้น และเมื่อคนอื่นเห็นดีก็เอาอย่าง ทำตามเป็นแบบอย่างเดียวกัน และสืบต่อเป็นส่วนรวมมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของชาติขึ้น วัฒนธรรม คือวิถีแห่งชีวิต หรือความเป็นอยู่ของคนในส่วนรวม อันมีความเจริญงอกงามได้ ถ้าผู้เป็นเจ้าของรู้จักรักษาและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เหมาะกับความเป็นไปของสมัย แต่ผู้ที่จะรู้จักแก้ไขและปรับปรุงของเก่าให้เข้ากับสมัยได้ดี ท่านว่าต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถริเริ่ม มีความคิด จิตใจที่ทันสมัย รู้จักปรับแก้ของโบราณให้มีความแปลกใหม่ ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขนี้ทำได้ ๒ แบบ คือ

             แบบแรก ปรับปรุงและแก้ไขเก่าให้เป็นใหม่ โดยยังรักษาคติโบราณไว้ ไม่ให้สูญไปแบบทันทีทันใด แต่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น สมัยก่อน คนมักทำบุญกับพระและวัด เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก แต่ปัจจุบันคนเริ่มทำบุญในรูปแบบอื่นๆมากขึ้น เช่น สร้างโรงเรียนแทนโบสถ์วิหาร หรือบริจาคทรัพย์ สิ่งของให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งก็ยังได้ชื่อว่าทำบุญและได้อานิสงส์ไม่แพ้กัน

             แบบสอง คือ ปรับปรุงและแก้ไขเก่าให้เป็นใหม่ โดยวิธีพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ คือเลิกของเก่ามาเป็นใหม่เลย เช่น การเลิกทาสในอเมริกา การสั่งห้ามกินหมากในสมัยก่อน เป็นต้น

             ทั้งสองแบบนี้ ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งที่จะปรับปรุงแก้ไข และเหตุที่ประเพณีเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งความจำเป็นของสังคมโดยส่วนรวม ดังนั้น เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ประเพณีต่างๆซึ่งเป็นยุคสมัยนั้นๆ แต่โดยความจริงแล้ว ประเพณีหลายอย่างที่เป็นของเดิม แม้จะหมดประโยชน์หรือความจำเป็น เพราะไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่มา ก็ยังปรากฏว่ามีการประพฤติปฏิบัติตามๆกันอยู่ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเกิดความเคยชินที่เคยทำมาเช่นนั้น หากไม่ทำก็จะรู้สึกไม่สบายใจ กังวลหรือกลัวว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเพณีใดก็ตามจะยืนยง และสืบทอดต่อเนื่องกันมาได้ ประเพณีนั้นจะต้องตรงกับมูลฐานแห่งความต้องการของมนุษย์ หรือเป็นประเพณีที่ได้แปรความหมายเดิมให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว ท่านว่า “ประเพณีนั้นตายยาก” เพราะโดยปกติ หากไม่มีเหตุจำเป็นที่จะเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครไปเลิกหรือเปลี่ยนเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่จะเป็นประเพณีที่ล้าหลัง ถ่วงความเจริญ หรือเสียหายต่อส่วนรวม ประเพณีนั้นก็จะเลิกและหมดไปเอง ถ้ามีผู้ริเริ่มและคนส่วนใหญ่เห็นด้วย อย่างเช่น การล่าหัวคนของคนบางเผ่าในอัฟริกา การรัดเท้าของสาวจีน การกระโดดเข้ากองไฟเผาตัวตายตามสามีของหญิงในอินเดีย เป็นต้น ความประพฤติของส่วนรวมก็ย่อมจะปรับเปลี่ยนไปด้วยเพื่อความเหมาะสม และให้เข้าได้กับ
             โดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงประเพณีต่างๆ มักจะริเริ่มมาจากชาวกรุงหรือชาวเมืองก่อน แล้วค่อยแพร่หลายไปยังที่อื่นๆตามความเจริญที่มีการศึกษาเป็นพื้นฐาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเพณีของเดิมจะอยู่คงทนได้ มักเกิดจากคนนอกกรุงนอกเมืองเป็นผู้รักษา เพราะมีความเจริญช้ากว่า ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังเป็นจริงอยู่ แม้ปัจจุบัน เราจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วก็ตาม อย่างไรก็ดี มีกฎธรรมดาอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า สิ่งใดก็ตามหากอยู่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นก็จะหยุด ไม่ก้าวหน้า และในที่สุดก็ต้องตายไป แต่ถ้าสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ไม่ค่อยเป็นค่อยไปตามส่วนสัมพันธ์ที่ควรเป็นไป สิ่งนั้นก็จะกลาย และลักษณะของตนก็จะหายไปในที่สุด หรือพูดง่ายๆว่า อัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของสิ่งนั้นๆจะไม่เหลืออยู่อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประเพณีท้องถิ่นหรือส่วนรวม เช่น หากเด็กๆหรือหนุ่มๆสาวๆแต่ละภาค ไม่อยากนุ่งห่มแบบท้องถิ่นตน อยากจะนุ่งแต่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ตามวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อความทันสมัย นานๆไป การนุ่งแบบพื้นบ้านก็จะไม่มีให้เห็น และสูญไปในที่สุด และเมื่อคนต่างถิ่นหรือคนต่างชาติไปเที่ยว ก็คงจะแยกไม่ออกว่าตนไปภาคไหน เพราะดูเหมือนๆกันไปหมด นี่พูดเฉพาะเครื่องแต่งกายเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเอกลักษณ์อื่นๆที่อาจถูกกลืนหายไปในอนาคต
กล่าวโดยสรุป ประเพณี อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ก็คือ ความประพฤติที่คนส่วนรวมถือกันเป็นธรรมเนียมหรือเป็นระเบียบแบบแผน และปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จนลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน ซึ่งประเพณีใดถ้ามีมูลฐานเข้ากับจิตใจและนิสัยของคน และไม่เป็นการเสียหายแล้ว คนส่วนใหญ่ยังจะรักษาสืบทอดต่อเนื่องกันต่อไป เพราะถือว่ายังมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่ และยังถือเป็นสัญลักษณะ หรือบุคลิกลักษณะของชาตินั้นๆ ซึ่งหากชาติใดไม่มีประเพณีของตนสืบต่อมาแต่อดีต เป็นเสมือนสะพานคอยเชื่อมเก่าและใหม่ หรืออดีตและปัจจุบันให้ต่อกันแล้ว ชาตินั้นๆก็จะเป็นชาติใหม่ที่เปรียบเหมือนเด็กอยู่เสมอ ไม่มีรากเหง้า อย่างไรก็ดี โลกทุกวันนี้ติดต่อเชื่อมโยงกันไปหมด กอปรกับมีการสื่อสารที่ก้าวหน้ารวดเร็ว การรับเอาประเพณีของชาติอื่นๆที่แปลกๆใหม่ๆในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องง่าย ซึ่งบางประเพณีก็ได้กลายมาเป็นประเพณีสากล ที่จำเป็นต้องรับเอาไว้ เพราะมิฉะนั้น เราอาจจะก้าวไม่ทันเขา แต่การลอกเลียนแบบประเพณีของคนอื่นมา โดยไม่มีการดัดแปลงให้เข้ากับประเพณีเดิมที่ฝังลึกในจิตใจของเรา ก็อาจจะทำให้”ความเป็นชาติ” เสื่อมสลายหายไปได้ ดังนั้น จึงขึ้นกับคนในยุคเราเองแล้วละว่า จะเลิก หรือ เลือก ประเพณีใดให้คงอยู่ เพื่อที่จะไม่ทำให้เราล้าหลัง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สูญเสียตัวตนและความภาคภูมิใจในชาติของเราในสังคมโลกด้วย

ที่มา : เว็บไซด์กระทรวงวัฒนธรรม   (อมรรัตน์ เทพกำปนาท  กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม  ๒๕๔๙)

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 18719เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2006 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ย่อความหมายของประเพณีให้ได้ใจความที่กระชับด้วยนะครับ

ทำไมความหมายมันยาวจัง

หากใครที่อ่านแล้วสรุปประเด็นสำคัญให้ด้วยนะครับ

เพราะมีการใช้ตัวอย่างเยอะนะครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ ch-chumphon ขอสรุปให้เป็นความหมายของประเพณี ดังนี้ ประเพณี เป็นแบบแผนของคนในสังคมที่เกิดจากความเชื่อ ศีลธรรม ทัศนคติ คุณค่า ความรู้สึก วิธีคิด และวิธีกระทำ ซึ่งมีการประพฤติ ปฏิบัติ สั่งสม เลือกสรร ปรับใช้และสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

ขอบคุณค่ะ

เย้! หาความหมายของประเพณีเจอแล้ว

จะได้เอาไปทำงานต่อ อิอิ >_<

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท