ปี่พาทย์อยุธยา 2


ปี่พาทย์อยุธยา 2

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๒ : การคงอยู่ได้ของวงปี่พาทย์

-------------------------------------------------

กนก   คล้ายมุข

 

             ฉบับที่ผ่านมาได้นำเสนอสภาพของวงปี่พาทย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีจำนวนมาก   แต่นักดนตรีมีจำนวนน้อย  ในสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบ  อัตราส่วนของจำนวนวงปี่พาทย์ต่อจำนวนนักดนตรีแล้ว เห็นได้ว่าอยู่ในสภาพที่มีความขาดแคลนนักดนตรีไทยมาก และในอนาคตน่าจะมีสภาพขาดแคลนมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ที่สนใจเรียนปี่พาทย์เพื่อประกอบเป็นอาชีพมีจำนวนลดน้อยลง  จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า วงปี่พาทย์ปัจจุบันดำรงอยู่ได้อย่างไรในสภาพขาดแคลนนักดนตรีเช่นปัจจุบัน

   เหตุผลสำคัญที่วิเคราะห์ได้ คือ นักดนตรีไทยของวงปี่พาทย์ ไม่มีการแยกวงอย่างเด็ดขาด การแยกวงเป็นเพียงเพื่อการประกอบธุรกิจเท่านั้น นักดนตรีสามารถเล่นรวมกันได้แม้ว่าจะเรียนจากต่างครู หรือเป็นนักดนตรีต่างวง และสิ่งสำคัญพบว่าวงปี่พาทย์แต่ละวง ยังมีความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

 

   . ความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัว (Family Systems)

   ครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมหน่วยหนึ่ง หรือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะภาพ (Systems) เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ ซึ่งผูกพันกันโดยบทบาทและหน้าที่ต่อกันและกัน คาดหวังต่อกัน  บุคคลอื่นจะสัมพันธ์กับบุคคลกลุ่มนี้ ก็โดยการกำหนดฐานนะภาพและบทบาทของตนเสียก่อน

   แม้ว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีและโรงงานอุตสาหกรรมจะมีมากขึ้นก็ตาม แต่สังคมส่วนใหญ่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีลักษณะเป็นสังคมชนบท และพัฒนาไปตามกระแสความเจริญอย่างค่อยเป็นค่อยไป  แต่ความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัว ทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย  ยังพบเห็นได้ในสังคมอยุธยา

   สังคมปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัว  แต่ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวขยายมากกว่าครอบครัวเดี่ยว  ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กับ ข้อกำหนดทางกายภาพของวงปี่พาทย์ดังกล่าวแล้วข้างต้น วงปี่พาทย์ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวปัจจุบัน  สามารถดำเนินกิจกรรมทางด้านปี่พาทย์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในลักษณะการบรรเลง การกำหนดรูปลักษณ์ของเพลงที่ใช้ในการบรรเลง การฝึกซ้อม และศักยภาพในการกำหนดราคาเพื่อความเป็นต่อทางธุรกิจได้อย่างดี เนื่องจากนักดนตรีทุกคนเป็นคนในครอบครัวทั้งสิ้น วงปี่พาทย์ที่มีความสัมพันธ์ลักษณะเป็นครอบครัว เช่น

 

             วงปี่พาทย์คณะพยุงศิลป์

   วงปี่พาทย์คณะพยุงศิลป์  ควบคุมวงโดยนางทุเรียน  ธีระพันธ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลปลายกลัด อำเภอบางซ้าย โดยหัวหน้าครอบครัว นายพยุง  ธีระพันธ์  เดิมเป็นนักดนตรีไทยอยู่ที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา  และได้สมรสกับนางทุเรียน  ธีระพันธ์  ตั้งวงปี่พาทย์ขึ้นเพื่อประกอบอาชีพ  นายพยุง และนางทุเรียน ธีระพันธ์ มีบุตร ธิดา จำนวน ๖ คน บุตรและธิดาทุกคนของนายพยุง และนางทุเรียน ต่างเป็นนักดนตรีไทยทุกคน ประกอบอาชีพดนตรี และประกอบเป็นอาชีพอื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น บุตรสาวค้าขาย  บุตรเขยรับจ้างขับรถโดยสาร และทำนา  ปัจจุบันทุกคนในครอบครัวยังดำเนิน   กิจกรรมในวงปี่พาทย์อย่างต่อเนื่อง บุตรธิดาที่มีครอบครัวแล้ว จะปลูกบ้านอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน และเมื่อมีทายาทต่อมา จะให้เรียน     ปี่พาทย์ทุกคน ทำให้วงปี่พาทย์คณะพยุงศิลป์ ไม่จำเป็นต้องติดต่อนักดนตรีจากวงปี่พาทย์คณะอื่นมาร่วมบรรเลง เนื่องจากนักดนตรีในวงมีมากเกินวงด้วย ปัจจุบันวงปี่พาทย์คณะพยุงศิลป์ มี   นักดนตรีเป็นบุคคลในครอบทั้งสิ้น

 

แผนภูมิ  แสดงความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวของปี่พาทย์คณะพยุงศิลป์

 

นายพยุง  -  นางทุเรียน

 

 


นางบุญยืน       นายสมยศ       นางบุญสม       นางสมคิด        นายปัญญา      นางศิริพร

    สามี              ภรรยา                              สามี               ภรรยา          สามี

 

    นุกูล              กนกวรรณ                         สุภาวดี           บุตร(เล็กมาก)

    จุรีรัตน์           จักรพงศ์                           กาญจนา

    อภิเดช           เป้                                  เอกพันธ์

 

หมายเหตุ ทุกคนในครอบครัวเป็นนักดนตรีทั้งสิ้น

 

   ความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวของวงปี่พาทย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จะมีความเป็นอยู่และทัศนคติแบบครอบครัวไทยในอดีต มีลักษณะการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือกันภายในครอบครัวอย่างเหนียวแน่น  นอกจากนี้ค่านิยมด้านดนตรียังถูกปลูกฝังให้นักดนตรีรุ่นลูก หลาน เห็นคุณค่า ของการประกอบอาชีพทางดนตรีมาก  นอกจากการศึกษาในภาคบังคับ เห็นได้จากลูกหลานทุกคนของครอบครัว มีความสนใจ ใส่ใจเรียนดนตรี ไปพร้อมกับการเรียนในสายสามัญด้วยความเต็มใจ

   นอกจากนี้ยังพบว่า มีวงปี่พาทย์ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวอื่น ๆ เช่น คณะดวงแก้ว ของนางจำรูญ  ตรีหิรัญ ตำบลเทพมงคล  อำเภอบางซ้าย และคณะ อี๊ดศิษย์พ่อแก่ ของนายอนันต์  อรรถภาพ ตำบลวังพัฒนา อำเภอบางซ้าย เป็นต้น 

 

 

   . ความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ (Kinship Systems)

   ในสังคมบุพกาลนั้น  มนุษย์ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันมากมาย  ไม่สามารถยืนหยัดอยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกได้  ในด้านการหาเลี้ยงชีพให้อยู่รอดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีเครื่องทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยเหลือ   ทุกอย่างต้องอาศัยแรงงานจากมนุษย์เท่านั้น   และการเอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีสูง ๆ ยังไม่มี  การต่อสู้กับสิงสาราสัตว์ ภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ  ต้องช่วยกัน  พึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิด  สังคมที่แข็งแกร่งและยืนยันอยู่ได้ด้วยดี จึงต้องมีคนมาก  มีบริวารมาก การนับเอาคนเข้ามาเป็นพรรคพวก บริวาร ที่จะไว้ใจได้ในทุกเรื่อง จึงต้องเลือกคนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดที่สุดก่อน  จึงมีลักษณะที่เรียกว่า เครือญาติ

   สังคมปี่พาทย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นสังคมเครือญาติด้วยเช่นกัน  โดยมีลักษณะความสัมพันธ์เครือญาติ ๒ ลักษณะดังนี้

           .๑ ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต (Consanguinal Relatuons) เป็นความสัมพันธ์ทางชีวภาพ ของบุคคลหนึ่งลงมาสู่อีกบุคคลหนึ่ง พบว่า มีวงปี่พาทย์จำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ อย่างชัดเจน แสดงออกในความสัมพันธ์ โดยใช้ผู้บรรเลงในเครือญาติเดียวกัน เครื่องดนตรีแบ่งปันหยิบยืมกัน ถ่ายทอดเพลงให้แก่กัน  วงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติทางสายโลหิต มีดังนี้

              สกุลวุฒิราชา

            สกุลวุฒิราชา  เป็นสกุลทางดนตรีที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติสายโลหิต  เดียวกัน ประกอบด้วยวงปี่พาทย์ ๓ คณะ ได้แก่ วงปี่พาทย์คณะราชาวดี ของนายช่อ  วุฒิราชา  ซึ่งเป็นพี่ชายคนโต วงปี่พาทย์คณะ ช.สายชล ของนายวิเชียร วุฒิราชา เป็นน้องคนที่ ๒ และวงปี่พาทย์คณะราชาวดี  ของนายวิชิต วุฒิราชา เป็นน้องคนสุดท้องของสกุล ซึ่งทั้ง ๓ คณะ เป็นผู้สืบสกุล ของนายชุบ นางสนิท วุฒิราชา โดยได้แยกกันตั้งวงปี่พาทย์เพื่อประกอบอาชีพอยู่ที่ อำเภอลาดบัวหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

           สกุลคล้ายทิม

           สกุลคล้ายทิม เป็นสกุลหนึ่งที่สืบทอดปี่พาทย์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประกอบด้วยวง  ปี่พาทย์ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ ๒ คณะ คือคณะ ศรทอง ของนายไพบูลย์ คล้ายทิม และวงปี่พาทย์คณะนายสังวาลย์ ของ นายไพฑูรย์  คล้ายทิม วงปี่พาทย์ทั้ง ๒ คณะมีบรรพบุรุษ เป็นลูกพี่ลูกน้องซึ่งกันและกัน โดยปู่ของนายไพบูลย์  คล้ายทิม ชื่อ วงษ์  คล้ายทิม เป็นพี่ชายของนายสังวาลย์ คล้ายทิม บิดาของนายไพฑูรย์  คล้ายทิม  ปัจจุบันปี่พาทย์ทั้งสองคณะ  ประกอบอาชีพปี่พาทย์  อยู่ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

           ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ยังพพบอีกหลายสกุล เช่น สกุลผดุงสุทธิ์ สกุลนาคเจริญ  สกุลแสงกนึก  สกุลฉิมศร  สกุลคหินทพงษ์  เป็นต้น

 

             .๒ ความสัมพันธ์ทางการแต่งงาน (Affinal Relations)  เป็นความสัมพันธ์ทางชีวภาพ  แต่ไม่สืบทอดทางสายโลหิตต่อกันโดยที่บุคคลอื่น ๆ  ที่สัมพันธ์กับคู่แต่งงานทั้งชายและหญิงนั้น จะสัมพันธ์กันทางสังคมเท่านั้น  สังคมของวงปี่พาทย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วงปี่พาทย์หลายคณะ มีความสัมพันธ์ทางดนตรีต่อกัน โดยมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแต่งงาน  มีรายละเอียดความสัมพันธ์ ดังนี้

          สกุลสุขีลักษณ์กับสกุลสุนิมิตร

                    วงปี่พาทย์คณะศรมีชัย ของนายชลอ  สุขีลักษณ์ อำเภอบางบาล และวงปี่พาทย์คณะสุนิมิตร ของนายสวัสดิ์  สุนิมิตร อำเภอพระนครศรีอยุธยา  มีความสัมพันธ์กันโดยบุตรชายของนายชลอ สุขีลักษณ์ แต่งงานกับบุตรสาวของนายสวัสดิ์ชัย  สุนิมิตร ปัจจุบันวงปี่พาทย์ทั้ง ๒ คณะ ยังประกอบธุรกิจปี่พาทย์ โดยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

          สกุลทรัพย์โภคกับสกุลตรีหิรัญ

          วงปี่พาทย์คณะ ท. ศิลปไทย ของนายประทุม  ทรัพย์โภค  ที่อำเภอบางไทร  และวงปี่พาทย์คณะดวงแก้ว ของนางจำรูญ  ตรีหิรัญ อำเภอบางซ้าย  มีความสัมพันธ์กันโดยบุตรชายของนายประทุม  ทรัพย์โภค  แต่งงานกับบุตรสาวของนางจำรูญ  ตรีหิรัญ  วงปี่พาทย์ทั้ง ๒ คณะ ยังคงช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกิจกรรมทางด้านปี่พาทย์

          นอกจากตัวอย่างนี้ยังพบความสัมพันธ์จากการแต่งงาน ของวงปี่พาทย์อื่น ๆ เช่น สกุลเกิดจันทร์กับสกุลสังข์ไทย             สกุลบัวบุตรกับสกุลสุขีลักษณ์ สกุลศรีสำอางค์กับสกุลเดชชนะ

สกุลธารนาถกับสกุลวิไลพฤกษ์  เป็นต้น

 

             . ความสัมพันธ์ในสายดนตรี

   สายดนตรี เป็นการแบ่งลักษณะรูปลักษณ์ของดนตรีในกลุ่มของตัวเอง เช่น ทางเพลง เทคนิคการบรรเลง เป็นต้น วงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วงปี่พาทย์ในสายดนตรีเดียวกันมีความสัมพันธ์ ด้วยแนวคิดว่า เป็นนักดนตรีครูเดียวกัน  แต่ละสายมีความสัมพันธ์ ดังนี้

 

          . สายดนตรีฝั่งพระนคร

          สายดนตรีฝั่งพระนคร ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีที่ได้รับอิทธิพลทางดนตรี ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) ชัดเจนมากที่สุด  ด้วยมีนักดนตรีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวนหลายท่าน เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) บุคคลที่เป็นหลักสำคัญในสายฝั่งพระนคร และเป็นแกนหลักของความสัมพันธ์ทางดนตรีด้วย เช่น นายทวี  พิณพาทย์เพราะ  นายแสวง คล้ายทิม  นายทองหล่อ  เกตุจิตร   นายวิเชียร  สารเดช เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้ จึงเป็นแกนหลักสำคัญในความสัมพันธ์เป็นอย่างมาก

                    . สายฝั่งธนบุรี

          สายดนตรีฝั่งธนบุรี ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวงปี่พาทย์ที่สำคัญในกลุ่มนี้ เช่น วงบ้านใหม่ ของนายวิเชียร  เกิดผล  วงปี่พาทย์คณะนเรศ ของนายนเรศ  สุวรรณรูป เป็นต้น บุคคลสำคัญที่เป็นแกนหลัก ได้แก่นายสำราญ  เกิดผล  ปัจจุบันท่านผู้นี้จึงเป็นครูดนตรีที่สำคัญเพียงท่านเดียว ที่เป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ ทางดนตรี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ดูแล ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

         นอกจากนี้ พบว่า มีศิษย์บ้านพาทยโกศลท่านอื่น เช่น นายเกษม สุขสมผล แต่เนื่องจากความสามารถทางดนตรีไม่โดดเด่นนัก จึงมีความสัมพันธ์กับนักดนตรีอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย

 

   . ความสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ

   นอกจากความสัมพันธ์ทางครอบครัว  เครือญาติ  สายนักดนตรีแล้ว พบว่า วงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีครือข่ายความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหน่วยงาน  หรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงปี่พาทย์ เช่น หน่วยงานทางการศึกษาที่จัดการศึกษาด้านดนตรีไทย  ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง  และหน่วยงานทางราชการอื่น ๆ ที่สนับสนุนส่งเสริมดนตรีไทย ดังนี้

                    .๑ ภาควิชาดนตรี สถาบันราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

 สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาดนตรีไทย

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางดนตรีระหว่างวงปี่พาทย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนในสาขาดนตรี  ได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ได้สังสรรค์ แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือกันทางดนตรี พบว่า นักศึกษา ต่างบ้านดนตรี ได้ชักชวนเพื่อนร่วมสถาบันไปบรรเลงในวงของตนในยามที่ขาดนักดนตรีด้วย

ปัจจุบัน สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้มีความพยายามก่อตั้งชมรมดนตรี

และนาฏศิลป์ไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดย ผศ. บุญสืบ  บุญเกิด เป็นผู้ประสานงาน เป็นการรวมกลุ่มนักดนตรี เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมทางดนตรี และเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริม ดนตรีไทยของจังหวัดด้วย โดยมีวงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวนมากเป็นสมาชิกชมรม ในโอกาสต่อไป  จะเป็นโอกาสอันดีให้วงปี่พาทย์หลาย ๆ วงได้สร้างความสัมพันธ์ช่วยเหลือกันต่อไปด้วย

                     .๒ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

 วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง เป็นสถาบันการศึกษา ที่ผลิตนักดนตรีไทยที่มีคุณภาพ

ออกสู่ตลาดดนตรี โดยเฉพาะปี่พาทย์  ซึ่งทางวิทยาลัยนาฏศิลป มีศักยภาพ มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร  และเครื่องดนตรี ผู้ที่ต้องการศึกษาดนตรีเพื่อประกอบอาชีพ  ึงเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษานี้เป็นจำนวนมาก  รวมถึงนักดนตรีไทยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มักนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาดนตรี ในวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทองด้วย เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาทางดนตรีที่อยู่ใกล้  ปัจจุบันโต้โผวงปี่พาทย์หลายท่าน  เคยเป็นนักเรียนนาฏศิลปอ่างทองด้วย เช่น นายสราวุฒิ สุขบัณฑิต นายพัฒน์พงศ์ สำรวยผล นายสาโรจน์ บุญมี เป็นต้น นอกจากนี้พบว่า นักดนตรีไทยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น นายพรเทพ  สุขอุดม  นายคงศักดิ์  สุขอุดม นายสุภาพ  พรพูน ฯลฯ กำลังศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทองด้วย

           วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จึงเป็นศูนย์รวมนักดนตรี เมื่อวงปี่พาทย์ในบริเวณใกล้เคียง เช่น อำเภอผักไห่ อำเภอบางปะหัน และอำเภออื่น ๆ เมื่อขาดนักดนตรี  สามารถนำนักดนตรีซึ่งเป็นนักเรียนจากวิทยาลัยรนาฏศิลปอ่างทองเไปร่วมบรรเลงในวงด้วย โดยเฉพาะวงปี่พาทย์ที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนอยู่ในวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

                    .๓ กองการสังคีต กรมศิลปากร 

 กองการสังคีต กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานทางราชการที่ส่งเสริม อนุรักษ์ ดนตรี

นาฏศิลป์ ในฐานะศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นหน่วยงานในส่วนการแสดง จึงเป็นสถานที่รวมนักดนตรีไทยที่มีฝีมือจำนวนมาก  นักดนตรีไทยในวงปี่พาทย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวนหนึ่งได้รับราชการในสังกัดกองการสังคีต กรมศิลปากรด้วย อาทิ  นายไพรัตน์ จรรย์นาฏ  นายกำจรเดช  สดแสงจันทร์ นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน  และนางนิษา  ถนอมรูป เป็นต้น  เมื่อวงปี่พาทย์ในกลุ่มของนักดนตรีดังกล่าว มีความต้องการนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง และมีความสามารถสูง  นักดนตรีกลุ่มนี้จะดึงตัวนักดนตรีไทย จากกองการสังคีต กรมศิลปากร มาร่วมบรรเลงในวงตนเองด้วย เช่น นายสมบัติ สังเวียนทอง นักร้องฆ้องทองคำ ร่วมขับร้องเพลงไทยให้กับ คณะจรรย์นาฏ อยู่เนือง ๆ เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #ปี่พาทย์อยุธยา 2
หมายเลขบันทึก: 252495เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากแต่ยาวไปหน่อยนะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท