ปี่พาทย์อยุธยา 11


ปี่พาทย์อยุธยา 11

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๑๒ : สำนักบ้านใหม่…..ผู้รักษ์ความเก่า

กนก   คล้ายมุข

-------------------------------------------

             บ้านใหม่หางกระเบน เป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่ง ของตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสำคัญทางดนตรี  ในฐานะสำนักดนตรีที่อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมดนตรีปี่พาทย์ สายครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และอเนกลักษณ์ ที่คงอยู่เพื่อการศึกษาของเยาวชน คนดนตรีที่มีความสนใจได้อย่างภาคภูมิใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


วงปี่พาทย์ ต้นตระกูลบ้านใหม่ ถ่ายที่วังจันทรเกษม กรุงเก่า พ.. ๒๔๕๑

 

             อดีตพื้นที่ในบริเวณหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของบ้านใหม่หางกระเบนนี้ ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า บ้านเกาะ หรือบ้านโรง ขึ้นกับอำเภอกรุงเก่า เป็นสถานที่ตั้งของวงปี่พาทย์ดังคณะหนึ่ง โดยมี นายวน  เกิดผล  เป็นโต้โผปี่พาทย์ และเป็นเจ้าของคณะหนังใหญ่ มีภรรยาชื่อ นางช้อน  เกิดผล เป็นลิเก ประกอบอาชีพอยู่ในย่านนี้ จนเป็นที่กล่าวขานกันติดปากของคนทั่วไปในแถบย่านนี้ว่า ลิเกยายช้อน  ปี่พาทย์ตาวน หนังใหญ่ตาวน วิถีชีวิตของนายวนและนางช้อน ดำเนินไปด้วย ความเกื้อหนุน ประคับประคอง สอดรับระหว่างดนตรีของนายวน และนาฏศิลป์ของนางช้อน ที่ผสมกลมกลืนกัน ส่งเสริมให้เป็นอาชีพหลักของครอบครัว นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพเป็นโต้โผแตรวง และ อังกะลุง ด้วย นับว่าจุดเริ่มต้นของสำนักดนตรีบ้านใหม่ มีความเกี่ยวพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายมาอย่างเข้มข้นในสายเลือดทางดนตรี

 

             นายวนและนางช้อน มีผู้สืบทอดมรดกทั้ง ชาย และหญิง จำนวน  ๖ คน คือ

. นางชื่น  กุหลาบแย้ม

. นายหงษ์  เกิดผล

. นายจำรัส  เกิดผล

. นายพวง  เกิดผล

. นายสังเวียน  เกดผล

. นางชด  พวงประดับ

   บรรดาลูก ๆ ของนายวน จึงได้มีโอกาสเรียนดนตรีปี่พาทย์และนาฏศิลป์ที่บ้าน กันทุกคน

โดยมีนายจำรัส  เกิดผล บุตรชายคนที่ ๓ เป็นทายาทคนสำคัญคนหนึ่งที่มีฝีมือ ความสามารถโดดเด่น ทางด้านระนาดเอก ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเป็นอัจฉริยะในเชิงระนาดมาก  จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรีในสมัยนั้น  และเสียชีวิตเมื่อคราวร่วมบรรเลงปี่พาทย์ที่วัดหงษา  จังหวัดปทุมธานี ผู้รับผิดชอบวงปี่พาทย์ของสำนักดนตรีนายวน  เกิดผล ในลำดับต่อมาจึงอยู่ในความดูแลของนายสังเวียน  เกิดผล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


                       ครูเพชร  จรรนาฏย์                                 นายสังเวียน  เกิดผล

 

   นายสังเวียน เกิดผล นับว่าเป็นนักดนตรีคนสำคัญของตระกูล ที่เริ่มรับวัฒนธรรมดนตรีจากครูดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้เรียน  ระนาดเอก  และฆ้องวงใหญ่กับครูเพชร  จรรย์นาฏ  ซึ่งเป็นนักดนตรีประจำวังบูรพาภิรมย์ และพยายามสนับสนุนให้บุคลากรในตระกูลเกิดผล ได้รับการศึกษาด้านดนตรีกับครูดนตรีคนสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในสายดนตรีฝั่งธนบุรี

   นายสังเวียน เกิดผล นำนักดนตรีในวงของท่าน ทั้งลูกและหลาน เข้าศึกษาดนตรีกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ ท่าน โดยนำนายผวน  บุญจำเริญ (หลายเขย) นายสวง เกิดผล (หลานชาย) เข้าศึกษาวิชาดนตรีที่วังบางคอแหลม  มีผู้ที่ร่วมสำนักในขณะนั้น เช่น นายไพฑูรย์ จรรย์นาฏ  นายปรุง  รักดนตรี นายถวิล  อรรถกฤษณ์  นายสวง  เกิดผล น้องชาย เป็นต้น ซึ่งได้รับความรู้ทางดนตรีกับครูดนตรีคนสำคัญ ๆ  เช่น พระพาทย์บรรเลงรมย์  ด้วย

   บุคคลสำคัญของสำนักดนตรีบ้านใหม่ที่สืบทอดต่อจาก นายสังเวียน เกิดผล คือ นายสำราญ เกิดผล (หลานชาย) ซึ่งนายสังเวียน ได้พยายามปั้นให้หลานชายท่านนี้เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ โดยส่งเข้าเรียนดนตรีไทย ณ สำนักดนตรีของครูจางวางทั่ว  พาทยโกศล ในช่วงหลังที่ครูจางวางทั่วมรณกรรมแล้วก็ตาม  ทำให้ได้เรียนดนตรีกับครูฉัตรและครูช่อ  สุนทรวาทิน โดยพักที่บ้านครูเทียบ  คงลายทอง  ประมาณ 2 ปี

   นอกจากนี้ สำนักดนตรีบ้านใหม่ ยังได้รับความกรุณา จากครูฉัตร สุนทรวาทิน และครู ครูช่อ  สุนทรวาทิน มาทำการสอนให้นักดนตรีวงบ้านใหม่ ในราว พ.. ๒๔๘๑ จนกระทั่ง เจ้าแก้ว นวรัตน ณ เชียงใหม่ ได้เรียกตัวครูทั้งสองท่าน กลับเชียงใหม่ ในราวปี พ.. ๒๔๘๓

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ครูฉัตร  สุนทรวาทิน                     ครูช่อ   สุนทรวาทิน                      ครูอาจ   สุนทร

 

   หลังจากนั้นได้ศึกษาดนตรีกับ ครูอาจ สุนทร ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของ ครูจางวางทั่ว  พาทยโกศล  เมื่อครั้งที่ครูอาจ พักอยู่ที่บ้านครูแถม  ศรีวิไล  วัดหญ้าไทร จังหวัดนนทบุรี  ในภายหลังครูอาจ สุนทร ยังได้ทำการสอนดนตรีให้กับบักดนตรีสำนักบ้านใหม่อีกระยะหนึ่ง จนถึงวาระสุดท้ายที่ท่านถึงแก่มรณกรรม  ครูเทียบ  คงลายทอง ได้นำไปฝากเรียนกับครูพุ่ม ปาปุยะวาท ส่งผลให้นายสำราญ เกิดผล เป็นนักดนตรีที่ได้รับการศึกษาดนตรีจากครูหลาย ๆ ท่าน ทำให้ความสามารถทางดนตรีไทยเป็นที่ยอมรับของ นักดนตรีทั่วไป  โดยเฉพาะการเป็นผู้รับมรดกทางดนตรี  จากฝั่งธนบุรี 

             สำนักดนตรีไทยบ้านใหม่หางกระเบน จึงเป็นสำนักดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่ามี มาตรฐาน ทางดนตรีในระดับแนวหน้า กอรปกับเสมือนผู้อนุรักษ์ความเป็นแบบอย่างดนตรีสายฝั่งธนบุรี  แนวทางของครูจางวางทั่วไว้อย่างเหนียวแน่น และสร้างสรรค์ผลงานบริการชุมชนในนามของ วงปี่พาทย์ คณะดุริยางคศิลป์มายาวนาน จนเมื่อคราวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมบ้านของนายสังเวียน เกิดผล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทานชื่อวงดนตรีบ้านใหม่ว่า พาทยรัตน์โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             แม้ว่า ผู้สืบสานสำนักดนตรีบ้านใหม่ จะมีบทบาทใหม่ ความเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพจากสำนักดนตรีไทยจาก บ้านใหม่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปรับเปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริม ฯ  บ้านกุ่มอำเภอบางบาล คงไม่ส่งผลทำให้ชื่อสำนักดนตรีบ้านใหม่ ต้องจางหายไปจากสังคมพระนครศรีอยุธยา เฉกเช่นสำนักดนตรีบ้านอื่น ๆ ตามกระแสสังคมที่ขาดผู้ดูแล  ในช่วงวิกฤตทางสังคมที่ส่งผลกระทบวงปี่พาทย์ทั่วไป  วงปี่พาทย์บ้านใหม่  น่าจะเป็นวงปี่พาทย์วงเดียวที่ยังต้านกระแสอยู่ได้ด้วย โอกาส ผลงาน

 

หมายเลขบันทึก: 252508เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยนะครับ รูปที่ลงไว้ว่าเป็นรูปวงปี่พาทย์ ต้นตระกูลบ้านใหม่ ที่ถ่ายไว้ที่วังจันทร์เกษมนั้น ความจริงรูปนี้เป็นรูปวงปี่พาทย์ จากวัดนนทรีย์ อ.บางปะหัน ซึ่งในอดีตเป็นวงที่เก่าแก่มากของอยุธยา ซึ่งอยู่ในการควบคุม ของตระกูล รักดนตรี รูปนี้มีความสำคัญกับ ตระกูลดนตรี ถึง 3 สาย คือ 1.จรรย์นาฏย์ 2.เกิดผล 3.อรรกฤษณ์

แต่เดิมรูปนี้ต้นฉบับอยู่ที่บ้าน ครูเพชร จรรย์นาฏย์ ต่อมา ทางบ้าน เกิดผล และ บ้านอรรถกฤษณ์ ก็ยืมรูปนี้ไปอัด และไม่ได้ส่งคืนภาพต้นฉบับคืนให้กับบ้านจรรย์นาฏย์ จึงทำให้ไม่ทราบว่ารูปต้นฉบับที่เคยอยู่ที่บ้านจรรย์นาฏย์ ตอนนี้อยู่กับตระกูลใด ระหว่าง เกิดผล-อรรถกฤษณ์ วงดนตรีในรูปนี้เป็นวงดนตรีประจำวังจันทร์เกษม ซึ่งต่อมาวงดนตรีวงนี้ได้เชิญครูดนตรีจากกรุงเทพมาสอน ก็คือครูเพชร จรรย์นาฏย์ และในเวลาต่อมา ครูเพชรก็ได้กลายเป็นเขยของ หัวหน้าคณะของวงดนตรีวงนี้ เพราะว่า ครูเพชรได้เกิดชอบพอกับ แม่ปริก ซึ่งเป็นลูกสาวของ หัวหน้าวงดนตรีที่ปรากฎในรูปนี้

และขอเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่งคือ ในข้อความี่กล่าวว่า นายสังเวียนได้นำ นักดนตรี ซึ่งมี นายผวน บุญจำเริญ ,นายสวง เกิดผล เข้าไปเรียนดนตรีในวังบางคอแหลม นั้น ความจริงที่ถูกต้องนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายสังเวียนเลย เพราะนักดนตรีเหล่านี้ที่เข้าไปอยู่ในวังบางคอแหลมได้ เพราะว่า นักดนตรี ซึ่งประกอบด้วย นายผวน บูยจำเริญ ,นายสวง เกิดผล,นายปรุง รักดนตรี,นายถวิลอรรถกฤษณ์ ได้ไปเรียนดนตรีอยู่กับครูเพชร ต่อมาครูเพชรได้นำนักดนตรีเหล่านี้ ไปประชันกับ วงวังบางคอแหลม ทีพระราชวังบางปะอิน และเป็นที่พอพระทัย ของกรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระองค์จึงขอนักดนตรีที่อยู่ในความดูแลของครูเพชร ประกอบด้วย นายผวน บุญจำเริญ(ปี่),นายไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์(ระนาดเอก)นายถวิล อรรถกฤษณ์(ฆ้องใหญ่),นายปรุง รักดนตรี (ทุ้ม),นายสวง เกิดผล(กลอง) รวมทั้งหมด 5คน ไปอยู่ที่วังบางคอแหลม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายสังเวียน เกิดผลเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท