สาระน่ารู้ "ตำนานสงกรานต์"


นางสงกรานต์ปีจอนาม “ กิมิทาเทวี ” ขี่ควาย ถือดาบจับพิณ กินกล้วยน้ำ ตำราโบราณว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ แต่ข้าวปลาจะแพง เกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้

นางสงกรานต์ปีจอนาม “ กิมิทาเทวี ”
ขี่ควาย ถือดาบจับพิณ กินกล้วยน้ำ
ตำราโบราณว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ แต่ข้าวปลาจะแพง เกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้

นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว ซึ่งเป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณ ผู้ไม่รู้หนังสือได้รู้ว่า วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด และ เวลาใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ นางสงกรานต์เป็นใคร ทำไมจึงเรียก “ นางสงกรานต์ ” กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอนำตำนานโดยย่อ พร้อมคำทำนายทายทักของโบราณมาเสนอให้ทราบเป็นแนวคิดดังต่อไปนี้

               นางสงกรานต์มีด้วยกันเจ็ดนาง เป็นเทพธิดาลูกสาวท้าวกบิลพรหม และเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ ตามตำนานเล่าว่า ท้าวกบิลพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร ต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “ นางสงกรานต์ ” ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็คือ พระอาทิตย์ นั่นเอง เพราะกบิล หมายถึง สีแดง

               นางสงกรานต์แต่ละนาง จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ตามวันต่างๆกันดังนี้

               วันอาทิตย์ นาม ทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค หรือปัทมราช(พลอยสีแดง)ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ วันจันทร์ นาม นางโคราค ะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ วันอังคาร นาม นางรากษส (ราก-สด)ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร (หมู) เป็นพาหนะ วันพุธ นาม นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ(ลา)เป็นพาหนะ วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ วันศุกร์ นาม นางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีมหิงสา (ควาย)เป็นพาหนะ และ วันเสาร์ นาม นางมโหทร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ

               นอกจากชื่อนางสงกรานต์จะบอก วัน ที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษว่าเป็นวันใดแล้ว อิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมา ก็จะบ่งบอกช่วง เวลา ว่าพระอาทิตย์จะเคลื่อนสู่ราศีเมษ อันถือเป็นวันปีใหม่ว่าเป็นเวลาใดของวันนั้นๆด้วย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ ท่า คือ ยืน นั่ง นอนลืมตา และนอนหลับตา กล่าวคือ ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลา รุ่งเช้าจนถึงเที่ยง นางสงกรานต์จะ ยืน บนพาหนะ ถ้า เที่ยงจนถึงค่ำ นางสงกรานต์จะ นั่ง บนพาหนะ ถ้า ค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะ นอนลืมตา บนพาหนะ ถ้า เที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะ นอนหลับตา บนพาหนะ

               ส่วน นางสงกรานต์ ปีไหน ชื่ออะไร กินอะไร ขี่อะไรนี้ จะปรากฏอยู่ ใน “ ประกาศสงกรานต์ ” ซึ่งปัจจุบันจะพบแต่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และปฏิทินหลวงที่พระราชทานเนื่องในวันปีใหม่ทุกปี หรือที่เอกชนพิมพ์จำหน่าย ส่วนสมัยก่อนประกาศสงกรานต์ ถือเป็นการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรื่องหนึ่งตามประเพณีโบราณ กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดปีหนึ่งๆ จะเปลี่ยนปีนักษัตรเริ่มศักราชใหม่ ทางราชการโดยกรมพระสุรัสวดี ผู้ถือบัญชีกระทรวงทบวงการทั้งหมดก็จะคัดสำเนาประกาศสงกรานต์แจกจ่ายไปยังกรมกองต่างๆ จากนั้นแต่ละหน่วยก็จะประกาศสงกรานต์ให้ราษฎรได้ทราบทั่วกันเกี่ยวกับวัน เดือน ข้างขึ้น ข้างแรมในปีต่อไป เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของราษฎรที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม เช่น ทำให้ทราบวันเวลาขึ้นศักราชใหม่ กำหนดการพระราชพิธี ศาสนพิธีต่างๆ การเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาในบางปี รวมถึงเกณฑ์น้ำฝนน้ำท่าของปีนั้นๆ เป็นต้น โดยประเพณีเดิมเจ้าพนักงานก็จะตีฆ้องเป็นสัญญาณเรียกราษฎร

               มาประชุมแล้วอ่านประกาศให้ฟัง ซึ่งวิธีเช่นนี้เรียกกันว่า “ ตีฆ้องร้องป่าว ” ครั้นต่อมาเมื่อมีโรงพิมพ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงออกเป็นพระราชกิจจานุเบกษา พิมพ์ประกาศต่างๆของทางราชการแทนการอ่านประกาศแบบเดิม พูดง่ายๆว่าประกาศสงกรานต์ก็คือ ปฏิทิน ของสมัยโน้น นั่นเอง

ประกาศสงกรานต์ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

               “ ปีจอ ผีเสื้อผู้หญิง ธาตุดิน อัฐศก จุลศักราช ๑๓๖๘ ทางจันทรคติ เป็นปกติมาสวาร

               ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน

               วันที่ ๑๔ เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ ณ วันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๐๖ นาฬิกา ๓๐ นาที ๓๑ วินาที

               นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จยืนมาเหนือหลังมหิงสา(ควาย) เป็นพาหนะ

               วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒๘ นาที ๑๒ วินาที เปลี่ยนจุลศักราช เป็น ๑๓๖๘ ปีนี้ วันพฤหัสบดีเป็นธงชัย วันอาทิตย์เป็นอธิบดี วันพุธเป็นอุบาทว์ วันอังคารเป็นโลกาวินาศ

               ปีนี้ วันศุกร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่าตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า นาคให้น้ำ ๑ ตัว

               เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๗ ชื่อปาปะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล ๑ ส่วน เสีย ๙ ส่วน

               เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีเตโช (ไฟ) น้ำน้อย

               ตามปกติ เราจะเรียกวันที่ ๑๓ เมษายนว่า “ วันมหาสงกรานต์ ” วันที่ ๑๔ เมษายน ว่า “ วันเนา ” และวันที่ ๑๕ เมษายนว่า “ วันเถลิงศก ” เพื่อให้จำได้ง่าย แต่ในประกาศสงกรานต์ ซึ่งเป็นการคำนวณทางโหราศาสตร์ วันมหาสงกรานต์ อันเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษ และเป็นวันบ่งบอกว่านางสงกรานต์ปีนั้นชื่ออะไร อาจจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นกับการคำนวณดังกล่าว ( วันมหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆแล้วจนครบ ๑๒ เดือน วันเนา แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เข้าเคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปี เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว ส่วน “ วันเถลิงศก ” คือ วันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่

               ในสมัยโบราณยังมีความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องนางสงกรานต์ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกที่น่าสนใจ ซึ่งได้นำมาจากหนังสือตรุษสงกรานต์ ขอ งอ.สมบัติ พลายน้อย ดังนี้

               ความเชื่อเกี่ยวกับ อิริยาบถของนางสงกรานต์ เชื่อว่า

               ๑.ถ้านางสงกรานต์ ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้

               ๒.ถ้านางสงกรานต์ นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตาย และเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ

               ๓.ถ้านางสงกรานต์ นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข

               ๔.ถ้านางสงกรานต์ นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

               นอกจากนี้ ยังมีคำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ดังนี้

               ๑. ถ้าวันอาทิตย์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็น วันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็น วันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ

               ๒. ถ้าวันจันทร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็น วันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็น วันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ

               ๓. ถ้าวันอังคาร เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็น วันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็น วันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล

               ๔. ถ้าวันพุธ เป็นวัน มหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็น วันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็น วันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ

               ๕. ถ้าวันพฤหัสบดี เป็น วันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็น วันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็น วันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม

               ๖. ถ้าวันศุกร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็น วันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็น วันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก

               ๗. ถ้าวันเสาร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็น วันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็น วันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

               หากจะดูจากประกาศสงกรานต์ปี ๒๕๔๙ ข้างต้น เทียบกับคำทำนายดังกล่าว ก็พอจะสรุปได้ว่า วันมหาสงกรานต์ ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ มีคำทำนายว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนจะชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมา (ธัญญาหารคือ อาหารที่ได้จากเมล็ดพืช) ส่วน วันเนาตรงกับวันเสาร์ ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ และ วันเถลิงศกตรงกับวันอาทิตย์ พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทิศ และการที่นางสงกรานต์ เสด็จยืน มาเหนือหลังมหิสา (ควาย) จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ส่วน ตำราทางล้านนาทำนายว่าวันสังกรานต์ล่อง(อ่านว่า สัง-ขาน-ล่อง)ตรงกับวันศุกร์ ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ปีนี้ผู้หญิงจักมีเคราะห์ สัตว์น้ำจักแพง พืชผักจะถูก คำทำนายโบราณข้างต้น เป็นเรื่องความเชื่อในสมัยก่อนซึ่งก็คงสอดคล้องกับสภาพสังคมสมัยนั้น แต่สำหรับปัจจุบันคนสมัยนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็คงขึ้นกับความคิด ความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าจะเป็นคำทำนายในอดีตที่เกี่ยวเนื่องกับสงกรานต์หรือคำทำนายดวงในปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นการเตือนให้คนเราดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และให้รู้จักเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้าทั้งสิ้น

               อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้ มหาสงกรานต์ตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทัดดอกจงกลนี คือ ดอกบัว เครื่องประดับบุษราคัม อาหารคือกล้วยน้ำ มือขวาถือพระขรรค์ (ดาบ) มือซ้ายถือพิณ ยืนมาบนหลังมหิงสา (ควาย) หากเราจะคิดตามหลักธรรมอิงความเป็นจริงของชีวิต เราอาจจะพอจะอนุมานได้ว่า การเริ่มต้นปีใหม่(วันมหาสงกรานต์)ด้วยวันศุกร์ ซึ่งมีเสียงพ้องกับความสุข ถือเป็นสิ่งที่ดี ส่วนอาวุธของนางสงกรานต์ที่เป็นดาบและพิณ ก็เสมือนบอกเป็นนัยว่า การดำเนินชีวิตของคนเราจะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือ ต้องเดินไปในทางสายกลาง เหมือนพิณที่สายต้องไม่ตึงหรือหย่อนไป จึงจะดีดได้ไพเราะ ขณะเดียวกันดาบก็คือความแน่วแน่เด็ดขาดที่จะกล้าฟาดฟันความชั่วร้ายให้หมดไป ส่วนพาหนะคือควาย ที่แม้จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความโง่ แต่จริงๆแล้วควายเป็นสัตว์ที่ซื่อ และมีบุญคุณต่อคนไม่น้อย เพราะช่วยทำไร่ไถนาทำให้เรามีข้าวกิน ดังนั้น จึงเหมือนการเตือนให้เรามีความซื่อทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และไม่ลืมคนที่มีบุญคุณต่อเรา ส่วนบุษราคัม เป็นพลอยสีเหลืองที่ฝรั่งเรียกว่า โทพาซ ( Topaz ) เป็นหินเครื่องประดับที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้มองโลกในแง่ดี มีคุณสมบัติในการปกป้องคุ้มครองสูง สร้างความรื่นรมย์ให้แก่จิตใจ

               กล่าวโดยสรุป ถ้าเราดำรงชีวิตด้วยการมองโลกในแง่ดี เหมือนที่นางสงกรานต์ที่มีบุษราคัมเป็นอาภารณ์ ตั้งมั่นทำกิจการงานต่างๆด้วยความซื่อ ดังที่นางกิมิทายืนอยู่บนมหิงสา และมีจิตใจที่จะใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลางไม่มาก ไม่น้อย พอเหมาะกับสภาพของเราดังพิณที่จะไพเราะเพราะสายที่พอดีๆ อีกทั้งมีความเด็ดขาดเสมือนดาบที่นางถือมา รวมทั้งใช้สติปัญญาเป็นบัว(จงกลนี)พ้นน้ำ ไม่ว่าปีใดๆ เราก็จะมีชีวิตที่ประสบความสุข และความสำเร็จรับปีใหม่ (สงกรานต์) อย่างแน่นอน
(อมรรัตน์ เทพกำปนาท :กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม)

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 23684เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพร
ขอเป็นกำลังใจให้ สนง.วัฒนธรรม ค่ะ

เอ๊ะ วันมหาสงกรานต์ปี 49 ตรงกับวันพฤหัสฯ ไม่ใช่หรือ ต้องนางกิริณีเทวีสิ

ประวัตินางสงกรานต์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท